อักษรจรัส รุ่น 49

กนิษฐา บาร์ตัน (แหม็บ)

กนิษฐา บาร์ตัน (แหม็บ) 

แหม็บ หรือ กนิษฐา บาร์ตัน (สกุลเดิม พรหมสาขา ณ สกลนคร) จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสตรีสายปัญญา เมื่อเข้าศึกษาในคณะอักษรศาสตร์ ได้เลือกเรียนวิชาเอกภาษาญี่ปุ่น วิชาโทภาษาอังกฤษ แต่ด้วยขาดพื้นฐานทางด้านตัวอักษรจีนซึ่งเป็นต้นแบบของอักษรญี่ปุ่น จึงต้องใช้ความพยายามมากกว่าเพื่อนๆ เป็นเท่าตัวในการศึกษา แต่ก็ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้มีโอกาสได้รับทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกียวโตเป็นเวลา ๑ ปี 

ด้วยด้วยวัฒนธรรมอันละเมียดละไมและวิถีความคิดที่ยึดโยงกับความถูกต้องเที่ยงธรรม ที่ได้รับการปลูกและฝังตลอดระยะเวลานับแต่เริ่มต้นเรียนภาษาญี่ปุ่นที่คณะ มาจนถึงเมื่อได้ฝังตัวอยู่ในความเป็นญี่ปุ่น ทำให้หล่อหลอมตัวตนขึ้นในปัจจุบัน

เรียนจบแล้วก็เริ่มทำงานในตำแหน่งเลขานุการ เริ่มจากบริษัทในเครือ ปูนซีเมนต์ไทย บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จนมาถึง สำนักงานกฎหมาย สั่งสมประสบการณ์จากเลขานุการเล็กๆ มาจนถึงการเป็นเลขานุการบริหาร 

เมื่อได้ทำงานในสำนักงานกฎหมาย เริ่มรู้สึกว่าความรู้หยุดนิ่งมานาน แม้จะอายุ ๔๐ แล้วก็ยังอยากเรียนรู้มากขึ้น จึงเข้าเรียนต่อปริญญาโทในหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชากฎหมายเศรษฐกิจ (ศศ.ม.กฎหมายเศรษฐกิจ) คณะนิติศาสตร์ ที่จุฬาฯ ของเราอีกเช่นกัน 

ด้วยความรู้ ประสบการณ์ และวุฒิภาวะที่สูงขึ้น ประกอบกับได้พิสูจน์ความอดทนและตั้งใจในการทำงานเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้บังคับบัญชา จึงได้รับเกียรติให้เป็นผู้ก่อตั้งและหุ้นส่วนเล็กๆ ใน บริษัท สเตรกา จำกัด สิ่งนี้ทำให้ยิ่งมีกำลังใจมุ่งมั่นในการทำงานยิ่งขึ้นไปอีก เป็นผลให้ต่อมาได้ก้าวขึ้นเป็นผู้บริหาร และหุ้นส่วนสำคัญของบริษัท และเมื่อบริษัทถึงวัยที่เติบโตขึ้น ก็มีพัฒนาการที่มีผู้บริหารรุ่นถัดมาเข้ามาดำเนินการบริหาร ก็ได้ทำหน้าที่ในตำแหน่งที่ปรึกษาของบริษัทจนถึงปัจจุบัน

สเตรกา (Strega Public Company Limited) เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างของเอเชีย ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลถึงความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการให้บริการรับเหมาขุดเจาะในแนวราบ (Horizontal Directional Drilling-HDD) มีการใช้เครื่องจักรและเทคนิคชั้นสูงในการปฏิบัติงาน จึงสามารถขุดเจาะวางท่อได้อย่างหลากหลายขนาด ทั้งระยะทาง และความลึก งานที่นี่นับว่าไกลไปจากแวดวงชาวอักษร แต่นั่นก็ทำให้ได้รู้ว่า ชาวอักษรสามารถก้าวไปในทุกวงการ

ในช่วงชีวิตแห่งการทำงาน ยังมีเวลาที่ได้ทำงานอดิเรกในสิ่งที่รัก เป็นงานต่อผ้าที่ชาวตะวันตกเรียกว่างานควิลท์(Quilt) ได้ศึกษาอบรมอย่างจริงจัง และเปิดสอนบุคคลใกล้ชิดในสตูดิโอส่วนตัวที่บ้าน และยังได้รับเชิญให้เป็นล่ามภาษาญี่ปุ่นให้กับคุณครูชาวญี่ปุ่นบางท่านที่เข้ามาสอนในเมืองไทยอีกด้วย

ด้วยความเป็นครอบครัวไทย ได้รับการปลูกฝังให้เข้าวัดฟังธรรมมาแต่เด็ก เมื่อโตขึ้นก็สืบทอดการปฏิบัตินี้มาโดยตลอด เมื่อถึงวัยที่เวลาไม่เป็นอุปสรรคแล้ว ก็ได้โอกาสอันยิ่งใหญ่ที่ได้ฝึกสติเพื่อแสวงหาปัญญาอันแท้จริง

สิ่งเหล่านี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ในชีวิต หากไม่ได้เป็นนิสิตอักษรศาสตร์...มีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงมีเราในวันนี้

อักษรจรัส อบ.49

 

กรุณา (ภาษีผล) ไซโต้ (ยุ้ย)

กรุณา (ภาษีผล) ไซโต้ (ยุ้ย)

ฟ้าเมืองทอง ฟ้าเมืองไทย ฟ้านารี ต่วยตูน บางกอก ทานตะวัน ฯลฯ เป็นหนังสือที่พ่อรับ คนส่งหนังสือมาเกือบทุกวัน แต่พ่อไม่ยักรับหนังสือพิมพ์...ไม่กล้าถามว่าทำไม...

 ลายมือของลุงอาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่จั่วเป็นหัวหนังสือ เครือ 'ฟ้า เป็นอะไรที่ติดตามาจนทุกวันนี้ และชื่อที่ติดตานี้ ทำให้เขียนคำว่า อาจิณ ที่แปลว่า เสมอ ๆ ผิดมาจนโต

 พ่อให้สรุปเรื่องที่อ่านให้ฟังหน่อยในวันหนึ่ง ยิ้มริมหนวดอ่านได้ว่า "พ่อให้หกครึ่งเต็มสิบ" เด็กป.๓ คงทำได้แค่นั้น...อีกครึ่งคะแนนนั้นเป็นความรักล้วน ๆ

 เคยเอาหนังสือทั้งหลายมาซ้อนกัน พบว่าหนังสือเล่มนี้ใหญ่เป็นสองเท่าของหนังสือเล่มนั้น ส่วนเล่มโน้นเล็กเท่าฝ่ามือผู้ใหญ่ เด็กหญิงยุ้ยยังไม่รู้จักกระดาษ A3 A4 อีกทั้งคำ ‘พ็อกเก็ตบุ๊ก’ 

ปิดเทอมป. ๔ ไปเจอหนังสือ อาหรับราตรี ของ ‘เสฐียรโกเศศ’ และ ‘นาคะประทีป’ ในโรงเก็บของอันทึบทึมที่ปั๊มน้ำมันของญาติ แสงแดดส่องทะลุหลังคาสังกะสีที่เป็นรูเห็นฝุ่นลอยเป็นลำเฉียงๆ ราวกับจะช่วยชี้ให้เห็นชัด โรงเก็บของนี้เขาห้ามเข้า ถ้าแม่รู้คงโดนดุ คว้าหนังสือวิ่งตื๋อออกมา ถามตัวเองในวันนี้ ทำไมถึงเข้าไปก็ไม่รู้ สงสัยเพราะเขาห้ามเข้า...

 อาหรับราตรี เป็นหนังสือที่หนากว่าทุกเล่มที่เคยหยิบจับ ได้รู้จักกับอารมณ์ 'วางไม่ลง' เป็นครั้งแรก

ตลอดปิดเทอมนั้น อ่านแล้วอ่านอีก อ่านแล้วอ่านอีก สนุกเหลือเกิน ตราตรึงเหลือเกิน... 

ที่บ้านคุณป้า หนังสือรวมเรื่องสั้น ปืนพูดได้ ของมนัส สัตยารักษ์ ปะปนอยู่ในกองหนังสือกฎหมายของคุณอา อ่านซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบ เพราะมีอยู่เล่มเดียว นอกนั้นอ่านไม่รู้เรื่อง...

 เรื่อง เงา ของ ‘โรสลาเรน’ วางอยู่บนโต๊ะหวายในห้องรับแขก ไม่รู้ใครอ่านค้างไว้... อ่านมากกว่าสองเที่ยว มีเรื่องเดียวอีกเหมือนกัน เป็นครั้งแรกที่เข้าใจคำว่า 'นามปากกา' พาให้เริ่มสงสัยว่า ลุงอาจินต์นี่เป็นชื่อจริงรึเปล่านะ... 

ที่ใต้เตียงของคุณป้า มีหนังสือ ศรีธนญชัย วางรวมอยู่กับฝุ่น อ่านไปอ่านมาหลายเที่ยว บอกกับตัวเองว่า ศรีธนญชัยไม่เห็นน่ารักเลย ทำไมคนชอบ ตั้งคำถามต่อไปโดยไม่รู้ตัว 

พ่อกับพี่สาวของพ่ออ่านหนังสือไม่เหมือนกัน หรืออีกนัยหนึ่ง ผู้หญิงกับผู้ชายอ่านหนังสือต่างกัน

คุณป้ารับนิตยสาร สกุลไทย ส่วนพ่อรับ บางกอก มารู้เมื่อโตว่านามปากกา 'อรชร' นั้นเป็นผู้ชาย มิน่า...บู๊ล้างผลาญ...แทบจะควงปืนอ่าน หรือไม่ก็มุดใต้โต๊ะหลบวิถีกระสุน... 

พ่อกับคุณป้าเป็นตัวแทนรสนิยมการอ่านของผู้หญิงและผู้ชายได้แจ่มชัดดี หรืออีกที คล้ายๆ ผลโพล ขอวงเล็บเล็กๆ ไว้ตรงนี้ว่า คุณป้ารับ สตรีสาร ด้วย 

พออยู่มัธยมต้น ก็อ่าน ลลนา ตามพี่สาว ได้อ่าน จดหมายถึงเพื่อน ของวาณิช จรุงกิจอนันต์ ชื่นชมซะไม่มี...แอบเป็นแฟนคลับคุณวาณิช คนบางปลาม้าแต่นั้นมา 

ได้รู้จักคำรายปักษ์ครั้งแรก แล้วก็นั่งไล่ไป รายวัน รายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน อ้อ... อย่างนี้เอง อยากทำงานเกี่ยวกับหนังสือเสียจริง รู้แค่นี้จะทำงานกะเขาได้ไหมนี่.. 

ในชั่วโมงภาษาอังกฤษ อาจารย์ถามในห้องเรียนว่า อนาคตอยากเป็นอะไร ท่ามกลางความเงียบในชั้น ได้ยินเสียงตัวเองตอบว่า "I will be a great writer" ลากคำว่า great เสียยาว อาจารย์ร้อง "Oh!" แล้วยิ้มนานพอๆ กับคำว่า great ที่ลากเสียงตอบไปก่อนหน้า แล้วหันไปถามเพื่อนคนต่อๆ ไป 

นับจากนาทีนั้น ดูเหมือนจะบอกกับตัวเองว่า จะเรียนต่อคณะอักษรศาสตร์ แม้คะแนนเทสต์คณิตศาสตร์ในวันรุ่งขึ้นจะได้เต็ม ก็ไม่อาจทำให้เปลี่ยนใจได้ 

หากพอเรียนจบ กลับทำงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวหนังสือเลยแม้สักนิด แต่งงาน มีลูกสองคน กลายเป็นแม่บ้านสมองไวอยู่ในญี่ปุ่นไปเสียนี่...ชะรอยฟ้าจะลิขิตให้เรียนเอกญี่ปุ่นด้วยภาระนี้เสียละกระมัง...ชีวิตมะงุมมะงาหราตามเพลง Que sera sera ที่อาจารย์นำมาชวนร้องในชั่วโมงนั้นเสียจริง 

ปี ๒๕๓๙ (๑๙๙๖) เริ่มเล่นอินเตอร์เน็ตจากการคะยั้นคะยอของสามีมาเป็นแรมปี และพัฒนาเป็นการเขียนบล็อกอย่างต่อเนื่องในเว็บ ผู้จัดการ ในอีกสามปีต่อมา นัดเจอกับแฟนคลับอย่างที่ภาษาสมัยนี้เรียกว่า 'เจอตัวเป็น ๆ' ที่ร้านอาหารริมแม่น้ำเจ้าพระยาในวันหนึ่งของปี ๒๕๔๙ (๒๐๐๖) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่แจกลายเซ็น 'กรกุณารี' ในนิยายเรื่อง ออกญา ที่ร่วมส่งประกวดใน รางวัลทมยันตีอะวอร์ดครั้งที่ ๑ จัดเป็นหนึ่งเล่มใน ๒๑ เล่มที่ได้รับพิจารณาให้ตีพิมพ์ หน้าปกเป็นรูปวาดซามุไรหน้าตาขำคม น่านิยมเป็นยิ่งนัก 

ยามาดะ... เอ้อ... สามี ซื้อคอมพิวเตอร์ให้ใหม่ในความหมายแห่งความยินดีด้วย 

นวนิยาย ออกญา

ในนามปากกา 'กรกุณารี' 

ก่อนเขียน ค้นคว้าทั้งประวัติศาสตร์บ้านเขาและบ้านเรา เทียบเคียง พ.ศ. กับ ค.ศ. แล้วเขียนใส่ตารางไว้ว่าปีใดเกิดเหตุการณ์ใด ญี่ปุ่นว่าไง แล้วไทยว่าไง พบว่าบ้างก็ตรงกัน บ้างก็ค้านกัน ปีคลาดเคลื่อนบ้าง เหตุการณ์ต่างรัชสมัยบ้าง ได้ตระหนักสัจธรรมข้อใหม่ว่า ถ้าแน่วแน่ในข้อมูลมาก จะทำให้ตัดจินตนาการเสียห้วนประหนึ่งเขียนพงศาวดารก็ไม่ปาน ว่าแล้วก็เลยกำหนดให้ ยามาดะ นางามาสะ หรือ ออกญาเสนาภิมุข มาอยุธยาในรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรม ต่อถึงรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งอย่างไรก็ดี มีข้อมูลรองรับทั้งไทยทั้งเทศ 

หากจะคิดว่าเรื่องนี้เป็นการเขียนยอยกคนญี่ปุ่นให้เป็นพระเอก ก็อาจจะตื้นไปสักหน่อย เมื่อเขียนไปได้สักครึ่งเรื่อง ความรู้สึกก็กลายเป็นว่า ต้องการแสดงให้เห็นนโยบายการต่างประเทศของอยุธยา ซึ่งต้องตั้งรับกับนานาประเทศในสมัยนั้น การล่าอาณานิคมไม่ได้เพิ่งเริ่มมีตอนที่เราเสียฝั่งซ้ายฝั่งขวาแม่น้ำโขง แต่มันมีมานานแล้ว และรูปแบบการล่าก็แตกต่างไปตามเทคโนโลยี 

นโยบายการต่างประเทศ หรือ foreign affairs ของพระเจ้าทรงธรรม กับของพระเจ้าปราสาททองนั้นแตกต่างกัน และก็ยังแตกต่างกันกับการดำเนินนโยบายของโชกุนโตกุกาวะของญี่ปุ่นอีกด้วย และนั่นก็คือสิ่งที่ต้องการนำเสนอ นอกเหนือไปจากการหวังให้คนอ่านคิดต่อไปถึงเรื่องการดำเนินนโยบายกับประเทศต่างๆ ในปัจจุบันในเงื่อนไขเดิมที่สำคัญยิ่ง นั่นก็คือ ภูมิรัฐศาสตร์ เพราะประเทศเรายังตั้งอยู่ที่เดิม ยังมีเขตแดนที่ติดทั้งสองฝั่งทะเล ฯลฯ อย่างไรก็ดี ข้อความที่ต้องการส่งผ่านในนิยายนั้นไม่อาจทำได้ครบถ้วน แต่อย่างน้อยที่สุด ก็เขียนหนังสือภายใต้ความรู้สึกนึกคิดดังที่ได้กล่าวมา 

"ซามุไรไม่จับดาบ ก็เสียเวลามีชีวิตอยู่" เป็นประโยคที่จับใส่ปากให้ยามาดะพูด ทำนองเปี่ยมด้วยศักดิ์ศรีตามวิถีความเป็นพระเอกในขนบทั่วไป แต่เอาเข้าจริงๆ ประโยคนี้ก็อาจตีความได้อีกเช่นกันว่า "เป็นมนุษย์เงินเดือน ไม่มีงานก็ไม่มีเงิน" สัจธรรมที่ปรุงแต่งให้เท่ไปอย่างนั้นเอง... 

นิยายแปล เสียงเพรียกมรณะ

ในนาม กรุณา ภาษีผล 

ก่อนหน้าที่จะเขียนนิยายเรื่องออกญา ได้รับโอกาสให้แปลนิยายวิทยาศาสตร์สยองขวัญจำนวน ๕๕๐ หน้า ซึ่งเมื่อพิมพ์แล้วกลายเป็นสองเล่ม สะบักสะบอมกับเนื้อหาวิชาการที่ต้องค้นตามคนเขียนอยู่ไม่น้อย เช่น สมองส่วนหน้าส่วนหลังทำหน้าที่อะไรบ้าง ทั้งซ้ายทั้งขวาเข้าไปอีก คนเขียนก็ยังยกเอามาใส่เสียละเอียดยิบ พบว่าหลังจากแปลเสร็จ ภาษาญี่ปุ่นดีขึ้นกว่าวันวาน พร้อมกับอาการมึนตึ้บที่ยังค้างอยู่ ในเรื่องแปลนี้ใช้ชื่อ สกุลจริง กรุณา ภาษีผล เพราะไม่มีจินตนาการของตัวเองเลย ได้รู้อีกอย่างว่า นักเขียนญี่ปุ่นคนนี้ใช้วิธี ก๊อปปี้ แอนด์ เพสต์ ข้อความทางวิชาการ หลายเรื่องเสียด้วย

นักเขียนต้องค้น แล้วคิด และต้องไม่คัด บอกกับตัวเองว่าอย่างนั้น แล้วยังพบว่า พอเป็นหนังสือ เรื่องวิชาการยิบย่อยเหล่านั้น ถูกตัดเรียบเลย...

 

เรื่องสั้น เพลงชีวิต ๒๕๐๕

รองชนะเลิศเรื่องสั้น นายอินทร์อะวอร์ด ครั้งที่ ๘ 

ได้ยินเพลงทางเน็ต จำได้ว่าพ่อร้องเรื่อยจนจัดเองให้เป็นเพลงประจำตัวพ่อ แล้วความหลังก็พรั่งพรู เขียนเรื่องราวที่ผ่านมา ๑๗ หน้าจนรุ่งสาง กลายเป็นเรื่องสั้นขนาดยาว (ไปหน่อย) หรือจะเป็นเรียงความ หรือจะเป็นอะไรก็แยกแยะไม่เป็น โรคส่งประกวดกำลังแสดงอาการเต็มที่หลังจากมีผลงานแล้วสองเรื่อง แล้วทางอัมรินทร์ฯ ก็ติดต่อมา ว่าได้รางวัลรองชนะเลิศเรื่องสั้น อ้อ... มันเป็นเรื่องสั้นจริง ๆ เสียด้วย... 

ในงานประกาศรางวัล ‘พิบูลศักดิ์ ละครพล' เดินเข้ามาทักว่า "ชอบอ่านหนังสือของ 'สุวรรณี สุคนธา' หรือ?" ยังไม่ทันได้ตอบ เธอก็พูดต่อไปว่า "สำนวนเหมือน ‘สุวรรณี สุคนธา’ เลย ตัวหนังสือสวยมาก เพราะมาก" บอกกับตัวเองว่า เคยอ่าน เรื่องของน้ำพุ อยู่เรื่องเดียว และนี่ต้องเป็นคำชมแน่เลย ดีใจได้หรือยังนี่ คุณพิบูลศักดิ์เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน อ้อ...ค่ะ...

อาจารย์ประยอม ซองทอง เดินเข้ามาสมทบ แล้วชวนคุยเรื่องการเขียนเรื่องสั้น รับคำไปว่า "ค่ะ ใช่  เรื่องสั้นต้องเขียนรวดเดียวจบ เขียนข้ามวันไม่ได้ อารมณ์ไม่ต่อเนื่อง" 

งวดนี้ สามีให้ปากกาหมึกซึมเป็นกำลังใจ "เอาไว้ sign ไงจ๊ะคนดี..." 

สารคดี ก้มหน้าเที่ยว

รางวัลพระราชทาน แว่นแก้วครั้งที่ ๕ 

ตามถนนหนทางที่สะอาดสะอ้านของประเทศญี่ปุ่น สายตาไปพบเข้ากับฝาท่อน้ำทิ้งเป็นลวดลายสวยงาม ไปต่างเมืองก็เจอต่างลาย บ้างก็ ‘คัลเลอร์ฟุล’ ถ่ายภาพเก็บไว้ จนเกิดทริปตามหาฝาท่อขึ้นมาจนได้ สามีเป็นคนพาไป ภาพนก ดอกไม้ ปลา สะพาน ฯลฯ บนฝาท่อนั้นชวนฉงน จึงค้นคว้าหาประวัติเมืองนั้นๆ อ่านให้หายข้องใจกันไปข้างหนึ่ง ในพ.ศ.นี้มี วิกิพิเดีย แล้ว หลายเรื่องง่ายขึ้นเยอะ แม้บางเรื่องต้องไปห้องสมุด บางเรื่องต้องเมลไปถามเจ้าหน้าที่ของเมืองนั้นๆ โดยตรง แล้วก็เขียนความเป็นมาของแต่ละฝาๆ อย่างมีความสุขบนความรู้สึกชื่นชมแนวคิดที่จะทำทุกสิ่งให้สวยงามของคนญี่ปุ่น เขียนโดยไม่รู้ว่าจะส่งไปที่ไหน รู้แต่ว่าต้องเขียน รวมแล้วได้สองร้อยกว่าหลายหน้า

ข่าวการประกวดรางวัล ‘แว่นแก้ว’ ผ่านมาเข้าสายตาอย่างไรก็ลืมไปเสียแล้ว จำได้แต่ว่า เขารับแต่ผลงานสำหรับเด็ก หันไปมองเรื่องฝาท่อที่เขียนไว้ แล้วบอกตัวเองว่า คงอนุโลมเป็นสารคดีให้เด็กอ่านได้มั้ง...เงื่อนไขข้อต่อมาคือ เขาขอแค่ ๑๕๐ หน้า เลยต้องตัดออกไปหลายฝา รวมแล้วกว่า ๘๐ หน้า ทั้งยังเกิดความคิดว่า ราชบัณฑิตยสถานน่าจะกำหนดคำภาษาญี่ปุ่นให้ชัดเจนว่าจะใช้ ก ไก่ หรือ ข ไข่ หรือ ค ควาย ในกรณีเป็นพยัญชนะต้น ฯลฯ 

นานมี บุ๊คส์ ช่างใจดี แม้ไม่ได้รางวัลชนะเลิศ ก็ให้เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนฯ ที่ศาลาดุสิดาลัยด้วย เขายังบอกอีกว่า รางวัลเช้ยเชย เอ้อ...ชมเชย เพิ่งจะมีก็ ก้มหน้าเที่ยว เล่มนี้แหละ ในกติกาการส่งไม่ระบุรางวัลนี้ รางวัลชนะเลิศนั้นเขาเขียนเรื่อง เมื่อยายอายุเท่าหนู ว่าด้วยเมื่อตากะยายยังเด็ก ในภาคอีสานบ้านเฮา พี่สะใภ้ชาวญี่ปุ่นของสามีกล่าวว่า เพราะเขียนเกี่ยวกับญี่ปุ่นจึงได้รางวัล

 เออ กระไร... ช่างมีแต่คนรักชาติ... 

กลับญี่ปุ่นได้ไม่ถึงเดือน ภาพรับรางวัลจากพระหัตถ์ก็ส่งมาถึง มีสัญลักษณ์พระนามาภิไธย สธ ดุนนูนอยู่ที่มุมขวาบนของภาพ สำนักพิมพ์กำกับว่า ทุกคนที่ได้รับพระราชทานรางวัลจะได้รับภาพพิเศษนี้ 

รางวัล ‘แว่นแก้ว’ ช่างผดุงความฝันแห่งวันวาน... 

เรื่องก้มหน้าเที่ยวเกี่ยวฝาท่อนี้ สามีซื้อเก้าอี้เขียนหนังสือตัวใหม่ให้เป็นรางวัล

 

เรื่องสั้น ท่อนแขน

รองชนะเลิศเรื่องสั้น นายอินทร์อะวอร์ด ครั้งที่ ๑๐

 ได้รู้จัก คาวาบาตะ ยาสึนาริ นักเขียนรางวัลโบลคนแรกของญี่ปุ่นจากการค้นคว้า เป็นเหตุให้ตามอ่านหนังสือหนังหาที่ปู่คาวาบาตะเขียนจนไปเจอเรื่องสั้น คาตะอุเดะ ท่อนแขนข้างเดียว เข้าในคืนหนึ่ง อ่านไปได้สามหน้า แล้วความรู้สึกว่าต้องเขียน ก็สั่งให้วางหนังสือที่อ่านค้างไว้แถวๆ นั้น เรื่องสั้นแต่ละเรื่องเขียนจบในตอนรุ่งสางเสียเป็นส่วนใหญ่ 

หลังการประกาศรางวัลไม่นาน น้องนักเขียนชาวอีสานที่ได้รางวัลนายอินทร์คู่กันคราวก่อน ก็ส่ง บทวิจารณ์เรื่อง ท่อนแขน โดยอาจารย์ รื่นฤทัย สัจจพันธ์ุ ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารฉบับหนึ่งมาให้อ่าน พร้อมบอกว่า "แทนที่จะวิจารณ์เรื่องที่ชนะเลิศ อาจารย์วิจารณ์เรื่องของเอื้อยนะ" นามปากกา 'สร้อยสัตตบรรณ' ได้รับการเขียนถึงอย่างชื่นชม อยากไปกราบอาจารย์เสียจริง... เก็บนิตยสารฉบับนั้นไว้เป็นกำลังใจ

 น้องคนเดิมอธิบายต่อว่า "เรื่องที่เอื้อยเขียนจัดเป็น พาโรดี้ คือการนำวรรณกรรมที่มีอยู่เดิม เอามาเขียนล้อ แต่ไม่ใช่ลอกนะเอื้อย คนตาถึงจึงจะรู้ว่าคนเขียนมือถึง เขาจะแยกแยะเป็น อาจารย์รื่นฯ ถึงหยิบมาวิจารณ์ไงเอื้อย" 

อ้อ... Parody หรอกหรือ ไม่รู้จักหรอก เขียนตามที่นกตัวเล็กๆ ในสมองบอกให้เขียน ขอบคุณนะคะน้อง... 

พอถึงฤดูกาลส่งประกวด น้องนักเขียนคนเดิมก็ติงว่า "เอื้อยให้เด็กรุ่นใหม่เขาส่งเถอะ เวทีประกวดเขาไว้สำหรับนักเขียนรุ่นใหม่" เอ้อ... เอื้อยเป็นนักเขียนแล้วหรือ ถามตัวเองแล้วถามน้องนักเขียนไปในคราวเดียวกัน "เอื้อยเขียนมาสิ เดี๋ยวผมส่งสำนักพิมพ์ให้" คำว่าเอื้อยที่แปลว่าพี่สาว ช่างอ่อนโยน...

 

เรื่องสั้น เลือกเกิด  

ตีพิมพ์ในนิตยสาร ช่อการะเกด ๕๕ 

หันไปหาเวทีเรื่องสั้นอย่างเต็มตัวกับนิตยสาร ช่อการะเกด ที่เขาว่าเรื่องสั้นใดที่ผ่านการพิจารณาให้ตีพิมพ์ แสดงว่าได้ 'ผ่านเกิด' แล้ว และแม้เคยมีผลงานแล้วก็ส่งได้ไม่น่าเกลียด ห่างเมืองไทยไปแสนนานจนขาดช่วงข่าวคราว ได้รู้จักก็เมื่อ ช่อการะเกด กำลังจะปิดตัวลงเป็นครั้งที่สาม น้องนักเขียนคนสนิท ส่งความยินดีมาพร้อมกำชับ "เอื้อยส่งมาให้ผมสิ เรื่องที่เขียนๆ ไว้น่ะ เดี๋ยวผมส่งสำนักพิมพ์ให้"

 จนบัดนี้เราก็ยังคุยทักถามกันด้วยประโยคนี้ 

หากว่าเมื่อยามเด็ก เคยบอกว่าอยากเป็นนักเขียน ในยามแก่อย่างนี้ ก็ฝันอยากให้มีบรรณาธิการทวงต้นฉบับอย่างที่ถูกทวงต้นฉบับ เรื่องเล่าชาวอักษร และ อักษรจรัส ในวันนี้...

 

อักษรจรัส อบ.49

กฤติกา อัครปรีดี ลีละพันธุ์ (ตุ้ย)

กฤติกา อัครปรีดี ลีละพันธุ์ (ตุ้ย)

ตุ้ย(กฤติกา อัครปรีดี ลีละพันธุ) เกิดเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗ ตุ้ยเล่าว่าเป็นเด็กร้อยเอ็ด เข้ากรุงเทพฯ มาเรียนชั้น ป.๔ ที่โรงเรียนรุจิเสรีวิทยา ในเวลานั้น เพื่อนๆ ที่เป็นเด็กกรุงเทพฯ อ่านหนังสือภาษาอังกฤษเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว เช่น แจ๊คผู้ฆ่ายักษ์ ในขณะที่ความรู้ภาษาอังกฤษของตุ้ยยังเป็นแค่ a – b – c พยัญชนะ ๒๖ ตัวอยู่เลย แต่ตุ้ยก็ผ่านมาได้ด้วยวิชาวาดเขียน รำไทย รำวงมาตรฐาน ที่ได้มาจากร้อยเอ็ด 

มาต่อ ป.๕ – ม.ศ.๓ ที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ ซึ่งสอนความเป็นกุลสตรีและการไหว้ที่เลื่องชื่อในเอกลักษณ์แก่นักเรียนทุกคน จนเมื่อจบ ม.ศ. ๓ ตอนนั้นยังหาตัวตนไม่พบว่าจะไปต่อมัธยมปลายด้านไหนดี รู้แต่ว่าสอบตกวิชาคณิตศาสตร์ ขนาดสอบซ่อมแล้วก็ยังตกอีก ส่วนวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ก็ตามเพื่อนไปกวดวิชาจนหัวบวม แต่ยังคิดอยากสอบเข้าเตรียมอุดมฯ จึงตัดสินใจเลือกเรียนภาษาเยอรมัน เพราะเป็นสาขาภาษาใหม่ ไม่น่าจะมีคนเรียนมาก น้อยกว่าฝรั่งเศสเป็นแน่ 

ในที่สุด ตุ้ยก็สอบเข้าเตรียมฯ ได้ และเป็นนักเรียนระดับปานกลางถึงเกือบอ่อน และเมื่อจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็ไม่มีคณะอักษรศาสตร์อยู่ในรายการที่เลือกเลย เพราะอาจารย์แนะแนวท่านบอกว่า คะแนนหนูแค่ ๒.๕ อย่าเลือกอักษรศาสตร์เลยนะ แต่สุดท้าย...ก็เลือก เพราะเป็นคณะที่มีคะแนนสูงสุด ถ้าไม่เลือกจะเสียโอกาสโควตาที่มีอยู่

 วันประกาศผล ตุ้ยบอกว่าถึงกับร้องไห้เพราะไม่ได้อยากอยู่คณะนี้เลย เพราะตุ้ยเป็นเด็กพื้นๆ  เรียบง่าย เมื่อเป็นนักเรียนเตรียมฯ มองคณะอักษรทุกวัน เห็นตึกเทวาลัย เห็นพี่ๆ นิสิตดูสวยหล่อ เริดหรู มีฐานะ ทรงภูมิ ไม่น่าจะเหมาะกับบุคลิกเด็กบ้านนอกอย่างตุ้ยเลย แต่...ตุ้ยก็อดภูมิใจในตัวเองไม่ได้ที่สอบติดคณะนี้ เพราะทำให้พ่อแม่พี่น้องภาคภูมิใจ แต่...ตุ้ยจะทำให้พวกเขาภูมิใจไปได้อีกนานแค่ไหนนะ

 เพียงเทอมแรก คณะอักษรศาสตร์ก็ทำให้ได้เรียนรู้ถึงการรับผิดชอบต่อผลของการกระทำ...นั่นก็คือ...เมื่อตุ้ยทำกิจกรรมคณะ เชียร์ เป็นนักกีฬาว่ายน้ำ และกิจกรรมขององค์การบริหารนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ที่ตึกจักรพงษ์ ทั้งฝ่ายประชาสัมพันธ์ นิสิตสัมพันธ์ สวัสดิการ รับน้องใหม่ และนักร้องวงดนตรี สจม. จนลืมรับผิดชอบหน้าที่หลักของตนเอง...ผลคือ...การเรียนเทอมแรก...ภาษาเยอรมันติด F ทำให้ติด Pro ต่ำ ๑.๖๕ โอพระเจ้า ! ที่บ้านเสียใจแค่ไหน หากตุ้ยถูกรีไทร์ ปรึกษาอาจารย์ ผศ.ปิลันธน์ จันทิมาภา ท่านเมตตาแนะนำว่าไม่ต้องมาลงทะเบียนเรียนเทอมหน้าแล้ว ให้ใช้เวลาอ่านหนังสือสอบเอนทรานซ์ใหม่ดีกว่า...เท่านั้นแหละ น้ำตาก็หลั่งออกมา

 ความบากบั่น ทิฐิมานะ ไม่รู้มาจากไหน คิดว่าจะต้องแก้ไขปัญหาและสถานการณ์ชีวิตให้เรียนจบจากคณะอักษรศาสตร์พร้อมเพื่อนๆ ร่วมรุ่นให้จงได้ จึงใช้กลยุทธ์สละวิชาภาษาเยอรมัน หันไปเลือกวิชาเอกภูมิศาสตร์ วิชาโทประวัติศาสตร์และภาษาอังกฤษ เพื่อให้พ้น Pro ให้ได้

 ภาควิชาภูมิศาสตร์ ตุ้ยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ ผศ.ผ่องศรี วนาสิน (จั่นห้าว) มีวิชาพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ออกพื้นที่ท่องเที่ยวจริง หาข้อมูลจริง เพื่อทำงานส่งอาจารย์ นับว่าเป็นนกน้อยบินออกนอกกรงคนเดียวเป็นครั้งแรก และยังได้เรียนวิชาน่าสนใจอีกมากหลาย เช่น วิชาการใช้ประโยชน์ที่ดิน วิชาภูมิศาสตร์เมือง โดยอาจารย์ รศ.นโรตม์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา วิชาภาพถ่ายทางอากาศ (Remote Sensing) โดยอาจารย์ ผศ.ผ่องศรี วนาสิน (จั่นห้าว) ซึ่งเป็นวิชาที่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศได้ ในการบริหารจัดการพื้นที่ การใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์ ตุ้ยภูมิใจในวิชานี้ เพราะสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงศึกษาวิชานี้ด้วย

 ตุ้ยสามารถอ่านภาพถ่ายทางอากาศ พาตนเองไปยังสถานที่จริงโดยมี Case Study คือพื้นที่สลัมริมทางรถไฟพระราม ๔ ได้เรียนรู้ว่า การทำงานด้านกายภาพอย่างเดียวนั้นไม่พอ ต้องลงพื้นที่ เจาะลึกถึงภาคสังคม ความเป็นอยู่ ความเชื่อของคนในท้องที่ และนี่คงเป็นพื้นฐานที่ทำให้ตุ้ยคิดไปศึกษาต่อด้านบริการสังคม เพราะสิ่งที่ได้เรียนรู้นี้หล่อหลอมให้เป็นคนที่เข้ากับสังคมที่แตกต่างได้ง่าย และเมื่อถึงวันสำเร็จการศึกษา ตุ้ยก็ต้องร้องไห้อีกครั้ง เพราะไม่อยากจากเทวาลัยแห่งนี้ไปเลย

 คณะอักษรศาสตร์เปิดโอกาสให้ตุ้ยได้ปรับตัว ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ มีโอกาสเลือก ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ มีอาจารย์ที่ปรึกษาที่ปรารถนาดีต่อศิษย์อย่างที่สุด ให้คำแนะนำทุกครั้งเข้าไปขอคำปรึกษา และยังเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้การทำงาน ทัศนะศึกษานอกสถานที่ เช่น วิชาประวัติศาสตร์ของอาจารย์ ดร.พรหมศักดิ์ เจิมสวัสดิ์ ทำให้นักเรียนรู้จักกันสนิทสนมกันมากขึ้น จากการร่วมเดินทางไปชมสถานที่ประวัติศาสตร์ โบราณสถาน นอนวัด กินกลางดิน ผจญภัยเรื่องผีกับอาจารย์ นอกเหนือจากได้วิชาความรู้ ความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ

 หลังจากรับปริญญาแล้ว ตุ้ยยังตกงาน จนต้องเข้าไปขอคำปรึกษาจากอาจารย์ ผศ.ผ่องศรี วนาสิน อีกครั้ง ท่านก็ให้ความเมตตาชวนทำงานวิจัยด้านท่องเที่ยว ที่สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมจุฬาฯ  และให้คำแนะนำในการสอบเรียนต่อปริญญาโทด้านผังเมือง ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ   แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้ไม่สามารถไปสอบได้

 หลังจากจบโครงการวิจัย ตุ้ยได้ย้ายไปทำงานเป็นเลขาฯ โครงการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล ของอาจารย์ ดร.สุรพล สุดารา ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ท่านเป็นประธานชมรมสิ่งแวดล้อมสยาม ทำงานไปได้ประมาณ ๒ ปี จึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทด้านสังคมวิทยา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพิทสเบิร์ก สเตท รัฐแคนซัส สหรัฐอเมริกา

 เมื่อกลับมาเมืองไทย ได้เข้าทำงานสายการบิน บางกอก แอร์เวย์ส ตำแหน่งหัวหน้าพนักงานต้อนรับภาคพื้นดิน และผู้จัดการด้านบริการผู้โดยสาร ดูแลบริการภาคพื้นดินในประเทศไทย ไปจนถึงสถานีพนมเปญ และเป็นผู้หนึ่งที่ปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์เครื่องบินตกที่เกาะสมุยเมื่อ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๓

จากนั้น ได้ทำงานเป็นเลขานุการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้สร้างอาคาร ๓๑ ชั้น ถนนรัชดาภิเษก ที่ตั้งของ TRUE ในปัจจุบัน ทำงาน ๒ ปีก่อนจะย้ายตามสามีไปดูแลกิจการของครอบครัวสามีที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ในปี ๒๕๓๙ เป็นผู้จัดการด้านจำหน่ายตั๋วเครื่องบินและคาร์โก้ และให้บริการด้านภาคพื้นดินแก่สายการบินต่างๆ เช่น การบินไทยที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พีบีแอร์ แอร์เอเชีย นกแอร์ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและตรัง ให้บริการภาคพื้นดินในสนามบินแก่สายการบินนกแอร์ที่นครศรีธรรมราชและตรัง นอกจากนี้ ยังเคยเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่งตั้ง จำหน่ายรถยนต์ซูซูกิ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์มาสด้า ทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราชและตรัง

 ระหว่างการดูแลรับผิดชอบธุรกิจ ตุ้ยได้ทำงานบริการสังคม และอาสาสมัครหลากหลาย เช่น เป็นวิทยากรแนะแนวการศึกษา – อาชีพแก่สถานศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช วิทยาลัยสารพัดช่างนครศรีธรรมราช ฯลฯ เป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช เลขาธิการสมาคมมิตรภาพนครศรีธรรมราช-ญี่ปุ่น (FNJA) สนับสนุนให้นักเรียนได้รับทุนไปศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่น เป็นนายกสโมสรโรตารีโพธิ์เสด็จ ทำโครงการรถบริการเคลื่อนที่สำหรับเด็กพิเศษในจังหวัดนครศรีธรรมราช และเป็น Group Study Exchange Leader หญิงคนแรกของโรตารีภาค ๓๓๓๐ นำทีมไปฮอกไกโด เชื่อมต่อความสัมพันธ์ ทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นต้นมา ฯลฯ

 ยังมีกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อีกหลากหลายร่วมไปการงานอาชีพทำธุรกิจ ที่ทำให้ตุ้ย - กฤติกา อัครปรีดี ลีละพันธุ์ ได้รับเสนอชื่อเป็น อักษรจรัส คนหนึ่งของรุ่น ๔๙

 

ถ่ายทอดโดย วิรงรอง

 

ซ่อนกลิ่น พลอยมี (ม่วย)

อักษรจรัส อบ.49

ซ่อนกลิ่น พลอยมี (ม่วย)

ม่วย หรือ ซ่อนกลิ่น พลอยมี เป็นชาวเพชรบุรี ชีวิตการเรียนและการทำงานของม่วยมีสีสันน่าสนใจตลอดต่อเนื่อง หลังจบอักษรศาสตร์ ม่วยได้ไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ก่อนจะก้าวสู่วงการอุตสาหกรรมในองค์กรระดับชาติคือ BOI ม่วยเล่าว่า...

 เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด

เราเป็นคนจังหวัดเพชรบุรี เรียนหนังสือชั้นประถมที่โรงเรียนวัดประจำตำบลชื่อ โรงเรียนวัดโพธิ์ทัยมณี เด็กทุกคนที่นี่เดินไปโรงเรียนหรือไม่ก็ขี่จักรยาน เพราะตำบลนี้เป็นเพียงตำบลเล็กๆ ระยะทางระหว่างโรงเรียนและบ้านไม่ไกลมาก ตอนกลางวันก็เดินกลับบ้านไปทานข้าว แล้วกลับมาเรียนต่อในตอนบ่าย สมัยนั้นยังใช้กระดานชนวน หรือกระดานสีดำแทนสมุด เด็กทุกคนต้องฝึกคัดไทย เขียนให้สวย แล้วคุณครูก็ให้คะแนน เพื่อนๆ เห็นกันหมดว่าใครได้คะแนนดีหรือไม่ เวลาจะลบกระดานที่เขียนแล้วก็ต้องใช้น้ำ นักเรียนทุกคนต้องมีผ้าเช็ดกระดานประจำตัว

               

ทุกเช้าหลังเคารพธงชาติ เด็กๆ ต้องช่วยกันเก็บเศษกระดาษและขยะในโรงเรียน ก่อนกลับบ้านต้องสวดมนต์ คุณครูประจำชั้นประถมปลาย ซึ่งตอนนี้จำชื่อไม่ได้แล้ว แต่จำหน้าได้ชัดมาก คุณครูบอกว่า “...เธอต้องไปเรียนในจังหวัดนะ ไปสอบที่โรงเรียนนี้นะ แล้วไปต่อที่นี่นะ ต่อไปต้องรับราชการนะ...” เราก็พยายามทำตาม เพราะสมัยก่อน ครูคือพ่อแม่อีกคนหนึ่ง ถือว่าเดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัดจริงๆ เพราะจนวันนี้ เราคือข้าราชการในกระทรวงที่สร้างงาน สร้างรายได้ให้คนเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ

 เลือกอักษรฯ ตั้งแต่มัธยมต้น

จุดเริ่มความพร้อมเปลี่ยนแปลง

 หลังจบประถมศึกษา ก็ตั้งใจเรียนต่อที่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัด โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ   และที่นี่คือจุดพลิกผันที่ทำให้เลือกเอ็นทรานส์เข้าคณะอักษรฯ เพราะได้มีโอกาสเรียนภาษาฝรั่งเศส คุณครูสอนเก่งมาก นำเพลงมาสอนแทรกในบทเรียนตลอด ทำให้สนุกและชอบเรียนภาษามากๆ คุณครูสอนภาษาอังกฤษก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่สร้างรากฐานที่ดีให้เรา ครูให้ท่องศัพท์วันละหลายหน้า  และต้องสอบเขียนศัพท์เกือบทุกชั่วโมงภาษาอังกฤษ เราจึงชอบท่องจำศัพท์ เวลาไปไหน เห็นศัพท์ที่ไม่รู้จัก ก็จะนำมาเปิดหาความหมายตลอด และจดไว้ในสมุด

 ตั้งแต่เลือกเรียนศิลป์-ฝรั่งเศส จุดม่งหมายของเราคือการได้เข้าเรียนต่อคณะอักษรศาสตร์  ในความคิดของเรา การเรียนอักษรศาสตร์ไม่ใช่วิชาชีพเหมือนคณะอื่น แต่เป็นการเตรียมคนให้พร้อมต่อการเรียนรู้ศาสตร์หรือวิชาการอื่นๆ ที่ไม่ซับซ้อน หรือไม่ต้องใช้ความรู้เฉพาะด้านเฉพาะทางมากนัก โดยใช้ภาษาเป็นสื่อทำความเข้าใจ บางคนอาจมองว่าเรียนภาษาไม่เห็นมีวิชาอะไรติดตัว...ไม่จริงเลย...ที่จริงแล้ววิชานี้คือพื้นฐานให้คนรอบรู้

 ขอเป็นข้าราชการด้วยคน

 เราเริ่มต้นทำงานด้วยการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่ โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ แต่นั่นไม่ใช่อาชีพที่เคยฝัน เราอยากทำงานรัฐวิสาหกิจเพราะคิดว่ามั่นคง เงินดี แต่ชีวิตการเป็นครูก็ได้สอนให้เรารู้จักวิธีพูด บอกเล่า สอนคนให้เข้าใจในสิ่งใหม่ และทำให้ได้เห็นการเติบโตของชีวิตเล็กๆ สอนอยู่ประมาณ ๒ ปีก็อยากทดสอบความสามารถของตนเอง ไปสมัครงานบริษัทเอกชน  เป็นฝ่ายต่างประเทศของบริษัทนำเข้าเครื่องจักร

 การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป ทุกอย่างเร่งรีบ ต้องอ่านข่าวภาษาอังกฤษทุกวันเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของลูกค้า แต่ขอโทษเถิด เป็นการเรียนรู้ที่ใหม่มาก อุปกรณ์สำนักงานยังใช้ไม่เป็นเลย แต่ใครจะรู้...นี่คือจุดเริ่มต้นให้เราได้เข้าไปวนเวียนใกล้วงการราชการ จนผ่านเข้าสู่อาชีพรับราชการนานกว่า ๒๕ ปี เหตุเพราะต้องคอยติดตามเสาะหาลูกค้าใหม่ๆ ทำให้เราต้องติดต่อ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI - The Office of The Board of Investment) ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศ และแม้จะติดต่อ BOI เป็นประจำ ก็ไม่เคยคิดว่าจะได้มาทำงานที่นี่ แต่แล้วฟ้าก็ลิขิตให้สอบเข้าทำงานที่นี่ได้

เราคิดว่า ประโยคสำคัญในการสัมภาษณ์เข้าทำงานที่นี่คือเมื่อเขาถามว่า “ทนความกดดันได้ไหม” และเราตอบว่า “ไม่เคยรู้สึกว่าความกดดันคือปัญหา” ซึ่งตอนนั้นไม่คุ้นเคยกับความกดดัน ไม่รู้ถึงพิษสงของมัน จึงตอบไปเช่นนั้น ในที่สุดก็ได้เริ่มงานเป็นเลขานุการผู้บริหาร BOI  และนับเป็นโชคดีที่ท่านสอนการเขียนหนังสือราชการ  เขียนบทความ ทำรายงาน วิเคราะห์ต่างๆ นานา เรียกว่าเป็นโรงเรียนสอนการอาชีพครบสูตรก็ว่าได้

การทำงานที่ BOI เป็นแรงผลักดันให้เราแสวงหาเพิ่มพูนความรู้อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะความรู้ด้านอุตสาหกรรม ซึ่งคณะอักษรฯ ไม่มีสอน และนอกจากนี้ ยังมีจุดเปลี่ยนสำคัญคือ เราได้รับทุนของสถานทูตอังกฤษไปเรียนต่อปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจหรือ MBA ที่ Strathclyde University ประเทศอังกฤษ และได้นำวิชาความรู้มาต่อยอดการทำงานได้อย่างดี

 ใครจะเชื่อ จบอักษรฯ ทำงานวิศวฯ

หลังจบ MBA กลับมารับหน้าที่เป็น เจ้าหน้าที่วิเคราะห์โครงการด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักร  แม่พิมพ์ และอุปกรณ์เครื่องจักร เพราะเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทยกำลังเติบโต  ความต้องการเครื่องจักรอุปกรณ์และแม่พิมพ์ก็มีมากขึ้นตามไปด้วย

ด้วยพื้นฐานการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ อย่าว่าแต่ด้านอุตสาหกรรมเลย แม้แต่ตัวเลขต่างๆ ก็แทบไม่ได้เรียนมาตั้งแต่มัธยมแล้ว แต่เจ้าหน้าที่วิเคราะห์โครงการจำเป็นต้องวิเคราะห์ทั้งทางด้านการเงิน อุตสาหกรรม การผลิต การตลาด เทคโนโลยี ทำให้เราต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนที่มีพื้นฐานอยู่บ้าง กับการเรียนรู้ ทำความรู้จักอุตสาหกรรม และโครงการที่วิเคราะห์ จากผู้รู้และแหล่งข้อมูลต่างๆ

 ถามว่าสนุกไหม ต้องตอบว่าเป็นอะไรที่ตื่นเต้นตลอด เพราะแต่ละโครงการไม่เหมือนกันเลย ๑๐๐ โครงการก็มีข้อมูล ๑๐๐ แบบ แถมเราต้องทำหน้าที่ defend โครงการ ต้องตอบคำถามกรรมการจากหลายหน่วยงาน ให้ได้ทุกแง่มุมของโครงการ...เก่งแค่ไหนก็น่าจะต้องตื่นเต้นอยู่ดี

 ดูแลโครงการเครื่องจักรอุปกรณ์อยู่ประมาณ ๔ ปีก็เปลี่ยนมาดูแลโครงการใหญ่ๆ มูลค่านับหมื่นล้านบาท เป็นโรงงานประกอบรถยนต์ทั้งค่ายญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา เรียกว่ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ทุกยี่ห้อในประเทศไทยไม่มีใครไม่ผ่านมือ ขณะเดียวกันก็ต้องทำนโยบายรถยนต์ของประเทศว่าควรจะพัฒนาไปทิศทางใด นโยบายที่ทำไปแล้ว เช่น นโยบายรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล หรือ Eco Car เป็นรถราคาย่อมเยา ปลอดภัยตามมาตรฐานยุโรป และประหยัดพลังงานด้วย นโยบายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล นโยบายรถยนต์รุ่นใหม่ นโยบายรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ หรือ Big Bike ในช่วงนี้ ได้ทำหน้าที่ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ วิเคราะห์โครงการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมทั้งชิ้นส่วนยานยนต์

 อักษรศาสตร์อยาก  Go Inter

 ด้วยความที่ดูแลโครงการใหญ่ๆ จากประเทศญี่ปุ่นมามากมาย จึงอยากไปประจำต่างประเทศ  โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่น และในที่สุดก็ได้ไปประจำสำนักงานของ BOI ที่โอซากา เป็นหัวหน้าสำนักงาน  ทำหน้าที่เป็น กงสุลด้านเศรษฐกิจ ณ นครโอซากา ดูแลชักจูงการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น เป็นตัวแทนของ Team Thailand ด้านเศรษฐกิจ แสดงให้ต่างชาติเห็นว่าประเทศไทยมีดีอะไร เศรษฐกิจของไทยจะช่วยสร้างอะไรให้แก่เขา ไทยเรามีอะไรที่จะสร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่เขา สรุปคือ เราต้องเป็นนักเศรษฐศาสตร์ คอยติดตามภาวะเศรษฐกิจ ภาวะการณ์ลงทุน ภาวะอุตสาหกรรม ตลอดเวลา

ประจำอยู่ญี่ปุ่นประมาณ 4 ปีก็กลับมาเมืองไทย เป็น ผู้อำนวยการหน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม และถ่ายทอดเทคโนโลยี นำประสบการณ์จากญี่ปุ่นกลับมาใช้ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้มีโอกาสเพิ่มขึ้นด้านตลาด ด้านเทคโนโลยี ด้านการวิจัยพัฒนา และการสร้างนวัตรกรรม เป็นต้น จนสามารถสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยขยายตลาดชิ้นส่วนอุตสาหกรรมในตลาดต่างประเทศได้ปีละนับหมื่นล้านบาท ทั้งยังพาผู้ประกอบการไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมอากาศยานและอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ซึ่งทั้ง 2 อุตสาหกรรมนี้ ผู้ประกอบการไทยไม่มีเทคโนโลยี แต่เป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต ที่จะตอบสนองความต้องการทางสังคมและเศรษฐกิจ

การทำงานในหลายๆ หน้าที่ข้างต้นและสนุกกับงานได้เสมอ เราคิดว่า เพราะรากฐานทางด้านภาษาจากคณะอักษรศาสตร์ทำให้ไม่เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ และการติดต่อสื่อสาร จึงสามารถหาความรู้ได้ทั้งจากการอ่านและการพูดคุย แม้จะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ไม่เป็นปัญหา จึงต้องขอบคุณสถาบันที่สร้างรากฐานที่ดีสามารถนำมาประกอบอาชีพได้อย่างเต็มที่เช่นทุกวันนี้

ถ่ายทอดโดย เพ็ญศิริ

 

ตุลสถิตย์ ทับทิม (ตุล)

อักษรจรัส รุ่น ๔๙

ตุลสถิตย์ ทับทิม (ตุล)

ตุลสถิตย์ ทับทิม เกิดวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๐๖ เรียนชั้นประถมและมัธยมต้นที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมาจบมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และในปี ๒๕๒๔ ตุลสถิตย์ ทับทิม หรือ ตุล  ก็ได้เข้ามาเป็นหนึ่งในทรัพยากรอันมีค่าของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะ ๑ ในนิสิตชาย ๒๑ คน ที่เหลือ ๒๑๐ คนเป็นนิสิตหญิง

ตุลเป็นคนที่ดูสุขุม ยิ้มง่าย และดูเป็นผู้ชายใจดี อารมณ์เย็นเสมอ แต่ภายใต้ความนิ่งนั้น เพื่อนๆ รู้ดีว่าตุลเป็นคนมองโลกอย่างลุ่มลึก มองด้วยวิจารณญานหลายด้าน มิใช่มองผ่านๆ ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ต้องเรียกได้ว่า ‘มีของ’ 

ถึงแม้ว่าจะเลือกเข้ามาเรียนคณะอักษรศาสตร์เพราะเกลียดกลัววิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เอามากๆ เห็น หรม./ครน. ทีไร เป็นอันต้องสยองพองขนทุกครั้ง แต่เมื่อได้เข้ามาเรียนในคณะนี้อย่างเต็มตัว ตุลพบว่าวิชาของอักษรศาสตร์มีประโยชน์ต่อการมองโลกโดยทั่วไป ทำให้รู้ว่าโลกนี้เป็นสีเทา ไม่ใช่แบ่งขาวหรือดำ วิชาของอักษรศาสตร์สอนให้รู้จักวิวัฒนาการของมนุษย์ เข้าใจในความซับซ้อนของการกระทำและกระบวนการความคิดของมนุษย์ ในขณะที่บทเรียนของสายวิชาอื่นๆ อาจจะมีหลักการรูปแบบที่ตายตัว เปลี่ยนแปลงลำบาก อักษรศาสตร์กลับทำให้รู้สึกว่าหลายสิ่งหลายอย่างในโลกนี้ไม่มีรูปแบบตายตัว 

หลังจบปริญญาตรี ตุลได้เข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น ในแผนก พิสูจน์อักษร หลังจากนั้น ๑  ปีก็ได้ย้ายมาทำงานในฐานะ นักเขียนข่าวและบทวิเคราะห์ และกลายเป็นว่า เดอะเนชั่น เป็นที่ทำงานที่เดียวของตุล ซึ่งบอกว่าทีแรกไม่ได้คิดจะอยู่นาน เพราะไม่ได้เรียนด้านงานข่าวมาโดยตรง แต่ทำๆ ไปก็รู้สึกว่าวิชาอักษรศาสตร์ที่เรียนมานั้นเกื้อกูลซึ่งกันและกันกับงานข่าว ที่เกี่ยวพันกับชีวิตคนหลายหลายรูปแบบ ได้เรียนรู้ว่า life imitates art ทุกวันและตลอดเวลา 

เมื่อเริ่มงานที่ เดอะเนชั่น ใหม่ๆ ตุลอ่าน Time magazine บ่อยมาก เพราะคิดว่าเป็นนิตยสารข่าวที่มีวิธีการเขียนไม่เหมือนภาษาข่าวทั่วๆ ไป แรงบันดาลใจในการทำงานของตุลมาจากบรรณาธิการบริหารและนักเขียนของ Time magazine ชื่อ Nancy Gibbs ซึ่งเธอคนนี้มักจะได้รับมอบหมายให้เขียนเรื่องเหตุการณ์สำคัญใหญ่ๆ ของโลกเสมอ นอกจากนี้แล้ว บุคคล ๒ คนใน เดอะเนชั่น ที่ช่วยเหลือและมีอิทธิพลต่อการทำงานของตุลอย่างมากก็คือ คุณสทธิชัย หยุ่น ผู้คอยแนะนำเรื่องจริยธรรมการเป็นนักข่าวที่ดี และ คุณเทพชัย หย่อง ผู้คอยสั่งสอนอบรมเรื่องการเขียนข่าว

โดยส่วนตัวแล้ว ตุลชอบอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความขัดแย้งทางคุณธรรมหรือศีลธรรมที่หาคนถูกผิดได้ยาก เช่น เรื่องการทำแท้ง การุณยฆาต ศาสนา ผลกระทบของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ต่อจิตวิญญาน นอกจากนี้ ยังชอบดูหนังทุกประเภท ทุกเกรด ชอบฟังเพลงทุกรูปแบบ  อะไรที่ฮิตเป็นที่นิยมก็ตามไปดู ไปฟัง ตุลมองว่าหนัง เพลง ละครเป็นศิลปะที่รวบหลายสิ่งหลายอย่างให้คนซึมทราบในเวลาที่ไม่เยิ่นเย้อ และให้ความคิดและมุมมองแก่ผู้ชมในหลายด้าน ตุลยอมรับว่า หลายอย่างในชีวิตเช่น หน้าที่การงานและมุมมองโลกส่วนตัว ได้รับอิทธิพลจาการเรียนคณะอักษรศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ เพราะคณะนี้สอนให้รู้จักมนุษย์มากพอๆ กับสิ่งที่มนุษย์สร้างหรือกำหนดขึ้น

ถือได้ว่า ตุลเป็นลูกหม้อคนหนึ่งที่เติบโตมากับ เดอะเนชั่น เริ่มจากพิสูจน์อักษร แปลข่าว เขียนข่าว เขียนบทความ บทบรรณาธิการนับพันชิ้น...จนได้รับแต่งตั้งเป็น บรรณาธิการบริหาร ในช่วงปี ๒๕๔๗ – ๒๕๕๕ และในระหว่างนั้น ได้ดำรงตำแหน่ง ประธานอนุกรรมการฝ่ายสิทธิและเสรีภาพของสมาคมนักข่าว 

ตุลทำงานกับ เดอะเนชั่น มานาน ผ่านกระบวนการการปรับตัว ทำให้หนังสือพิมพ์ดึงดูดคนหมู่มากขึ้น แต่คงจุดแข็งของ เดอะเนชั่น ไว้ได้  ในยุคที่ตุลสถิต ทับทิมเป็นบรรณาธิการ เดอะเนชั่น มีการปรับตัวหลายด้าน ทั้งการออกแบบ รูปเล่ม เนื้อหา ปรับสู่คนอ่านกลุ่มอายุน้อยลง ขยายฐานไปยังคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งกลับจากต่างประเทศ สนุกสนานขึ้น และเพิ่มเรื่องไลฟ์สไตล์ บันเทิงจากต่างประเทศ เป็นต้น

ตุลเล่าว่า “...ต่อไปหนังสือพิมพ์จะเป็นสไตล์แมกกาซีนมากขึ้น และ update วันต่อวัน แต่สัดส่วนเนื้อหาการเมืองเศรษฐกิจยังคงเดิม เราพยายามจะบอกคนรุ่นเก่าว่า ตอนนี้คนรุ่นใหม่เขาสนใจอะไรกัน ขณะเดียวกันเราก็อยากจะดึงคนรุ่นใหม่มาสนใจเรื่องระดับประเทศบ้าง เดอะเนชั่น มีบทบาทเป็นสะพานระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่...” 

ในชีวิตการทำงานและด้วยสไตล์ของ เดอะเนชั่น ที่นำเสนอเรื่องราวต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา และดุเดือด ผลงานที่ทำได้รับทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ มีหลายครั้งที่ตุลกลุ้มใจ แต่ก็ได้รับกำลังใจจากผู้อ่าน มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งโทรศัพท์มาบอกตุลว่า ชอบเรื่องที่ตุลเขียน ทำให้หายกลุ้มใจ รู้สึกดีขึ้นในทันที ตุลประทับใจในเหตุการณ์ครั้งนั้นและเกิดทัศนคติว่า ความสำเร็จไม่ได้อยุ่ที่ชื่อเสียงหรือเงินทองเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการที่ตนเองสามารถสื่อสาร ถ่ายทอดความคิดของตนเองกับคนอื่นๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม

การได้เป็น บรรณาธิการบริหาร ของหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษชื่อดังในเมืองไทย มิใช่เรื่องง่าย โดยที่ตุลมิได้จบการศึกษาจากต่างประเทศ งานเขียนของตุลใช้ภาษาอังกฤษที่สวยงาม สละสลวย เทียบเท่ากับเจ้าของภาษา  บทความของตุลให้ข้อคิดที่ลึกซึ้ง นำเสนออย่างตรงไปตรงมา แสดงความคิดเห็นชัดเจน ต่อเรื่องราวในสังคม ผลงานที่ผ่านมาของตุลมีประโยชน์กับสังคม 

ปี 2559 ตุลสถิตย์ ทับทิม ลาออกจากการเป็นบรรณาธิการบริหาร ด้วยเหตุผลทางสุขภาพ แต่ยังคงทำงานเป็นนักเขียน และนักแปลอิสระ ยังเขียนบทความทางการเมือง สังคม และอื่นๆ ทั่วไปเกี่ยวกับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้กับ เดอะเนชั่น ในคอลัมน์ชื่อ Stoppage Time ทุกสัปดาห์ 

เรื่องหลายเรื่องตุลสถิตย์ ทับทิม ยังอยู่บนเว็บไซต์ www.nationmultimedia.com และเมื่อได้เข้าไปอ่านผลงานของเพื่อน เราก็พบว่า...ตุลคือหนึ่งในความภูมิใจพวกเราจริงๆ 

ถ่ายทอดโดย จาติกาญจน์

นรีนุช เค้าไพบูลย์

อักษรจรัส รุ่น ๔๙

นรีนุช เค้าไพบูลย์ 2410768

เมื่อได้ทราบว่าได้รับเลือกให้เป็น 1 ในบรรดา อักษรจรัส ของรุ่น  ดิฉันขอตัวเพราะคิดว่าเส้นทางหน้าที่การงานของตนหลังจบอักษรฯ ไปแล้ว ไม่ได้โดดเด่น ควรค่าแก่การเล่าให้ใครฟัง แต่พอเพื่อนกรรมการบอกมาว่า ถ้าดิฉันขอตัว หน้ากระดาษในหนังสือของรุ่นจะว่างเปล่า ดิฉันจึงขอมีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ ด้วยสำนึกว่า ตนไม่ได้อยู่ประเทศไทย ไม่ได้สนับสนุนกิจกรรมคณะ ฯ เหมือนคนอื่นๆ ถ้าสิ่งนี้ เป็นสิ่งที่แสดงสปิริตได้ ยินดีทำ

ปัจจุบันดิฉันทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่สำนักงานผู้ดูแลนักเรียน ประจำกรุงปารีส  ซึ่งเป็นหน่วยงานในต่างประเทศของสำนักงาน ก.พ.  งานหลักของดิฉันคือ ดูแลจัดการการศึกษาของนักเรียนทุนรัฐบาลที่ได้รับทุนมาศึกษาที่ฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์  ซึ่งมีตั้งแต่ระดับมัธยมปลาย ถึง ระดับปริญญาเอก   

นักการศึกษาชาวบราซิล Paulo Freire  ( ค.ศ. 1921-1997) ได้กล่าวไว้ว่า “ไม่มีใครสอนใคร ไม่มีใครที่เรียนรู้โดยลำพัง คนเราเรียนรู้ไปด้วยกันจากการอยู่ร่วมกันในโลกใบนี้”  เส้นทางชีวิต การทำงานของดิฉันหากจะเป็นข้อคิดให้กับคนอื่น โดยเฉพาะอักษรฯ รุ่นลูก รุ่นหลาน ก็คงถือได้ว่าตอบจุดมุ่งหมายโครงการอักษรจรัสเช่นกันว่า หากจะไปให้ถึงความเป็นจรัส ไม่ควรตามอย่างดิฉัน

ดิฉันเป็นคนความจำดี ทำข้อสอบเลือกกา  ก- ข- ค- ง เก่ง  จึงสอบเข้าคณะฯได้เป็นที่ 1 ของรุ่น การสอบได้เป็นที่ 1 ของรุ่น ถือว่าเป็นกรรมอย่างหนึ่ง คือคนจำชื่อได้ติดทนนาน  ถ้ารุ่งเรืองก็ดีไป ถ้าร่วงหล่นก็จะรู้สึกขัดเขิน ในปีนั้น เพื่อนๆที่เรียนภาษาสเปนมาเล่าให้ฟังว่า อาจารย์เดโช อุตตรนที  เวลาไม่พอใจนิสิตในห้อง  เคยพูดว่า มีอย่างที่ไหน ที่ 1 คณะฯ ได้คะแนนต่ำอย่างนี้ ไม่เคยเห็น  (คือจะว่านิสิตในชั้น แต่เอาดิฉันเป็นหนังหน้าไฟ)  ดิฉันฟังแล้ว นึกเข้าใจหัวอกนางสาวไทยมาก ที่ถูกคนถามว่า ได้ตำแหน่งเข้าไปได้ยังไง ขาก็โก่ง   ในใจอยากตอบแทนนางสาวไทยว่า ต้องไปถามกรรมการค่ะ ท่านเป็นคนตัดสิน 

เมื่อเรียนจบ งานแรกที่ทำคือตำแหน่งเลขานุการ รองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการที่จุฬาฯ  ซึ่งอาจารย์ดาริล ที่สอนวิชาภาษาอังกฤษที่คณะฯ และทำงานที่ฝ่ายวิเทศน์สัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยด้วยในขณะนั้น ชวนไปทำพลางๆ ระหว่างรอผลการสมัครงานที่อื่น  ทำอยู่ได้ 3 เดือน ได้รับการตอบรับจากธนาคารกสิกรไทย ให้ไปทำฝ่ายบุคลากร ดูแลนักเรียนทุน MBA ของธนาคาร ที่นี่ ให้ประสบการณ์ในการทำงานกับองค์กรใหญ่ที่มีระบบ ขั้นตอน  ทำได้ 1 ปี ก็ลาออกไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส  ตอนนั้น ไม่มีเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมในการประกอบอาชีพ ซึ่งคงเป็นปัญหาให้ขบคิดของผู้ที่เรียนสายมนุษย์ศาสตร์อย่างเราๆ ทุกยุคทุกสมัย  ที่เรียนต่อเพราะคิดว่า ภาษาอังกฤษเราดีพอแข่งขันในตลาดแรงงานได้แล้ว หากรู้ภาษาฝรั่งเศสอย่าดีอีกภาษา จะเป็นข้อได้เปรียบในการทำงาน จะไปเรียนภาษาอย่างเดียว ได้แต่ความรู้ แต่ไม่ได้วุฒิเพิ่มค่าหากสมัครเข้ารับราชการ  จึงสมัครเรียนหลักสูตรภาษาศาสตร์ ป. โท   เนื่องจากมีพี้นภาษาศาสตร์น้อยมาก เลยต้องซ้ำ ป. ตรีปีสุดท้ายก่อน    ตอนทำวิทยานิพนธ์ ตั้งใจเลือกหัวข้อการใช้คำในภาษาฝรั่งเศส เพื่อบังคับตัวเองให้หาความรู้การใช้ภาษาฝรั่งเศส  ระหว่างเรียน ได้พบเพื่อนร่วมทางชีวิต หรือ เจ้ากรรมนายเวร แล้วแต่จะเรียก ซึ่งเป็นจุดหักเหให้มาใช้ชีวิตต่างแดนถึงทุกวันนี้

เรียนจบกลับไทย ช่วงนั้นของชีวิต เห็นกงจักรเป็นดอกบัว  ตั้งใจเลยว่าจะทำงานหาเงิน เป็นงานที่ไม่มีข้อผูกพันระยะยาว เพื่อให้ได้กลับไปแต่งงานโดยเร็วที่สุด ประจวบเหมาะกับพี่สาวซึ่งเป็นมัคคุเทศก์ภาษาฝรั่งเศสอยู่ เปิดกิจการตั้งบริษัทเอง  จึงได้เข้าไปเป็นแรงสำคัญในการทำงาน เป็นทั้งมัคคุเทศก์มือหนึ่งของบริษัท เพราะทั้งบริษัทมีมือนี้มือเดียว หน้า Low season ว่างจากงานมัคคุเทศก์ คิดต้นทุน คิดโปรแกรมทัวร์ ออกแบบ logo ทำแผ่นพับ ทำ artwork โฆษณาบริษัทเอง อาศัยประสบการณ์จากตอนทำงานเป็นประธานสาราณียกร ของคณะฯ  ความรู้ตรงนี้ เป็นประโยชน์ในการทำงาน Logistic รับคณะฯ แขกผู้ใหญ่ ข้าราชการระดับสูง ถึงทุกวันนี้  สิ่งที่ภูมิใจมากคือ ได้ต้อนรับอดีตปลัดกระทรวงฯ ท่านหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นคณบดีที่จุฬาฯ และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรมไทยอย่างหาตัวจับได้ยาก  ท่านได้เขียนหนังสือขอบคุณถึงผู้บังคับบัญชาและกล่าวเป็นนัยๆ ขอบคุณดิฉัน (ถ้าดิฉันคิดเข้าข้างตัวเอง ตีความผิด ก็ขออภัยในความเบาปัญญามา ณ ที่นี้)  กิจการบริษัทที่ช่วยพี่สาวก่อตั้งเมื่อ 27 ปีก่อนเจริญขึ้นมาก  พี่สาวก็ยังเกี้ยวอยู่เนืองๆว่าไม่คิดกลับไทยไปช่วยกันหรือ

แต่งงานมาอยู่ฝรั่งเศส  เริ่มหาช่องทางด้วยการเข้าอบรมหลักสูตรเลขานุการอยู่ 6 เดือน ฝึกงานที่บริษัท American Express และได้งานแรกทำ ก็ด้วยความที่มีป้ายว่าจบอักษรฯ จุฬาฯ และอานิสงส์มาจากรุ่นพี่   ในปีนั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน BOI มาเปิดสำนักงานเป็นครั้งแรกที่ปารีส หาพนักงานต้อนรับในงานเปิดสำนักงานฯ รุ่นพี่ที่อักษรฯที่เรียนต่ออยู่ที่ปารีสทราบข่าวมา แนะนำให้ไปสมัคร   หัวหน้าสำนักงานฯ ศิษย์เก่าวิศวะฯ พระเกี้ยว ซึ่งได้เห็นฝีมือรุ่นพี่อักษรฯของเราคนหนึ่ง ที่ BOI มาก่อนแล้วคือ พี่ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ ปัจจุบันเป็นรองเลขาธิการฯ BOI  ที่ดิฉันถือว่าเป็นอักษรจรัสแรงดั่งแสงอาทิตย์ตัวจริง  รับดิฉันให้เข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการลงทุน งานที่ทำนอกจากเป็นล่ามแล้ว ยังเป็นหูเป็นตา อ่านหนังสือพิมพ์ สรุปข่าวเศรษฐกิจ คอยดูว่า บริษัทฝรั่งที่ไหนควรที่เราจะไปหา เชิญชวนให้ไปลงทุนที่ไทยบ้าง และให้ข้อมูลสนับสนุนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในการลงทุนในประเทศไทย  ซึ่งข้อมูลหลัก เรื่องมาตรการภาษี มาตรการกฎหมายนั้น มีคัมภีร์ไว้ให้อยู่แล้ว แต่ขัอมูลอื่นๆ ประกอบการตัดสินใจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย จะเป็นเรื่องความเป็นอยู่ทั่วไป เช่น โรงเรียนของลูก การครอบครองอสังหาริมทรัพย์  การเดินทางขนส่งสินค้า  ซึ่งเป็นงานหาข้อมูล  สมัยนั้น ยังไม่มี “กูเกิ้ล” การหาข้อมูลจึงต้องอาศัยความรู้ทั่วไปเป็นหลัก  การเรียนที่คณะฯ ฝึกเราให้อ่านมากอยู่แล้ว กว่าจะเจอสิ่งที่จะเอามาเขียนส่งอาจารย์วิชาวรรณคดีเชคสเปียร์ได้ ต้องอ่านตั้ง 3-4 เล่ม ถึงจะเจอประโยคกุญแจไขปริศนาประโยคเดียว  เรื่องค้นข้อมูลนี้ จึงเป็นเรื่องไม่เกินความสามารถ“กูกล้า”  หัวหน้าท่านนี้ สอนให้ดิฉันคิดอย่างเป็นระบบ  ค่อยๆสางปัญหาทีละขั้น ลอกเอาสิ่งที่ไม่จำเป็นออก เพื่อให้เห็นปัญหาที่แท้จริง ที่ BOI นี้ เป็นครั้งแรกที่ได้ทำงานต้อนรับบุคคลสำคัญระดับรองนายกรัฐมนตรี

หลังจากทำงาน BOI  ได้ 3 ปี จำเป็นต้องลาออกด้วยเหตุผลทางครอบครัว ย้ายติดตามไปอยู่ที่โตเกียว ช่วงนั้น ไม่ได้ทำงานสำนักงาน แต่ทำงานที่บ้าน ซึ่งดิฉันว่ายากกว่างานสำนักงาน คือ งานเลี้ยงลูก เมื่อย้ายกลับมาฝรั่งเศสได้ 3 ปี ด้วยอานิสงส์ของความเป็นศิษย์เก่าอักษรฯ อีกครั้ง รุ่นพี่อักษรฯ ซึ่งทำงานอยู่ที่สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนฯ ชวนให้มาทดลองงาน และ ได้บรรจุเข้าเป็นเจ้าหน้าที่ประจำในโอกาสต่อมา ทำมาถึงปัจจุบันนี้

Profile ของบัณฑิตอักษรฯ ถ้าต้องมาหางานทำในต่างประเทศเช่นดิฉัน จะมีข้อจำกัดคือ เราจะเป็นบุคลากรที่มีค่าในองค์กรที่ต้องมีความสัมพันธ์หรือทำธุรกิจกับประเทศไทย  ซึ่งมีไม่กี่แห่ง ได้แก่ สำนักงานของหน่วยราชการไทยในต่างประเทศ หรือ บริษัทการบินไทย เป็นต้น หากจะหางานในตลาดแรงงานท้องถิ่น ควรอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาเอาปริญญา หรือ ประกาศนียบัตร ที่มีความเป็นรูปธรรมเพิ่มขี้น เช่น วิชาการโรงแรม  วิชาเลขานุการ หรือ การตลาด บางคนก็เปลี่ยนสายไปเอาดีทางเรียนทำอาหาร ทำขนมเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งจะต้องยอมสละเวลามาตั้งต้นใหม่อย่างน้อย 2-3 ปี แต่จะให้ผลคุ้มค่าในระยะยาว   

งานสำนักงานหน่วยงานราชการในต่างประเทศ เป็นงานทศกัณฐ์ที่มีหลายหน้า ต้องรู้รอบตัว เพราะเจ้าหน้าที่มีจำนวนน้อย  ตัวอย่างเช่นงานที่ดิฉันทำ จะหลากหลาย เหมือนงานของ 4- 5 กรมกองที่สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ  เพียงแต่ไม่ลึกเท่า  อดีตหัวหน้าหน่วยสืบราชการลับอังกฤษเคยให้สัมภาษณ์ว่า จารชนที่ดี ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่รู้ทุกเรื่อง แต่ต้องรู้ว่าจะไปหาขัอมูลได้ที่ไหน

ในการทำงาน ดิฉันประทับใจแง่คิดจากอดีตเด็กนักเรียนในความดูแลของสำนักงานฯ  ที่ประสบความสำเร็จในการทำงาน ไต่เต้าขึ้นสู่ระดับบริหารภายในเวลา 8 ปี โดยอายุยังไม่ถึง 30 ซึ่งมาพูดให้น้องๆฟังว่า “อย่าทำงานเพียงแค่ให้เสร็จ  ให้ทำให้สุด (ความสามารถ)”

ดิฉันมีลูกสาว 2 คน  ปัญหาที่ได้ยินบ่อยจากลูก และ จากนักเรียนในความดูแล เชื่อว่าพ่อแม่แทบทุกคนก็เจอด้วย จะไม่พ้นเรื่องลูกท้อใจในการเรียนว่าทำคะแนนได้ไม่ดี ซึ่งว่าไปแล้ว เป็นอาการโรคเชิงบวก เพราะ ถ้าลูกเรียนไม่ดีแล้วไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือน จะเป็นอาการที่น่าเป็นห่วง  ดิฉันถามลูกว่า ทำดีที่สุดแล้วหรือยัง ถ้าทำดีที่สุดแล้ว ไม่ต้องเสียใจ เราทำได้แค่นี้ ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นไอน์สไตน์ได้  แต่ถ้ายังไม่ได้ทำให้ดีที่สุด ลูกก็คงรู้คำตอบอยู่แล้วว่าควรจะทำอย่างไร เพียงแต่ว่าจะทำหรือไม่ทำ   คำตอบนี้ใช้กับนักเรียนในความดูแล และใช้ถามตัวเองด้วยในยามที่เผชิญกับปัญหาส่วนตัว  

อีกปัญหาคือเรื่องความเครียดของเด็กที่อยากย้ายห้อง เพราะไปอยู่ในกลุ่มเด็กเรียนคะแนนดีเลิศ  คำตอบนี้ ดิฉันลอกมาจากคุณตาของเด็กๆ ซึ่งตอบพี่สาวดิฉัน เมื่อเธอเข้าเรียนอักษรศาสตร์ จุฬาฯ วันแรกๆใน ปี พ.ศ. 2516 ว่า “ลูกอยากเป็นหัวหมา หรือ เป็นหางราชสีห์” พูดถึงเรื่องนี้แล้ว ขอเล่าเรื่องอดีตสมัยเรียนว่า คนเรียนเก่งนั้น อาจเข้าข่ายบุคคลที่สังคมรังเกียจ  เพื่อนร่วมรุ่นคนหนึ่งเคยบอกขำๆว่าเวลาลงทะเบียนเรียนถ้าเห็นชื่อดิฉันในรายชื่อนิสิตวิชานั้น จะเดินข้ามฝั่งไปสำนักทะเบียนฯ ขอถอนวิชาทันที ค่อยลงเรียนเทอมถัดไป จะเห็นได้ว่าเพื่อนคนนี้ เป็นคนมียุทธวิธีในการดำเนินชีวิตมาแต่เด็ก จึงไม่แปลกใจที่ปัจจุบัน ประสบความสำเร็จในการงานอย่างมาก

ดิฉันพูดกับลูกตลอดว่าคนเรียนเก่งในห้องเรียนไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จในงานด้วยเสมอไป เมื่อเราเข้าสู่โลกการทำงาน  นอกจากความสามารถแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นเข้ามาประกอบ เช่น โอกาสที่จะแสดงความสามารถ การรู้จักพัฒนาตนเอง และ ปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรม ความคาดหวังขององค์กร   คนบางคนทำงานเป็นทัพหลัง อยู่เบื้องหลังการผลิต ดูแลบ้าน ดูแลลูกเต็มที่ เพื่อให้คู่ชีวิตเดินทัพหน้าได้สุดฝีเท้า  เขาหรือหล่อนก็มีค่าและประสบความสำเร็จได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนที่มีงานมีรายได้  บางคนได้ทำงานตามที่ตัวเองใฝ่ฝัน ตั้งเป้าและทำให้ความฝันเป็นจริง  เส้นทางการทำงานของดิฉันในฝรั่งเศสไม่ได้ทำงานที่ตัวเองรัก เป็นเส้นทางที่ไปตามคลื่นลมชีวิตส่วนตัว   แต่ดิฉันเป็นคนรักการทำงาน จึงหามุมมองทำงานที่เราไม่ได้รักให้เป็นงานที่น่าสนใจได้อยู่เสมอ

ปัทมา (ตันจันทร์พงศ์) ถกลศรี

ผึ้ง - ปัทมา (ตันจันทร์พงศ์) ถกลศรี 

คำร่ำลือที่ว่าสาวอักษรฯสวยเลิศกว่านิสิตจากคณะไหนๆในจุฬาฯนั้นเป็นความจริงได้โดยหาข้อโต้แย้งยากมาก โดยเฉพาะเมื่อใครก็ตามได้มีโอกาสพบเห็น ผึ้ง - ปัทมา ตันจันทร์พงศ์ ที่ได้เข้าเป็นนิสิตอักษรฯเมื่อปี ๒๕๒๔   แต่ผึ้งไม่ได้เป็นเพียงคนที่สวยมากคนหนึ่งของคณะอักษรฯ - จุฬาฯเท่านั้น  ผึ้งยังเป็นคนที่เก่งมากของรุ่นด้วย 

ผึ้ง เป็นลูกสาวคนโตของ คุณพ่อ พล.ต.ท. นพ. อุทิศ และ คุณแม่จรรยา ตันจันทร์พงศ์  ผึ้งเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนอนุบาลจุไรรัตน์ ก่อนที่จะเข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ตั้งแต่ระดับประถมจนจบชั้นมัธยมปลาย  และเมื่อได้เป็นนิสิตอักษรศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ผึ้งมุ่งมั่นกับการเรียน และรักษามาตรฐานความเป็นคนเก่งไว้โดยตลอดจนจบการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งในวิชาเอกภาษาอังกฤษ และวิชาโทภาษาญี่ปุ่น 

ด้วยความตั้งใจว่าจะเป็นครู  ผึ้งจึงได้เลือกไปเรียนต่อในระดับปริญญาโทโดยเรียนทางด้านการศึกษาที่ Boston University ในสหรัฐอเมริกา และคาดหวังไว้ว่าจะได้กลับมาร่วมงานกับสถาบันการศึกษาแห่งใดแห่งหนึ่งในประเทศไทย 

เมื่อกลับมาประเทศไทยแล้ว ผึ้งได้เริ่มงานกับสถาบันการศึกษาดั่งที่หวังไว้จริงๆ คือได้ทำงานกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์   แต่งานแรกที่ผึ้งทำนั้นไม่ได้เป็นครูอย่างที่เคยตั้งใจไว้  ผึ้งเป็นเลขานุการให้กับรองผู้อำนวยการฝ่ายฝึกอบรมของสถาบัน  หลังจากนั้นผึ้งได้ผันตัวเองเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดต่างประเทศให้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด 

เมื่อผึ้งแต่งงานกับคุณสุทธิเดช ถกลศรี (ปัจจุบันคือประธานบริหารของบริษัท นีโอคอร์ปอเรท จำกัด) ผึ้งได้มาช่วยบริหารธุรกิจของครอบครัวอย่างเต็มตัว โดยรับหน้าที่เป็นประธานกรรมการฝ่ายการตลาดให้แก่บริษัท นีโอคอร์ปอเรท ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคประเภทของใช้ส่วนตัวและของใช้ในครัวเรือน   

สินค้าอุปโภคประเภทของใช้ส่วนตัวที่เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท นีโอคอร์ปอเรท นั้นเป็นสินค้าที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดีทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น ครีมอาบน้ำ“บีไนซ์” ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นรองเพียงครีมอาบน้ำที่เป็นแบรนด์ข้ามชาติเท่านั้น, หรือ ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กในชื่อ“ดีนี่” ที่ได้รับความนิยมสูงมากทั้งในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคอาเซียน ส่วนสินค้าสำหรับใช้ในครัวเรือนอื่นๆ นั้น เช่น ผลิตภัณฑ์“ไฟน์ไลน์” ที่เป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผ้าครบวงจรที่มียอดจำหน่ายเป็นอันดับต้นๆของประเทศไทย เป็นต้น

 ผึ้งกลายเป็นนักธุรกิจอย่างเต็มตัวด้วยความภาคภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในกำลังหลักของการช่วยผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทไทยได้เป็นที่เชื่อถือของผู้บริโภคจนสามารถครองตลาดอันดับหนึ่งในประเทศ (แม้จะเป็นรองบ้างก็แต่เพียงบางผลิตภัณฑ์จากบางบริษัทข้ามชาติเท่านั้น)  ไม่ใช่แต่เพียงการเน้นคุณภาพให้ผู้บริโภควางใจ มั่นใจและติดใจในผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตในไทยเท่านั้น แต่ผลิตภัณฑ์ต่างๆภายใต้การควบคุมดูแลของผึ้งยังเน้นขบวนการและขั้นตอนการผลิตที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม  และมีการ“ให้คืน”กับสังคมด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคสามารถเข้าร่วมเพื่อความบันเทิง และเพื่อได้รับข้อมูลความรู้ที่เป็นสาระประโยชน์ได้อย่างสม่ำเสมอ  

ทุกวันนี้ผึ้งสนุกกับงานธุรกิจที่ท้าทาย เป็นคุณแม่ยังสาวของลูกสาวสองคนที่เรียนและสำเร็จการศึกษาจากสหราชอาณาจักร และผึ้งยังสามารถแบ่งเวลาอย่างลงตัวให้ตัวเองได้ทำในสิ่งที่โปรดปราน คือ การอ่านหนังสือ ฟังเพลง และ ท่องเที่ยวได้อีกด้วย 

ไม่ว่าผึ้งจะโลดแล่นอยู่ในบทบาทไหนของชีวิต  ผึ้งก็ยังคงครองความเป็นคนสวยมากและเก่งมากที่สุดคนหนึ่งของอักษร-รุ่น ๔๙ ที่เพื่อนๆล้วนชื่นชมและภูมิใจอย่างยิ่งในความเป็นผึ้ง - ปัทมา (ตันจันทร์พงศ์) ถกลศรี เสมอมา

 อักษรจรัส อบ.49

พจน์ หาญพล

อักษรจรัส รุ่น ๔๙

บทสัมภาษณ์ พจน์ หาญพล 

ตำแหน่งปัจจุบัน  กันยายน 2559  อัครราชทูต ประจำสถานทูตไทย ณ กรุงมอสโก

  ในรุ่นอักษรฯ 49 นั้น มีนิสิตชายอยู่ไม่น่าจะเกิน 20 คน ที่จำได้แม่นคือ 2  หนุ่มในจำนวน นั้น  เรียนมาทางสายธรรมะ เพิ่งก้าวเข้าสู่โลกฆราวาส เมื่อสอบเข้าคณะอักษรฯได้ โดยเลือกสอบวิชาภาษาบาลีเป็นภาษาต่างประเทศ  2 หนุ่มนี้ จัดได้ว่าเป็นมือวางอันดับ 1 และ 2 ด้านความประพฤติเรียบร้อยในบรรดานิสิตชาย หรือ นิสิตทั้งหมดก็ว่าได้  ส่วนมือวางอันดับ 3 ผู้เขียน ขอโหวตยกตำแหน่งให้ พจน์ หาญพล  เมื่อมาทราบปูมหลังของพจน์ หลังจากเรียนจบมาแล้วกว่า 30 ปี จึงได้ถึงบางอ้อว่า เหตุใด พจน์ จึงมีอะไรบางอย่างที่คล้ายสองอดีตสามเณร เพื่อนร่วมรุ่นของเรา 

พจน์เฉลยให้ฟังว่า “ เพื่อน ๆ หลายคนคงอ่อนเลขเหมือนกัน แต่ว่าเราจำต้องเรียนศิลป์คำนวณตอนมัธยมศึกษาตอนปลาย เนื่องจากที่โรงเรียนวัดราชโอรสไม่มีโปรแกรมศิลป์ฝรั่งเศส หรือเยอรมันให้เลือกเรียน และเมื่อตั้งใจว่า จะสอบเอนทรานซ์เข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขวนขวายไปหาตำราภาษาบาลี และข้อสอบปีก่อนๆ และไปหาท่านรองเจ้าอาวาสวัดราชโอรส เจ้าคุณศรีวิสุทธิวงศ์ (สมณศักดิ์ปัจจุบัน พระมหาโพธิวงศาจารย์-ทองดี สุรเตโช) ขอให้ท่านช่วยติว และเฉลยข้อสอบปีก่อนๆให้ แต่เมื่อสอบเข้าได้แล้ว ก็ไม่ได้เลือกเรียนภาษาบาลีต่อ เพราะคิดว่าคงจะยากมากและเกรงว่าจะหางานยาก จึงเลือกเรียนภาษาอังกฤษเป็นวิชาเอก ซึ่งไม่รู้ว่าคิดถูกหรือผิด เพราะเพื่อนๆ ที่มาจากโรงเรียนฝรั่งเก่งภาษาอังกฤษกันมาเป็นพื้นฐาน เด็กวัดอย่างเราก็ต้องพยายามให้มาก ”                                    

“ เมื่อจบมาแล้ว ไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยอยู่พักหนึ่ง และต่อมาลาออกไปสอนภาษาอังกฤษให้แก่ผู้อพยพที่ค่ายพนัสนิคม จ.ชลบุรี ได้สอนทั้งนักเรียนชาวกัมพูชา ชาวเขาเผ่าม้ง เผ่าเย้า เป็นประสบการณ์ที่ดี จนทุกวันนี้ ยังจำคำภาษาเขมรบางคำได้อยู่  แต่โดยที่งานสอนภาษาอังกฤษให้แก่ผู้อพยพเป็นงานชั่วคราว ทางบ้านอยากให้รับราชการ เมื่อ ก.พ. เปิดสอบตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์ ก็ไปสอบและได้บรรจุที่กรมชลประทาน ได้เดินทางไปหลายจังหวัด ที่มีเขื่อนและโครงการสร้างเขื่อน พาชาวต่างประเทศที่เป็นเจ้าหน้าที่ ที่ปรึกษาจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ธนาคารโลก เจ้าของเงินกู้สร้างเขื่อน และที่ปรึกษาโครงการชาวต่างประเทศ ไปดูงานก่อสร้างเขื่อน และประเมินผลโครงการ ได้เรียนรู้วิธีการสัมภาษณ์ชาวบ้านของเหล่าเจ้าหน้าที่ธนาคารโลกและที่ปรึกษาโครงการที่ต้องการข้อมูลรอบด้านนอกเหนือไปจากรายงานของทางการ พอทำงานที่กรมชลประทานครบกำหนดให้ลาเรียนต่อได้ ก็ลาไปเรียนปริญญาโท ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬา เมื่อเรียนจบก็ใช้วุฒิปริญญาโทมาสอบเข้ากระทรวงการต่างประเทศ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ส่วนหนึ่งว่า อยากไปต่างประเทศ พอสอบผ่าน ก็ต้องเดินเรื่องโอนย้าย และเนื่องจากเราใช้เวลาราชการลาไปเรียนก็ต้องใช้ทุน แต่โชคดีที่สามารถโอนการใช้ทุนข้ามหน่วยราชการได้ ” 

  “เมื่อถึงโอกาสในการออกประจำการต่างประเทศครั้งแรก เรามีทางเลือกที่กระทรวงฯ ให้เลือกด้วย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าข้าราชการกระทรวงฯ จะได้สิทธินี้ กล่าวคือ ในปี 2537  มีการเปิดสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ ๒ แห่ง ได้แก่ กรุงราบัต โมร็อกโก และ ซันติอาโก ชิลี ซึ่งถึงแม้ว่า เราเคยเรียนภาษาสเปนมาเล็กน้อยจากคณะอักษรฯ  ก็เลือกไปราบัต ที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส และอารบิก แทนที่จะเลือกไปซันติอาโก ที่ใช้ภาษาสเปน  เนื่องจากว่าได้หารือกับทางบ้าน และแม่ถามว่า "ประเทศไหนมันใกล้เมืองไทยกว่ากันลูก"     

“ชีวิตการทำงานที่กระทรวงฯ หรือการทำงานราชการที่อื่น หลายครั้งเราไม่สามารถเลือกได้อย่างเต็มที่ แต่เมื่อไปอยู่ที่ไหนแล้ว ก็ต้องเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด อยู่โมร็อกโก เกือบสี่ปีครึ่ง ในช่วง เดือนแรกๆ ก็ไปลงเรียนภาษาฝรั่งเศสตอนเย็น จนพอพูดได้ ก็เลิกลงเรียนอย่างเป็นทางการ แต่ก็เรียนรู้อย่างต่อเนื่องจากการดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ อ่านหนังสือ พูดคุยกับผู้คน จนภาษาฝรั่งเศสพอใช้การได้ เมื่อครบวาระออกประจำการครั้งที่ ๒ กระทรวงฯ ก็ส่งมาอยู่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส  ได้เจอเพื่อนเก่าจากคณะฯ  คือ นรีนุช เค้าไพบูลย์ (เอี๊ยด) ที่มาใช้ชีวิตอยู่ที่ฝรั่งเศส และเธอทำงานที่สำนักงาน กพ. กรุงปารีส”               

เมื่อพจน์มารับตำแหน่งที่กรุงปารีสในขณะนั้น ที่ฝรั่งเศสกำลังมีเรื่อง Hot คือ การห้ามนักเรียนหญิงชาวมุสลิมที่เรียนหนังสือในโรงเรียนรัฐบาลโพกผ้าคลุมหน้าเมื่อไปโรงเรียน เนื่องจาก ถือว่า รัฐและศาสนาแยกจากกันโดยเด็ดขาดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2448 ในโรงเรียนของรัฐ ไม่อนุญาตให้มีการแสดงออกเรื่องศาสนา ไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตาม  การโพกผ้าดังกล่าวถือเป็นเครื่องหมายแสดงออก  เรียกภาษาอังกฤษว่า Ostentatious  คนสัมภาษณ์ได้คุยกับพจน์เรื่องนี้ และ พจน์ใช้คำศัพท์คำนี้ เป็นภาษาฝรั่งเศสได้อย่างถูกต้อง ไพเราะเพราะพริ้ง   ทำเอาคนสัมภาษณ์อึ้งไป และแอบคิดในใจว่า คนคนนี้ไม่ธรรมดา นี่ขนาดไม่ได้เรียนภาษาฝรั่งเศสมาตอนอยู่คณะฯยังเก่งขนาดนี้ ถ้าเรียนกับเราตอนนั้น เราคงพลาดจากเหรียญทอง ตกมาเป็นเหรียญทองแดง แน่แท้       และได้ประจักษ์ว่า พจน์เป็นคนที่รู้ลึก รู้รอบ แต่เป็นคมในฝัก จะไม่แสดงโอ้อวดความรู้ที่มี เหมือนกับที่พจน์บอกว่า “การทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศให้ประสบการณ์ที่หลากหลายและให้โอกาสในการเรียนรู้จากรุ่นพี่และผู้ใหญ่ของกระทรวงฯ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความพร้อมในการที่จะเรียนรู้ พร้อมที่จะรับฟัง และมองให้รอบด้าน จะช่วยในการทำงานให้ราบรื่นและบรรลุผล ”  นอกจากนี้ พจน์ยังเป็นคนที่เก็บงำความลับราชการอย่างดีเยี่ยม  หากใครไปถามพจน์ว่า มีข่าวว่า.....จริงหรือเปล่า    พจน์จะยิ้มน้อยๆ  เหมือนท่านชายพจน์ที่มองปริศนาด้วยความเอ็นดู ก่อนตอบว่า “ ต้องคอยดูกันไป ถ้าใช่ก็คงมีการแจ้งอย่างเป็นทางการเองแหละ” 

  พจน์ทิ้งท้ายบทสัมภาษณ์ว่า “ สิ่งที่ได้จากการเรียนที่คณะอักษรฯ นอกเหนือจากทักษะด้านภาษาซึ่งสามารถพัฒนาและควรจะเรียนรู้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดนิ่ง  ก็คงได้แก่มุมมองที่สอนให้เราอ่านระหว่างบรรทัด ไม่ตีขลุม และยึดติดกับความคิดใดความคิดหนึ่งจนเกินไป”  

 สัมภาษณ์โดย นรีนุช เค้าไพบูลย์

 

พัชรี (ศิริเสถียร) ดวงแสงทอง

อักษรจรัส รุ่น ๔๙

พัชรี (ศิริเสถียร) ดวงแสงทอง

พัชรี ดวงแสงทอง ชื่อเล่นพัช นามสกุลเดิม ศิริเสถียร เกิดวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๐๖ ในครอบครัวทหารบกที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ใช้ชีวิตวัยเรียนในอำเภอหาดใหญ่ตลอดมา ตั้งแต่อนุบาลถึงชั้นประถมที่โรงเรียนพลวิทยา มัธยมต้นถึงปลายที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จากนั้นจึงเลือกสอบเข้าเรียนในคณะอักษรฯ เพื่อตามความฝันที่ได้รับแรงบันดาลใจจากนวนิยายเรื่องหนึ่งที่นางเอกเป็นล่ามในยูเอ็นและพบรักกับนักการทูต...แต่ในชีวิตจริง พัชพบรักกับหนุ่มวิศวฯ จุฬาฯ ที่ทางบ้านค้าขายและรับเหมาก่อสร้าง 

หลังจบปริญญาตรีจากคณะอักษรฯ ด้วยวิชาเอกภาษาอังกฤษ พัชได้ใช้ความรู้ในการทำงานเป็นเลขานุการ กรรมการผู้จัดการ บจก. ล็อกซเล่ย์อุตสาหกรรมรองเท้า ประมาณปีเศษ ก็แต่งงานกับหนุ่มวิศวฯ จุฬาฯ ในปี ๒๕๓๐ พัชติดตามกลับภูมิลำเนาของสามีที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงรายด้วยคำถามว่า จะทำหน้าที่อะไรในกิจการของครอบครัวสามีได้บ้าง ทำงานโต้ตอบจดหมายหรืออะไร

แล้วในที่สุดก็ได้อาศัยความรู้จากงานเลขานุการ ผ่านการเรียนรู้จากบันทึกประชุมต่างๆ และเอกสารที่ฝ่ายต่างๆ นำมาเสนอขออนุมัติจากเจ้านาย ประกอบเข้ากับการศึกษาด้วยตนเองและถามผู้รู้ พัชทำความเข้าใจงานด้านการบัญชีและเริ่มวางระบบการทำงานให้กับ หจก.พานพงษ์ไทย(ปัจจุบันเป็น บจก.) ที่สามีแยกออกมาทำเอง ดำเนินงานด้านรับเหมาก่อสร้าง  

ปี ๒๕๓๘ พัชกับสามีได้เริ่มสร้างธุรกิจโรงงานผลิตคอนกรีต ชื่อ บริษัท พี.อาร์.เอ็ม.คอนกรีต จำกัด  พัชรับหน้าที่บริหารงานทั้งกิจการ ตั้งแต่ซื้อขายจนจัดทำงบการเงิน รู้จักคอนกรีตเทคโนโลยี การผลิตคอนกรีตอัดแรงจนสามีล้อว่าพัช  "จบอักษร เอกคอนกฤษ"

ปี ๒๕๔๒  หลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐  พัชเอาเวลาที่เริ่มว่างจากงานธุรกิจเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์เพื่อการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  และได้พบคำตอบให้กับคำถามที่มักผุดขึ้นด้วยความสงสัยในเส้นทางการทำงานที่ห่างจากอุปนิสัยและความรู้เดิมมาเรื่อยๆ ว่า งานที่ทำอยู่สร้างคุณค่าอะไรนอกเหนือจากเงินทอง ได้คำตอบที่ชัดเจนแก่ตัวเองว่า การทำงานของตนเป็นการร่วมสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและกระจายรายได้ของประเทศ สร้างงานและสร้างโอกาสให้กับชีวิตผู้คนที่เข้ามามีส่วนร่วมในทุกกระบวนการทำงาน

ปี ๒๕๕๔ บริษัทของพัชกับสามีเริ่มให้ทุนการศึกษาแก่บุตรพนักงานและในปี ๒๕๕๗ เริ่มให้ทุนการศึกษาแก่พนักงานที่เรียนต่อในสาขาที่เกี่ยวข้องกับงานของบริษัท เป็นประจำทุกปี  นอกจากสองกิจการข้างต้น พัชกับสามียังเปิดกิจการผลิตประตูหน้าต่างจากยูพีวีซี ทั้งสามกิจการทำให้มีการจ้างงานมากกว่า ๔๐๐ ชีวิต และในอนาคตอันใกล้ จะเกิดกิจการด้านการเกษตรที่สืบเนื่องมาจากการหาพันธุ์ไม้มาให้แรงงานปลูกในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี ๒๕๔๐ เพื่อไม่ให้เกิดการเลิกจ้าง

ดังกล่าวไว้ข้างต้นว่า พัชรับหน้าที่บริหารงานตั้งแต่ซื้อขายจนจัดทำงบการเงิน ความรู้ทางด้านการบัญชีสั่งสมมากขึ้นจนในปี ๒๕๔๘  พัชลงทะเบียนเข้าเรียนสาขาวิทยาการจัดการ วิชาเอกบัญชี  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และจบการศึกษาในปี ๒๕๕๑ สามารถเป็นผู้ทำบัญชีได้ตามพรบ. การบัญชีพ.ศ. ๒๕๔๓ เพื่อรองรับปัญหาขาดแคลนบุคลากรระดับปริญญาตรีสาขาการบัญชี

ในอดีตตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ ที่ใช้ชีวิตในอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย นอกจากดูแลครอบครัว ทำงานธุรกิจส่วนตัวแล้ว ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ พัชได้ทำงานให้กับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงรายในตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ และเหรัญญิก และเป็นคณะอนุกรรมการในโครงการต่างๆ ตามโอกาส และเว้นวรรคไปในวาระปี ๒๕๕๕-๒๕๕๗ เพื่อรักษาอาการป่วยจากโรคมะเร็ง ในวาระปี ๒๕๕๗-๒๕๕๙ พัชกลับมาทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการบัญชีและการเงิน ในวาระปี ๒๕๕๙-๒๕๖๑ ทำหน้าที่กรรมการดูแลสายงานการศึกษา และสายงานการท่องเที่ยว   

พัชโชคดีที่เกิดและเติบโตในต่างจังหวัด อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ มีโอกาสได้ใกล้ชิดพุทธศาสนามาตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อเข้าวัยรุ่นมีคำถามว่ามนุษย์เกิดมาเพื่ออะไร บางช่วงที่ชีวิตต้องพบกับอุปสรรค สิ่งที่เป็นพึ่งของพัชคือธรรมมะ ประมาณปี ๒๕๓๓ หลังจากย้ายมาอยู่ที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงรายแล้ว พัชได้มีโอกาสได้พบพระเดชพระคุณหลวงพ่อคูณ เจ้าอาวาสวัดอุดมวารี (สาขาที่ ๓๐ วัดหนองป่าพง) มีโอกาสศึกษาธรรมมะจากท่านและครูบาอาจารย์รูปอื่นในวัด นอกจากการทำทาน รักษาศีลเป็นปกติ  พัชน้อมนำธรรมมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันด้วยการฝึกเจริญสติ ดูความรู้สึกนึกคิดของตนเองเพื่อรู้จักตนเองและอบรมตนเองตามกำลัง พัชชักนำสมาชิกในครอบครัวและพนักงานในบริษัท ให้ได้ทำบุญ ฟังธรรมเป็นประจำ ลูกชายของพัชบวชเณรและบวชพระแล้วทั้งสองคนที่วัดนี้ และพัชเป็นโยมอุปัฏฐากคนหนึ่งของวัดแห่งนี้ ส่งเสริมอำนวยความสะดวกให้กิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนาสำเร็จลุล่วง ในปี ๒๕๕๕-๒๕๕๖ ของการรักษาตัวจากโรคมะเร็ง พัชเป็นผู้ป่วยที่มีความสุข  น้อมระลึกคำสอนของครูบาอาจารย์ว่ากายป่วยอย่าให้ใจป่วย

บางครั้ง พัชนึกย้อนกลับไปว่าเรียนอักษรแล้วมาทำงานที่ไม่ได้ใช้ความรู้เต็มที่ แล้วไปเรียนเศรษฐศาสตร์ เรียนการบัญชี พัชมีคำถามว่ามีอะไรที่ผิดพลาดตอนเลือกเรียนอักษรหรือเปล่า แต่คำตอบที่ได้คือ ไม่ ถ้าย้อนเวลาได้ พัชก็ยังจะเลือกเรียนอักษรศาสตร์  ด้วยเชื่อมั่นว่าอักษรศาสตร์หล่อหลอมความเป็นมนุษย์ที่เข้าใจมนุษย์ และสิ่งที่มนุษย์คิด ทำ ผ่านความลึกซึ้งทางภาษา หล่อหลอมให้มีความละเมียดละไม ประณีต พัชเชื่อมั่นว่า ความเป็นพัชในแต่ละด้านของชีวิตมีอักษรศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของพื้นฐาน

 

พิตราภรณ์ บุณยรัตพันธ์ ศิริพันธ์

อักษรจรัส รุ่น ๔๙

พิตราภรณ์ บุณยรัตพันธ์ ศิริพันธ์ (ตุ๊ก)

 ‘ตุ๊ก เมืองไทย’ ใช่แล้ว วันนี้พวกเราหลายคนเรียกตุ๊กแบบนี้ เพราะเพื่อนได้กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของ ‘เมืองไทย’ ในช่วงยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา

หากจะกล่าวถึงสาวอักษรรุ่น ๔๙ ของเรา ที่เพื่อนๆ ยังได้เห็นหน้าค่าตาอยู่เสมอหลังจากจบไปแล้ว คงต้องยกให้ ตุ๊ก – พิตราภรณ์ บุณยรัตพันธ์ ศิริพันธ์ ภาพเธอยืนยิ้มอยู่ในชุดสีบานเย็นราวกับเป็นส่วนหนึ่งของ ‘โลโก้เมืองไทยประกันชีวิต’ ตามสื่อต่างๆ นั้นเป็นที่คุ้นตา และเป็นความภูมิใจของเพื่อนๆ ที่จะบอกกับคนอื่นว่า “...นี่ตุ๊ก...เพื่อนเรา...”

 ตุ๊กหลงไหลภาษาอังกฤษเป็นชีวิตจิตใจมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากคุณพ่อปลูกฝังให้ลูกๆ เห็นความสำคัญของภาษา ทั้งยังขวนขวายหาเทปมาให้ฟัง หาอาจารย์ฝรั่งมาสอน จนลูกสาวสามารถสนทนาภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงอเมริกันได้ตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์

นอกจากภาษา ตุ๊กยังมีงานอดิเรกคือถ่ายภาพ  จนคิดอยากจะสอบเข้าคณะนิเทศศาสตร์ ติดที่เธอเป็นไม้เบื่อไม้เมากับคณิตศาสตร์เช่นเดียวกับชาวอักษรทั่วไป ในที่สุดจึงตัดสินใจเลือกคณะอักษรศาสตร์เป็นอันดับแรกตามแรงเชียร์ของคุณแม่ ซึ่งต้อง “จุฬาลงกรณ์เท่านั้น” และด้วยแรงกดดันนี้ ตุ๊กถึงกับออกปากว่า หากไม่ได้เข้าศึกษาในรั้วสีชมพู เธอก็จะทาสีรั้วบ้านให้เป็นสีชมพูแทนเลยทีเดียว

 เมื่อได้เข้ามาเป็นสาวอักษรแล้ว อักษรศาสตร์ในความคิดของตุ๊กคือเป็น ‘วิชาคุณหนู’ ทำให้พวกเราคุณหนูทั้งหลายมีชีวิตในโลกอย่างมีความสุข รู้จักเรียน เขียน อ่าน เข้าใจโลก และซาบซึ้งกับอารยธรรมของชาติต่างๆ กระนั้น เมื่อร่ำเรียนไปได้ครบถ้วนกระบวนความ ตุ๊กก็ได้ข้อสรุปว่า ‘วิชาคุณหนู’ มิใช่เพียงแต่เพ้อฝันไปวันๆ หากแต่ทำให้สามารถใช้ชีวิตอย่างมี มุมสวย และ มุมสุข เพิ่มขึ้นต่างหาก

ตุ๊กเล่าว่า ครั้งหนึ่งเคยถามอาจารย์ท่านหนึ่งว่า “เราจบอักษรแล้วจะไปทำอะไรได้ มันไม่ใช่วิชาชีพนี่คะ” คำตอบจากอาจารย์ในวันนั้นเรียกได้ว่าทำให้ตุ๊กเปลี่ยนมุมมองต่อชีวิตเลยทีเดียว "เธอเรียนวิชา human ทำให้เข้าใจและให้อภัยมนุษย์"  และตุ๊กก็ได้แนวคิดจากประโยคนี้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตตลอดมา “ชีวิตคนเราจะลดความเครียดลงไปได้มาก เมื่อเราเข้าใจและให้อภัยเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้” ตุ๊กสรุปเช่นนั้น

หลังจบปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ ตุ๊กเริ่มทำงานที่ฝ่ายธุรการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ ทำอยู่นาน ๘ เดือนก่อนจะลาไปศึกษาต่อด้านการสื่อสารที่ Faculty of Communication, Fairfield University, Connecticut, USA จึงกลับมาทำงานที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัทเดิมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ ปีนั้นเอง บริษัทฯ ได้เปิดอาคาร หอประชุมเมืองไทยประกันชีวิต ซึ่งนอกจากจะเป็นศูนย์ฝึกอบรมแล้ว ยังเป็นสถานที่จัดการแสดงทางศิลปะและวัฒนธรรมหลากหลาย โดยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สยามสมาคมฯ จัดการแสดงของศิลปินแห่งชาติ คอนเสิร์ตวง ไหมไทย คอนเสิร์ตจรัล มโนเพชร ฯลฯ ตุ๊กได้ร่วมจัดหาการแสดงต่างๆ มาสร้างสีสันและชื่อเสียงในเชิงสังคมให้แก่องค์กร ทั้งได้ริเริ่มการเก็บข้อมูลผู้ชมเพื่อจัดส่งข่าวสารถึงสมาชิกการแสดงของหอประชุมเมืองไทยฯ ในลักษณะ Direct mail

ตลอดระยะเวลาการทำงานที่ ‘เมืองไทย’ ตุ๊กมีส่วนร่วมในการวางแผนและวางนโยบายโฆษณา ประชาสัมพันธ์ กิจกรรมเพื่อสังคม กิจกรรมการตลาด และการ rebrand ให้แก่บริษัทฯ จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นในหลากหลายด้าน ได้แก่

งานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สนับสนุนวิจัยเกี่ยวกับ กระทิง วัวแดง และควายป่า ของนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ์ หัวหน้าหน่วยคุ้มครองสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (พ.ศ. ๒๕๕๙ นายธีรภัทรดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) จัดทำโครงการอนุรักษ์ปลากระเบนน้ำจืดยักษ์ โครงการอนุรักษ์ปลาเทพา โครงการอนุรักษ์หอยมือเสือ ร่วมกับกรมประมง

งานด้านสังคมและการศึกษา ได้ริเริ่ม โครงการบริจาคโลหิต ร่วมกับสภากาชาดไทย จนถึง พ.ศ. ๒๕๕๙ ได้บริจาคแล้วจำนวน ๖๕ ครั้ง และยังคงเดินหน้าต่อไป โครงการมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนในเขตห้วยขวาง – ดินแดง จนถึง พ.ศ. ๒๕๕๙ นาน ๒๗ ปี และยังคงดำเนินต่อไปเช่นกัน

งาน rebrand เมืองไทยประกันชีวิต นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญยิ่งของบริษัทฯ เนื่องจากเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๗ ส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทฯ ตกไปอยู่อันดับ ๘ ของธุรกิจประกัน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดี คณะผู้บริหารจึงตัดสินใจ rebrand ให้เมืองไทยประกันชีวิตเป็น แบรนด์แห่งความสุข เป็นบริษัทของคนหัวคิดทันสมัย ซึ่งหมายความว่า ผู้ประกันมีความคิดทันสมัย เข้าใจ และรู้จักให้เมืองไทยประกันชีวิตเข้ามาดูแลชีวิต และคนผู้นั้นก็จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ได้ร่วมสนุกกับกิจกรรมแห่งความสุขมากมายที่ เมืองไทยสไมล์คลับ จัดให้

ในช่วงนั้นเอง เมืองไทยประกันชีวิตได้เปลี่ยนโลโก้เป็นสีบานเย็น โดยใช้หลัก differentiation สร้างความแตกต่างจากบริษัทประกันชีวิตอื่น และด้วยความเชื่อว่า สีบานเย็นนั้นเป็นสีของดวงอาทิตย์ยามเช้า  ทำให้ตื่นขึ้นมาอย่างมีความสุขทุกวัน มีการนำสีชมพูมาใช้ในทุกสื่อและกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรในลักษณะ color marketing อย่างเต็มรูปแบบและจริงจัง รวมถึงการแต่งกายเวลาออกงานต่างๆ เป็นการใช้สื่อบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อมีการเผยแพร่ผ่านสื่อสารมวลชน

ตุ๊กของเพื่อนๆ จึงปรากฏกายตามสื่อต่างๆ ในชุดสวยงามสีบานเย็น สร้างความสุขสดชื่นแก่ผู้พบเห็นเสมอ พร้อมกับสรรหากิจกรรมแห่งความสุขมากำนัลอย่างต่อเนื่อง นับแต่ละครเวทีเรื่องเด่นๆ คอนเสิร์ตคุณภาพระดับประเทศและระดับโลก การแสดงสำหรับเยาวชน การเข้าร่วมในงานการเงิน ฯลฯ ด้วยกิจกรรมแห่งความสุขเหล่านี้ ตุ๊กจึงนำพาแบรนด์เมืองไทยไปสู่ผู้คนทุกลุ่มเป้าหมาย ส่งผลให้บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด เป็นที่ยอมรับและไว้วางใจ มียอดผู้ทำประกันชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๙ ก็ได้มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ ๒ ของธุรกิจ มีเบี้ยประกันรับรายใหม่สูงสุดเป็นอันดับ ๑ ถึงสามปีซ้อน

นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ได้รับรางวัลบริษัทดีเด่นติดต่อกัน ๙ ปีซ้อน จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) รางวัล The Best CSR Award และ The Best Company Award จากนิตยสาร Asia Insurance Review

อาจจะกล่าวได้ว่า ในทุกความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ในช่วงยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา มีชื่อของตุ๊ก - พิตราภรณ์ บุณยรัตพันธ์ ศิริพันธ์ เป็นหนึ่งในผู้ผลักดันคนสำคัญ ‘ตุ๊ก เมืองไทย’ ทิ้งท้ายว่าให้ฟังว่า อักษรศาสตร์ จุฬาฯ นี่เองได้มอบวิชาการต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานอันหนักแน่น แข็งแกร่งให้เธอในการทำงานประกอบวิชาชีพ และความเป็นสาวอักษรนี่แหละ เป็นใบเบิกทางอันสำคัญสู่ความสำเร็จที่เธอได้มาในวันนี้

ถ่ายทอดโดย ‘หิตธารี’

ยุวลักษณ์ (ลิขิตธนวัฒน์) มูระเซะ (หน่อง)

อักษรจรัส รุ่น ๔๙ 

ยุวลักษณ์ (ลิขิตธนวัฒน์) มูระเซะ (หน่อง) 

หน่องเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่จำความได้ 

แม่เล่าให้ฟังว่า ตอนหน่องเล็กๆ อายุได้ ๒ – ๓ ขวบ ยังไม่ทันได้เข้าโรงเรียนอนุบาล เวลาแม่ไปทำผมที่ร้าน ก็จะพาลูกคนนี้ไปด้วยเพราะไม่มีใครช่วยดู ระหว่างที่รอแม่ หน่องมักเอานิตยสารในร้านมาเปิดดูคนเดียวอย่างตั้งอกตั้งใจเป็นเวลานานๆ ราวกับอ่านตัวหนังสือรู้เรื่อง เลยเข้าใจว่าตัวเองต้องมนตราของหนังสือมาตั้งแต่ครั้งกระนั้นแล้ว 

หน่องเป็นคนสนใจใคร่รู้ในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับภาษาวัฒนธรรม วิธีดำเนินชีวิต ค่านิยมในแง่มุมต่างๆ ของประเทศอื่นผ่านตัวอักษร ห้องสมุดจึงเป็นสถานที่ที่โปรดปรานที่สุดมาตั้งแต่สมัยประถมจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ตอนอยู่ชั้นประถม เวลาอ่านนิทานนานาชาติสนุกๆ ก็จะมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังบ้าง ชวนเพื่อนเล่นครู – นักเรียนบ้าง โดยตัวเองจะขอรับบทเป็นครูเสมอ ช่วงปิดเทอมใหญ่ หน่องมักรวบรวมเด็กเล็กๆ แถวบ้านมาสอนหนังสือ และจัดการละเล่นต่างๆ อย่างสนุกสนาน มาคิดๆ ดูก็รู้สึกว่าหน่องคงฝันอยากเป็นครูมาตั้งแต่เด็กแล้ว โดยที่ตัวเองยังไม่รู้ตัว 

หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายแผนกศิลป์-ฝรั่งเศสจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หน่องได้เลือกสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ โดยมิได้ลังเลเลยแม้แต่น้อย ราวกับเชื่อว่ามันคือเส้นทางชีวิตที่ได้ขีดเส้นมาแล้วแต่ต้น 

หน่องเลือกเรียนภาษาญี่ปุ่นเป็นวิชาเอก เพราะนอกจากจะหลงใหลในตัวอักษรฮิรากานะ คาตาคานะ คันจิแล้ว ยังสนใจประเทศญี่ปุ่นที่มีวิวทิวทัศน์สวยงาม บ้านเมืองเป็นระเบียบ ผู้คนขยันขันแข็ง เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว สนใจใคร่รู้ว่าญี่ปุ่นมีวิธีพัฒนาทรัพยากรบุคคลอย่างไรประเทศถึงได้เจริญก้าวหน้าเช่นนี้ 

ตอนอยู่ชั้นปีสี่ หน่องสอบชิงทุนรัฐบาลญี่ปุ่น(มอนบุโช)ได้ จึงมีโอกาสไปเรียนคอร์สภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่มหาวิทยาลัยนาโกย่าเป็นเวลาหนึ่งปี หลังจากนั้นก็ได้กลับมาเรียนต่อพลางทำงานพิเศษเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่นไปด้วย จนเรียนจบได้เป็นอักษรศาสตรบัณฑิตในพ.ศ. ๒๕๒๘ 

หน่องเริ่มงานประจำจากการเป็นเลขาฯ คนญี่ปุ่นที่บริษัท The Long-Term Credit Bank of Japan, Ltd สำนักงานกรุงเทพฯ หลังจากนั้นไม่นานก็ได้รับทาบทามให้มาทำงานในตำแหน่งผู้ประกาศข่าวภาคภาษาญี่ปุ่นและผู้สื่อข่าวที่สถานีโทรทัศน์ NHK สาขากรุงเทพฯ 

การทำงานที่ NHK ช่วยให้ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะภาษาญี่ปุ่นในด้านต่างๆ เป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่เคยลืมความฝันที่อยากเป็นอาจารย์สอนภาษาญี่ปุ่นในอนาคต จึงได้ไปสมัครสอบชิงทุนรัฐบาลญี่ปุ่นอีกครั้ง คราวนี้เพื่อไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท 

ไม่ทราบว่าเป็นโชคชะตาหรือฟ้าลิขิต หน่องสอบได้ทุนตามที่ตั้งใจไว้ใน พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยเลือกไปเรียนต่อในสาขาภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมญี่ปุ่น ที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนาโกย่าอีกเช่นเดิม จนจบปริญญาโทที่นั่น ระหว่างเรียนก็ได้มีโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์โดยทำงานพิเศษหลายอย่าง ทั้งงานสอนภาษาไทยและญี่ปุ่น งานล่าม งานแปล ต่อมาก็ได้มีโอกาสไปสอนภาษาอังกฤษที่คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  วิทยาเขตกำแพงแสนระยะหนึ่งด้วย

 

ความฝันอีกอย่างหนึ่งของหน่องคือ การได้เป็นนักแปลหนังสือ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่าหน่องชอบหาความรู้โดยการอ่านหนังสือและชอบถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่นโดยการเล่าเรื่อง  การแปลหนังสือจึงเป็นงานที่เหมาะกับนิสัยเป็นอย่างยิ่ง หน่องเริ่มทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริงด้วยการแปลหนังสือเป็นรูปเล่มครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นวรรณกรรมสำหรับเยาวชนเรื่อง  อนุบาลไม่เอา ไม่เอา จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เพื่อนเด็ก ในเครือสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น(สสท) หลังจากนั้นก็ได้แปลหนังสือภาษาญี่ปุ่นแนวต่างๆ ให้แก่สำนักพิมพ์เดียวกันนี้อีกประมาณสิบกว่าเล่ม เช่น ป.๑ ตัวโต ป. ๒ ตัวเล็ก เคล็ดลับและมารยาทในการมอบของขวัญ เคล็ดลับและมารยาทในโต๊ะอาหาร ส่องวิถีพิธีญี่ปุ่น ฯลฯ โดยหวังว่าจะได้มีส่วนช่วยให้ผู้ที่สนใจประเทศญี่ปุ่นสามารถเข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้ดียิ่งขึ้น

 

พ.ศ. ๒๕๕๙ หน่องทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Aichi Shukutoku ในเมืองนาโกยา ตั้งใจเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประเทศไทยและวัฒนธรรมไทยให้นักศึกษาชาวญี่ปุ่นรู้จักเมืองไทยของเรามากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นล่ามให้แก่บริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น เช่น โตโยต้า มิตซูบิชิ ฯลฯ และเป็นล่ามเฉพาะกิจให้แก่คณะข้าราชการจากหน่วยงานของรัฐบาลไทย เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการลงทุนแห่งชาติ สำนักงานกองตรวจคนเข้าเมือง ฯลฯ

 หน่องคิดว่าตัวเองโชคดีมากที่มีโอกาสทำฝันให้เป็นจริงได้ ได้เป็นครู เป็นล่าม นักแปลหนังสือ ในขณะเดียวกันก็ได้ทำหน้าที่เป็นแม่บ้านดูแลครอบครัวและเป็นแม่ของลูกสามคน ถึงแม้จะเหนื่อยแต่ก็รู้สึกว่าชีวิตมีรสชาติแปลกใหม่ทุกวัน สิ่งที่หน่องเชื่อมั่นและพิสูจน์แล้วก็คือ ถ้าเราฝันอยากเป็นอะไรสักอย่าง แล้วเราพยายามอย่างเต็มความสามารถ เราก็จะเป็นได้จริงๆ 

หน่องภูมิใจในทุกงานที่ทำ แต่ที่ภูมิใจที่สุดและคิดว่ายากที่สุดก็คือ...งานเลี้ยงลูก เพราะมันเหมือนกับงานที่ต้องรวบรวมศิลปะทุกแขนงที่ตัวเองสามารถ นำมาสร้างคนที่มีคุณภาพให้แก่สังคม  ณ เวลานี้หน่องไม่อาจคาดเดาได้ว่าผลงานจะออกมาดีดังที่หวังไว้หรือไม่ ได้แต่พยายามทำหน้าที่ในความรับผิดชอบให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และสนุกไปกับมันเท่านั้น

ละลิตา ฉันทศาสตร์โกศล (ลิตา)

อักษรจรัส รุ่น ๔๙

 ละลิตา ฉันทศาสตร์โกศล (ลิตา)

 ลิตา (ละลิตา ฉันทศาสตร์โกศล) เกิดเมื่อ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นนักเรียนโรงเรียนราชินี(บน) ตั้งแต่อนุบาลจนจบมัธยมปลาย ก่อนจะสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จบด้วยวิชาเอกศิลปการละคร จากนั้นจึงเพิ่มเติมวิชาความรู้ในหลักสูตร Modern Management (MMP รุ่น 30) ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ที่จุฬาฯ เช่นกัน

 สำหรับคนส่วนใหญ่ สิ่งที่ได้จากการเรียนในคณะอักษรศาตร์ มิใช่เพียงวิชาความรู้เพื่อการประกอบอาชีพใดๆ แต่คือความรู้และความรักในศิลปวัฒนธรรม ความเข้าใจโลก เข้าใจมนุษย์ อันเป็นพื้นฐานที่ดีทางด้านความคิดและจิตใจ เป็นประโยชน์แก่การดำรงชีวิต สามารถปรับใช้กับการทำงานทุกแขนง สำหรับลิตาแล้ว คณะอักษรศาตร์ยังได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาอันเป็นอาชีพที่รักยิ่ง ให้ความรู้ บ่มเพาะความเชี่ยวชาญ สร้างเครือข่ายทางสังคม  อันเป็นพื้นฐานสำคัญให้ได้ประสบความสำเร็จบนเส้นทางอย่างงดงาม              

ด้วยความรักในวงการบันเทิง โดยเฉพาะละครโทรทัศน์ จากที่คุณพ่อพันเอก พยุง ฉันทศาสตร์โกศล ผู้ก่อตั้ง รัชฟิล์มทีวี ได้สร้างแรงดลใจไว้ให้ ลิตาจึงมุ่งมั่นที่จะได้เรียนในภาควิชาศิลปการละคร และเมื่อได้ก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ก้าวแรกของความฝันก็ได้เริ่มขึ้น แต่เป็นการเกิดใหม่ ในโลกใบใหม่ของการละครที่ไม่เคยคิดว่าจะได้พบ นั่นคือละครเวที  อันเป็นพื้นฐานของละครและการนำเสนอการแสดงในแทบจะทุกรูปแบบ โดยการนำของ อาจารย์ สดใส พันธุมโกมล ศิลปินแห่งชาติ (๒๕๕๔) ละลิตาได้เริ่มก้าวไปยืนบนเวทีละครจากการเป็นนักแสดงนำในโครงการละครใหม่เรื่อง ฉากสุดท้าย และละครวิทยานิพนธ์เรื่อง นกสีน้ำเงิน กำกับการแสดงโดย ยิ่งยศ ปัญญา จนมีโอกาสได้รับบทสำคัญในละครของภาควิชาฯ เรื่อง นิมิตมายา ต่อมาพัฒนาฝีมือตามลำดับจนได้รับโอกาสจาก อาจารย์ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ให้แสดงละครเวทีนอกคณะหลายเรื่อง เช่น เวทีมณเฑียรทองเธียเตอร์ เวทีของคนรุ่นใหม่ฝีมือดี ซึ่งโด่งดังมากในยุคนั้นในเรื่องใต้แสงเทียน และ ขอรับฉัน กำกับฯ โดยอาจารย์ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ศรีปราชญ์ กำกับฯ โดย สุประวัติ ปัทมสูต ศิลปินแห่งชาติ (๒๕๕๓) โลกอลเวง กำกับฯ โดย อาจารย์อะสา ซาคอสกี้ เป็นต้น  

 ในช่วงดังกล่าว ถือเป็นเวลาของการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ครั้งสำคัญ เนื่องจากได้แสดงละครร่วมกับครูบาอาจารย์ พี่ๆ เพื่อนๆ ระดับหัวกะทิ ทั้งจากภาควิชาศิลปการละคร และจากต่างสถาบัน ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นบุคลากรแถวหน้าในวงการบันเทิง เช่น ญาณี จงวิสุทธิ์  ยิ่งยศ ปัญญา  ชาญวุฒิ-พุฒิพงศ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร  ผอูน จันทศิริ  นุกูล บุญเอี่ยม ฯลฯ  นับได้ว่าเป็นคลื่นลูกใหม่กลุ่มหนึ่ง ที่เปลี่ยนโฉมหน้าวงการและจุดกระแสความนิยมละครเวทีขึ้นในเมืองไทย ในขณะเดียวกัน การแสดงละครเวทีช่วงนั้นยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่และปูพื้นฐานให้กับเส้นทางสายอาชีพในวงการบันเทิงในเวลาต่อมา

 หลังเรียนจบในปีการศึกษา ๒๕๒๗ ได้เข้าทำงานที่ ห้างหุ้นส่วน จำกัด รัชฟิล์ม ทีวี ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว ในระยะนี้ การผลิตละครเปลี่ยนระบบมาเป็นบันทึกด้วยวีดิโอเทป ลิตาจึงได้เข้ารับผิดชอบงานด้านละครในช่วงที่เป็นรอยต่อสำคัญ ระหว่างการผลิตละครแบบดั้งเดิม ในระบบครอบครัว ไปสู่ระบบสากล จึงได้นำวิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา มาปรับปรุงขั้นตอนการผลิตละครโทรทัศน์ให้เป็นระบบตามแบบสากล โดยแบ่งส่วนการทำงานอย่างชัดเจน เช่น ฝ่ายเสื้อผ้า ฝ่ายแสง ฝ่ายฉาก และได้ดึงเอาบุคลากรใหม่ๆ เข้ามาร่วมงานออกแบบโปรดั๊กชั่น รัชฟิล์มจึงเปรียบเสมือนสนามการลองผิดลองถูกที่ทำให้เหล่านักศึกษาจบใหม่ได้ปฏิบัติจริง จนสามารถก้าวไปเป็นนักแสดงและทีมเบื้องหลังการผลิตฝีมือดีให้แก่วงการโทรทัศน์มากมาย 

 ที่สำคัญ การทำงานช่วงนี้ ทำให้ลิตาร่วมงานกับทีมงานชั้นครู ทั้งด้านการผลิต ผู้กำกับการแสดง ผู้เขียนบท ซึ่งล้วนเป็นผู้อาวุโสในวงการ อย่าง รพีพรสุพรรณ บูรณพิมพ์ อดุล ดุลยรัตน์ กำธร สุวรรณปิยศิริ เป็นต้น ถือเป็นโอกาสดีในการเรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์การทำงานในแวดวงบันเทิงให้แก่กล้าขึ้นตามลำดับ 

 เมื่อรัชฟิล์มยกเลิกการเช่าเวลาละคร และหันไปผลิตรายการโทรทัศน์ ด้วยใจรักและความถนัดในงานละคร ลิตาจึงผันตัวมารับงานอิสระ ทำงานหลายๆ ด้าน ทั้งวงการละครเวทีและวงการโทรทัศน์ จัดการแสดงและควบคุมการผลิตละครเวทีร่วมกับอาจารย์ภาควิชาศิลปการละคร เป็นผู้ควบคุมการผลิตรายการ มรดกใหม่ ของบริษัท แอ็ควัน จำกัด ก่อตั้งโดยอาจารย์ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ซึ่งรายการนี้ ได้รับรางวัลเมขลา สาขาศิลปวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๓๕ รายการสารคดีท่องเที่ยว บันทึกคนเดินทาง ฯลฯ  แสดงให้เห็นถึงความแตกฉานรอบด้านในวิชาชีพ และวิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา 

 ในช่วงเวลาเดียวกัน ลลิตาได้รับคำชวนจากคุณสุประวัติ ปัทมสูต ให้เขียนบทละครโทรทัศน์สำหรับสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ลิตาจึงได้รวบรวมรุ่นน้องจากคณะอักษรศาสตร์ที่เคยทำงานสารคดีด้วยกัน จัดตั้งทีมเขียนบทละครโทรทัศน์ นับได้ว่าเป็นผู้หนึ่งที่บุกเบิกวิธีเขียนบทละครเป็นทีม ที่ได้รับความนิยมมากทุกวันนี้ มีนักเขียนบทละครมือเอกจากคณะอักษรศาสตร์ อย่างเช่น นันทวรรณ รุ่งวงศ์พานิชย์ เจ้าของรางวัลบทละครยอดเยี่ยมหลายรางวัล และนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ลิตายึดงานเขียนบทละครโทรทัศน์เป็นอาชีพหลักตลอดมา ทั้งด้วยชื่อจริง ละลิตา ฉันทศาสตร์โกศล และนามปากกา เช่น คนหลังม่าน ลำดวนดง ตางาม  ‘ดาวเหนือ  ที่ทำให้ลิตามีผลงานบทละครออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๓ สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ สถานีโทรทัศน์ช่อง ๗ และสถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ ทั้งหมดนับร้อยเรื่อง หลายเรื่องมีเรตติ้งสูง มีผู้นิยมติดตามจำนวนมาก

 จากงานอาชีพ และความรักในงานด้านวัฒนธรรมแบบชาวอักษร  จึงเป็นแรงผลักดันให้ลิตาสนใจงานอนุรักษ์ศิลปการแสดงของไทยทุกประเภท  

ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๙ – ๒๕๔๙ เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ รับช่วงบริหาร บริษัท โพลีคอม วีดีโอ บรอดคาสท์ โปรดั๊กชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่บิดาตั้งขึ้น เพื่อผลิตสื่อโฆษณา และวีดิทัศน์อื่นๆ ทั้งให้เช่าอุปกรณ์การถ่ายทำ ตัดต่อ ครบวงจร ลิตาได้ทำนโยบายลดราคาเป็นพิเศษสำหรับลูกค้าที่มาใช้สตูดิโอในการบันทึกการแสดงทางวัฒนธรรม เช่น การบันทึกเทปการแสดงเพลงพื้นบ้าน การแสดงโขน ละครรำ สปอตโปรโมทงานสัปดาห์ศิลปินแห่งชาติ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเก็บรักษาวัฒนธรรมประจำชาติไว้ไม่ให้สูญหาย โดยขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งงานเขียนบทละครโทรทัศน์ และยังทำงานด้านละครเวทีร่วมกับพี่ๆ เพื่อนๆ เช่นเดิม มีการร่วมตั้งกลุ่ม คนละคร สร้างละครเวทีเรื่อง กามุปาทาน กากี ละครเรื่อง โลกียชน ก่อตั้งกลุ่ม เอ็กซอาร์ต สร้างละครเวทีเรื่อง ข้าวนอกนา-โชว์นอกบาร์-หน้าบรอดเวย์ เป็นต้น

ในด้านส่วนตัว ลิตาก็ได้อุทิศเวลาและแรงกายช่วยเหลืองานอนุรักษ์งานบันเทิงด้านอื่นๆ เช่น เข้าร่วมเป็นสมาชิกและช่วยงานในตำแหน่งเลขานุการสมาคมนักร้องแห่งประเทศไทย โดยการนำของสุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ(๒๕๓๓) มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการจัดคอนเสิร์ตการกุศล เพื่อหารายได้มอบให้แก่องค์กรต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2539 – 2545 รับหน้าที่เป็นทั้งผู้เขียนบทและกำกับการแสดงเวทีคอนเสิร์ตหลายๆ ครั้ง อาทิ คอนเสิร์ต เชิดชูครูเพลง ชาลี อินทรวิจิตร  สง่า อารัมภีร สุรพล โทณวณิก สมาน กาญจนะผลิน ป.ชื่น ประโยชน์ ก้าน แก้วสุพรรณ ฯลฯ  

นอกจากนี้ ยังได้ช่วยงานคอนเสิร์ตการกุศลอื่นๆ เช่น จัดการแสดง เขียนบท และกำกับ งานคอนเสิร์ต  ชรินทร์โชว์ โดย ชมรมรักษ์เพลงชรินทร์ เพื่อหารายได้สมทุบกองทุนรักษ์เพลงชรินทร์ ในกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เขียนบทและกำกับ งานคอนเสิร์ต เพื่อระลึกถึง ดร เทียม โชควัฒนา รายได้มอบให้มูลนิธิ เทียม โชควัฒนา เป็นต้น

ด้านงานวิชาการ เพื่อถ่ายทอดความรู้ แบ่งปันประสบการณ์แก่คนรุ่นใหม่ ลิตารับเป็นอาจารย์พิเศษสอนเขียนบทละครโทรทัศน์ที่ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ คณะนิเทศศาสตร์  มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  จัดอบรมการเขียนบทละครโทรทัศน์ในนามกลุ่ม เอ็กซ์อาร์ต ทั้งหมดสามรุ่น ผู้ผ่านการอบรมหลายคนได้กลายมาเป็นนักเขียนนวนิยาย และนักเขียนบทละครแถวหน้า เป็นวิทยากร อบรมวิธีการจัดทำคอนเสิร์ตให้แก่กองดุริยางค์ กองทัพเรือ (วัตถุประสงค์เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการจ้างวานบุคลากรภายนอก เริ่มจาก คอนเสิร์ตสายใจไทย จัดแสดง ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ ทำให้มีรายได้เข้าสมทบในมูลนิธิเพิ่มขึ้นอีกหลายล้านบาท) เป็นวิทยากรในโครงการอบรมการผลิตหนังสั้นเพื่อผู้พิการ ของสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นต้น

พ.ศ. ๒๕๕๙ ลิตา-ละลิตา ฉันทศาสตร์โกศล เป็นผู้ควบคุมดูแลบทละครโทรทัศน์ให้แก่บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และยังคงทำงานด้วยพลังกายและพลังใจต่อไปในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไม่รู้จบ

 

วิไลพร ปิติมานะอารี

อักษรจรัส-รุ่น ๔๙

แมว - วิไลพร ปิติมานะอารี

แมว – วิไลพร ปิติมานะอารี เป็นคนกรุงเทพฯ  มีบ้านเดิมอยู่แถวๆ ศรีย่าน ถนนสามเสน  แมวเลยเป็น “ศิษย์เซนต์ฟรังฯ”  (โรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์ คอนแวนต์ ที่ซอยมิตตคาม ถนนสามเสน) ที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านนัก แมวเรียนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์ คอนแวนต์ ตั้งแต่ชั้นประถม ๑ ถึงมัธยมต้น และไปเรียนต่อชั้นมัธยมปลาย แผนกศิลป์ภาษา(ฝรั่งเศส)ที่ โรงเรียนราชินิบน ที่อยู่ใกล้ๆบ้าน 

ก่อนประกาศผลสอบเข้ามหาวิทยาลัย แมวและเพื่อนๆพากันไปดูดวงกับพระหมอดูที่วัดแห่งหนึ่งแถวๆเสาชิงช้า พระทำนายว่า “คนสวย(มาก)อย่างแมวน่ะ - เอ็นท์ฯไม่ติดหรอก  แต่แมวจะมีหน้าที่การงานที่เจริญรุ่งเรืองมาก และจะไปโด่งดังเด่นดีในที่ไกลบ้าน...”

 พระทำนายเรื่องการเอ็นท์ฯไม่ติดของแมวได้อย่างห่างไกลความแม่นยำไปมาก เพราะหลังจากวันที่ไปดูดวงกับเพื่อนๆวันนั้นอีกเพียงไม่กี่วัน ผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ประกาศออกมาว่า แมวสอบผ่าน ได้เข้าเป็นนิสิตของคณะอักษรศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่างน่าภาคภูมิใจ 

แมวเป็นคนสวยมากคนหนึ่งของคณะอักษรฯ  แมวเป็นเชียร์ลีดเดอร์ของคณะ และเป็นคนเด่นของภาควิชาศิลปะการละครที่แมวเลือกเรียนเป็นวิชาโท  แมวเรียนภาษาอังกฤษเป็นวิชาเอก และได้ใช้ภาษาอังกฤษอย่างคล่องแคล่วมั่นใจเมื่อแมวเรียนจบจากคณะอักษรศาสตร์-จุฬาฯ และได้ไปเรียนต่อด้าน Marketing และ Brand Management ที่ Notre Dame Business School ที่สหรัฐอเมริกา

หลังจากได้รับปริญญาโท (MBA) และกลับมาประเทศไทยแล้ว แมวได้เริ่มทำงานกับบริษัท Ogilvy & Mather Advertising Thailand Co., Ltd ในตำแหน่ง Account Executive ก่อนที่จะย้ายไปทำงานด้านการตลาดกับบริษัทผู้นำด้านธุรกิจการสื่อสารระดับโลกอย่าง AT&T Thailand Co., Ltd – ในตำแหน่ง Marketing Manager ตามที่ได้ร่ำเรียนมา 

แมวก้าวเข้าสู่อาชีพนักการตลาดอย่างเต็มตัวเมื่อได้ไปร่วมงานกับ บริษัทยักษ์ใหญ่ทางธุรกิจเครื่องดื่มชื่อดังอย่าง Coca Cola Southeast & West Asia Division – ในตำแหน่ง Group Brand Manager รับผิดชอบบริหารการตลาดให้แก่ Coca Cola, Fanta, และ Sprite   

แมวอยู่ในวงการเครื่องดื่มน้ำซ่าใส่สีนานถึงกว่าห้าปี ก่อนที่จะตัดสินใจย้ายไปทำงานด้านธุรกิจเกี่ยวกับความงามตามที่ใจรัก โดยเข้าร่วมงานกับบริษัท L’Oreal Thailand Co., Ltd ในตำแหน่ง Marketing Director 

แมวโลดแล่นรุ่งเรืองอยู่ในวงการธุรกิจจนได้มีโอกาสรู้จักกับผู้บริหารระดับสูงจากครอบครัวจิราธิวัฒน์ ซึ่งได้ชักชวนให้แมวเข้ามาร่วมงานกับ Central Pattana Public Company ในตำแหน่ง Vice President ทาง Marketing Leasing ที่ทำให้แมวได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบทำโครงการสำคัญๆ ของ Central Pattana เช่นการโอนกิจการและการถือครองอาคาร World Trade Center ซึ่งภายหลังได้กลายมาเป็น Central World ในที่สุด 

แมวได้พิสูจน์ความสามารถทางธุรกิจให้ทางองค์กรได้เห็นอย่างชัดเจนด้วยการลุยงานตามโครงการที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงอย่างรวดเร็ว ด้วยความรับผิดชอบเต็มที่,  ด้วยการมีมนุษย์สัมพันธ์อย่างดีเลิศและชาญฉลาด ตลอดจนการมีภาวะความเป็นผู้นำอย่างสูง พร้อมวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ทำให้ทาง Central Pattanaได้มอบความไว้วางใจให้แมวได้ควบคุมดูแลอาณาจักรธุรกิจของ  Central Pattana ที่ภูเก็ต 

ทุกวันนี้แมวมีตำแหน่งเป็น Senior Vice President ด้าน Property Management ของ Central Pattana และยังได้เป็น General Manager ของ Central Festival Phuket อีกด้วย 

แมวได้พลิกผันตัวเองจากการเป็นคนกรุงเทพฯไปมีภูมิลำเนาอยู่ที่ภูเก็ตอย่างถาวรเป็นเวลานานกว่า ๑๒ ปีมาแล้ว  แมวมีความสุขสนุกสนานกับชีวิตและการงานที่ก้าวหน้ามีความสำเร็จด้วยดีตลอดมา   

หากคำทำนายของพระที่วัดแถวๆเสาชิงช้าพอมีความแม่นยำอยู่บ้างก็คงจะเป็นส่วนนี้นี่เองที่เป็นจริงว่า แมวมีหน้าที่การงานที่เจริญรุ่งเรืองมาก และได้ไปโด่งดังเด่นดีในที่ไกลบ้าน ...

 

ศนิศรา แสงอนันต์ ดิบเบอร์

อักษรจรัส - รุ่น ๔๙

เจี๊ยบ - ศนิศรา แสงอนันต์ ดิบเบอร์

เจี๊ยบ - ศนิศรา แสงอนันต์ เป็นลูกคนเดียวของแม่และพ่อ  มีบ้านเดิมอยู่แถวๆ ศิริราช ฝั่งธนบุรี  เจี๊ยบเติบโตมาในครอบครัวที่แวดล้อมไปด้วยญาติๆข้างพ่อที่อยู่ในบ้านหลายหลังภายในบริเวณรั้วเดียวกัน   ตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆเจี๊ยบก็เห็นแล้วว่ามีเครื่องดนตรีต่างๆอยู่ในบ้าน นอกจากนั้นก็มีหมาหลายตัวที่อยู่ร่วมบ้านด้วยราวกับเป็นเจ้าบ้าน   ตอนเด็กๆนั้นเจี๊ยบคิดว่านั่นคือสิ่งปกติที่บ้านไหนๆเขาก็มีก็เป็นกัน แต่พอโตขึ้นมาหน่อยถึงได้รู้ว่า ตัวเองเกิดมาในครอบครัวที่บรรพบุรุษและญาติๆข้างพ่อล้วนเป็นศิลปิน และครอบครัวของเจี๊ยบรักหมามากกว่าปกติ 

เจี๊ยบเล่นดนตรีได้หลายชนิดตามเครื่องดนตรีที่พบเจอในบ้านโดยที่ไม่เคยไปเรียนที่ไหน แต่เจี๊ยบถนัดและชอบเล่นเปียโน กีต้าร์ และขิม มากกว่าเครื่องดนตรีอื่นๆ  ตอนเด็กๆนอกจากชอบร้องเพลง เล่นดนตรี และวาดรูปแล้ว เจี๊ยบยังชอบเล่นเป็นหมอ โดยใช้หมาที่บ้าน(บางตัวที่สมยอม)แทนคนไข้  ใครๆในครอบครัวที่แวดล้อมอยู่ในละแวกบ้านล้วนเห็นแวว(อย่างง่ายๆ)ว่าเจี๊ยบคงอยากจะเป็นหมอ หรืออย่างน้อยก็คงอยากเป็นหมอหมา(สัตวแพทย์) แต่เมื่อมีใครถามด้วยความคาดหวังพร้อมด้วยคำถามชี้นำที่ว่า เมื่อโตขึ้นเจี๊ยบอยากเป็นหมอ หรืออยากจะเป็นอะไร คำตอบแบบจริงใจและจริงจังที่ทำให้เครือญาติเหล่าศิลปินงงไปตามๆกันคือ  “เจี๊ยบอยากเป็นเลขาธิการขององค์การสหประชาชาติค่ะ” 

เจี๊ยบเข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์ คอนแวนต์ - สามเสน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมปลาย ตลอดเวลาที่เป็นนักเรียนเซนต์ฟรังฯนั้นเจี๊ยบไม่เคยคิดเลยว่าอยากจะเป็นหมอ(ทั้งหมอคนและหมอหมา) เพราะรู้ตัวว่าไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นวิชาหนึ่งที่ต้องใช้สอบเข้าแพทย์  พยายามคิดหาวิธีอยู่เนืองๆว่าจะทำอย่างไรให้ได้เป็นเลขาธิการขององค์การสหประชาชาติ แต่ก็มักต้องไปทำกิจกรรมอื่นให้โรงเรียนมากกว่าที่จะมาคิดวางแผนการระยะไกลให้แก่ชีวิตของตัวเอง 

เจี๊ยบเป็นนักเรียนที่ค่อนข้างเรียนดี ทางโรงเรียนได้มอบของขวัญ, รางวัลในรูปแบบต่างๆ, ใบประกาศคุณงามความดี และเหรียญรางวัลของโรงเรียนให้แก่เจี๊ยบอยู่ตลอดการเป็น“ศิษย์เซนต์ฟรังฯ”  เจี๊ยบได้รับเลือกให้เป็นประธานนักเรียน และเมื่อมีการประกวดใดๆ (ที่ไม่ใช่ประกวดความงาม) มีการแข่งขันอะไรที่ไหน(ที่ไม่ใช่กีฬา)ทั้งในระดับโรงเรียน ระดับจังหวัด (กรุงเทพฯ) หรือระดับชาติ เจี๊ยบได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนไปร่วมแข่งขันด้วยทุกครั้ง  เจี๊ยบมักกวาดรางวัลมาให้โรงเรียนได้แบบสมใจผู้ส่งเข้าประกวด หรือแม้แต่การแข่งขันโต้วาที เจี๊ยบก็นำทีมของโรงเรียนไปแข่งกับหลายโรงเรียนจนได้เป็นแชมป์โต้วาที หอบโล่กลับมาประดับโรงเรียนได้เช่นกัน 

แม้จะต้องเป็นตัวแทนทำกิจกรรมเพื่อโรงเรียนอย่างหลากหลายและต่อเนื่อง แต่เจี๊ยบก็ยังสามารถเรียนจบชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์ คอนแวนต์ มาได้ด้วยคะแนนสูงสุดพร้อมรับเหรียญรางวัลจากการเรียนดีมารวม ๑๓ เหรียญ 

เมื่อสอบผ่านได้เป็นนิสิตของคณะอักษรศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว  เจี๊ยบเลือกเรียนภาษาอังกฤษเป็นวิชาเอก และเรียนปรัชญาเป็นวิชาโท และจบการศึกษาอักษรศาสตร์บัณฑิตมาพร้อมกับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ก่อนที่จะ

สอบชิงทุนการศึกษาได้จากหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นทุนฟูลไบร์ท หรือทุนจากโรตารีสากล ที่รัฐอิลลินอย สหรัฐอเมริกา   เพื่อเรียนต่อในระดับปริญญาโท เจี๊ยบเลือกเรียนปริญญาโททางด้านวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน และได้รับปริญญาโท(เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง)ทางสาขานั้นจากนอร์เวย์ และปริญญาโทด้านวารสารศาสตร์(เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง)จากสถาบัน ICFAI ที่นิวเดลี ประเทศอินเดีย(เมื่อได้ไปประจำอยู่ที่นั่นในอีกหลายปีต่อมา) 

เจี๊ยบเป็นคนที่ชอบเรียนรู้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็พยายามหาอะไรเรียนอยู่ตลอดเวลา เจี๊ยบจึงผ่านการฝึกอบรม เข้าคอร์สต่างๆจากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนเพิ่มเติมด้านการสื่อสารมวลชน  การเขียนข่าว การอ่านข่าว การเขียนบทละครและภาพยนตร์  การจัดรายการวิทยุ-โทรทัศน์ หรือแม้แต่การฝึกอบรมที่แตกสาขาไป เช่น การสะกดจิต และ การบำบัดทางจิตด้วยการสะกดจิต  และ  การวิเคราะห์และบำบัดทางจิตวิทยา  ฯลฯ...

 แม้(ยัง)ไม่มีโอกาสทำงานกับองค์การสหประชาชาติ แต่หลังจากเรียนจบแล้วเจี๊ยบได้เข้าทำงานกับบริษัทอเมริกันในประเทศไทยชื่อ Transpo International ในตำแหน่ง Special Project Executive โดยมีหน้าที่หลักคือเป็นตัวแทนของบริษัทเข้าพบลูกค้าระดับVIP ของบริษัทข้ามชาติ, พบปะเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์กรสากลต่างๆ และเข้าเยี่ยมคารวะคณะทูตานุทูตจากนานาประเทศที่ได้เข้ามาประจำในประเทศไทยที่ทางบริษัทต้องการรักษาความสัมพันธ์อันดีไว้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เจี๊ยบยังเป็นบรรณาธิการควบคุมและจัดทำวารสารรายเดือนของทางบริษัทเพื่อส่งให้กับลูกค้าของทางบริษัทด้วย   และจากหน้าที่การงานพร้อมด้วยการแนะนำของเจ้านายชาวอเมริกันในบริษัทที่เจี๊ยบทำงานอยู่  เจี๊ยบได้รู้จัก คุ้นเคย และแต่งงานกับคุณเพียร์ ดิบเบอร์ นักการทูตของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นชาวเดนมาร์กโดยกำเนิดและเข้ามารับตำแหน่งประจำอยู่ที่สำนักงานสหภาพยุโรปในประเทศไทยในขณะนั้น

เมื่อครบวาระการทำงานประจำในประเทศไทยของคุณเพียร์แล้ว เจี๊ยบ(และหมาในบ้านทั้งหมดสี่ตัว)ได้ย้ายออกจากประเทศไทยติดตามสามีของเจี๊ยบที่เป็นนักการทูตไปประจำอยู่ต่างประเทศด้วย และนั่นคือการปิดฉากการทำงานประจำของเจี๊ยบไปในตัวด้วย (กล่าวคือ ... ตามอนุสัญญาแห่งกรุงเวียนนา  คู่สมรสของนักการทูตจะมีสถานภาพเป็นนักการทูตไปด้วย และจะไม่ได้รับใบอนุญาตให้ทำงานประจำในประเทศต่างๆที่ไปพำนัก - นอกจากจะเลือกที่จะปฏิเสธสิทธินี้)

เจี๊ยบได้ย้ายติดตามสามีไปประจำที่ประเทศอินโดนีเซีย, เดนมาร์ก, โรมาเนีย, อินเดีย, เบลเยี่ยม, บาร์เบโดส-ในทะเลคาริบเบียน, และเบลเยี่ยม(ซ้ำอีกเป็นวาระที่สอง) และถึงแม้ว่าจะไม่ได้ทำงานประจำอีก  แต่เจี๊ยบได้รับหน้าที่เป็นผู้สำรวจวิเคราะห์และรายงานการตลาดในประเทศต่างๆที่เจี๊ยบไปประจำอยู่ ให้กับหน่วยงานอิสระของสหภาพยุโรป และเมื่อมีโอกาสและสามารถเลือกได้ ไม่ว่าจะประจำอยู่ที่ประเทศไหนเจี๊ยบก็มักเลือกทำงานเป็นอาสาสมัครให้กับหน่วยงานการกุศลและองค์กรสากลต่างๆ โดยเฉพาะเจาะจงที่จะร่วมงานกับหน่วยงานที่ช่วยเหลือสัตว์ 

เมื่อครั้งที่ได้ไปประจำที่ประเทศเดนมาร์ก เจี๊ยบได้เป็นวิทยากรช่วยบรรยายสอนพุทธปรัชญา, พุทธศาสนากับสังคมไทย, และข้อมูลความรู้เกี่ยวกับพระพุทธรูปปางต่างๆ ให้กับนักศึกษาเดนมาร์กที่มหาวิทยาลัยในกรุงโคเปนเฮเกน นอกจากนี้เจี๊ยบยังได้เขียนและแปลภาพอธิบายพุทธประวัติที่ติดในพระอุโบสถของวัดไทยเดนมาร์กพรหมวิหาร ซึ่งอยู่ในเขตสเตนลูส ชานกรุงโคเปนเฮเกนให้แก่ทางวัดด้วย   และเมื่อย้ายไปประจำอยู่ที่ประเทศโรมาเนีย, ประเทศอินเดีย และประเทศเบลเยี่ยม เจี๊ยบได้รับเชิญอยู่เนืองๆให้ไปกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับพุทธปรัชญา, วัฒนธรรมและประเพณีไทย, หรือแม้แต่เรื่องสถานการณ์การเมืองของไทย ตลอดจนบรรยายเกี่ยวกับวิถีพุทธแบบไทยในงานสัมมนาทางวิชาการ และในงานมหาสมาคมต่างๆทั้งที่จัดโดยสโมสรโรตารี และในแวดวงของนักการทูตนานาชาติ

 การเดินทางในชีวิตเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องหลากหลาย ต่างเหตุผล เงื่อนไข วาระและโอกาส ทุกที่ที่เจี๊ยบได้ไปอยู่และไปเยือนเจี๊ยบได้วาดรูปและถ่ายภาพผู้คนและสถานที่ไว้มากมาย ภาพวาดและภาพถ่ายเหล่านั้นต่อมาได้เป็นส่วนประกอบของหนังสือและบทความที่เจี๊ยบเขียน  ภาพถ่ายบางภาพที่เป็นผลงานของเจี๊ยบที่ถ่ายไว้จากหลายประเทศ ได้ตั้งแสดงในนิทรรศการที่อาคารบาเลย์มองซึ่งเป็นอาคารสำนักงานใหญ่อาคารหลักของสหภาพยุโรปที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยมด้วย 

เจี๊ยบเริ่มเขียนบทความให้นิตยสารต่างๆหลายเล่มตั้งแต่อยู่ที่ประเทศเดนมาร์ก และได้มีคอลัมน์ประจำในนิตยสารเปรียวเมื่อย้ายไปประจำที่ประเทศโรมาเนีย  เรื่องราวที่เจี๊ยบเขียนมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ และประสบการณ์ในต่างแดนที่น่าสนใจ และมีเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับสถานที่ต่างๆในต่างแดนที่แตกต่างจากที่นักท่องเที่ยวปกติจะได้รู้และได้เห็นเมื่อเพียงผ่านไปเยือนประเทศเหล่านั้นในระยะเวลาสั้นๆ  

ที่ประเทศโรมาเนียนี่เองที่เจี๊ยบได้พบเห็นชีวิตของหมาถนนที่ลำบากยากเข็ญและถูกทำร้ายอย่างไม่มีทางสู้หรือไม่อาจแม้จะปกป้องชีวิตตัวเองได้เลย ประเทศโรมาเนียไม่มีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ และเจี๊ยบเองก็ไม่มีหนทางอื่นใดจะช่วยเหล่าหมาที่ไร้เดียงสาน่าสงสารและโดนทารุณกรรมได้ นอกจากตัดสินใจเขียนหนังสือเรื่องหมา เพื่อหมา โดยตั้งใจบริจาครายได้จากการเขียนหนังสือทั้งหมดให้กับหมาถนน หมาจร หมาที่ต้องทนทุกข์ ถูกทำร้าย ถูกทอดทิ้ง และหมาที่อยู่ในศูนย์สงเคราะห์ต่างๆ ในประเทศต่างๆ ตามที่หนึ่งแรงของคนเขียนหนังสือคนหนึ่งพอจะช่วยได้ 

จากหนังสือเล่มแรกที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตหมาไทยหลังอานที่ได้ติดตามเจ้าของไปต่างประเทศ (เอลตัน: หลังอานบ้านทูตตะลุยข้ามทวีป) ทำให้เจี๊ยบเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในแวดวงนักอ่านที่เป็นคนรักสัตว์  แล้วงานเขียนต่างๆเกี่ยวกับสัตว์ – ทั้งเรื่องหมาและเรื่องแมว ก็ได้รับการทาบทามให้เขียนตามออกมาเรื่อยๆอย่างไม่ขาดสาย  จนขณะนี้เจี๊ยบมีผลงานหนังสือ*ที่พิมพ์ออกมาแล้วเก้าเล่มและมีหนังสือแปลอีกหนึ่งเล่ม มีบทความที่เขียนในคอลัมน์ประจำในนิตยสารหมา-แมว และนิตยสารสัตว์เลี้ยงต่างๆ ตลอดจนนิตยสารรายปักษ์และรายเดือนอื่นๆอยู่อย่างต่อเนื่องหลายฉบับ  รายได้ทั้งหมดจากงานเขียนทุกชิ้น ทุกบทความ ทุกเล่ม ทุกผลงาน เจี๊ยบได้บริจาคให้สัตว์ทั้งสิ้น

เจี๊ยบไม่เคยคิดหวังที่จะได้รับรางวัลจากงานเขียน แต่ก็รู้สึกดีใจทุกครั้งราวกับได้รับรางวัลใหญ่เมื่อได้เดินทางจากที่ไหนก็ตามในโลกกลับไปประเทศไทยเพื่อร่วมงานเปิดตัวหนังสือทุกเล่มและได้มีโอกาสพบกับแฟนหนังสือ ได้พูดคุยกับคนอ่านที่เฝ้าติดตามผลงานอย่างจดจ่อด้วยความชื่นชมอย่างจริงใจพร้อมมีเสียงตอบรับอย่างดีและการสนับสนุนผลงานอย่างคับคั่งตลอดมา  แต่ไม่มีอะไรจะทำให้เจี๊ยบปลาบปลื้มและตื้นตันใจได้เท่ากับการที่ได้เขียนหนังสือเพื่อบริจาครายได้ทุกบาททุกสตางค์เพื่อช่วยสัตว์  แม้เจี๊ยบอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงโลกให้สวยงามขึ้น ไม่ได้ทำให้คนรักสัตว์มากขึ้นหรือทารุณสัตว์น้อยลง แต่อย่างน้อยรายได้ที่เจี๊ยบช่วยบริจาคให้ก็สามารถเปลี่ยนชีวิตหมาบางตัวได้บ้าง  หมาที่เคยอดอยากอาจจะไม่ได้อิ่มแปล้ตัวอ้วนขึ้นอย่างทันตาเห็นแต่อย่างน้อยก็ไม่ต้องหิวโหยอีกต่อไป

 

ทุกวันนี้เจี๊ยบยังไม่ได้ลืมความตั้งใจเดิมว่าอยากจะเป็นเลขาธิการขององค์การสหประชาชาติ แต่ดูเหมือนว่าตำแหน่งนั้นยังไม่ว่างและค่อยๆถอยห่างไกลจากวิถีชีวิตของเจี๊ยบออกไปทุกที  แต่การเป็นภริยานักการทูตของสหภาพยุโรปที่เขียนหนังสือเรื่องหมา เพื่อหมา ก็น่าสนุกและทำให้ชีวิต – โดยเฉพาะชีวิตสัตว์อีกหลายชีวิตได้มีความสุขขึ้นได้ไม่น้อยเลย 

 - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

* ผลงานหนังสือจนถึงปัจจุบัน :

๑) เอลตัน : หลังอานบ้านทูตตะลุยข้ามทวีป                      

๒) ด็อกส์อะราวด์เดอะเวิลด์ (เล่ม ๑)

๓) ด็อกส์อะราวด์เดอะเวิลด์ (เล่ม๒)

๔) โมโม่ สามขา ตาเดียว

๕) โมโม่ สามขา ตาเดียว พาเที่ยวยุโรป

๖) โมโม่ สามขา ตาเดียว กับการเดินทางครั้งสุดท้าย

๗) ลูน่า หมาจอมแก่นแสนรู้แห่งบาร์เบโดส

๘) เรื่องหมาหมาชวนสรวนเสกลางทะเลคาริบเบียน

๙) แสนดี ลูกรักจากถนน

๑๐) ผลงานหนังสือแปล เรื่อง พลิกโลกต่างเมื่อมองมุมตูบ

 

อัญชลี แมทล็อค (วรเชษฐ์)

อักษรจรัส รุ่น ๔๙


Anchalee Worrachate อัญชลี แมทล็อค (วรเชษฐ์), or Mu to most of her friends, is from Class 49. She is currently a financial journalist with Bloomberg News in London where she has been based since 2002. Previously, she was with Reuters in Bangkok, Singapore and London.

Her journalistic career covers a wide range of topics, including conflict in Cambodia, the AIDS epidemic, the Asian financial crisis in 1997, euro debt crisis and Brexit. She was also a Bangkok bureau chief for Knight-Ridder and a deputy editor at one of Bangkok’s first independent radio stations. 

Anchalee won an award for Bloomberg’s coverage of the euro debt crisis from the Society of American Business Editors and Writers and was a finalist for Gerald Loeb Award which recognises distinguished business and financial journalism.

When not writing, Anchalee either cooks,  bakes, or helps with various charities.  She lives in Richmond with her husband George Matlock, also a journalist, and two Scottish terriers -- Pikush and Pudding.

Anchalee is one of Aksorn Charases. Here she shares her experience during her Chula days and beyond.

Q: What did you study at Faculty of Arts? Did it get you where you hoped for?

A: I studied English literature and Japanese language as well as dabbled in some drama/acting courses. I always wanted an international career so I knew that English was going to be a passport, even if I still needed to earn my airfare! That said, I chose my subjects based upon what I was interested in or passionate about rather than what I was going to do with them after I graduated. That has always been my guiding principle in life -- do what you love, be true to yourself and the rest will fall in its place. I'm interested in and curious about other people and their cultures and I found that studying foreign literatures and languages was one of the coolest ways to get to know about other societies.  


Q: What would you say is the most valuable experience about studying at Chula. 

A: I had a fantastic time here. There is no doubt Chula offered one of the best programmes in foreign languages in Thailand thanks to its unrivalled resources, but it's unlikely that university courses, no matter how good, will ever be enough for your career and life after university. You must be willing to learn more and adapt. I'm sorry if this comes across as stating the obvious.

But one thing which university does provide, over and above books and diplomas, however important those ingredients are, is the connection with people. 


It's the people rather than the syllabi that made my Chula years invaluable. I remember being in one of Professor Sodsai Pantoomkomol's  drama  classes in my first year. OMG, she was E-L-E-C-T-R-I-F-Y-I-N-G! It, for me at least, was akin to a scene from The Dead Poets Society when Keating introduced his students to poetry. I thought to myself, Wow! I don't know yet what I'm going to do later in life, but whatever I do, I want to be like her! She is obviously not one of these bureaucrats driven by their career but not by what they impart to their students. She was driven by passion and pursuit of excellence in her chosen subject. I guess that is as good an example as one can reference in terms of choosing to do what you are interested in and passionate about. It worked for her and she passed on a valuable attitude as well as skills and tools to her students. That's just one example. That moment alone made my four years at Chula worthwhile.


Q: What did you do after you graduated? How did you get into journalism?    

A: I spent a year working for Japanese International Corporation Agency on one of their dam projects while pondering what to do with my future. I always knew I wanted to spend some time abroad, so I tried to get into foreign services but it didn't work out. When the opportunity to study in the United States arose, I thought long and hard about what I enjoy doing and how might I develop that into a career. At this point, I had a retrospective moment, back to my roots, and it helped establish the path I might follow.

 As a child I used to visit my grandma in a small village in Ubon during school breaks, and one thing I loved to do was to read newspapers to some people in the village and share my thoughts on what it meant and why it mattered to us. They loved it and I got a kick out of that. So I thought analysing and communicating are probably one of my strengths, or at very least an interesting pursuit. I'm also curious and love meeting people, therefore journalism might not be a bad career choice.

I enrolled in a post-graduate programme in journalism at Georgia State University in Atlanta. At first, it was a challenge because despite my degree in English from one the best universities at home, I still struggled to write like a native speaker. Then my professor Mr. George Greiff gave me some words of wisdom. He said if I have something compelling to say, I will always find a way to say it…in any language. I will always find people who help me get it across. I found that liberating. It got better from there.

I wrote for Signal, the university newsapaper and later landed an internship with CNN in Atlanta. That's where I met Thailand's Channel 3 executives, my future bosses, when they were there for a conference. I must have done something that impressed them because I was offered a job when I returned to Thailand. That's where I started.     


Q: Tell us a bit more about your career. How did you get into financial journalism?

A: I started working in the news department at Channel 3. It was, and I have no doubt it still is, a great place to be, but at that time it didn't fit my long-term international career objectives. So, I joined a few other organisations  before landing a job at Reuters which in 1999 gave me a posting in Singapore where I covered the foreign exchange market. Three years later, they sent me to London where my beat was U.K. economics and the Bank of England.  I remember the first day I arrived at the Bank of England for a press conference, I was greeted by a security guard in a ceremonial-looking pink frock coat with a tall black hat! I knew then I was going to have so much fun working in the U.K.  Then the door at Bloomberg opened, and it was impossible not to grab that opportunity.  

My transition from general news to financial/economics news was driven by push and pull factors. A that time, China was trying to get into the WTO and I knew that when it happened, it would be a game changer for the global economy. Thailand was liberalising its capital account at a rapid pace and troubles were brewing.  I wanted to be part of that exciting narrative and wanted to get out of my comfort zone at the time when a number of stories I covered in the political/general news arena seemed to have reached its "Plus ca change" stage…at least that was my perception. As someone who didn't have an economics background, it was a bit of a challenge at first. But like all of us at university and beyond, we learn and acquire new skills in life when we want to re-invent ourselves, or  find a new path. It's much easier when you have supportive people around you who are willing to give you an opportunity.

 I don't think my career path is extraordinary in any way. I'll let others judge my record. So imagine my surprise when I was told I'm one of the Aksorn Charases! If there is anything I achieved, I think it's getting paid to do something that one has so much fun doing. But I never shall forget it all started here.

 

อาภัสรา จันทร์สุวรรณ คุณวัฒน์

อักษรจรัส รุ่น ๔๙

อาภัสรา จันทร์สุวรรณ คุณวัฒน์ (เจี๊ยบ)               

เจี๊ยบ หรืออาภัสรา คุณวัฒน์ สกุลเดิม จันทร์สุวรรณ หรือที่บางทีเพื่อนๆ เรียก “จิ๊กจ๊อก” เจี๊ยบจบมัธยมจากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสอบเข้าจุฬาฯ ให้ได้ และก็สามารถสอบติดคณะอักษรศาสตร์ซึ่งเลือกไว้เป็นอันดับหนึ่ง ที่เลือกเรียนอักษรศาสตร์เพราะต้องการหนีวิชาคณิตศาสตร์ เนื่องจากสมัยเด็กเวลาบวกเลขต้องเอาทั้งนิ้วมือนิ้วเท้ามานับแล้วคำตอบก็ยังไม่ถูก จึงคิดว่าสมองซีกคำนวณคงจะไม่มี ชีวิตนี้จึงขอห่างไกลจากการคำนวณ เจี๊ยบเลือกเรียนภาษาอังกฤษเป็นวิชาเอก ภาษาญี่ปุ่นและศิลปการละครเป็นวิชาโท

ตอนปีหนึ่ง เจี๊ยบเลือกเรียนทั้งวิชาภาษาจีนและภาษาญี่ปุ่น พอขึ้นปีสองจึงตัดสินใจเลือกเรียนเพียงภาษาญี่ปุ่นเพราะสับสนการท่องตัวจีนแบบจีน กับตัวคันจิในภาษาญี่ปุ่น การลงทะเบียนเรียนของเจี๊ยบเป็นการลงแบบไม่มีการคำนวณ เจี๊ยบจึงจบอักษรศาสตร์ในระยะเวลาสามปีครึ่งแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว จนอาจารย์ที่ปรึกษาต้องโทร. มาตามให้ไปยื่นเรื่องขอจบ

ทันทีที่เรียนจบ เจี๊ยบเริ่มชีวิตการทำงานที่บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ในตำแหน่งพนักงานฝ่ายพัฒนาเทคนิค รับผิดชอบการจัดทำเอกสารการส่งเสริมการขาย ซึ่งรวมถึงการแปลเอกสารด้านการประกันชีวิต ซึ่งทำให้เจี๊ยบได้รู้ว่างานแปลเป็นงานที่ท้าทาย ต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อให้งานถูกต้อง และศัพท์ด้านประกันชีวิตก็มีความหมายที่ต่างไปจากความหมายทั่วไป การเรียนอักษรศาสตร์สอนให้เจี๊ยบไม่ผ่านงานแปลไปอย่างง่ายๆ ต้องสืบค้นและสอบถามผู้รู้เพื่อให้งานสมบูรณ์ เจี๊ยบทำงานที่บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ได้ปีครึ่ง

ต่อมาวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๐ ได้บรรจุเข้ารับราชการตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์ ๓ ที่ ราชบัณฑิตยสถาน (ปัจจุบันเรียก ราชบัณฑิตสภา) ในระยะแรกได้รับมอบหมายงานด้านวิเทศสัมพันธ์ งานดูแลห้องสมุด และงานประชาสัมพันธ์ จนกระทั่งราชบัณฑิตยสถานย้ายจากตึกแดง (ริมสนามหลวง ฝั่งเดียวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง จึงได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เพิ่มเติม โดยเป็นเลขานุการนายกราชบัณฑิตยสถาน อุปนายก และเลขาธิการ เนื่องจากทั้งสามท่านนั่งอยู่ห้องใกล้ๆ กัน นายกราชบัณฑิตยสถานในขณะนั้นคือ อาจารย์บุญพฤกษ์ จาฏามระ อุปนายกคือ อาจารย์วิกรม  เมาลานนท์ เลขาธิการคือ และอาจารย์เสถียร พันธรังสี

นับเป็นโอกาสทองที่ได้ทำงานกับอาจารย์ทุกท่าน อีกทั้งยังได้รับคำแนะนำด้านภาษาจากอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ แต่ชะตาชีวิตคงลิขิตไว้ เพราะช่วงที่ราชบัณฑิตยสถานส่งเจี๊ยบไปอบรมที่โรงเรียนการประชาสัมพันธ์ของกรมประชาสัมพันธ์ เจี๊ยบต้องทำงานกลุ่มและเลือกการสัมภาษณ์ท่านฤดี จิวาลักษณ์ เลขานุการกรม ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในขณะนั้น  เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เจี๊ยบกลับกลายเป็นผู้ถูกสัมภาษณ์ เพราะ สตง. กำลังต้องการเสริมสร้างงานประชาสัมพันธ์ ท่านฤดีจึงชวนให้โอนมาทำงานที่ สตง.

พ.ศ. ๒๕๓๒ เจี๊ยบจึงโอนมาดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหน้าที่เลขานุการของรองผู้อำนวยการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และได้ศึกษาต่อที่คณะนิเทศศาสตร์ สาขาการสื่อสารมวลชน  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมในสาขาวิชาเฉพาะทาง

การเรียนอักษรศาสตร์เป็นพื้นฐาน มีส่วนช่วยในการเรียนต่อที่นิเทศศาสตร์ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งช่วยให้การทำงานด้านการประสานงานต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่น และวิชาศิลปการละครดูจะเป็นวิชาที่นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้มากที่สุด การเรียนรู้ความคิดความรู้สึกของมนุษย์ การตีความตัวละครสามารถนำมาใช้กับการทำงานที่ต้องพบเจอกับคนมากมายได้เป็นอย่างดี 

หลังจากจบปริญญาโท เจี๊ยบตัดสินใจสอบชิงทุนรัฐบาลออสเตรเลียเพื่อศึกษาต่อ Graduate Diploma in Business Studies ที่ University of New England เมือง Armidale การเรียนครั้งนี้ เจี๊ยบหนีวิชาคำนวณไม่พ้น แต่ความเป็นนักอักษรศาสตร์ ที่ทำอะไรแล้วต้องพยายามอย่างดีที่สุด ทำให้ต้องอ่านหนังสือด้านการเงินการบัญชี และกฎหมายธุรกิจ...ต้นทุนความรู้ด้านภาษาจากการเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ ทำให้เรียนจบภายในกำหนดโดยไม่ต้องขอต่อระยะเวลาการเรียน  

เจี๊ยบได้กลับมาทำงานด้านวิเทศสัมพันธ์อีกครั้งเมื่อสอบเลื่อนระดับ ๖ และมีโอกาสร่วมเป็นคณะผู้แทนในการประชุมระหว่างประเทศของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน นอกจากนี้ยังร่วมเป็นคณะทำงานแปลมาตรฐานการตรวจเงินแผ่นดินระหว่างประเทศ  งานต่างประเทศนั้นเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะด้านภาษา แต่งานต่างประเทศของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจำเป็นต้องใช้ความรู้ด้านการตรวจสอบด้วย เจี๊ยบจึงคิดว่าการเรียนวิชาการใช้เหตุผลเมื่อครั้งที่เรียนที่คณะอักษรศาสตร์ ช่วยให้เข้าใจหลักการตรวจสอบได้ 

จากคนที่เกลียดตัวเลข กลายเป็นคนที่ต้องทำงานใกล้ชิดตัวเลข จากไม่ชอบคำนวณ แต่กลับต้องทำความเข้าใจให้ได้ 

สิ่งเหล่านี้ทำให้เจี๊ยบเปลี่ยนมุมมองในการทำงาน  ไม่ปิดกั้นความคิดที่ต้องทำงานกับคนในวิชาชีพอื่น ซึ่งชาวอักษรได้รับการปลูกฝังให้มองสิ่งต่างๆ ด้วยศาสตร์และศิลป์  การเป็นนักอักษรศาสตร์เพียงคนเดียวในองค์กรด้านการตรวจสอบ ทำให้เจี๊ยบคิดว่า นี่คือโอกาสที่จะนำความรู้ในการเรียนอักษรศาสตร์มาปรับใช้ อยากแสดงให้เห็นว่าการทำงานของคนอักษรคือการทำงานที่มุ่งมั่น รับผิดชอบ และสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้จากการที่เจี๊ยบสามารถดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักอำนวยการเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๗ กำกับดูแลงานวิเทศสัมพันธ์ งานประชาสัมพันธ์ และงานการประชุม ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๘  ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน กำกับดูแลงานมาตรฐานการตรวจสอบ งานควบคุมคุณภาพ และงานพัฒนาการตรวจสอบ  จนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๙ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารงานกลาง กำกับดูแลงานบริหารทั่วไปและงานบริหารพัสดุ 

 สิ่งที่เจี๊ยบภาคภูมิใจคือการได้เป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้นำความรู้ของการเรียนอักษรศาสตร์มาใช้ในการทำหน้าที่ของข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ด้วยรำลึกเสมอว่า จะขอทำหน้าที่อย่างดีที่สุดในฐานะชาวเทวาลัย เพื่อเทิดพระนามจุฬาลงกรณ์ให้สง่างาม

ถ่ายทอดโดย ‘วิรงรอง’

 

เธียรชัย อิศรเดช (หน่อง)

อักษรจรัส รุ่น ๔๙

เธียรชัย อิศรเดช (หน่อง) 

หน่อง – เธียรชัย อิศรเดช เป็นเพื่อนชายในจำนวนไม่กี่คนที่แวะเวียนเข้ามาคุยไลน์กับเพื่อนๆ กลุ่มใหญ่ของเราเกือบร้อยคน หน่องชวนพวกเราร่วมลงชื่อปกป้องชีวิตสัตว์ที่ถูกรังแก ปลูกป่า สร้างวัด และบางครั้งก็ส่งคำกลอนที่ประพันธ์ขึ้น มาให้พวกเราได้ฮือฮา               

ขณะเป็นนิสิต หน่องเรียนเอกศิลปการละคร ครั้นจบปริญญาตรีที่คณะอักษรศาสตร์ ก็ไปศึกษาหาความรู้อีกหลากหลาย เช่น ด้านเทคโนโลยีสื่อสารมวลชนและมนุษยศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง มานุษยวิทยา ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร นิเทศศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต แล้วก็เป็นครูอาจารย์ยาวนานหลายปีที่วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ศึกษาต่อเนื่องจนเป็น ผศ.ดร. เธียรชัย (ใจดี) ในทุกวันนี้  และเมื่อแจ้งแก่หน่องว่า หน่องสมกับเป็น อักษรจรัส ของพวกเราคนหนึ่ง หน่องก็แสดงความในใจมาว่า 

"...มาเรียนอักษรเพราะเคยอ่านสัมภาษณ์พี่จิ๊ – อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ นักแสดงที่ชอบ ก็เลยเรียนเยอรมันแล้วสอบเข้าอักษรตาม แล้วก็ได้พบเจอครูที่เก่งที่สุดยอด อย่างชนิดนี้ถือว่าเป็นบุญของชีวิตอย่างยิ่ง ภายหลังได้มาเป็นครูก็ทำหน้าที่ไม่ได้เสี้ยวของครูที่สอนมา ครูที่เป็นต้นแบบให้เรา เปลี่ยนชีวิตเราแบบพลิกฟ้าพลิกดิน เราเป็นหนี้ใจ แต่ก็ทดแทนได้ยาก เพราะเมื่อเราเก่งขึ้น สูงขึ้น ครูก็ขยับสูงต่อไปอีก เป็นสิ่งสูงส่งในใจอยู่อย่างนั้น เพราะครูเป็นที่สุดแล้วในสายนั้น               

“...ที่เราทำได้คือเป็นคนดี ตั้งใจทำงานให้สมกับที่ครูให้มา เอาหนี้ใจไปใช้หนี้ให้คนรุ่นหลัง ทำงานให้หนัก ให้ดีอย่างที่ครูให้เรา จนบัดนี้ได้ทำหน้าที่ครูมาตลอดชีวิตแล้ว ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า ครูของเราทำงานอันวิเศษเลิศเหล่านั้นได้อย่างไร  

“...เป็นคนไม่มั่นใจตนเองมานาน การอยู่ในแวดวงนี้ได้ช่วยซ่อมความไม่มั่นใจในตัวเองไปโดยปริยาย ไม่ได้โอหัง แต่รู้ว่าในใจเรามีดี เนื้อในของเรานั้นเป็นของวิเศษ เพราะอักษรทำให้เราได้อ่านงานที่ดีที่สุด จนกลายเป็นมาตรฐานชีวิต ว่าทำอะไรต้องไปให้ถึงที่สุด แล้วก็กลายเป็นความมั่นใจเมื่ออยู่ในสังคมว่า ทำอะไรเราต้องไปให้ถึงแก่นแท้ของสิ่งนั้น ถ้ายังไม่สุดมือก็ยังไม่วางใจ 

 “...ทุกวันนี้ พอใจในชีวิตตนเองมาก แต่ไม่เคยพอใจในความรู้ กลายเป็นความสนุกของชีวิตที่ไม่เคยรู้สึกพอกับการแสวงหา ใจมันปีนไปเรื่อย ไม่รู้ว่าสิ้นสุดที่ตรงไหน เรียนอยู่ร่ำไปไม่สิ้นสุด ชีวิตทางกายไม่ต้องการอะไรแล้ว แต่ทางจิตใจและปัญญานั้น...ไม่เคยพอ..."

ลองดู ‘งาน’ ที่หน่องทำข้างท้ายนี้ จะเห็นว่า “...ความสนุกของชีวิตที่ไม่เคยรู้สึกพอกับการแสวงหา...” นั้นคือประการใด

เธียรชัย อิศรเดช

อักษรศาสตรบัณฑิต (ศิลปะการละคร)

 เทคโนโลยีสื่อสารมวลชน รามคำแหง

 มนุษยศาสตร์ (ภาษาอังกฤษ) รามคำแหง

ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (มานุษยวิทยา) มหาวิทยาลัยศิลปากร

นิเทศศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต

 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

วิทยานิพนธ์ นัยทางสังคมของโนราโรงครูบ้านบ่อแดง

นักวิจัยสมทบ โครงการสิทธิชุมชนบ้านครัว : กรณีการสร้างทางด่วนทับชุมชน

หัวหน้าโครงการวิจัย

วัดในฐานะสื่อยกระดับจิตใจ : การศึกษาเพื่อแสวงหานโยบายในการพัฒนาวัดในจังหวัดปทุมธานีอย่างยั่งยืน

รายการละครจักร ๆวงศ์ ๆ  : ความสืบเนื่อง  การเปลี่ยนแปลง  การปรับตัว และความอยู่รอด

มอญบ้านม่วง : การท่องเที่ยวเชิงการละคร

ศักยภาพโนราในการพัฒนาท้องถิ่น การสื่อสารเพื่อชุมชน

นักวิจัย

Broadcasting Industry in Thailand

ติดตามโครงการ สื่อสารสาธารณะเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะสังคมไทย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย - เปิดพื้นที่หัวใจวัยโจ๋

 

ประสบการณ์การทำงาน

ละครเร่เพื่อชนบทและสิ่งแวดล้อม ในนามคณะละคร รังนกไม้ ของคณะนิเทศศาสตร์  มหาวิทยาลัยรังสิต รณรงค์เรื่องการปลูกต้นไม้ การไม่ใช้โฟมทำกระทง ละครเร่พญาคันคาก  โครงการละครพัฒนาเยาวชนบ้านโคกด้านสิ่งแวดล้อม (2541 – 2542) โครงการละครเร่ เล่ห์รจนา ณ บ้านโคก ( 2544 ), ละครเร่บ้านซับเต่า วังน้ำเขียว (2541), ละครเร่เพื่อเด็กบ้านเมตตา (2543 – 2544), ละครเร่ตามล่ามโนห์ราที่ปางมะผ้า แม่ฮ่องสอน (2544)

โครงการกิจกรรมศิลปะประเพณีในมหาวิทยาลัยรังสิต: โครงการคืนนี้มีมหรสพ (2535)

โครงการบำเพ็ญประโยชน์กิจกรรมของมหาวิทยาลัยรังสิต: โครงการผ้าป่าต้นไม้ อุทิศให้วีรชน (2544 ), โครงการคนรุ่นใหม่ไปวัด ดูศิลปะ ไหว้พระ คารวะชุมชน (2544)

บทละครพิเศษเรื่อง โรงงานนรก ให้กันตนา ผลิตออกอากาศร่วมกับโฆษกรัฐบาล ลดาวัลย์ วงศ์ศรีวงษ์   

อาจารย์ประจำหน่วยจิตวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต (2549 – 2553) 

ผู้ทรงคุณวุฒิและคณะกรรมการคัดเลือกผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมต้นแบบและแผนธุรกิจเชิงวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (2549 – 2550)

หัวหน้าโครงการจัดทำแผนธุรกิจวัฒนธรรม บ้านหนังสุชาติ ทรัพย์สิน นครศรีธรรมราช  ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (2551)

 

 งานด้านศิลปะการละคร

งานแสดงละครเวที แสดงนำในละครเวทีของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ: (2524-2529 ) ราโชมอน (แสดงเป็นซามูไร กำกับการแสดงโดย อาสา ซากอซกี้) หรรษาราตรี (แสดงเป็นออร์ซิโน  กำกับการแสดงโดย นพมาส ศิริกายะ) นิมิตมายา (กำกับการแสดงโดยนพมาส ศิริกายะ) ฉากสุดท้ายและนกสีฟ้า (กำกับการแสดงโดยยิ่งยศ ปัญญา) ฯลฯ 

งานแสดงละครโทรทัศน์ (2527 – 2530) แสดงนำในละครทางโทรทัศน์: รับบท ทม ใน ระนาดเอก (ช่อง 7 สี) ยุทธจักรนักคิด (ช่อง 9 อสมท) สลักจิต (ช่อง 5 กองทัพบก) รับบท กรันต์ ใน มงกุฎเพชร (ททบ. 5) นักแสดงรับเชิญในละคร เช่น นายบ่าวเจ้าปัญหา

กำกับการแสดงละครเวที:  มหาวิทยาลัยรังสิต: ผู้แพ้ (2532) ดาวเรืองยุคโลกพระจันทร์ (2533) ลาบเลือดเดือนร้อน

กำกับละครเพลง: สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ (โรงเรียนปัญโญทัย 2552) เคยฝันว่าวันหนึ่ง (โรงเรียนปัญโญทัย 2553)

เขียนเพลงประกอบละครเวที:  ขอรับฉัน (ร่วมกับ อาจารย์บรูซ แกสตัน) (2534 ) คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

เขียนเพลงไตเติ้ลละครโทรทัศน์: (ททบ. 5) นายบ่าวเจ้าปัญหา ค่าแห่งชีวิต รอยพยาบาท   (2529 – 2532) เนื้อเพลงสำหรับละครเพลง เคยฝันว่าวันหนึ่ง (โรงเรียนปัญโญทัย)

เขียนเพลงเพื่อการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยรังสิต เช่น ตะวันไม่เคยทิ้งใครไกลตา พู่กัน   เพลงประกอบละครเวที มหาวิทยาลัยรังสิต ดาวเรืองยุคโลกพระจันทร์ ฯลฯ

จัดค่ายเยาวชน ค่ายการแสดง ให้แก่เยาวชนในโครงการเซ็นทรัลบัณฑิตน้อย (2538 – 2540) ค่ายการแสดง อุทยานแห่งชาติลานสาง โครงการเด็กหัวแหลม (2548)

เขียนบทละครโทรทัศน์ (2527 – 2532) มัจจุราชจำแลง (รัชฟิล์มทีวี ททบ. 5) นายบ่าวเจ้าปัญหา (รัชฟิล์มทีวี ททบ.5) ศรีธนญชัย (ช่อง 9 อสมท) พ่อจอมยวนแม่จอมยุ่ง (ททบ. 5) บ้านรังนกไม้ (กันตนา ททบ.5)

เขียนบทละครเวที โลกียชน (Tortlla Flat) ร่วมกับอาจารย์ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ละลิตา ฉันทศาสตร์โกศล แสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ปรับแก้บทภาพยนตร์เรื่อง Memories (2550) กำกับการแสดงโดย ต่อพงศ์ ตันกำแหง แสดงนำโดย ใหม่ เจริญปุระ อนันดา เอเวอริ่งแฮม

ดัดแปลงบทและกำกับการแสดง สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ (Man of La Mancha) แสดงที่โรงเรียนปัญโญทัย 5 รอบ กุมภาพันธ์ 2553

ดัดแปลงบทและกำกับการแสดง ลาบเลือดเดือนร้อน (พักผ่อนที่บ่อนไก่) (Picknick on a Battlefield) แสดงที่โรงละคร Democracy Theater ชุมชนบ่อนไก่ มหาวิทยาลัยรังสิต 10 รอบ

ดัดแปลงบทและกำกับการแสดงละครเพลงเป็นละครประจำปีของมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนปัญโญทัย Les Miserables เคยฝันว่าวันหนึ่ง (2553) Man of La Mancha (2552) Fidler on the Roof (2555) Oliver Twist (2556) Wizard of OZ (2557) The Sound of Music (2558)

 

 ประสบการณ์การทำงาน

งานโครงการเพื่อสังคม

โครงการละครเร่เพื่อชนบทและสิ่งแวดล้อม ในนามคณะละคร รังนกไม้ คณะนิเทศศาสตร์  มหาวิทยาลัยรังสิต เช่น โครงการละครละครหุ่นรณรงค์เรื่องการปลูกต้นไม้และการไม่ใช้โฟมทำกระทง (2535 ) โครงการละครเร่ พญาคันคาก สุพรรณบุรี (2541) โครงการละครพัฒนาเยาวชนบ้านโคกด้านสิ่งแวดล้อม (2541 – 2542) โครงการละครเร่ เล่ห์รจนา ณ บ้านโคก (2544 ) ละครเร่บ้านซับเต่า วังน้ำเขียว (2541) ละครเร่เพื่อเด็กบ้านเมตตา (2543 – 2544) ละครเร่ ตามล่ามโนห์ราที่ปางมะผ้า แม่ฮ่องสอน (2544)

โครงการกิจกรรมศิลปะประเพณีในมหาวิทยาลัยรังสิต: คืนนี้มีมหรสพ (2535)

โครงการบำเพ็ญประโยชน์กิจกรรมของมหาวิทยาลัยรังสิต: ผ้าป่าต้นไม้ อุทิศให้วีรชน (2544 ) คนรุ่นใหม่ไปวัด ดูศิลปะ ไหว้พระ คารวะชุมชน (2544 )

บทละครพิเศษโรงงานนรก กันตนาผลิตออกอากาศร่วมกับโฆษกรัฐบาลลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์   

อาจารย์ประจำหน่วยจิตวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต (2549 – 2559) 

วิทยากร โรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง กระบวนการละครเพื่อสร้างเสริมกำลังใจ กรมปตอ. พัน 7  ดอนเมือง (2552 – 2553, 2559)

ผู้ทรงคุณวุฒิและคณะกรรมการคัดเลือกผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมต้นแบบ และแผนธุรกิจเชิงวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (2549 – 2550)

หัวหน้าโครงการจัดทำแผนธุรกิจวัฒนธรรม บ้านหนังสุชาติ ทรัพย์สิน นครศรีธรรมราช  ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (2551)

 

งานเขียน

บทกวี เพราะมีที่มาจากหัวใจ นามปากกา ‘ไตร่ตรอง’ สำนักพิมพ์น้ำใสใจจริง (2536)

คอลัมน์ สายด่วนวัยรุ่น เรื่องสั้นในนิตยสาร แป้งร่ำ (2538) บทความวิพากษ์เรื่องราวในสังคมในคอลัมน์ จิปาถะสาระ ในนิตยสาร หยิน นามปากกา ‘กระเช้า’ (2540) คอลัมนิสต์ สารรังสิต    ตอบปัญหาประจำคอลัมน์ เด็กหลังห้อง นามปากกา ‘ครูเทียน’ (2544 – 2545) คอลัมน์ ถอดรหัสวัฒนธรรม ส่ายตาหาเรื่อง คิดแล้วคัน ในนิตยสาร กุลสตรี  

บทวิจารณ์ภาพยนตร์ โหมโรง เทริด: ศักดิ์ศรีที่สวมเศียร  ในคอลัมน์ จุดประกาย หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ

 

บทความวิจารณ์ 

ศัตรูที่มองไม่เห็น ละครเร่เพื่อสิทธิชุมชน มรดกใหม่, หนังสือพิมพ์สำหรับคนละครและนักเล่าเรื่อง, ปีที่ 2 ฉบับที่ 14 (ก.ค.) 2543.

มัทนะพาธา ณ วชิราวุธวิทยาลัย มรดกใหม่, หนังสือพิมพ์สำหรับคนละครและนักเล่าเรื่อง, ปีที่ 3 ฉบับที่ 19 (ม.ค.) 2544.

สงครามสามเพศ: กับคำถามเรื่องเพศที่มากกว่าสามในสังคมไทย มรดกใหม่, หนังสือพิมพ์สำหรับคนละครและนักเล่าเรื่อง, ปีที่ 3 ฉบับที่ 19 (ม.ค.)  2544.

 

งานบริหารและที่ปรึกษา

ที่ปรึกษาชุมนุมละคร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (2531 – 2541)

ฝ่ายสร้างสรรค์ (Creative ) บริษัท แอควัน จำกัด (2529 – 2533)  

ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ (Creative Director ) บริษัท โอ.เอส. แอสโซซิเอชั่น จำกัด

(2540 – 2541)

ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ กองแรกรับ บ้านเมตตา สถานพินิจและคุ้มครองเด็กภาคกลาง บ้านเมตตา กระทรวงมหาดไทย (2543)

หัวหน้าสาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (2542 – 2544)

หัวหน้าโครงการ สื่อพื้นบ้านสื่อสารสุข (สื่อพื้นบ้านเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพชุมชน) ปีที่ 1  ในชุดโครงการ การสื่อสารเพื่อชุมชน รศ.ดร.กาญจนา แก้วเทพ ที่ปรึกษาโครงการ สนับสนุนโดย สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ)

ผู้ติดตาม โครงการ เปิดพื้นที่หัวใจวัยโจ๋ (2553)

 

วิชาที่สอน

ปริญญาตรี วิชาการสื่อสารในวัฒนธรรมไทย การเขียนบทละคร การกำกับการแสดงและรายการ เทคนิคการแสดงทางวิทยุโทรทัศน์ สื่อประเพณีไทย รายการศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม สุนทรียภาพในสื่อโทรทัศน์

ปริญญาโท วิชาสัมมนาจริยธรรมสื่อมวลชน

บทความวิชาการ

บางระจัน: สงครามสุนทรียศาสตร์ในศาสตร์แห่งการเล่าเรื่องของไทย นิเทศศาสตรปริทัศน์,  วารสารวิชาการคณะนิเทศศาสตร์, มหาวิทยาลัยรังสิต, ปีที่ 5 ฉบับที่ 3 (พ.ค. – มิ.ย.) 2544.

ละครเร่เพื่อการพัฒนา เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง นิเทศศาสตร์กับการพัฒนา สาขาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต 2544.

วัดในฐานะสื่อ: สารใหม่ในสื่อเก่า เอกสารประกอบการสัมมนาโครงการศูนย์สื่อและวัฒนธรรมศึกษา สถาบันวิจัย เพื่อการพัฒนาสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต  2544.

สื่อพื้นบ้านกับการพัฒนาท้องถิ่น: กรณีโนราของภาคใต้. วารสารนิเทศศาสตร์  ปีที่ 22 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2547.

สื่อทางเลือก: ข้อสังเกตในการศึกษาสื่อ นิเทศศาสตรปริทัศน์, วารสารวิชาการคณะนิเทศศาสตร์, มหาวิทยาลัยรังสิต, ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 (ก.ค. – ธ.ค.) 2549.

พื้นที่เวลาในโลกละคร นิเทศศาสตรปริทัศน์, วารสารวิชาการคณะนิเทศศาสตร์, มหาวิทยาลัยรังสิต, ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (ม.ค. – มิ.ย.) 2550.

สื่อกับอัตลักษณ์: ตัวตนกับการสื่อสาร นิเทศศาสตรปริทัศน์, วารสารวิชาการคณะนิเทศศาสตร์, มหาวิทยาลัยรังสิต, ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 (ก.ค. – ธ.ค.) 2552.

เสรีเพศ เสรีภาพ : การสื่อสารเพื่อความเสมอภาคทางเพศ นิเทศศาสตรปริทัศน์, วารสาร

วิชาการคณะนิเทศศาสตร์, มหาวิทยาลัยรังสิต, ปีที่ 14 ฉบับที่ 1 (ก.ค. – ธ.ค.) 2553.

ตัวตนคนใต้: นัยความหมายใต้พิธีโนราโรงครู เจ้าแม่ คุณปู่ ช่างฟ้อนและเรื่องอื่นๆ ว่าด้วยพิธีกรรมและนาฏกรรม. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2546.

ซัดท่าโนรา: ภูมิปัญญาคนปลูกข้าว การส่งเสริมและพัฒนา 2546.

รายงานการวิจัยเรื่องศักยภาพโนราในการพัฒนาท้องถิ่นในสื่อพื้นบ้านสื่อสารสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), 2549.

12 ท่ารักษาทุกโรค คอลัมน์ จุดประกาย หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ 24 มีนาคม 2546.

 

หนังสือ

ร่วมเขียน สื่อบันเทิง: อำนาจแห่งความไร้สาระ 2545

ร่วมเขียน ปฐมบทแห่งองค์ความรู้เรื่องสื่อพื้นบ้านสื่อสารสุข 2549

เขียน เทคนิคการแสดงทางโทรทัศน์ 2558

เขียน คิดเรื่องเขียนบทการเล่าเรื่องผ่านสื่อ 2558

 

รางวัล

บทวิจารณ์ภาพยนตร์ดีเด่น งานประกวดบทวิจารณ์ภาพยนตร์ สถาบันปรีดีพนมยงค์ 2558

 

ถ่ายทอดโดย จาติกาญจน์

ใกล้รุ่ง อามระดิษ

อักษรจรัส รุ่น ๔๙

ใกล้รุ่ง อามระดิษ 

เมื่อพวกเราเข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๒๔ วันหนึ่งในช่วงสัปดาห์แรกๆ ที่ห้อง ๑๑๖ ซึ่งเป็นห้องเรียนใหญ่ มีการเลือกตั้งประธานชั้นปี เพื่อนใหม่ชื่อ ใกล้รุ่ง อามระดิษ ลงสมัครด้วยท่าทีสนุกสนานมาดมั่น ใครหลายคนรู้สึกว่า “...ใกล้รุ่งจากสาธิตจุฬาฯ ช่างกล้าหาญมั่นใจ...” และเพื่อนใหม่ที่พกความมั่นใจมาเต็มเปี่ยมก็ได้ตำแหน่งประธานชั้นปีไปในครั้งนั้น

 ๓๖ ปีผ่านไป ใกล้รุ่งกลายเป็นนักวิชาการภาษาไทยและเขมรของรุ่นเรา มีผลงานมากมายทั้งการบรรยายและงานเขียน บทความวิจัยเช่น คำไทย – คำเทศ  วิชาการเช่น นวนิยายเขมรเล่มแรก งานแปลเช่น เรื่องลแบงและปัญญาสชาดก-ชาดกนอกนิบาต ...แต่ละเรื่องช่างไม่ธรรมดา 

งานวิชาการของใกล้รุ่ง ไม่ได้อยู่แต่เฉพาะในมหาวิทยาลัย หากยังประโยชน์แก่สาธารณชนเช่นครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๕ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการเรื่อง กัมพูชาศึกษา: แง่มุมจากอดีตถึงปัจจุบัน ใกล้รุ่งได้นำเสนองานวิชาการหัวข้อ ไทยในสื่อหนังสือพิมพ์กัมพูชา ศึกษาข่าวเกี่ยวกับประเทศไทยในหน้าหนังสือพิมพ์ของกัมพูชาในระยะเวลาสิบปี และพบว่า หนังสือพิมพ์กัมพูชาส่วนใหญ่ให้ความสนใจและความสำคัญแก่การรายงานข่าวไทยอย่างครอบคลุมและกว้างขวาง ซึ่งเกี่ยวพันกับคนทุกกลุ่มทุกระดับ ในขณะที่หนังสือพิมพ์ไทยรายงานข่าวกัมพูชาแตกต่างกัน โดยให้ความสนใจประเทศกัมพูชาน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด

บ่อยครั้งที่ใกล้รุ่งต้องติดตามกรณีพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา เขาพระวิหาร การเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ละเอียดอ่อนซับซ้อน ติดตามข่าวรัฐบาล นักธุรกิจ พนักงานกัมพูชาที่ทำงานในกิจการของไทยในกัมพูชา แรงงานกัมพูชาในโรงงานไทย ประชาชนกัมพูชาที่บริโภคสินค้าไทย พ่อค้าชายแดน แรงงานกัมพูชาในไทยในอุตสาหกรรมต่างๆ ไปจนถึง ชาวบ้านเล็กๆ น้อยๆ ที่รับตัดไม้เถื่อน...แต่ละเรื่องไม่ธรรมดาอีกแล้ว 

ล่าสุด เพื่อนของเราได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการจัดทำพจนานุกรมโบราณศัพท์ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ทำหน้าที่เก็บและรวบรวมโบราณศัพท์จากเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ พจนานุกรม พระราชพงศาวดาร กฎหมายโบราณ จดหมายเหตุ จารึก หมายรับสั่ง ตำราโบราณ วรรณคดีไทย ราชกิจจานุเบกษา และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดทำคำอธิบายศัพท์ในรูปแบบพจนานุกรม และจัดทำต้นฉบับสมบูรณ์เพื่อจัดพิมพ์เผยแพร่...งานแบบนี้ใกล้รุ่งก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วม

นับว่าเพื่อนของเรา ดร.ใกล้รุ่ง อามระดิษ ได้ใช้วิชาที่ร่ำเรียนสั่งสมมา และศักยภาพของชาวอักษรศาสตร์อย่างเต็มเปี่ยม ผ่านประสบการณ์ที่ไม่ซ้ำใคร ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและการสืบทอดวัฒนธรรมเขมร-ไทย ที่เราต่างก็มีร่วมรากกันมายาวนาน 

 ท้ายนี้คือประวัติและผลงานของ ดร.ใกล้รุ่ง ที่น่าจะแสดงความเป็นอักษรจรัสได้ชัดเจนกว่าการจะนำมาเรียบเรียงในแบบใดๆ

 

การศึกษา 

อ.บ. (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2528

อ.ม. (ภาษาไทย), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2533

Cert. in Advanced Khmer Language, Southeast Asian Studies Summer Institute,

University of Wisconsin-Madison, 1995

Ph.D. in Khmer Languauge and Literature, School of Oriental and African Studies, University of London, 1998

 

ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความสนใจ

- ภาษาและวรรณคดีเขมร

- พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

บทความวิชาการ ภาษาไทย

 1. ใกล้รุ่ง อามระดิษ. ร้อยแก้วแนวขบขันของไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7. ภาษาและวรรณคดีไทย ปีที่ 10 (มิถุนายน 2536): 92-99.

2. ใกล้รุ่ง อามระดิษ. บรรณานุกรมผลงานของศาสตราจารย์วัชรี รมยะนันทน์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คมคาย นิลประภัสสร. ใน คือคู่มาลาสรรเสกคุณ, หน้า 1-8. กรุงเทพฯ: คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2536.

3. ใกล้รุ่ง อามระดิษ, มานัส จิตตเกษม และ รงค์รุจา สีห์สุรไกร. รัชกาลที่ 6 กับวรรณกรรมอังกฤษ. บทวิทยุสารคดีออกอากาศในรายการ Booktalk ของสถานีวิทยุ BBC. ลอนดอน: BBC, 2538

 

บทความวิชาการ ภาษาอังกฤษ

 1. Klairung Amratisha. Ecrivains et expressions litteraires du Cambodge au Xxeme siecle: a review. Journal of Southeast Asian Studies 28, 1(1997): 186-188.

2. Klairung Amratisha. Dik Danle Sap: The First Cambodian Novel?. Journal of Thai Language and Literature 15 (December 1998): 128-137. (in Thai)

3. Klairung Amratisha. Rebuilding the Empire: The French Image of Cambodia and the Emergence of Modern Khmer Novel. In Europe-Southeast Asia in the Contemporary World: Mutual Images and Reflections 1940s-1960s. Piyanart Bunnag, Franz Knipping, and Sud Chonchirdsin, eds. Baden-Baden: Nomos Verlagsgesellschaft, 2000.

4. Klairung Amratisha. The First Cambodian Novel: A Reconsideration. Paper presented at the Second International Conference on Khmer Studies, Phnom Penh, 2000.

5. Klairung Amratisha, From Sbaek Thom to Nang Yai: An Influence of the Khmer Shadow Play on the Thai Shadow Play. Paper presented at the Conference to commemorate the 100th Anniversary of the Ecole Fran?aise d' Extr?me-Orient, Siemreap, 2001.

6. Klairung Amratisha, No More Precious Wealth: Literature and Politics in Cambodia since the Khmer Rouge Era. Asian Review 14 (2001): 37-82.

7. Klairung Amratisha, Khmer Literature. In Encyclopedia of Asia. Great Barrington, MA: Berkshire Reference Works, 2002. (forthcoming)

 

บทความวิชาการอื่นๆ 

1. ใกล้รุ่ง อามระดิษ. "ดูหนังใหญ่ไทย-เขมร" อักษรศาสตร์สู่สังคม. กรุงเทพฯ : คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545.

2. ใกล้รุ่ง อามระดิษ. อารมณ์ขันในพระราชนิพนธ์ประเภทล้อเลียน. หนังสือ "ปิยราชกวินทร์" 2546.

 

บทความวิจัย 

1. ใกล้รุ่ง อามระดิษ. The First Cambodian Novel : A Reconsideration. Proceeding of The 2nd International Conference on Khmer Studies

2. ใกล้รุ่ง อามระดิษ. น้ำทะเลสาบ: นวนิยายเขมรเล่มแรก. ภาษาและวรรณคดีไทย ปีที่ 15 (ธันวาคม 2541): 128-137.

 

งานแปล

1. Khien Teerawit and Sunai Phaluk. Cambodia: History, Society, Economy, Security, Politics, and Foreign Affairs. Translated by Klairung Amratisha and Tep Tino. Bangkok: The Asian Institute, Chulalongkorn University, 2002. (in Khmer) (forthcoming)

2. ใกล้รุ่ง อามระดิษ, ผู้แปล. "เรื่องลแบงและปัญญาสชาดก-ชาดกนอกนิบาต" โดย ฆีง หก ฑี วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง 1, 1(มกราคม- เมษายน 2548) : 29-54

 ถ่ายทอดโดย วารยา

.

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University