อักษรศาสตร์ดีเด่น ปี 2558

นาง ชมัยภร บางคมบาง

นางชมัยภร  บางคมบาง (  อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๓๖ )

  หลังสำเร็จการศึกษา ได้เข้ารับราชการในสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี  ภายหลังได้ออกจากราชการมาเป็นนักเขียนนวนิยาย และเรื่องสั้น ลงพิมพ์ใน สกุลไทยรายสัปดาห์ และ ขวัญเรือน  กว่า ๘๐ เรื่อง หลายเรื่องได้รับรางวัลระดับชาติ และได้รับคัดเลือกเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับนักเรียนและนิสิตนักศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยในประเทศและต่างประเทศ  เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เลขาธิการสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย  เลขานุการมูลนิธิสุภาว์ เทวกุลฯ  ปัจจุบันนอกจากเป็นนักเขียนแล้ว ยังได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากร เผยแพร่ความรู้เรื่อง การเขียน ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง  กรรมการตัดสินการประกวดวรรณกรรมรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน    (ซีไรต์)  รางวัลบทกลอนไฮกุ  รางวัลวรรณกรรมมูลนิธิสุภาว์ เทวกุลฯ  และรางวัลนายอินทร์ อะวอร์ด  สมัยเป็นนิสิตก็ได้เป็นประธานชมรมวรรณศิลป์ จุฬาฯ  ผลงานประพันธ์ได้รับรางวัล     เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ๓ ครั้ง คือเรื่อง “จับต้นมาชนปลาย”  “อาม่าบนคอนโด” และ “หยาดน้ำค้างพันปี”  ได้รับรางวัลจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ หรือ คณะกรรมการประกวดหนังสือดีเด่น กระทรวงศึกษาธิการ รวม ๒๒ ครั้ง  ล่าสุดคือ เรื่อง หยาดน้ำค้างพันปี   และได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี ๒๕๕๗

    จากประสบการณ์และการใช้ความรู้ความสามารถด้านอักษรศาสตร์จนเป็นที่ยอมรับในแวดวงวรรณกรรม  สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง นางชมัยภร บางคมบาง เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๘

นาง โสภา สุยะนันทน์

นาง โสภา สุยะนันทน์ ( อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๔๑ )

      หลังจบการศึกษา ได้เดินทางไปเรียนภาษาญี่ปุ่นที่กรุงโตเกียว เพื่อนำมาใช้ในการทำงานในธุรกิจหลักของครอบครัว คือ การจำหน่ายเครื่องสำอางนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และจัดกิจกรรมด้านการตลาดส่งเสริมการขายและขยายกิจการเรื่อยมาจนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยซินอุตสาหกรรม จำกัด และเปิดบริษัทในเครืออีกหลายแห่งจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องสำอาง อุปกรณ์เครื่องทอผ้า และ ร้านอาหารญี่ปุ่น  เป็นกรรมการและที่ปรึกษาสมาคมสตรีไทยแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์  อุปนายกของสมาคมผู้ประกอบธุรกิจเครื่องสำอาง  จัดกิจกรรมหาทุนช่วยเหลือสังคมและสาธารณกุศลต่างๆกรรมการฝ่ายจัดหาทุน มูลนิธิพระดาบส  อดีตนายกสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชุดที่ ๒๐  อดีตกรรมการบริหารคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และกรรมการที่ปรึกษาสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ  รับผิดชอบเป็นประธานจัดการแข่งขันกอล์ฟการกุศล หารายได้มอบให้สมาคมฯ

      ด้วยความสามารถและประสบการณ์ทำงานดังกล่าว  สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่องนางโสภา สุยะนันทน์ เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๘

 

 

นางสาว วันเพ็ญ เซ็นตระกูล

นางสาว วันเพ็ญ  เซ็นตระกูล      ( อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๓๑  ) 

      หลังสำเร็จการศึกษา ได้เข้ารับราชการครูอยู่ระยะหนึ่ง แล้วออกมาเป็น นักจัดรายการวิทยุ บริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด  เป็นผู้ริเริ่มงานเขียนบทอาศิรวาทเป็นคำประพันธ์และอ่านเปิดสถานี หรืออ่านตลอดวันในวันสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์   จุดประกายให้เกิดความนิยม ๓ ประการ ซึ่งยังคงนิยมอยู่จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ การออกอากาศบทอาศิรวาทเป็นร้อยกรองในวันสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์  การร่วมถวายพระพรของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนด้วยบทร้อยกรอง และทำให้เกิดความสนใจจากนักเขียน ประชาชนทั่วไปในการศึกษาและเขียนบทอาศิรวาทเป็นร้อยกรอง  เคยเป็นผู้ตรวจการระดับ ๙ และรักษาการหัวหน้าส่วนสารคดีองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย  ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ กรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๙)  กรรมการสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ประธานฝ่ายการตัดสินในคณะกรรมการดำเนินงานการประกวดสุนทรพจน์อุดมศึกษาเฉลิมพระเกียรติ ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายงานผ่านภาษา "ตามรอยพระยุคลบาทช่วยชาติได้อย่างไร" โดยสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๔ จนถึงปัจจุบัน  ได้รับรางวัลต่างๆ อาทิ กวีดีเด่นนานาชาติ จากสถาบันกวีนานาชาติแห่งอินเดีย และรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นประจำปี ๒๕๕๖ จากกระทรวงวัฒนธรรม

       ด้วยความสามารถและประสบการณ์ รวมทั้งผลงานต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่สังคม  สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง นางสาววันเพ็ญ เซ็นตระกูล เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๘ 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ    ( อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๔๑)

   หลังสำเร็จการศึกษาแล้ว เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาบาลี-สันสกฤต ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์   เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาขาวิชา และหัวหน้าภาควิชาภาษาตะวันออก  เป็นคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ๒ สมัย ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๕๘ แต่เกษียณอายุราชการก่อนครบวาระที่ ๒  นอกจากนี้ยังเคยเป็นผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายไทย)  อนุกรรมการแผนกอักษรศาสตร์ ทุนอานันทมหิดล  อนุกรรมการโครงการพัฒนากำลังคนด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ประธานโครงการ A Study of Royal Siamese Maps  กรรมการบริหารกองทุนเพื่อทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ผู้ทรงคุณวุฒิให้ข้อเสนอแนะต่อนักศึกษาผู้รับทุนมหาบัณฑิต สกว.  และรองประธานมูลนิธิมหาจักรีสิรินธรเพื่อคณะอักษรศาสตร์  เป็นผู้สนับสนุนกิจกรรมหาทุนของสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ  ที่กำลังดำเนินการอยู่คือ การหาทุนสร้างอาคารอเนกประสงค์ “อักษร-ศิลป์เพื่อน้อง โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จุฬา-ธรรมศาสตร์” ที่ ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเจริญพระชนมายุ ๖๐ พรรษา

    ด้วยความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และผลงานต่างๆ เป็นที่ประจักษ์ชัด  สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๘

 

รองศาสตราจารย์ ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร

รองศาสตราจารย์ ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร   ( อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๓๗ )

   เมื่อจบการศึกษาแล้วได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย  เป็นผู้ผลักดันและยกระดับหน่วยวิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ ขึ้นเป็นภาควิชา ทำให้สามารถผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถทางวรรณคดีทั้งไทยและเทศให้แก่วงวิชาการทั่วประเทศ  ต่อมาได้ทำหน้าที่ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิตและอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ และ ประธานกรรมการ บริหารหลักสูตรอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวรรณคดีและวรรณคดีเปรียบเทียบ  เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา จุฬาฯ   ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา ได้สร้างเครือข่ายไท-ไทยศึกษาจากประเทศไทยไปสู่สังคมโลกและอาเซียน รวมทั้งสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาอารยธรรมไทยทั้งในด้านท้องถิ่นและวัฒนธรรมเพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าวิจัย  เป็นกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน(ซีไรต์)  รางวัลลูกโลกสีเขียว  รางวัลเซเว่นบุ๊ค อวอร์ด  เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ  ได้ผลักดันให้สมาคมฯ จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนการสอนวรรณกรรมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและสถาบันอุดมศึกษา เช่น กิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติ  วันสุนทรภู่  กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน เป็นการกระตุ้นให้เยาวชนไทยหันมาใส่ใจการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง  ได้รับรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ในปี พ.ศ.๒๕๕๔ จาก กระทรวงวัฒนธรรม

     ด้วยความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และผลงานต่างๆ เป็นที่ประจักษ์ชัด  สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง รองศาสตราจารย์ ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร  เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๘

รองศาสตราจารย์ อรชุมา ยุทธวงศ์

รองศาสตราจารย์อรชุมา ยุทธวงศ์  (  อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๓๔ )

   เข้ารับราชการเป็นอาจารย์คณะอักษรศาสตร์  เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ และอดีตรองผู้อำนวยการ สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

    "ครูแอ๋ว" เป็นผู้บุกเบิกการละครสำหรับเด็กในรูปแบบละครเวที ละครเร่ ละครเพื่อการศึกษา ละครวิทยุโทรทัศน์ และรายการโทรทัศน์ เช่น รายการหุ่นหรรษา รายการ Sesame Street   สร้างเสริมโอกาสให้นิสิตศิลปการละครได้มีโอกาสฝึกงานในวงการวิชาชีพด้านบันเทิงร่วมกับมืออาชีพทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง 

    เป็นกรรมการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง  อาจารย์พิเศษสอนหลักสูตรปริญญาโท ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาการให้ตำแหน่งทางวิชาการ  เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยด้านทัศนศิลป์และศิลปการแสดงเข้าประชุมอาเซียนในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และบรรยาย/ นำเสนอบทความในต่างประเทศต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า ๑๐ ปี  

      สอนการแสดงให้กับผู้เริ่มเข้าสู่วงการ เช่น ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์  คุณพลอยไพลิน  เจนเซ่น  และสอนการแสดงเพิ่มเติมให้กับมืออาชีพ เช่น เบิร์ด ธงไชย เคน ธีรเดช เป็นต้น  สอนการพัฒนาตัวตนและการแสดงออกสำหรับนักร้อง พิธีกรและผู้ประกาศข่าว ดีเจ ตลอดจนบริษัทและองค์กรต่างๆ  ได้รับรางวัล "บุคคลเบื้องหลังดีเด่นแห่งปี" (ไนน์เอ็นเตอร์เทน อวอร์ด ๒๐๑๔) จากผลงานการสร้างงานและคนที่มีคุณภาพให้กับวงการบันเทิงไทย 

     ด้วยความสามารถและประสบการณ์อันยาวนานในวงการศิลปะการแสดง สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง รองศาสตราจารย์อรชุมา ยุทธวงศ์ เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๘

         

       

     

           

        

        

   

ศาสตราจารย์ ดร. ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต

ศาสตราจารย์ ดร. ชลดา  เรืองรักษ์ลิขิต   ( อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๓๘ ) 

  หลังสำเร็จการศึกษาได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย  และเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ   อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภาษาและวรรณคดีไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬา ฯ  และเป็นนักวิจัยที่สร้างผลงานวิจัยและวิชาการอย่างต่อเนื่อง  เป็นผู้นำในการสอนวิชาภาษาไทยที่ใช้สไลด์ และ พาวเวอร์พอยท์ ทำให้สอนได้เร็วและนิสิตสนใจเรียนมากขึ้น  เป็นผู้วางระเบียบและกฎเกณฑ์ในการทำงานบริหารภาควิชาอย่างเป็นระบบ และกำหนดวิธีการติดตามความ ก้าวหน้าการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและเอก ทำให้นิสิตจบเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพ 

   ด้สนับสนุนอาจารย์ในภาควิชาให้ได้รับตำแหน่งวิชาการ และรางวัลต่างๆ เช่น รางวัลครูภาษาไทยดีเด่น เป็นต้น  เป็นผู้นำในการผลิตตำรา หนังสือ และงานวิจัยเพื่อใช้ในการเรียนการสอนของภาควิชาจำนวนหลายเล่ม ซึ่งมีผู้นำไปใช้ในวงการภาษาและวรรณคดีไทยอย่างกว้างขวางทั้งในและนอกประเทศ ร่วมเขียนและพิจารณาบทโทรทัศน์รายการ "ภาษาไทยวันละคำ"  เป็นภาคีสมาชิกราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม ประเภทวรรณศิลป์ สาขาวรรณกรรมร้อยกรอง กรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทย กรรมการคัดเลือกผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น  เป็นวิทยากรอบรมความรู้ทางด้านภาษาและวรรณคดีไทย เป็นจำนวนมากในแต่ละปี ทั้งในนามของราชบัณฑิตยสภา สภาวิจัยแห่งชาติ คณะกรรมการวรรณคดีแห่งชาติ กรมศิลปากร 

    ได้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่น สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๕๕  และอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขามนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ จากที่ประชุมประธานสภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๗

   ด้วยความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และผลงานต่างๆ เป็นที่ประจักษ์ชัด  สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง ศาสตราจารย์ ดร. ชลดา  เรืองรักษ์ลิขิต  เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๘

ศาสตราจารย์ ดร. รื่นฤทัย สัจจพันธ์

ศาสตราจารย์ ดร. รื่นฤทัย สัจจพันธ์  ( อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๓๕)   

       รับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง   ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสถาน สำนักศิลปกรรม ประเภทวรรณศิลป์ สาขาวิชาวรรณกรรมร้อยแก้ว และ กรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม อังกฤษ - ไทย  ของราชบัณฑิตยสถาน  เป็นกรรมการและบรรณาธิการดูแลงานเกี่ยวเนื่องกับการทำหนังสือเนื่องในวาระพิเศษของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เช่น หนังสือ "อัครศิลปิน"   เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์  เป็นกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมระดับชาติและระดับนานาชาติ ติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี  เป็นกรรมการคัดเลือกผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นของราชบัณฑิตยสถาน และอนุกรรมการสรรหาและคัดเลือกครูภาษาไทยดีเด่น ของสำนักงานเลขาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ  เป็นผู้บุกเบิกการศึกษาวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ที่ให้ความสนใจกับวรรณคดีไทยที่นำไปแปรรูปสู่สื่อศิลปะแขนงต่างๆ  เช่น "วรรณกรรมออนไลน์ : วัฒนธรรมการสร้าง-เสพวรรณศิลป์ในบริบทสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง" ถือเป็นการก้าวข้ามพรมแดนระหว่างวรรณกรรมที่เป็นหนังสือกับวรรณกรรมที่สื่อสารด้วยระบบออนไลน์  จุดประกายให้คนรุ่นใหม่เกิดความสนใจศึกษาวรรณคดีในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม  ได้รับรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๕๒   อาจารย์ดีเด่น สาขามนุษยศาสตร์และศิลปศาสตร์ จากที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๓๒ และ พ.ศ. ๒๕๓๓   และ ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย จากกระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๕๘

       ด้วยความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และผลงานต่างๆ เป็นที่ประจักษ์ชัด  สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง ศาสตราจารย์ ดร. รื่นฤทัย สัจจพันธ์  เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๘

ศาสตราจารย์ ดร.ชุติมา สัจจานันท์

ศาสตราจารย์ ดร.ชุติมา สัจจานันท์   ( อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๓๖)   

     หลังสำเร็จการศึกษาได้เข้ารับราชการที่วิทยาลัยครูธนบุรี  แล้วโอนย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช   เป็นผู้บุกเบิกการเรียนการสอนสารสนเทศศาสตร์ด้วยระบบการศึกษาทางไกลของประเทศไทย ในระดับปริญญาตรี โท และเอก   ริเริ่มขยายโอกาสทางการศึกษาในวิชาชีพสารสนเทศศาสตร์ เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านสารสนเทศของประเทศไทย  ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการพัฒนา/ปรับปรุงหลักสูตร บริหารหลักสูตร ผลิตและบริหารชุดวิชา ผู้เขียนหน่วยการสอน วิทยากรสื่อการศึกษาทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่สถาบันการศึกษาต่างๆ นำไปใช้ในการเรียนการสอน  ผลงานวิจัยด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ได้รับรางวัล มีการเผยแพร่และนำไปใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงในระดับชาติและสากล  เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  กรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมซีไรต์ ๒๕๔๗  กรรมการบริหารสภาบรรณารักษ์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  กรรมการถาวรแผนกทฤษฎีและวิจัย สหพันธ์นานาชาติว่าด้วยสมาคมและสถาบันห้องสมุด  ได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นในวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ  และรางวัลงานวิจัยดีเด่นสาขาภาษาและวรรณกรรมจากคณะกรรมการการศึกษา การศาสนาและการวัฒนธรรม

     ด้วยความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และผลงานต่างๆ เป็นที่ประจักษ์ชัด  สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง ศาสตราจารย์ ดร.ชุติมา สัจจานันท์  เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๘

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University