อักษรจรัส รุ่น 55

ชลธิรศน์ พุ่มหิรัญ

โอ๋ชลธิรศน์ หรือโอ๋ใจ๋ เป็นสาวอักษรร่ำรวยอารมณ์ขัน เธอมักจะสร้างเสียงหัวเราะให้เพื่อน ๆ อยู่เสมอ เรื่องขำขันของโอ๋มาจากการช่างสังเกต ช่างจดจำสิ่งรอบข้าง โอ๋จบชั้นมัธยมจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ มีเป้าหมายในใจตั้งแต่ชั้นประถมว่าจะสอบเข้าอักษรฯ จุฬาฯ เรียนเอกภาษาฝรั่งเศสให้ได้ เนื่องจากมีคุณแม่ซึ่งเป็นสาวอักษรฯ รุ่น 2499 เป็นแรงบันดาลใจ โอ๋จึงมุ่งมั่นที่จะสอบเข้าคณะนี้ และได้ทำฝันให้เป็นจริง โดยเข้ามาเป็นสาวอักษรฯ รุ่น 55 ในปี 2530 และเลือกเรียนเอกภาษาฝรั่งเศสตามที่ตั้งใจไว้ หลังจากเรียนจบปี 2534 โอ๋เรียนต่อภาษาศาสตร์ที่ประเทศฝรั่งเศส และเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย Paris III (Sorbonne Nouvelle) ระยะหนึ่ง โดยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสกว่าสามปี จึงย้ายไปเรียนต่อที่ Boston University ประเทศสหรัฐอเมริกาจบ Master of Science สาขา Multinational Commerce ในปี 2538 

ชีวิตการทำงาน : หลังจากจบปริญญาโทปี 2538 ได้ร่วมงานกับบริษัท ทีทีแอนด์ที เคเบิลทีวี ต่อมาปี 2539 ได้ย้ายไปทำบริษัทโฆษณา Publicis ของประเทศฝรั่งเศส ในตำแหน่ง Account Executive ประมาณ 5 ปี และในปี 2544 กับบริษัท Sita-Thai Waste Management เป็นบริษัทกำจัดกากอุตสาหกรรม ร่วมทุนระหว่างประเทศฝรั่งเศส กับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย เมื่อมีลูก โอ๋ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ มาเป็นแม่บ้านเต็มตัวในปี 2546 เมื่อลูกสาวอายุครบหนึ่งขวบ  โอ๋เริ่มรับงานแปลสารคดีให้กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส หรือสมัยก่อนคือไอทีวี โดยแปลทั้งสารคดีภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษ นอกจากนั้นยังรับแปลบทความภาษาฝรั่งเศสให้กับนิตยสาร Elle 

ด้วยความที่โอ๋เป็นคนช่างสรรหาของอร่อยรับประทาน โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Street Food โอ๋จะรู้จักร้านอาหารอร่อย ๆ ตามตรอกซอกซอยเป็นอย่างดี รวมทั้งชอบทำอาหาร และขนมนานาชนิด ช่วงปี 2557 โอ๋นำตับบดมาให้เพื่อน ๆ ลองชิมในงานเลี้ยงงานหนึ่ง เพื่อนต่างลงความเห็นว่ารสชาติอร่อย หอมเนียนนุ่มขนาดนี้น่าจะลองทำขาย จากจุดนี้ จึงเป็นที่มาของการเริ่มกิจการเล็ก ๆ ภายใต้แบรนด์ Anna's Recipe เป็นผลิตภัณฑ์โฮมเมด ที่ใช้วัตถุดิบชั้นเยี่ยม เน้นคุณภาพ ความสดใหม่ พร้อมบริการส่งถึงที่ในราคาสมเหตุผล สินค้าตัวแรกที่สร้างชื่อ คือตับบดพอร์ทไวน์ ต่อมาได้แตกไลน์ออกไปอีกหลายอย่างทั้งคาวหวาน

โอ๋บอกว่า กิจการนี้เป็นงานเล็ก ๆ ที่ทำแล้วมีความสุขมาก เป็นกิจการที่พอดีตัว ทำให้ชีวิตไม่น่าเบื่อ และยังได้ทำหน้าที่แม่บ้าน ดูแลบ้าน และดูลูกไปด้วยในคราวเดียวกัน แต่กระนั้น กิจการของ Anna's Recipe ได้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย สร้างรายได้ให้อย่างงาม ไม่แพ้การทำงานประจำเลยทีเดียว

ชีวิตครอบครัว : โอ๋สมรสกับนายตรีรัตน์ พุ่มหิรัญ มีบุตรสาว 1 คน คือนางสาวอันนา พุ่มหิรัญ โอ๋ทำหน้าที่แม่บ้านภรรยา และเแม่ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

โอ๋มีชีวิตที่เรียบง่าย มีความสุขกับครอบครัว และกิจการ Anna's Recipe โดยยึดหลักทางสายกลาง มองโลกในแง่ดีมีความสุขกับชีวิตในทุกนาทีที่ยังมีลมหายใจ เพื่อความสุขของตนเอง และคนรอบข้างในอนาคตเราอาจจะได้อ่านบันทึกความทรงจำเรื่องขำขันจากโอ๋ และเมื่อถึงเวลานั้น บันทึกขำขันของโอ๋อาจจะดังไปทั่วโลกออนไลน์เหมือนตับบดพอร์ทไวน์ก็ได้ ใครจะรู้

ดร. ชัยวุฒิ จิตต์กุศล (เต้ย/โจ)

          ถ้าจะย้อนนึกถึงคนเด่นในรุ่นสมัยเรียน เต้ยเป็นคนหนึ่งที่มีความเก๋สะดุดตา ทั้ง ๆ ที่เต้ยอยู่ของเต้ยเงียบ ๆ ยิ้ม ๆ ตลอด แต่ที่เพื่อน ๆ ยกให้เต้ยเป็นหนึ่งในอักษรฯ จรัสของรุ่นคราวนี้ ไม่ใช่แค่เพราะความเก๋ ซึ่งเต้ยยังคงไว้เสมอต้นเสมอปลาย แต่เป็นเพราะหน้าที่การงานอันน่าภาคภูมิใจของเต้ย คือเป็น Senior Lecturer ที่ University of Massachusetts, Boston อันเป็นผลจากความมุมานะหลังจากจบอักษรฯเอกภาษาสเปน ปริญญาโทด้านโฆษณา และปริญญาเอกด้านภาษาและวรรณคดีฮิสแปนิกที่มหาวิทยาลัยบอสตัน เต้ยมีผลงานวิจัย Don Juan Tenorio ซึ่งต้องค้นคว้าเป็นภาษาสเปนแล้วมาตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ และเคยสอนวรรณคดีสเปนให้กับเด็กมหาวิทยาลัยในอเมริกา ซึ่งหลาย ๆ คนก็เป็นเจ้าของภาษา โดยเต้ยสามารถทำให้นักศึกษาสนใจและเข้าถึงที่มาที่ไปของวรรณกรรมของเขาได้ ปัจจุบันเต้ยสอนเฉพาะวิชาภาษาสเปน ซึ่งเป็นภาษาที่สี่ที่เต้ยเพิ่งมาเริ่มเรียนในระดับปริญญาตรี แน่นอนว่านักศึกษาหรือแม้แต่อาจารย์บางคนเคยตัดสินเต้ยจากรูปลักษณ์ (ดูยังไงก็ไม่น่าจะมีเชื้อ               สแปนิช) เต้ยก็เลยสอนอย่างตั้งใจด้วยองค์ความรู้แน่นปั้ก อธิบายโดยไม่มีอคติ จนนักศึกษาเข้าใจกระจ่างแจ้งและเขียนชื่นชมขอบคุณเต้ยเป็นเนือง ๆ

             กับเพื่อน ๆ เต้ยเป็นคนสุขุมละเอียดอ่อน ถ่อมตัว มีอารมณ์ขัน และมีน้ำใจ ถึงเต้ยจะอยู่ไกล กลับมาเมืองไทยให้เพื่อน ๆ แย่งกันนัดเจอแค่ปีละครั้ง แต่เพื่อน ๆ ก็ภูมิใจมากที่มีเต้ยเป็นตัวแทนรุ่นและประเทศ พิสูจน์ตัวเองจนเป็นที่ยอมรับในสถาบันอุดมศึกษาที่อเมริกา  

ดังกมล ณ ป้อมเพ็ชร (เฟียต)

 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ ให้จัดการแสดงละครเรื่อง “ล่ามดี” พระราชนิพนธ์แต่งแปลง ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นในงาน “เทวาลัยรำฦก:รวมพลคนอักษรฯ” ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2550 เพื่อจัดหาทุนสมทบมูลนิธิมหาจักรีสิรินธรเพื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ  ในการนี้ ทรงมีพระเมตตาร่วมแสดงเป็น “มัคคุเทศก์ชาวจีน” ด้วย  “ล่ามดี” กำกับการแสดงโดย “ครูใหญ่” รศ.สดใส พันธุมโกมล  “ครูนพ” รศ.นพมาส แววหงส์ และ “พี่โจ้” ดารกา วงศ์ศิริ  เฟียตแสดงเป็น “นายจอน ล่ามดี” ร่วมกับพี่ๆน้องๆชาวอักษรฯอีกหลายท่าน อาทิ พี่จิ๊ อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ แสดงเป็น “เสมียนโรงแรม”  พี่อู๊ด สมพล ชัยสิริโรจน์ แสดงเป็น “นายยอน สมิธ”  พี่ยุ่น ยิ่งยศ ปัญญา แสดงเป็น “จีนเก๊า” เป็นต้น

ทางเดินของเฟียตเหมือนถูกกำหนดมาแล้ว...

เฟียตเรียนเอกละคร และด้วยความลงตัวหลาย ๆ อย่าง ทั้งบุคลิก ร่างกายกำยำล่ำสัน คมเข้ม เสียงดัง และแหวกแนวไม่เหมือนใคร ทำให้เฟียตโดดเด่นบนเส้นทางสายนี้ เฟียตเคยทำให้พวกนิวยอร์คเกอร์อึ้งมาแล้วตอนไปเรียนต่อที่อเมริกาด้วยทุน Fulbright เมื่อเรียนจบ MFA Directing เฟียตได้รับคำชวนให้ทำงานต่อที่ Tribeca Performing Arts Center ที่ NYC แต่เขาขอกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะฯ เหมือนเดิม  ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า "เฟียตเลือกทำเฉพาะสิ่งที่เขาภูมิใจ แม้ว่ามันจะไม่ง่าย ไม่สนุก และไม่รวย"

เฟียต แสดงเป็น “แมคเบธ” ในละครปฐมฤกษ์เปิดศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล หรือโรงละครอักษรศาสตร์แห่งใหม่ ณ อาคารมหาจักรีสิรินธร ซึ่งเฟียตในฐานะหัวหน้าภาควิชาศิลปการละครในขณะนั้น มีส่วนร่วมตั้งแต่การจัดหาทุนซื้ออุปกรณ์ในโรงละคร ไปจนถึงการควบคุมดูแลงานออกแบบก่อสร้าง   Macbeth จัดแสดงในเดือนมิถุนายน 2554  กำกับการแสดงโดย รศ.นพมาส แววหงส์ ร่วมแสดงกับพี่ ๆ น้อง ๆ และญาติมิตรชาวอักษรศาสตร์ “ศิษย์อาจารย์สดใส” หลากหลายรุ่น

ขณะเป็นนิสิตเอกการละคร ชั้นปีที่ 2 แสดงเป็น  “เอสทรากอน” ในละครวิทยานิพนธ์เรื่อง “คอยโกโดต์” (Waiting for Godot) กำกับการแสดงโดย “พี่ตู่” ผศ.พรรณศักดิ์ สุขี แสดงที่โรงละครอักษรศาสตร์ ตึกอักษรศาสตร์ 4 เมื่อปี 2532

เฟียตเป็นคนไฟเเรงและทำทุกสิ่งเต็มแรง นอกจากงานสายตรงที่เป็นผู้กำกับละครเวที กำกับการแสดง “สยามนิรมิต” เป็นนักแสดงละครเวที แสดงนำใน "แมคเบธ" เป็นอาจารย์ที่รักของนิสิตภาควิชาศิลปการละคร เป็นหัวหน้าภาควิชา เป็นรองคณบดีด้านกิจการนิสิตและศิษย์เก่าสัมพันธ์ของคณะอักษรศาสตร์ (ทำให้รุ่นเราได้รับข่าวสารของคณะฯ ก่อนใครเสมอ เป็นองค์รวมข้อมูล ถามอะไรเฟียตตอบได้หมด) เฟียตยังทำงานจิตอาสานอกเหนือจากงานราษฎร์งานหลวงอีกด้วย มีทั้งประสานงานกับหมู่คณะต่าง ๆ เป็นตัวแทนขายของหารายได้ให้คณะและมหาวิทยาลัย ไปจนถึงประกาศหาบ้านให้หมาแมว จนเพื่อนๆยังสงสัยว่าเฟียตได้นอนตอนไหนเนี่ย ต้องยกความดีให้เฟียตเต็ม ๆ เลย

 

 

ธนัญพร อุดมจารุมณี (เพ่ยๆ)

ตำแหน่งปัจจุบัน : General Manager, Starcom Thailand / MAAT Committee

ทำงานในวงการโฆษณามาตลอดชีวิตการทำงาน 20 กว่าปี มีสิ่งที่สร้างความภูมิใจมากมาย ถึงแม้เพ่ย ๆ จะเป็นคนที่อยู่เบื้องหลังงานก็ตาม  สิ่งแรกที่เพ่ย ๆ ภูมิใจตั้งแต่เริ่มทำงานเลยก็คือ ได้งานภายในเวลาไม่ถึงอาทิตย์หลังจากที่กลับมาจากอเมริกา หลังจากนั้น 5 ปี ได้รับรางวัล Employee of the Year ของบริษัทลีโอเบอร์เนทท์ ซึ่งรางวัลนี้จะคัดเลือกจากพนักงานทั้งบริษัทกว่า 200 คน โดยให้แผนกละคนเท่านั้น ถือเป็นความภาคภูมิใจมาก ๆ ส่วนผลงานอื่น ๆ ที่ผ่านมือมามีเยอะมาก หลาย ๆ ชิ้นงานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น

1) เป็นคนวางกลยุทธและวางแผนซื้อสื่อให้กับแคมเปญต่าง ๆ ของรัฐ ตั้งแต่แคมเปญ Amazing Thailand ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่เพ่ย ๆ วางแผนสื่อทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก แคมเปญยึดอกพกถุงที่รณรงค์ให้คนใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกัน แคมเปญเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์เป็น 9 หลักขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย แคมเปญรณรงค์ประหยัดไฟใช้อุปกรณ์เบอร์ 5 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และแคมเปญ Launch ของสินค้าต่างๆเช่น Axe เปิดตัวครั้งแรกในไทย Rejoice สระผมให้คนต่างจังหวัดที่ห่างไกล Johnnie Walker “Keep Walking”, Sony, Samsung, Walt Disney Pictures, etc.

  • เป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ริเริ่มคิดการใช้สื่อ Window ad ติดกระจกในร้าน McDonald’s เป็นครั้งแรก
  • เป็นผู้ประสานงานแคมเปญ Coke Sea Games 1995 ซึ่งมีส่วนให้เพลง “ส่งใจไปซ้อม ฝากใจไปแข่ง” เป็นเพลงที่ใช้เชียร์นักกีฬาไทยไปแข่งขันกีฬานานาชาติมาจนทุกวันนี้

เพ่ย ๆ บอกว่า การทำงานในวงการโฆษณา สิ่งที่จำเป็นอย่างมากคือ Logic and Strategic Thinking ในการคิดงานและแก้ปัญหาที่มีมาทุก ๆ วัน ซึ่ง Skill ทางด้านนี้ เพ่ย ๆ ได้มาจากการเรียนที่อักษรฯ ทั้งนั้น ไม่นับเรื่องภาษาอังกฤษที่ได้รับคำชมเชยจากเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอ ๆ

ถ้าจะให้พูดถึงปรัชญาในการทำงานเพื่อให้ประสบผลสำเร็จของเพ่ย ๆ ก็ไม่มีอะไรมากมายเลย แค่ประโยคเดียว “Just Do It” ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้

ปธิณี เตกะจรินทร์ (ปุ๋ม)

ปัจจุบันเป็น Senior Lecturer and Team Leader in International Business Faculty of Logistics and Maritime Technology, Satakunta University of Applied Sciences, Helsinki  ประเทศ Finland

บัณฑิตอักษรศาสตร์รุ่น 55 คนนี้เดินทางข้ามโลกมาทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความรู้กับคนต่างชาติต่างภาษา น่าภาคภูมิใจเป็นที่สุดที่คนไทยคนหนึ่งได้ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเป็นครูบาอาจารย์สอนคนต่างชาติได้ ซึ่งกว่าปุ๋มจะมาถึงตรงนี้ได้ ปุ๋มได้สะสมความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลายมากทีเดียว   แววแห่งความเก่งนี้ฉายออกมาตั้งแต่ครั้งเรียนที่อักษรฯ เริ่มจากการเป็นบัณฑิตอักษรศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ โทภาษาฝรั่งเศส แม้ว่ามาดปุ๋มจะดูเป็นเด็กเรียน เรียบร้อย แต่ความเป็นจริงปุ๋มเป็นทั้งนักเรียนและนักกิจกรรมในเวลาเดียวกัน เดินเข้าออกห้องกรรมการนิสิตอักษรศาสตร์ หรือ ก.อศ. ตลอดสี่ปี ทำกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะฯ มาโดยตลอด ทั้งเป็นผู้ร่วมกิจกรรม ผู้จัดกิจกรรม และเป็นผู้แทนนิสิตของคณะอักษรศาสตร์ที่ต้องร่วมงานกับคณะต่าง ๆ ในกิจกรรมของจุฬาฯ อีกด้วย  

เมื่อจบจากคณะอักษรศาสตร์ ปุ๋มได้ทุนไปเรียนจบปริญญาโทด้าน Hospitality and Tourism, University of Wisconsin สหรัฐอเมริกา  และปุ๋มก็กลับมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กระทั่งได้เป็นหัวหน้าภาควิชา    แล้วโชคชะตาฟ้าลิขิตก็ทำให้ปุ๋มได้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปอยู่ในดินแดนที่ได้ชื่อว่ามีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลกซึ่งก็คือประเทศฟินแลนด์ การจะได้ไปเป็นครูบาอาจารย์ในประเทศนี้คงไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ปุ๋มทำได้ ปุ๋มเรียนรู้ภาษาฟินนิชจนสามารถใช้ได้อย่างคล่องแคล่วราวกับเป็นเจ้าของภาษา ปุ๋มเพิ่มเติมความรู้ให้ตัวเองโดยการเรียน Diploma in Vocational Teacher Education ที่ Haaga-Helia University of Applied Sciences ที่เฮลซิงกิ ทำให้ปุ๋มเป็นครูชาวไทย เป็นหนึ่งในบัณฑิตอักษรศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจยิ่ง   

ประดิษฐ์ สมดังเจตน์ กี๋/เชง

        คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบประดิษฐ์ ประดิษฐ์พาไปหาผล ประดิษฐ์ หรือ กี๋ หรือ เชง (ชื่อพ่อของกี๋) ของเพื่อน ๆ เป็น “ผู้ชายธรรมดา” ที่ไม่ “ธรรมดา”  ในพจนานุกรมของกี๋ คำว่า “ธรรมดา” ไม่เคยมี เพราะทุกอย่างที่ทำล้วนแล้วแต่ “ไม่ธรรมดา” ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเรื่องส่วนตัว เรื่องงาน  เรื่องเพื่อน ฯลฯ ต้องเป็นระดับ “Masterpiece” เท่านั้น

         สมัยที่เป็นนิสิตอักษรศาสตร์ กี๋เรียนเอกฝรั่งเศส  โทอังกฤษ  ภาพที่คุ้นตาสำหรับเพื่อนอักษรศาสตร์คือ กี๋หัวฟูชอบไปเป่า  saxophone เล่นดนตรีให้กับคณะอักษรศาสตร์กับคณะศิลปกรรม  แต่หลังจากเรียนจบแล้ว อาชีพที่กี๋ทำฉายแววรุ่งไปในทางวงการบันเทิง กี๋วนเวียนอยู่ในวงการนี้ตั้งแต่เรียนจบ แม้ว่าจะไม่ได้ลงเรียนวิชาละครเลย จนกระทั่งกี๋สามารถที่จะเปิดบริษัท Masterpiece Organizer Co., Ltd. เป็นของตัวเอง  ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากภาครัฐและเอกชนให้สร้างสรรค์ผลงานต่าง ๆ มากมายทั้งในระดับชาติและในระดับประเทศ อาทิ งานกำกับการแสดง “ทุ่งมะขามหย่องผืนแผ่นดินแห่งพระมหากรุณาธิคุณ”  การแสดง “ธ สถิตในดวงใจทั่วหล้า”  การแสดง “แม่น้ำของแผ่นดิน” และการแสดงละครเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ “ในสวนฝัน” ฯลฯ และต่อมา กี๋ก็ขยับก้าวเข้ามาเป็น “ผู้จัดละคร” ทั้งละครเวทีและละครโทรทัศน์ ในนาม “Masterpiece Entertainment Co.,Ltd.

          และแม้ว่ากี๋จะมีงานรัดตัวมากแค่ไหน กี๋ก็แบ่งเวลาไปทำงานช่วยเหลือสังคมได้อย่างไม่ขาดตกบก พร่อง   กี๋ยังกลับไปช่วยงานที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เป็นวิทยากรให้ความรู้นิสิต หรือบางทีกี๋ก็ไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนหนังสือให้กับนักศึกษาสถาบันต่าง ๆ  ถ่ายทอดความรู้เรื่องวิชาชีพ  การบริหาร การจัดการ รวมถึง จัดงานการการกุศลให้กับองค์กรสาธารณะประโยชน์ต่าง ๆ

          งานทุก ๆ อย่างที่กี๋สร้างสรรค์ขึ้นเป็นงานที่ “ไม่ธรรมดา” ล้วนแล้วแต่ได้รับความชื่นชมจากเจ้าของงาน ผู้ชม และผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก เป็นที่น่าภาคภูมิใจสำหรับเพื่อน ๆ ทุกคน

           นอกจากนี้ กี๋ยังมีน้ำใจกับเพื่อนเป็นที่รักของเพื่อน ๆ เสมอมา พร้อมที่จะช่วยเหลือเพื่อนทุก ๆ อย่างและสรรหาสิ่งดี ๆ มาให้กับเพื่อนตลอดมา สรรหาของกินอร่อย ๆ จากทั่วทั้งประเทศ และของอร่อยจากทุกมุมโลก มาให้เพื่อน ๆ ได้ลิ้มลองชิม  กี๋จะทำอาหารอร่อย ๆ ให้เพื่อนกินทุกครั้งเวลาที่เพื่อน ๆ นัดไปสังสรรค์ ปาร์ตี้ที่บ้านกี๋ บางครั้งก็จัดทัวร์ตะลุยเยาวราช ชิมอาหารตามร้านต่าง ๆ  สรรหาเกมส์และของฝากมาให้หลาน ๆ (ลูก ๆ ของเพื่อนในกลุ่ม) เป็นที่รักของลูก ๆ เพื่อนทุกคน เวลาไปต่างประเทศหรือต่างจังหวัดด้วยกันกับเพื่อน ๆ ทริปนั้น ๆ ก็ต้อง “ไม่ธรรมดา” ต้องเสาะแสวงหา ที่เที่ยว ที่กิน ที่ไม่ธรรมดาเช่นกัน

        “อยากจะบอกว่า “คบประดิษฐ์ ประดิษฐ์พาไปหาผล” จริง ๆ  กี๋เป็น  Masterpiece ของเพื่อน ๆ พี่ ๆ และชาวอักษรศาสตร์ทุกคน”

จากเพื่อนๆ กบ ไก่ เดือน   ตุ้ม  ปุ๋ม ป๋าพงษ์  โอ๊ะ อ๋า บอนนี่ 

ปรีณัน นานา (ตุ้ม)

        ตุ้มรักและใฝ่ฝันที่จะมาเป็นสาวอักษรฯ เอกภาษาฝรั่งเศสมาตั้งแต่ยังเด็ก และฝันก็เป็นจริงเมื่อ ปี 2530 หลังจากจบจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ที่ตุ้มเรียนมาตั้งแต่อนุบาล ผลสอบเอนทรานซ์ก็สร้างความปลาบปลื้มใจให้กับครอบครัวและญาติมิตรของตุ้มทุกคน ตุ้มได้เข้าเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างเต็มภาคภูมิ   ในระหว่างที่เรียนนั้น นอกจากในเรื่องวิชาการที่เป็นหลักในชีวิตของการเป็นนิสิตแล้ว ตุ้มยังเข้าร่วมค่ายอาสาของคณะ เดินทางไปยังจังหวัดห่างไกล เพื่อบำเพ็ญประโยชน์ร่วมกับเพื่อน ๆพี่ ๆ น้องอักษรฯ อีกนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งความผูกพันในครั้งนั้นยั่งยืนมาจนวันนี้  เมื่อจบปริญญาตรีเรียบร้อย ตุ้มไปเรียนต่อปริญญาโทที่ปารีส ฝรั่งเศส และเรียนจบด้านวรรณคดีฝรั่งเศส ในปี 2537 จากมหาวิทยาลัยปารีส 3 (L’Universite de la Sorbonne Novelle-Paris3) และยังศึกษาต่อด้านการจัดการทางวัฒนธรรมจนได้รับอีกปริญญาในปี 2539 คือ DESS En Managements Culturels, L’Institut Superieur de Managements Culturels, Paris.

        ตุ้มกลับเมืองไทยเมื่อปี 2540 และเริ่มทำงานกับคุณเกล้ามาศ ยิบอินซอย ในตำแหน่ง Project Manager และประมาณปี 2543 ก็ได้เริ่มออกมาทำงานส่วนตัว โดยเป็น Freelanced Art & Cultural Event Manager/Curator  จัดงานโครงการที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนะธรรมแบบไม่แสวงกำไร เช่น เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งแผนที่วัฒนธรรมกรุงเทพฯ Art Connetion – Bangkok Cultural Art Map และยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดงานศิลปะในกลุ่มผู้หญิงนานาชาติ Womanifesto อีกด้วย

        บนเส้นทางสายวัฒนธรรมของตุ้ม หนึ่งในโครงการใหญ่ที่ตุ้มถือเป็นเกียรติและความภูมิใจในชีวิตคือการได้เป็นผู้จัดการโครงการและภัณฑารักษ์ร่วมสำหรับงาน NOR•TH - Norway and Thailand, Converging Lines, The Prelude to Globalization เพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบรอบความสัมพันธ์ 100 ปีของประเทศไทยและนอร์เวย์

        ในปี 2559 ตุ้มได้รับเชิญไปร่วมงานในฐานะศิลปินผู้ร่วมโครงการ ผู้แปลและเรียบเรียง ในโครงการ“365 Days: LIFE MUSE (Model Study for Nongpo Community’s Foriegn Labours)” ซึ่งเป็นงานศึกษาและวิจัยเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติผ่านโครงการศิลปะ โดยรวบรวมงานวิจัยและผลงานศิลปะซึ่งได้จัดแสดงที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อต้นปี 2560

        นอกจากงานบนเส้นทางสายวัฒนธรรมที่ตุ้มรักแล้ว อีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชีวิตของตุ้มมาตลอด นั่นคือโยคะ ตุ้มเริ่มเล่นโยคะด้วยความสนใจและความชอบส่วนตัว เริ่มจากเป็นงานอดิเรกจนกระทั่งเชี่ยวชาญจนได้เข้าร่วมคอร์สเพื่อเป็นผู้ฝึกสอนโยคะในหลายประเทศ และในที่สุดก็ได้เปิดโยคะสตูดิโอชื่อ Soulmade Yoga & Tea Room เพื่อเป็นสถานที่สอนโยคะ การฝึกหายใจ สมาธิ การบำบัดในหลายรูปแบบ เช่นเต้นรำ เรกิ และการบำบัดโดยการใช้สี  (Aura-Soma Color Therapy)  ซึ่งจากงานโยคะแสนรักนี้ ทำให้ตุ้มผู้ซึ่งนอกจากจะเป็น พี่ตุ้ม น้องตุ้มของหลายคน กลายเป็น ครูตุ้ม ของผู้คนมากมายทั้งคนไทยและต่างชาติ ตุ้มใช้ความรู้ลึกซึ้งด้านโยคะ สอนให้คนรู้จักร่างกายของตนเอง ใช้ลมหายใจในการบำบัดร่างกายตามธรรมชาติ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และจิตใจที่อ่อนโยนของตุ้ม ออกมากับการสอนและในทุกสิ่งที่ตุ้มทำ ผลกำไรหรือผลประโยชน์หรือการได้รับการยกย่องใด ๆ ไม่เคยอยู่ในพจนานุกรมชีวิตของตุ้ม มีแต่มิตรภาพความจริงใจที่ตุ้มมีต่อคนรอบตัว ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ว่าทำไมใคร ๆ ถึงได้รักตุ้มหนักหนา

ปาริชาต กาญจนวตี (แอ็ท)

แอ็ทเล่าให้เพื่อน ๆ อบ. 55 ฟัง ถึงการผจญภัยครั้งใหม่ของสาวอักษรฯ ดังนี้ ...

 

วันเริ่มต้นชีวิตชาวไอทีดูเหมือนผ่านมาเร็ว ๆ นี้เอง ผ่านการสอบความถนัดมาได้ คิดว่าเพราะได้ความรู้ตอนเตรียมสอบ GMAT ช่วยไว้เยอะ ตอนสอบก็สนุกแล้ว เขาให้ข้อสอบมาพร้อมกับโค้กหนึ่งกระป๋องแล้วบอกว่าใช้เวลานานเท่าไหร่ก็ได้ เขาขอกระดาษทุกแผ่นคืนรวมกระดาษทดเลขด้วย ไม่ชอบเลขเลยจริง ๆ อยู่ดีไม่ว่าดี หาเรื่องแท้ ๆ ตกลงนั่งอยู่ทั้งหมดหกชั่วโมงค่ะ

เริ่มต้นด้วยการเข้าเรียน Cobol Programming แบบ Boot Camp อยู่สามเดือนเต็ม มีเพื่อนรุ่นเดียวกัน 15 คนที่สอบผ่านเข้ามาทำงานโปรเจค y2k ตอนเริ่มเรียนใหม่ ๆ เขียนโปรแกรมเสร็จแล้วแต่ไม่รู้เลยว่าพลาดตกจุดไปเพียงหนึ่งจุด ทำให้มี errors หนึ่งพันกว่าที่ ตกใจแทบสิ้นสติ ดีว่าอาจารย์ไม่เห็น ตอนหลังคุยกันกับเพื่อนๆก็รู้ว่าหลาย ๆ คนก็ลืมจุดเหมือนกัน

หลายปีผ่านไป ทำงานด้วยความสนุกและไม่เครียดเกินไป เพราะคาดหวังกับตัวเองไม่มากและไม่ได้จบด้านนี้มา แต่ก็ทำด้วยใจและอยากให้งานออกมาดีทุกชิ้น แถมโชคดีที่มีเพื่อนร่วมงานน่ารัก เจ้านายที่เก่งและใจดีมาก ๆ

งานไอทีทำให้ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ทีมเวิร์คและการสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ตอนแรกคิดว่าการจะต้องทำงานอยู่กับคอมพิวเตอร์อย่างเดียวนั้นน่าเบื่อมาก เพราะไม่ได้พูดคุยกับใครเลย แต่จริง ๆ แล้วผิดคาดมากเพราะต้องสื่อสารแทบตลอดทั้งวันทั้งกับแผนกคอมพิวเตอร์และแผนกอื่น ๆ

ความรู้ที่ได้จากคณะได้นำมาใช้เต็มที่เพราะต้องสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษล้วน ๆ ทำให้เรารู้จักเลือกคำที่เหมาะสมและมีน้ำหนักพอเหมาะในการสื่อสารสิ่งที่ต้องการได้ถูกต้อง โดยเฉพาะเวลาเขียน Performance Review ที่มีเวลาเตรียมตัวพอสมควร  

การเป็นนักเรียนอักษรฯ ทำให้เราวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ รอบตัวเราอยู่เสมอ แทนที่จะวิเคราะห์ตัวละครและแรงจูงใจของตัวละคร ก็เปลี่ยนมาวิเคราะห์ระบบแทนว่าจะออกแบบระบบอย่างไรให้ใช้งานง่ายและดูแลง่ายด้วย  เวลาไม่น้อยหมดไปกับการแก้ปัญหาระบบที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่ บางระบบที่ซับซ้อนมากก็ต้องใช้หลายทีมช่วยกันวิเคราะห์ค่ะ

ปัจจุบันใช้ Software ชื่อ TIBCO ในการพัฒนา Applications ด้าน Healthcare Provider System ค่ะ ยังรักงานนี้อยู่ และยังเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ทุกวันในที่ทำงาน เมื่อมีโอกาสก็ช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานตามสมควรถือเป็นการ Pay It Forward

 

ภูมิใจที่ได้รับโอกาสดี ๆ เข้ามาในขีวิต และหนึ่งในนั้นคือการได้เป็นชาวเทวาลัยค่ะ

รักษาสวรรค์ จรุงจิตรประชารมย์ (เปิ้ล)

สาวอักษรคนนี้มีชื่อจริงที่ทำให้ทุกคนต้องหันมามอง...

เปิ้ลเป็นคนเก่ง  มีความสามารถรอบด้าน ร่าเริง เป็นกันเองสนุกสนาน และมีรอยยิ้มที่สดใสเป็นเอกลักษณ์

เปิ้ลเรียนเอกอังกฤษ เเละมีความสนใจด้านธุรกิจตั้งแต่เป็นนิสิตอักษรฯ เมื่อจบปริญาตรี เปิ้ลจึงมุ่งมั่นเรียนต่อปริญญาโท MBA ด้านการตลาดที่มหาวิทยาลัย Hartford รัฐคอนเนคติกัท สหรัฐอเมริกา

ประสบการณ์ทำงานของเปิ้ลน่าทึ่ง เปิ้ลได้ทำงานในองค์กรชั้นนำ อาทิ เจวอลเตอร์ ทอมป์สัน  เทสโก้ และอยู่ในวงการโทรคมนาคม ที่ บ. แอดวานซ์อินโฟเซอร์วิส (AIS) นานกว่า 17 ปี  เปิ้ลได้ฝากฝีมือและผลงานเด่น ๆ ไว้มากมาย อาทิ การพัฒนาบริการโทรข้ามแดน, เป็นผู้ริเริ่มการให้สิทธิประโยชน์แก่ลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ จนเป็นที่มาของโปรแกรมเซเรเนด  ที่สามารถเพิ่มรายได้และชื่อเสียงให้กับเอไอเอส (ปัจจุบัน บริการโทรข้ามแดนของเอไอเอสได้ครองความเป็นหนึ่งที่ลูกค้าให้ความเชื่อมั่นตลอดมา)

จากนั้นเปิ้ลได้ย้ายไปสร้างชื่ออีกที่ Total Access Communications หรือดีเเทค  ที่นี่ เปิ้ลได้พิสูจน์ฝีมือด้วยการเปิดตัวของ Blackberry และ iPhone  การปรับโฉมร้านดีแทคเซ็นเตอร์ ให้ทันสมัยเป็นระบบ การส่งเสริมการขายการตลาดโดยนำความรู้จากการใช้ภาษามาสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น  ส่งผลให้ DTAC ก้าวสู่การเป็นบริษัทโทรคมนาคมระดับแนวหน้า 

ปัจจุบันเปิ้ลเป็นผู้บริหารที่บริษัทชับบ์สามัคคีประกันภัย

เปิ้ลเป็นคนที่ใช้ชีวิตได้อย่างสมดุล เราจะเห็นเปิ้ลแต่งตัวสวยงามตามงานสังคม งานรื่นเริงต่าง ๆ  ชมคอนเสิร์ต ท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ สังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนอยู่เป็นนิจ แต่ในขณะเดียวกัน เปิ้ลเป็นพุทธ      ศาสนิกชนที่เคร่งครัด ศรัทธาในพระพุทธศาสนา มักจะไปทำบุญ ฟังเทศน์ฟังธรรมและปฏิบัติอย่างจริงจัง  เปิ้ลมักเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่เพื่อน ๆ ยามว้าวุ่นใจบนพื้นฐานคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ที่เปิ้ลเคารพนับถือ และด้วยเหตุนี้ เปิ้ลจึงเป็นที่รักและที่พึ่งของเพื่อน ๆ ตลอดมา

รัดเกล้า อามระดิษ (ต๊งเหน่ง)

หากจัดลำดับความ "จรัส" ต๊งเหน่งคงเป็น อ.บ. 55 ที่เจิดจรัสที่สุดคนหนึ่ง เพราะต๊งเหน่งยืนอยู่กลางแสง สปอตไลท์มายาวนานและทนทานกว่าใคร ๆ ด้วยจิตใจที่หนักแน่นมั่นคงเด็ดเดี่ยวที่จะทำในสิ่งที่ตนรักมาตลอดชีวิต นั่นคือการร้องเพลงและการแสดง

ก่อนต๊งเหน่งจะเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะ “Diva ตัวแม่” หรือนักแสดงมากฝีมือผู้มีพรสวรรค์อันหลากหลาย ซึ่งเราสามารถหาประวัติผลงานอ่านได้จากสื่อออนไลน์ทั่วไป สมัยเป็นนิสิต หากต๊งเหน่งว่างจากงานนักร้องนำของวงซียูแบนด์  ‘ต๊ง’ จะเป็นเหมือนตู้เพลงของเพื่อน ๆ เอกละครที่สิงสถิตอยู่หน้าตึกอักษรศาสตร์ 3 เพื่อนขอเพลงอะไร ต๊งเหน่งก็จะทั้งร้องทั้งเต้นให้ดูให้ฟังอย่างเต็มอกเต็มใจ เต็มไปด้วยพลังและชีวิตชีวา ราวกับว่าสนามหญ้าหน้าตึก 3 นั้นคือเวทีละครบรอดเวย์

ต๊งเหน่งเล่นละครเวทีของภาควิชาศิลปการละครมาตั้งแต่ยังเป็นนิสิต ได้รับบทนำครั้งแรกในละครเพลงเรื่อง “ขอรับฉัน” ของครูช่าง ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง และครูบรูซ แกสตัน ซึ่งดัดแปลงจากเรื่อง The Inspector General ของ Nikolai Gogol (นำแสดงร่วมกับ พี่รักษ์ ศรัทธา ศรัทธาทิพย์ และพี่เปิ้ล นาคร ศิลาชัย) จากนั้น ก็รับบทนำในละครเวทีของภาควิชาอีกหลายเรื่อง อาทิ “หญิงวิปลาส ณ ไชโยต์” (The Mad Woman of Chaillot -ครูช่าง กำกับ)  “ตามใจท่าน” (As You Like It -ครูโม นลินี สีตะสุวรรณ กำกับ)  “อิสตรีเอเชีย” (Women of Asia -อ.Asa G. Palomera กำกับ)  และ “ศึกอสรพิษ” (The Way of the World) กับ “มหัศจรรย์ผจญภัยเจ้าชายหอย” ซึ่งกำกับโดยเพื่อนร่วมรุ่น อบ. 55 (ดังกมล ณ ป้อมเพชร)  หลายท่านอาจสังเกตได้ว่า บทนำที่ต๊งเหน่งได้รับมักเป็นสุภาพสตรีสูงศักดิ์หรือไม่ก็สูงวัย แต่บทเช่นนี้ล่ะ ที่พาให้ต๊งเหน่งได้รับรางวัลสูงสุดทางการแสดง และดังเปรี้ยงปร้างระดับประเทศ โดยเฉพาะบทย่าแย้ม หมั่นกิจ จากละครเรื่อง “สุดแค้นแสนรัก” ของสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 อสมท.

ต๊งเหน่ง เป็นตัวอย่างของสาวอักษรฯ ผู้มีความมุ่งมั่นและอดทนเป็นเลิศที่จะดำเนินชีวิตตามทางที่ตนเลือกและมีความสุข  ความสำเร็จเป็นสิ่งที่รอได้และจะมาเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ชื่อเสียงเงินทองเป็นเรื่องรอง เพราะที่สำคัญที่สุด คือ การได้เป็นตัวของตัวเอง และใช้สิ่งนี้เป็นประโยชน์เผื่อแผ่แก่ผู้อื่นและตอบแทนคืนสู่สังคม

รัตนสุดา ปุณณะหิตานนท์ (เดือน)

ข้าพเจ้าเป็นเพื่อนกับ เดือน หรือ น้องเดือน ของเพื่อน ๆ (อันเนื่องมาจากร่างอันเล็กกะทัดรัดของเธอ เพื่อน ๆ จึงเรียกเธอว่า “น้องเดือน”)

ณ ปัจจุบัน เดือน คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รัตนสุดา ปุณณะหิตานนท์ หัวหน้าโครงการปริญญาเอก สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ รวมถึงตำแหน่งงานอันทรงเกียรติทั้งทางวิชาการ งานบริหาร และงานในแวดวงการศึกษาระดับนานาชาติอีกมากมายที่ไม่สามารถจะเขียนบรรยายได้หมดในพื้นที่อันจำกัด

ข้าพเจ้ากับดร. เดือน เราเป็นเพื่อนร่วมสถาบันกันตั้งแต่สมัยเรายังไว้ผมจุก รัดผมแกละ ตอนอนุบาล (พ.ศ. 2517) จนถึงชั้นม.ปลายที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์  ดร.เดือนเป็นคนที่เรียนเก่งมาตั้งแต่เด็ก ๆ และไม่ได้เก่งเฉพาะเรื่องเรียนเท่านั้น ดร.เดือนเป็นหญิงแกร่งร่างเล็กที่มีความเป็นผู้นำสูง จนได้รับการไว้วางใจให้เป็นหัวหน้าห้องมาโดยตลอด

เรามาสนิทกันมากขึ้นในช่วงม.ปลาย เพราะเราต่างก็อยู่ห้องโปรแกรมศิลป์ฝรั่งเศสด้วยกัน ในชั้นม.6 ข้าพเจ้านั่งอยู่ด้านหลังของนักเรียนแถวหน้าอย่าง ดร.เดือน วันหนึ่งเราได้คุยกันว่า “เราจะจูงมือกันเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยกัน” และเราก็ได้ทำอย่างที่เราให้คำมั่นและฝันกันไว้จริง ๆ

ตอนที่เราเป็นลูกแม่ชงโคนั้น เราเลือกเรียนวิชาเอกภาษาฝรั่งเศสและวิชาโทภาษาอังกฤษด้วยกัน ซึ่งทำให้เราได้เรียนด้วยกันเกือบทุกวิชาตลอด 4 ปี แถมเรายังทำกิจกรรมของคณะด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมของคณะกรรมการนิสิตคณะอักษรศาสตร์ (ก.อ.ศ.) ออกค่ายอาสาพัฒนาฯ จนกระทั่งเดือนได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้านิสิตชั้นปีที่ 4 ด้วยความสามารถและความรับผิดชอบสูง ดร.เดือนดูจะหนีตำแหน่งหัวหน้าตั้งแต่เด็กจนโตไม่พ้นจริง ๆ  และสิ่งที่เดือนรวมถึงเพื่อน ๆ ภูมิใจมากที่สุดในชีวิตการเป็นนิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาฯ คือการได้รับเลือกเป็นตัวแทนผู้สำเร็จการศึกษาของรุ่น โดยทำหน้าที่นำบัณฑิตกล่าวปฏิญาณตนต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในงานพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2534

หลังจากเรียนจบปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับ 2) จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดือนสานฝันในการเรียนต่อต่างประเทศและประกอบอาชีพครูได้สำเร็จ โดยได้รับทุนจากโครงการพัฒนาอาจารย์ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพื่อไปเรียนต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาการโฆษณา จาก University of Minnesota - Twin Cities หลังจากกลับมาสอนหนังสือให้กับภาควิชาการโฆษณา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้ไม่นาน เดือนก็ได้รับทุนไปเรียนต่อในระดับปริญญาเอก สาขาสื่อสารมวลชน ที่ University of Wisconsin - Madison และได้นำความรู้และความสามารถกลับมาพัฒนาบุคลากรของประเทศชาติอย่างสุดความสามารถ ตามนิสัยของเดือนที่เป็นคนที่มีความตั้งใจสูง มีความมุ่งมั่น จริงจัง พร้อมกับความสดใสเบิกบาน มีรอยยิ้มอยู่บนใบหน้าเสมอ ๆ

ดร. เดือนสมรสกับคุณบรรพต  ชมงาม อาจารย์ประจำภาควิชาธุรกิจการบิน คณะมนุษย์ศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีชีวิตครอบครัวเล็ก ๆ ที่เรียบง่าย แต่เปี่ยมไปด้วยความสุข  ดร.เดือนเป็นที่รักและเป็นความภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ของเพื่อน ๆ ทุกคนอย่างแท้จริง

วรภา อังคศิริสรรพ (จิ๋ว)

ย้อนอดีตกลับไปตอนที่สอบเข้าอักษรฯ ได้ จิ๋วเลือกเรียนภาษาญี่ปุ่นเพราะเป็นภาษาใหม่ที่ไม่เคยเรียนมาก่อน แล้วในที่สุดก็จบมาพร้อมเกียรตินิยมอันดับ 2 และได้ทุนไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นอีกระยะหนึ่ง เรียนจบแล้วแทนที่จะทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นอย่างที่ควรจะเป็น จิ๋วกลับมุ่งหน้าไปสมัครเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ซึ่งจิ๋วบอกว่าได้รับประสบการณ์หลากหลายจากการเดินทางไปทำงานในถิ่นที่ต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งได้ไปทำหน้าที่เผยแพร่ภาพลักษณ์ประเทศไทยในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานลอนดอน เป็นเวลา 4 ปี และในขณะที่นักท่องเที่ยวจากเอเชียมาประเทศไทยในอันดับต้น ๆ จิ๋วก็มีโอกาสได้กลับมาทำงานด้านการตลาดที่เน้นประเทศญี่ปุ่นและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ในฐานะผู้อำนวยการกองตลาดเอเชียตะวันออก ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

นอกจากมีอาชีพชวนคนเที่ยวแล้ว ตัวจิ๋วเองก็เป็นนักท่องเที่ยวเองด้วย และภาพถ่ายการเดินทางของจิ๋วแต่ละครั้ง ก็สวยน่าประทับใจจนน่าไปเที่ยวตามจริง ๆ

ปัจจุบัน จิ๋วดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานปารีส

วรางคณา ลือโรจน์วงศ์ (เอื้อย)

นับเป็นความใฝ่ฝันของเอื้อยตั้งแต่เป็นนักเรียนศิลป์ฝรั่งเศสที่โรงเรียนเตรียมอุดม คือการเข้าเป็นนิสิต  จุฬาฯ และในปี 2530 ความฝันก็กลายเป็นความจริง เอื้อยสามารถสอบเข้าเรียนในรั้วจามจุรีคณะอักษรศาสตร์ได้ ไม่เพียงแต่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ตนเอง ในวันที่ประกาศผล คุณพ่อคุณแม่ น้อง ๆ และญาติพี่น้องทุกคนต่างก็ปลื้มปิติกับก้าวแรกแห่งความสำเร็จของเอื้อย เอื้อยเรียนในคณะอักษรฯอย่างมีความสุข เลือกเรียนวิชาเอกภาษาอังกฤษ วิชาโทภาษาฝรั่งเศส การเรียนในคณะอักษรศาสตร์ตลอดระยะเวลา 4 ปี นอกจากวิชาการที่เข้มข้นแล้ว เอื้อยยังได้รับการหล่อหลอมทั้งด้านคุณธรรม จริยธรรม การทำงานเป็นทีม ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และอื่น ๆ อีกมากมาย

หลังจากจบการศึกษา เอื้อยได้สอบเข้าทำงานที่ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เป็นที่แรก ทำหน้าที่เป็นพนักงานต้อนรับภาคพื้น และที่นี่เอง เอื้อยได้ใช้ทักษะภาษาที่เรียนมา ตลอดระยะเวลาอีก 4 ปีกับการทำงานที่การบินไทย ได้สร้างสมประสบการณ์ด้านการบริการให้กับเอื้อย และด้วยการรักความก้าวหน้า เอื้อยจึงตัดสินใจไปศึกษาต่อปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ ที่ University of Kent ณ ประเทศอังกฤษ

หลังจากจบการศึกษา ด้วยเป็นคนที่รักองค์กรการบินไทยเป็นอย่างมาก จึงไปเขียนใบสมัครเข้าทำงานกับการบินไทยเป็นที่แรกเหมือนที่เคยทำ แต่ด้วยขณะนั้นการบินไทยยังไม่เปิดรับพนักงาน จึงคิดว่าคงไม่ได้มีโอกาสกลับเข้าทำงานอีกแล้ว เอื้อยจึงมองหาองค์กรที่สนใจ

เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว Minor Food Group เป็นองค์กรระดับนานาชาติที่ใหญ่ และเป็นที่กล่าวถึงว่า ใช้ระบบ IT เข้าบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี และผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ที่ทันสมัย เอื้อยจึงตัดสินใจเข้าไปสมัคร และโชคดีที่ได้ทำงานในตำแหน่ง Executive Trainee ดูแลร้านอาหาร Pizza Hut จากจุดนี้เองทำให้เอื้อยได้พัฒนาในสายงานด้านการบริหารและการจัดการ ทั้งในส่วนการขายและการตลาด

และหลังจากนั้นไม่นาน โชคดีก็เกิดขึ้นกับเอื้อยอีกครั้ง บริษัท การบินไทยได้เรียกตัวเข้าสอบเป็นพนักงาน และเอื้อยได้กลับเข้าทำงานกับการบินไทยอีกครั้ง ในฝ่ายขายฯ สังกัดฝ่ายสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ ซึ่งเป็นการต่อยอดและสร้างเสริมประสบการณ์งานด้านการขายการเจรจาให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

จากวันนั้นจวบจนวันนี้ เอื้อยเริ่มงานกับการบินไทยในปี 2540 ด้วยตำแหน่ง Supervisor เอื้อยใช้เวลาในการสั่งสมประสบการณ์เป็นเวลากว่า 20 ปี จนขึ้นมาเป็นระดับผู้บริหารตำแหน่ง Managing Director ของฝ่ายครัวการบิน ในปี 2558 เป็นตำแหน่งที่สร้างความภาคภูมิใจต่อตนเองและครอบครัวเป็นอย่างมาก ผลงานที่ผ่านมา ในปี 2558 ภายใต้การบริหารจัดการของเอื้อย ฝ่ายครัวการบินสามารถสร้างผลกำไรกว่าพันล้านบาท คงเคยได้ยินร้าน Puff &Pie ของการบินไทย เอื้อยเป็นผู้ที่ริเริ่มและผลักดันการเปลี่ยนแปลง Rebranding ร้านขนม Puff & Pie ในทุกมิติ เราพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมและร้านค้าให้มีความทันสมัย สามารถขายได้ และสร้างผลกำไรได้ในที่สุด

โครงการช่วยเหลือสังคม (CSR) เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของฝ่ายครัวการบิน ในปีที่ผ่านมา ครัวการบินได้มีส่วนช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระพงขาว นำปลากระพงขาวจัดทำเป็นเมนูขึ้นให้บริการแก่ผู้โดยสารโดยฝ่ายครัวการบินมีการลงนามความร่วมมือข้อตกลงเพื่อซื้อขายปลากระพงขาว กับกลุ่มเกษตรผู้เลี้ยงปลากระพงขาว ลุ่มน้ำบางประกง จังหวัดฉะเชิงเทรา นับว่าเป็นโครงการที่ช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง

นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา เอื้อยยังได้รับเกียรติสูงสุด ได้รับการคัดเลือกเป็น Board of Director ของ IFSA (International Flight Services Association) ซึ่งเป็นองค์กรระดับนานาชาติที่ดูแลด้าน Food Safety และ Food Hygiene ให้แก่อาหารที่ให้บริการบนเครื่องบิน เอื้อยเป็นกรรมการคนเอเชียคนเดียวที่รับการคัดเลือกในครั้งนี้ กับอีกหนึ่งความปลาบปลื้มอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ได้เป็นกรรมการโครงการคัดเลือกเยาวชนคนเก่ง ในโครงการด้วยรักและห่วงใยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำต่อ เนื่องกว่า 13 ปีที่ผ่านมา  ตั้งแต่เริ่มดำเนินการในปี 2545 ปัจจุบันมีเยาวชนคนเก่งถึง 8 รุ่นแล้ว

ถึงแม้ว่าการทำงานจะต้องฟันฝ่าอุปสรรคอย่างไรเอื้อยไม่เคยย่อท้อ มุ่งมั่นทำจนสำเร็จ ด้วยความเพียรพยายาม ความรู้ความสามารถที่สั่งสมเป็นพื้นฐานตั้งแต่เมื่อครั้งเรียนที่อักษรศาสตร์ จุฬาฯ และความมุ่งมั่นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้เอื้อยประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมาจนทุกวันนี้

ศุภรา (รัตนจรณะ) คภะสุวรรณ (ออม)

เพื่อนออม ศุภรา (รัตนจรณะ) คภะสุวรรณ มีความเป็นครูในสายเลือด ตำแหน่งผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน จึงไม่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด

สมัยเรียนออมเรียนดีทั้งวิชาเอกภาษาอังกฤษ และวิชาโทภาษาสเปน แถมยังเป็นนักดนตรีไทย ตีขิมในวงดนตรีไทยคณะอักษรศาสตร์ตลอด 4 ปี และเคยบรรเลงดนตรีไทยร่วมวงกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในงานของคณะฯ ออมฉายแววว่าจะเป็นครูที่ดีมาตั้งแต่ตอนนั้น สามารถสอนน้องมัธยมฯ ที่อ่อนภาษาอังกฤษจนสอบชิงทุนไปต่างประเทศได้ ต่อมาเมื่อไปเรียนปริญญาโทที่สหรัฐ ออมก็เป็นครูสอนภาษาไทยให้นักศึกษาอเมริกัน และด้วยผลการเรียนที่โดดเด่นทุกวิชาจึงได้เป็นผู้ช่วยสอนตั้งแต่เรียนปริญญาโทจนจบปริญญาเอกสาขาบริหารธุรกิจ เอกการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ

ออมเป็นคนเต็มร้อย ตั้งใจทำทุกอย่างด้วยความอุตสาหะวิริยะ แม้จะต้องเหนื่อยกว่าหลาย ๆ คน แต่เป็นชีวิตที่มีคุณค่าต่อคนรอบข้าง ออมเคยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทำงานสอน งานวิชาการ และงานบริหารในตำแหน่งรองคณบดีวิทยาลัยนานาชาติ 6 ปี ก่อนจะย้ายมาสอนที่มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะนักวิชาการ ออมทำวิจัยเรื่องการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์และความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจระหว่างประเทศ และในฐานะผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการก็ต้องเดินทางไปสานสัมพันธ์กับสถาบันการศึกษาต่างประเทศเป็นประจำ แม้เส้นทางการงานของออมจะต่างจากเพื่อนร่วมรุ่น  แต่ออมก็มีลักษณะเด่นร่วมกับบัณฑิตอักษรศาสตร์ส่วนใหญ่ คือเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนและยินดีแบ่งปันความรู้กับผู้อื่น ด้วยความสำนึกว่าการให้ความรู้เป็นหน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่งของผู้ที่โชคดีได้รับการศึกษาอย่างยอดเยี่ยมดังที่พวกเราทั้งหลายได้รับจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

สงกรณ์ เสียงสืบชาติ (ไก่)

สงกรณ์ เสียงสืบชาติ หรือ ไก่ พี่ไก่ น้องไก่ ของพวกเราชาวอักษรศาสตร์   ไก่เรียนเอกภูมิศาสตร์ ตอนเรียนที่คณะ   ไก่ทำกิจกรรมมากมาย เป็นประชาสัมพันธ์ เป็นสาราณียากร ออกค่ายของคณะ    ไก่ชอบถ่ายรูป เล่นกีตาร์ให้เพื่อนๆร้องเพลง ไก่จึงเป็นที่รักมาตั้งแต่ครั้งเรียนที่อักษรศาสตร์    

ไก่เรียนเอกภูมิศาสตร์รุ่นที่เริ่มมีการใช้คอมพิวเตอร์กับระบบภูมิสารสนเทศ (GIS) ในการทำแผนที่ จำได้ว่าช่วงปีสามปีสี่ ไก่ขังตัวเองฝึกวิชาในห้องคอมฯ ของภาควิชาภูมิศาสตร์ หายหน้าหายตาไปจากโต๊ะและเพื่อน ๆ  และด้วยความพยายามบวกกับความกระตือรือร้นในการใฝ่หาความรู้เพิ่มเติม จึงได้ไปลงเรียนการเขียนโปรแกรมนอกหลักสูตรของคณะด้วยตัวเอง ซึ่งทำให้ไก่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับการพัฒนาระบบงานภูมิสารสนเทศเป็นอย่างมาก

เท่านั้นยังไม่พอ ไก่เพิ่มเติมความเชี่ยวชาญให้กับตัวเองด้วยการศึกษาต่อปริญญาโทภาควิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันไก่จึงสร้างความภาคภูมิใจให้กับเพื่อน ๆ และคณะอักษรศาสตร์ได้อย่างมาก ไก่ได้มีโอกาสและมีส่วนร่วมสำคัญในการพัฒนาระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ในระดับประเทศ เพราะไก่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศ ให้ลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชน โครงการที่สำคัญซึ่งไก่ได้มีส่วนอย่างมาก อาทิเช่น โครงการพัฒนาระบบการวางผังเมืองรวมด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์กรมการผังเมืองโครงการ Migrate ระบบ AM/FM/GIS การไฟฟ้านครหลวง  โครงการจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศเก่า และแนวเขตป่าไม้  เพื่อใช้แก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าไม้  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   ที่สำคัญไก่ยังเป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิค การจัดทำแผนแม่บทพิทักษ์ป่าไม้ของประเทศ พ.ศ. 2557 อีกด้วย  

เห็นงานยุ่งแบบนี้ แต่ไก่สงกรณ์ของเราก็ยังเป็นไก่ที่มีน้ำใจช่วยเหลือทุก ๆ คนในทุก ๆ เรื่องสม่ำเสมอตลอดมา จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมไก่จึงเป็น “ที่รัก” ของเพื่อน รุ่นพี่รุ่นน้องอักษรศาสตร์ทุกคน

สุมิตรา พินธุโสภณ (เอม)

เอม......โดดเด่นในคณะตั้งแต่ปี 1 ด้วยความน่ารักสดใสสไตล์ญี่ปุ่น แถมยังเรียนอยู่สาขาญี่ปุ่นทำให้หลายคนนึกว่าเอมเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นด้วยซ้ำ

เพื่อน ๆ ประทับใจความมีน้ำใจของเอมมาตลอด โดยเฉพาะตอนงานรับน้องของสาขาญี่ปุ่น เอมได้เอื้อเฟื้อชวนเพื่อน ๆ มาซ้อมเต้นที่บ้านพร้อมบริการรับส่งด้วยรถตู้อันแสนสบาย ไม่ต้องพูดถึงอาหารการกินที่จัดเต็มจนเพื่อนๆเกือบซ้อมเต้นไม่ไหว และเมื่อใดที่เพื่อน ๆ มีงานที่ต้องไปทำกิจกรรมนอกสถานที่ด้วยกัน เอมจะอาสาเป็นสารถีให้เพื่อนอย่างไม่ลังเล ถึงขนาดที่เคยเอาเพื่อนชาวญี่ปุ่น 2 คนอัดลงกระโปรงท้ายรถเพื่อพาไปเที่ยวด้วยกันมาแล้ว หรือกระทั่งเคยเอื้อเฟื้อให้เพื่อนที่มาจากต่างจังหวัดและยังหาที่พักไม่ได้ให้มาพักอยู่บ้านเอมก่อนจนกว่าจะหาที่พักได้

นอกเหนือความสวยน่ารักแบบญี่ปุ่นที่ทำเอาหนุ่ม ๆ เคลิ้มกันมามากมาย เอมยังมีบุคลิกที่มีความเป็นผู้นำ ตรงไป ตรงมา จริงใจ และอารมณ์ขันที่ทำเพื่อนฮาแตกมาแล้วหลายเพลา

ความเชี่ยวชาญด้านภาษาญี่ปุ่น ทำให้เอมประสบความสำเร็จในด้านการงานจนเป็นที่ชื่นชมของเหล่าคนญี่ปุ่นที่ร่วมงานด้วย นอกจากนี้ใครจะคิดว่าสาวอักษรฯ ผู้นี้ยังเชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดที่ไม่แพ้สาววิศวฯเลยก็ว่าได้ และในวันนี้ที่พวกเราต่างเติบโตทั้งในหน้าที่การงาน วัยวุฒิ คุณวุฒิ และได้แยกย้ายกันไปทำหน้าที่ของตัวเองโดยนาน ๆ ทีจะกลับมาเจอกันในงานเลี้ยงรุ่น ชาวอักษรฯ มักจะได้เห็นเอมช่วยเหลือฝ่ายสันทนาการ ไม่ก็ตัดต่อวีดิทัศน์สำหรับงานที่ทำให้ทุกคนมีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะเสมอ

มาถึงตรงนี้คงไม่มีใครสงสัยแล้วว่า เพื่อนเอมคนนี้เป็นอีกหนึ่งคนที่คู่ควรกับการเป็นอักษรจรัสแค่ไหน (มีเสียงกระซิบแว่วมาจากวงในว่า เรื่องเดียวที่เอมยังแก้ปัญหาไม่ตก คือ การเต้นแอโรบิกตามครูไม่ได้ เพราะนางงงทิศทางจนหมุนคนละทางกับครูตลอด ๆ อิ ๆ ๆ ๆ เอาน่า คนน่ารักเต้นผิดก็ยังน่ารัก จุ๊บ ๆ )

สุวิมล พิริยธนาลัย (เอ๊บ)

เป็นเวลาเกือบ 25 ปีแล้วที่สุวิมล (เอ๊บ) ทำงานเป็นผู้สนับสนุนการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนประมงพื้นบ้านที่จังหวัดปัตตานีซึ่งใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำแบบพื้นบ้านในการรับมือกับการคุกคามจากกลุ่มนายทุนเรือประมงพาณิชย์ที่ใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายรุกรานเข้ามาทำกินในเขตทะเลชายฝั่ง เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาสู่ปัญหาทรัพยากรชายฝั่งเสื่อมโทรม อาทิเช่น สัตว์น้ำต่าง ๆ ถูกเครื่องมือประมงขนาดใหญ่กวาดจับไปหมด  แหล่งเพาะพันธุ์ที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ แหล่งอาหาร เช่น หญ้าทะเล ปะการัง ถูกทำลาย ซ้ำร้ายเครื่องมือประมงของชาวบ้านที่วางไว้ เช่น อวน ลอบ ไซ ยังถูกทำลายไปอีกด้วย

เป็นสิ่งที่ยากสำหรับคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่อย่างฉันจะเข้าใจลึกซึ้งในตัวเนื้องานที่เอ๊บทำ แต่ฉันกลับไม่ประหลาดใจเมื่อทราบจากเธอหลังเรียนจบใหม่ ๆ ถึงการตัดสินใจในเรื่องงานที่เธอเลือก เธอได้ฉายแววมุ่งมั่นมาตั้งแต่สมัยเรียนผ่านการออกค่ายของชมรมค่ายอาสา ส.จ.ม ในช่วงปิดภาคเรียน ซึ่งเธอได้มีโอกาสไปสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมชนบทและรับรู้ถึงความไม่เท่าเทียมกันทางโอกาส  นอกจากนี้ หลายๆ วิชาทางด้านวรรณคดีที่เธอเรียนยังช่วยบ่มเพาะวิธีการมองโลกและสังคม และยังเป็นแรงบันดาลใจให้เธอเลือกเดินบนทางสายนี้ นอกจากนี้เธอ “ยังได้มีโอกาสนำวรรณคดีที่เธอได้เรียนมาไปใช้ในการทำงานกับชาวบ้าน” นี่คือสิ่งที่เธอบอกเล่าในบทสัมภาษณ์กับ Bangkok Post

 และมีอีกหลายเรื่องเกี่ยวกับความทุ่มเทของเธอที่ฉันได้รับรู้ผ่านบทสัมภาษณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการเรียนภาษามลายูถิ่นเพื่อที่จะสามารถสื่อสารกับชาวบ้านที่เป็นมุสลิมเพื่อเรียนรู้ ทำความเข้าใจถึงปัญหาที่ชาวบ้านเผชิญและสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ชาวบ้านที่มีความเคลือบแคลงต่อเธอที่เป็นคนนอกชุมชนและคนต่างศาสนิกในช่วงเวลาที่การเผชิญหน้ากับกลุ่มประมงพาณิชย์อยู่ในช่วงคุกรุ่น วิธีการทำงานที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้เพื่อที่จะจัดการกับปัญหา การทำงานเป็นตัวกลางที่อยู่ระหว่างชาวบ้าน นายทุน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ในฐานะเพื่อนที่ชื่นชมในความเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่น ของเอ๊บ นับตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่เรารู้จักกันและได้รับรู้เรื่องราวของเพื่อนอยู่ห่าง ๆ ฉันคงไม่อยู่ในฐานะที่จะกล่าวถึงความสำเร็จในตัวเนื้องานที่เธอทำ แต่สำหรับฉันแล้ว ระยะเวลา 25 ปีบนเส้นทาง “The Road Less Travelled” ในสังคมที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม กอปรกับเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง มันคือบทพิสูจน์ความความยืนหยัดในศรัทธาในสิ่งที่ตนเลือก    

เบญจมาศ ตันเวทยานนท์ (เล็ก)

     เล็กเลือกเรียนภาษาอังกฤษเป็นวิชาเอก เพราะคิดว่า เรียนจบแล้ว อยากเป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษให้กับเด็กอนุบาล และเลือกเรียนภาษาจีนกลางเป็นวิชาโท เพราะได้แรงบันดาลใจจากละครจีนกำลังภายในของช่อง 3 จึงอยากเข้าใจและอ่านภาษาจีนออก และที่สำคัญ อยากเข้าใจเนื้อหาเพลงจีนเพราะ ๆ ที่เติ้ง ลวี่จวิน ร้องนั้น แปลว่าอะไร มีเนื้อหาว่าอย่างไร

     จากนั้น ได้ไปทำงานด้านสื่อสารมวลชนกับบริษัทอีเอ็มนิวส์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทแปซิฟิคฯ ที่ ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล ดูแลการผลิตข่าวป้อนให้ช่อง 5 อยู่ 4-5 เดือน ทำหน้าที่แปลข่าว CNN เป็นภาษาไทยสำหรับรายการข่าวฮอทนิวส์ ช่อง 5 ในสมัยนั้น เล็กเล่าว่าสนุกดี เพราะอาจารย์สมเกียรติได้ให้โอกาสฝึกฝนเป็นนักข่าว ไปทำข่าวการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย เล็กจำได้ว่า ได้มีโอกาสไปทำข่าวการประชุมธนาคารโลกและ IMF ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ฯ ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จเพื่อการประชุมดังกล่าว

       จากนั้น ได้เข้ารับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ และเพื่อนข้าราชการที่กระทรวงฯ ชวนไปสอบเรียนต่อปริญญาโทที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  เล็กเห็นว่า ใกล้กระทรวงฯ ที่อยู่วังสราญรมย์ในขณะนั้นเลยลองสอบดู เพื่อนสอบไม่ติดแต่เล็กสอบติด เลยคิดว่าควรเรียน และไปเรียนง่าย อยู่ใกล้ ๆ กระทรวงฯ ตัดสินใจเลือกเรียนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูต เพราะจะได้นำความรู้ไปใช้กับการทำงานที่กระทรวงฯ

      การรับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศเติบโตมาเรื่อย ๆ ความรู้ภาษาจีนกลางที่ได้เรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้กลายเป็นจุดส่งให้กลายเป็นผู้รู้จีนในกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีข้าราชการรู้และเชี่ยวชาญภาษาจีนกลางไม่มากนัก กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้เล็กออกไปประจำการที่สถานเอกอัครราชทูต  ณ กรุงปักกิ่ง สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ที่ไทเป และล่าสุด เป็นรองกงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง ปัจจุบัน เล็กดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ   

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University