เรื่องเล่าของนิสิตเก่า รุ่น 53

เรื่องเล่า อบ.53

  1. รุ่นเรารับน้องโดยทำ Slider แบบสวนน้ำสนุกมว้าก
  2. รุ่นเราต้องเดินไปเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ด้วย ทั้งๆ ที่เป็นสาวอักษรฯ แต่พบว่าชอบมากเพราะอาจารย์คณะวิทย์ฯ สอนให้เด็กอักษรฯ เข้าใจได้
  3. วิชาภาษาอังกฤษที่หลายๆ คนได้เกรดไม่ดีเลย คือวิชา Back Brit.
  4. ห้องเรียนรุ่นเราไม่มีแอร์ ประตูเป็นประตูไม้ไม่เต็มบานแบบบานพับ  ทำให้สามารถลอด/

    Slide ตัวโดดเรียนไปดูหนังที่สยามสแควร์ หรือไปเดินห้างโซโก้ได้ (ลอดออกจากห้องเรียนรวม

    ใหญ่อาคาร1)

  1. ทรงผมสุดฮิตของนิสิตหญิงคือทรงผมกระบังตีโป่ง ใส่รองเท้าเทวินทร์จะเก๋มาก

กลับขึ้นด้านบน

ARTS ตุ้ม ตุ้ม

เรื่องเล่า  อบ.  53

เราเป็นเด็กอักษรที่อยู่คณะน้อยมาก .. พ้นจากเวลาเรียนและสอบแล้ว ก็มักไปสิงสถิตอยู่ที่สโมสรนิสิตฯ เรียกตัวเองว่า “เด็กกิจกรรม” ความทรงจำเกี่ยวกับคณะ มีเป็นภาพต่อ ที่บางตอนขาดหาย บ้างรางเลือน ภาพถ่ายและบันทึกที่จะเตือนความทรงจำ ส่วนใหญ่ลอยหายไปกับอุทกภัย จำชื่ออาจารย์ไม่ได้ แต่จำเค้าโครงใบหน้าและคำพูดคำสอนบางคำของท่านได้ติดใจ จำชื่อจริง-ชื่อเล่น-ฉายาและใบหน้าของเพื่อน สลับสับสน แต่จำวีรกรรมได้บางเรื่อง จำไม่ได้ว่าตึกไหนห้องไหนของคณะเคยนั่งเรียนวิชาอะไร แต่จำความรู้สึกที่นั่งอยู่ตรงนั้นได้เมื่อกลับไป

เป็นผู้บริหารใหญ่ในองค์กรชั้นนำ จับโปรเจคมูลค่าสูงที่มีเลขศูนย์ต่อท้ายหลายตัว ดูแลคนหลักหลายพัน หากแต่ความสุขแท้จริงในงานแต่ละวันคือการได้เห็นรอยยิ้มของคนเพียงหนึ่งคนที่ได้แก้ปัญหาให้ หรือประกายตาฉายแววภาคภูมิใจของลูกน้องอีกคนที่ได้รับการสอนงานจนทำได้ และความสุขในวันที่ไม่ได้ทำงานคือการได้อ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม เรียนรู้เรื่องใหม่หนึ่งเรื่อง หรือให้กำลังใจคนเล็กๆ สักคน

อักษรศาสตร์สอนให้มอง เห็น และชื่นชมคุณค่าของสิ่งเล็กๆ รอบตัว

เป็นเจ้าภาพงานแต่ละครั้งที่มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในแวดวงอุตสาหกรรมเข้าร่วม จบลงด้วยคำยกย่องชมชอบและความประทับใจ

อักษรศาสตร์สอนให้ใส่ใจรายละเอียดและปลูกฝัง “รสนิยม”

เจรจาต่อรองกับคนหลายกลุ่ม บริหารคน ทั้งลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน และบางทีก็รวมถึงเจ้านาย .. สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น สิ่งที่เขาพูดอาจไม่ใช่สิ่งที่คิด สิ่งที่เขาแสดงออกอาจผ่านการจัดวางอย่างมีแผน บ่อยครั้ง สิ่งที่ไม่ได้บอกกล่าวและแสดงออกนั้นเองคือความจริงของเรื่องทั้งหมด คือกุญแจที่ทำให้การเจรจาและจัดการแต่ละเรื่องสำเร็จลงอย่างเป็นที่พึงพอใจด้วยกันทุกฝ่าย .. กุญแจที่ต้องตั้งใจหาและสังเกตจึงค้นพบ

อักษรศาสตร์สอนให้ “อ่านระหว่างบรรทัด”

เมื่อได้มาย้อนคิดดูแล้ว อักษรศาสตร์ไม่ได้อยู่ในความทรงจำ หากแต่อยู่ในเนื้อในตัว ในวิถีคิดอยู่ทุกขณะจิต สมัยเรียนอาจไม่ได้ใช้เวลาอยู่ที่ “เทวาลัย” มากนัก แต่พลังแห่งเทวา ณ ที่แห่งนี้ และความรู้ที่ครูบาอาจารย์สอนสั่งไว้ ได้อาบหล่อ ซึมซับ ลึกซึ้ง ไม่รู้ตัว หล่อหลอมจนเป็นเรา และคงมีศิษย์อักษรฯ อย่าง “เรา” เช่นนี้อยู่มากมายในทุกสาขาอาชีพ ที่ได้ถ่ายทอดส่งต่อพลังอันละเอียดอ่อนดังว่า .. สร้างคน สร้างงาน สร้างความเจริญให้บ้านเมืองอยู่อย่างเงียบๆ

กลับขึ้นด้านบน

รำฦกวารวัน ณ เทวาลัย อินทิรา ใจอ่อนน้อม อบ. 53

รำฦกวารวัน ณ เทวาลัย 

ถ้าพูดถึงเรื่องราวสมัยเรียนอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องบอกว่าชีวิตมีสีสันมากมาย..เนื่องจากว่าตอนเรียนไม่ได้ตั้งใจเรียนเลย..ตอนครูสอนก็มักจะชอบนั่งหลังห้อง. เอาเป็นว่าขอใช้พื้นที่เล่าถึงความประทับใจที่มีต่อวิชาบางวิชา และอาจารย์บางท่านแล้วกันนะ..ง

บางวิชาที่ไม่อยากเรียน..จำได้ว่าห้องเรียนที่ตึก ๒ มักจะมีบังตาที่ผลักเข้าไป...เมื่อครูมา พอครูเช็คชื่อเสร็จก็คลานออกมาหลังห้อง เพราะไม่อยากเรียน FE II กับอาจารย์จากสถาบันภาษาที่สอนไม่สนุกเอาเสียเลย... พอขึ้นปีสองมีเรื่องราวสนุกสนานกับการเรียน จำได้ว่า เรียนที่ตึกสี่ชั้นล่าง...มีห้องเรียนติดกันอยู่สามห้อง... วิชานั้นถ้าจำไม่ผิดเป็นวิชาแปล Introduction to Translation 1 ….มีเพื่อนบอกว่า “อาจารย์ห้องข้างๆที่สอนอยู่ตก stage” ...ซึ่งอาจารย์ท่านนั้นเป็นอาจารย์ที่เข้ามาสอนปีแรก และพวกเราถือเป็นนิสิตรุ่นแรกของอาจารย์ท่านนั้น..อาจารย์ท่านนั้นคือ “ครูเจี๊ยบ – รศนาภรณ์ วีรวรรณ” ที่แสนดี และเป็นอาจารย์ที่นิสิตอักษรศาสตร์รุ่นเรามีความรักใคร่และสนิทสนมเป็นอย่างดีนับแต่วันนั้นถึงวันนี้นับถึงวันนี้ก็ ๓๐ ปี พอดี 

อาจารย์อีกคนที่คิดว่าหลายคนต้องประทับใจในความงดงาม สง่างาม ความเป็นผู้ดีทุกกระเบียดนิ้ว อาจารย์ที่มีเสียงอันไพเราะ สำเนียงชวนฟัง...แห่งวิชา Sound System อาจารย์ปรารมภ์รัตน์ โชติกเสถียร..ภาพอาจารย์ที่ประทับ และตราตรึงในความทรงจำตลอดมาคือรอยยิ้มที่มีเสน่ห์ งดงามของอาจารย์ที่อยู่เหนือกาลเวลามากๆ 

พวกเราจะเป็นเด็กอักษรศาสตร์ไปไม่ได้ ถ้าไม่ได้เอ่ยถึงวิชานี้ “Mythology” วิชาที่ต้องเรียนรู้จักเทพเจ้ากรีก – โรมันที่ชื่อก็จำยาก แถมตัวสะกดยิ่งยากกว่า เวลาสอบสะกดผิดไปหนึ่งตัวก็ไม่ได้คะแนน อย่างคำว่า Achilles  เป็นต้น สมัยเรียนทำไมสะกดยากเย็นเหลือเกิน..จนพวกเราแอบตั้งสมญาให้อาจารย์ผู้สอน คือ อาจารย์ดวงตา ว่า Hera เพราะในเนื้อหาที่เรียน Hera เป็นเทพีที่เป็นภริยาของ Zeus เป็นเทพีเหนือเทพีทั้งปวง และที่สำคัญดุมากๆ .. พวกเราเลยเอาสมญา Hera ให้อาจารย์ดวงตา เพราะอาจารย์โหดมากๆ ออกข้อสอบได้โหดสุดๆ ไม่ไว้หน้าใครเหมือนเทพี  Hera ไม่มีผิดเลย 

ถ้าจะเล่าเรื่องอาจารย์แต่ละท่านหน้ากระดาษไม่พอ..ตอนนี้ถ้าย้อนไปถึงความทรงจำในวัยเยาว์ ไม่น่าเชื่อว่าภาพทุกอย่างแจ่มชัดในความทรงจำ ตอนที่เลือกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องย้อนไปถึงที่มาของชื่อ  “อินทิรา “ ที่แม่เอามาจากนวนิยายของ “ก. สุรางคนางค์” เรื่อง “เขมรินทร์ – อินทิรา” ที่นางเอกจบอักษรศาสตร์ และแม่ก็หมายมั่นปั้นมือให้ลูกเป็นเหมือนนางเอกในนิยายเรื่องนั้น ทั้งเรื่องชื่อจริง ชื่อเล่น..แต่สิ่งที่ไม่เหมือนคือ “อินทิรา” คนนี้ไม่ได้แต่งงานกับเขมรินทร์เท่านั้น.. เมื่อเข้ามาเรียนในคณะหลากหลายวิชาที่เรียนหลายคนอาจสงสัยว่าเรียนไปทำอะไร จะใช้ประโยชน์อะไรได้.. จบออกมาแล้วจะทำอะไร ถ้าถาม ณ ตอนนั้นตอบไม่ได้ และไม่รู้ว่าจะเป็นอะไร รู้แต่ว่าเข้ามาแล้ว มีวิชาอะไรที่เรียนได้ ก็เรียนไป. ไม่ว่าจะเป็น E-Civ , West –Civ, Thai – Civ, ภาษาศาสตร์, วรรณคดีไทย.. พอขึ้นปีสอง สาม และสี่ ความที่เลือกเรียนวิชาเอกภาษาอังกฤษ และวิชาโทภาษาฝรั่งเศส...ภาษาอังกฤษที่ลงเน้นเรียน Fiction เป็นหลักมีผสมผสานกับ Poetry และ Shakespeare บ้างทำให้บางเทอมต้องอ่านหนังสือเพื่อประกอบการสอบมากถึง ๓๐ เล่มทีเดียว...สุดท้ายความรู้ที่อ่านเพื่อสอบ ก็ทำข้อสอบได้บ้างไม่ได้บ้าง..คะแนนก็เลยออกมาพอกล้อมแกล้มไปได้.. น่ามหัศจรรย์ที่ความรู้สมัยเรียนนั้นกลับมารื้อฟื้น และกระจ่างชัดเอาในเวลานี้..ณ ปัจจุบันนี้ความรู้ที่เรียนมาวนอยู่ในหัวหมด ไม่ว่าจะเป็น Mythology ที่รู้สึกคุ้นเคยกับเทพเจ้ากรีก – โรมัน รวมถึงเรื่องราวของวีรบุรษ วีรสตรีผู้กล้า..ที่สามารถเล่าขานเรื่องราวได้เสมือนเป็นเพื่อนผู้คุ้นเคยที่ห่างหายกันไป และได้กลับมาชิดใกล้อีกวาระหนึ่ง..บทละครของ Shakespeare  อย่าง  Macbeth ก็มาเข้าใจเอาลึกซึ้ง ประวัติศาสตร์ที่เรียนสมัยปีหนึ่งเมื่อได้มาย้อนดู หรือเดินทางท่องเที่ยวกลับส่องสว่างกระจ่างราวกับเพิ่งฟังบรรยายจากอาจารย์มาสดๆร้อนๆ.. จนบางครั้งบอกกับตัวเองว่าเป็นคนที่ความรู้ในการเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ Delay มาก.. 

พอเรียนจบมีคนมาถามว่า “อักษรศาสตร์สอนอะไร” คำตอบที่ตอบขึ้นมาในบัดดลคือ “สอนให้เข้าใจมนุษย์” ... เพราะในการเรียนอักษรศาสตร์เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวิชาที่เรียนเกี่ยวพันกับมนุษย์ทั้งสิ้น “นวนิยาย” “บทกวี” “บทละคร” “ประวัติศาสตร์” ...ล้วนแต่เล่าเรื่องราวของมนุษย์...นิยายที่อ่านทำให้เรารู้ว่า “มนุษย์มีความซับซ้อนแค่ไหน” “ทุกการกระทำของมนุษย์มักมีเหตุ มีผล มีความเป็นมาทั้งสิ้น และเหตุผล และความเป็นมานั้นขึ้นกับการอบรม พื้นฐานครอบครัว แนวคิด มนุษย์มักจะมีกระแสสำนึกอันเชี่ยวกราก หลายต่อหลายคนอาจทำทุกอย่างโดยใช้อารมณ์เป็นพื้นฐาน”...เมื่อเราเข้าใจสิ่งนี้ทำให้เมื่อเรียนจบ และออกมาสู่โลกแห่งการทำงาน เราซึมซับศาสตร์นี้โดยไม่รู้ตัว “เราพร้อมที่จะเข้าใจมนุษย์ เข้าใจความซับซ้อนของอารมณ์ เข้าใจว่ามนุษย์ทุกคนมีเบื้องหลัง มีพื้นฐานไม่เหมือนกัน นำมาสู่ความทำความเข้าใจมนุษย์ รู้วิธีที่จะรับมือกับอารมณ์ของมนุษย์...รู้วิธีที่จะทำอย่างไร พูดอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร และที่สำคัญเข้าใจมนุษย์ และรู้ว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรที่เป็นสีขาว หรือ สีดำ ทุกคนมีทั้งด้านดี และด้านมืด... ซึ่งก็ตรงกับสีประจำคณะที่เป็น “สีเทา” เพราะในความเป็น “สีเทา” นั้นเราสามารถเติม “สีขาว” ลงไปให้ขาวขึ้น หรือเติม “สีดำ” ลงไปให้กลายเป็นสีที่เข้มขึ้น ..เช่นกันการเป็น “นักอักษรศาสตร์” ทำให้เรารับความเป็นมนุษย์ที่มีข้อบกพร่อง และไม่มีความสมบูรณ์แบบได้ด้วยใจที่เป็นธรรม และด้วยความเห็นอกเห็นใจ... และที่สำคัญ “อักษรศาสตร์” ทำให้เราเป็น “คน” ที่มีความเต็มเปี่ยมของความรู้ ด้วยใจที่เปิดกว้าง ทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้วตลอดเวลา กระหายใคร่รู้ทำให้เราสามารถทำงานทุกอย่างได้ด้วยความสุข สนุกสนาน และรื่นรมย์

 

อินทิรา ใจอ่อนน้อม

อักษรศาสตรบัณฑิต รุ่น ๕๓

 

กลับขึ้นด้านบน

ฉันเข้าอักษรในปี 2528 ชลัมพร พิมลเสถียร อบ.53

ฉันเข้าอักษรในปี ๒๕๒๘

ลูกน้องฉันที่เกิดปีนั้นเริ่มบ่นว่าตัวเองแก่   

ลูกน้องอีกหลายคนเกิดหลังจากนั้น
และมีคุณแม่วัยไล่เลี่ยกับฉัน     

เมื่อฉันหันมามองตัวเอง
อือมม.. ก็เข้าข่ายผู้ใกล้ชราไปโขอยู่

ปี ๒๕๒๘ นักร้องไทยดังๆ ต้อง ตุ้ม ปุ๊ ตู่ เบิร์ด
นักร้องญี่ปุ่น โชโจไต โชเนนไต

อากินะ นากาโมริ วัยรุ่นกรี๊ดระเบิด
K-Pop คืออะไร ไม่มีใครรู้จัก
ยุคนั้น ญี่ปุ่นคือทิศทางเก๋ไก๋
อยากได้เทปเพลงญี่ปุ่นต้องไปมาบุญครอง ที่เดี๋ยวนี้เรียก MBK
มาบุญครองยุคที่นมสตรอเบอรี่ของฟาร์มโชคชัย
คือฝันของเด็กไทย ต้องได้ไปชิมสักครั้ง

เดี๋ยวนะ... รู้จักเทปคาสเส็ตกันใช่ไหม
มีแผ่นเสียง และวิดีโอเทปด้วยนะ
รู้สึกว่า เพิ่งเริ่มบัญญัติศัพท์ วิดีทัศน์
การนำเสนอรายงานต้องใช้แผ่นใส
กับโอเวอร์เฮดโปรเจ็คเตอร์
ค้นหาข่าวเก่าต้องที่แผนกโสตทัศนศึกษา

หอสมุดกลาง จะมีไมโครฟิล์มให้ค้นได้
กูเกิลยังไม่ถือกำเนิด
คอมพิวเตอร์ยังใช้ระบบดอส
ต้องไปเรียนที่ตึกฝั่งตรงข้ามเตรียมอุดมฯ

อะไรๆ ก็เปลี่ยนไปมาก
เด็กอักษรรุ่นฉันยังมีตึก ๔ ตึก ๓
ยังได้สัมผัสโรงอาหารเก่าอันร้อนระอุ
ได้เปิดซิงโรงอาหารใหม่ลมโกรกกรู
ได้เรียนภาษาสเปนที่ห้องใต้ดินตึก 1
ซึ่งช่วงคริสต์มาสใช้ซ้อมร้องเพลงหมู่

มีค้างคณะพร้อมกันทั้งชั้นปี
รุ่นพี่เล่าขู่ว่าปีก่อนหน้า
เด็กวิศวะเมามาบุกรุกคณะยามวิกาล
ฉันนั่งฟังพร้อมเด็กสาวนับร้อย
กับเด็กชายนับได้สิบนิดๆ
และรุ่นพี่กระหยิบมือ
ตื่นเต้นที่ได้ค้างคณะ
และตื่นเต้นที่ได้ลุ้นระทึกว่า
เหตุการณ์โดนบุกจะซ้ำรอยไหมนะ
แต่ก็พร้อมสู้ขาดใจ ไม่ว่าอะไรจะเกิด

ฉันจำเรื่องราวในคณะไม่ได้มากนัก
รู้แต่ว่าเด็กอักษรเรียนหนักกว่าคณะอื่น
เพราะแต่ละหน่วยกิตของการเรียนภาษา
ต้องเรียนถึง ๓ คาบต่อสัปดาห์
ยิ่งเรียนวิชาคนลงน้อยอย่างสเปน
ฉันต้องเรียน ๗ โมงเช้า
และ ๕ โมงเย็นเป็นประจำ
เพื่อให้ได้เรียนในห้องเรียนที่มีอยู่จำกัด

สมัยนั้น เลิกเรียน ๕ - ๖ โมง
คณะก็โหรงเหรงเต็มที
ไม่เหมือนสมัยนี้ ที่ฉันมักเห็น
เด็กนักเรียนและนิสิตนักศึกษา
กลับบ้านกันคึกคักช่วง ๓ - ๔ ทุ่ม
ฉันไม่ทำกิจกรรม มุ่งหน้ากลับบ้าน
ฉันอาจจะไม่เห็นเด็กกลับดึกยุคก่อน

เมื่อตึก ๔ ถูกรื้อเพื่อสร้างตึกใหม่
ฉันย้ายมานั่งที่โต๊ะไฟฟ้า
เราเรียกกันเช่นนั้น
เพราะโต๊ะตั้งใกล้เครื่องทำไฟ
หรืออะไรสักอย่าง
ที่อยู่ระหว่างหอประชุมใหญ่ กับคณะศิลปกรรมศาสตร์
เป็นโต๊ะที่ใครๆ ก็แวะเวียนมา
เพราะติดถนนหลักภายในจุฬาฯ

ฉันยังจำได้ว่าเพื่อนสวยๆ หลายคน
พอถึงวันวาเลนไทน์
ดอกไม้มา หนุ่มๆ มา ขนม ตุ๊กตา เพียบ
บางคนมีหนุ่มต่างหน้ามารับไปกินข้าว
เช้า สาย เที่ยง บ่าย เย็น
สาวอักษรเราสวยทรงเสน่ห์จริงๆ
แต่คงอวบอิ่มขึ้นแน่กับ ๕ มื้อในวันนั้น

ปี ๔ ฉันได้เป็นส่วนหนึ่ง
ของการทำหนังสือรุ่น รำฦก
เราขอให้เพื่อนเขียนฝันในอนาคต
ฉันไม่ได้ย้อนกลับไปอ่าน
ว่าแต่ละคน ได้ทำดังที่ใจหวังหรือไม่

แต่สำหรับตัวฉัน... ได้เริ่มเป็นผู้เขียนบทโฆษณา
ซึ่งเป็นหนึ่งในฝันที่อยากทำ
และฉันก็อยู่ในวงการโฆษณา
มาตลอดจนถึงทุกวันนี้

ความมุ่งมั่นในการเรียนรู้
ความรู้ทางภาษา
ความเข้าใจในเนื้อหา
ความเร็วในการอ่าน
การร้อยเรียงเรื่องราว
การออกเสียงอักขระ
การฝึกสะกดคำให้ถูกต้อง
การปรับตัวเข้ากับสิ่งต่างๆ ได้ง่าย
การไม่ยอมล้มเลิกความตั้งใจ
จนกว่าจะสำเร็จ และทำได้ดีที่สุด
ยังคงมีส่วนในการทำงานของฉันเสมอ

สิ่งเหล่านี้ อักษรศาสตร์
ฝังหยั่งรากลึกไว้ในตัวฉัน
ตลอด ๔ ปีที่ฉันอยู่

ฉันเชื่อว่า...
ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปสักเพียงใด
โลกอนาลอก กลายเป็นยุคดิจิตอล
ตึกเก่า กลายเป็นตึกใหม่
เรื่องเล่าด้วยใจ ของทำด้วยมือ
กลายเป็นเสียงและสื่อผ่านเทคโนโลยี
แต่สิ่งที่อักษรอินสตอลไว้ในตัวฉัน
จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด
จะมาลบเลือน หรืออันอินสตอล
ออกไปจากฉันได้

และฉันก็เชื่อว่า...
เด็กอักษรทุกรุ่น
มีสิ่งเดียวกันนี้ ในตัวพวกเราทุกคน



๘ พฤษภาคม ๒๕๕๙
#ดาวกล่าวไว้
ชลัมพร พิมลเสถียร

อบ 53
๒๘๑๐๑๖๙

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University