อักษรจรัส รุ่น 48

ดร. สร้อยเพชร เรศานนท์

      หากจะพูดว่าบัณฑิตอักษรศาสตร์ล้วนเป็นผู้มีศักยภาพที่จะเรียนรู้งานได้รอบด้าน ไม่ได้มีความสามารถเฉพาะด้านหนังสือและการเขียนเท่านั้น น่าจะไม่เป็นคำพูดเกินจริง และ ดร.สร้อยเพชร เรศานนท์ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ทั้งนี้เธอยังได้ใช้ศักยภาพที่มีสร้างคุณประโยชน์แก่สังคมอย่างหลากหลายอีกด้วย

       ดร.สร้อยเพชร จบจากคณะด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 ภายหลังได้สมรสกับนายฟิลิป เอ. บาชโทลด์ และทำธุรกิจกับครอบครัวตั้งแต่ปี 2536 จนปัจจุบัน การทำธุรกิจจุดประกายให้เธอเรียนต่อจนได้ปริญญาโทบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปริญญาเอกสาขาการจัดการธุรกิจจาก Nova Southeastern University, Fort Lauderdale, Florida สหรัฐอเมริกา เท่านั้นยังไม่พอ ปัจจุบันเธอกำลังทำปริญญาเอกอีกใบด้านพุทธศาสนดุษฎีบัณฑิต (ภาคภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

      ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจ ดร.สร้อยเพชรยังทำงานด้านวิชาการ โดยเป็นวิทยากรพิเศษวิชาการบริหารธุรกิจและการตลาด วิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ วิชาการบริหารองค์กรและพฤติกรรมองค์กร และวิชากลยุทธ์การจัดการ ระดับปริญญาตรีและโท ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2542 จนปัจจุบัน

      แต่ผลงานที่โดดเด่นที่สุดของเธอน่าจะเป็นงานด้านสังคมที่เธอทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2537 รับผิดชอบงานมามากมาย ปัจจุบันได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งสูงสุดคือ นายกสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย-กรุงเทพฯ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ (วาระ 2558-2560) นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งงานอื่นๆ อีก เช่น

 

2553 – ปัจจุบัน      ประธานโครงการสร้างอาคารศูนย์วัฒนธรรมพรหมคุณาราม (มลรัฐอริโซน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554

2553 – ปัจจุบัน      ผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งรองประธานมูลนิธิพรหมคุณาราม  (อยู่ในระหว่างขอจัดตั้ง)

2552 – ปัจจุบัน      รองประธานฝ่ายเศรษฐกิจ สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์

2552 – ปัจจุบัน      ประธานโครงการบูรณะและพัฒนา สำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554

2550 – ปัจจุบัน      กรรมการเครือข่ายโครงการคุณธรรม จริยธรรม ของเด็กและเยาวชน ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)  สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี              

2550 – ปัจจุบัน     อนุกรรมการประชาสัมพันธ์ สมาคมสันนิบาตมูลนิธิแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

2550 – ปัจจุบัน      ผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งรองประธานมูลนิธิภูพานอุดมธรรมานุสรณ์

2546 – ปัจจุบัน      ประธานกองทุนสุวรรณวาจกกสิกิจ

       ดร.สร้อยเพชร ได้รับรางวัลนักเรียนเก่าดีเด่น จากสมาคมนักเรียนเก่าราชินี ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เมื่อปี 2548 และนิสิตเก่าดีเด่น จากสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี 2549

       ความสำเร็จทั้งในหน้าที่การงาน และงานที่ทำเพื่อสังคมอย่างหลากหลายดังได้กล่าว ทำให้ ดร.สร้อยเพชร เรศานนท์ สมควรได้รับการยกย่องเป็นอักษรจรัสอีกดวงของรุ่น 48 อย่างน่าชื่นชม

ดวงใจ อัศวจินตจิตร์

อักษรจรัส อบ.48    

ดวงใจ  เป็นหนึ่งในบัณฑิตคณะอักษรศาสตร์ที่ไปประกอบอาชีพที่อาจจะฟังดูแปลกเพราะเป็นสายงานที่ไม่ตรงกับสาขาที่เรียนมาเท่าใดนัก หลังจากสำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ ด้วยเกียรตินิยม อันดับหนึ่ง เหรียญทอง เอกภาษาฝรั่งเศส ดวงใจก็ตั้งเป้าหมายที่จะรับราชการเป็นอาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศสที่คณะ แต่เนื่องจากในช่วงนั้น เศรษฐกิจประเทศไทยตกต่ำและต้องรับความช่วยเหลือจากธนาคารโลก จึงยากที่จะมีตำแหน่งว่างโดยเฉพาะในสาขาที่มีความต้องการไม่มากนักในตลาดแรงงาน และเป็นเรื่องบังเอิญโดยแท้ที่หลังจากดวงใจได้จบหลักสูตรการอบรมธนาคารคู่บ้านคู่เมืองของธนาคารกรุงเทพได้ไม่นาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้เปิดรับสมัครผู้จบปริญญาตรีทุกสาขา ยกเว้นวิศวกรรมศาสตร์ สอบแข่งขันเพื่อคัดเลือกเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการลงทุน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนสาขา

หลังจากทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้สองปี ดวงใจก็ได้ไปศึกษาต่อในสาขาบริหารธุรกิจที่ Indiana University ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยได้รับทุน Fulbright และกลับมาทำงานต่อที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยรับผิดชอบงานด้านต่างประเทศเป็นหลัก เช่น งานเจรจาข้อตกลงองค์การการค้าโลก การประชุมเจรจาในกรอบเอเปคและเวทีระหว่างประเทศอื่นๆ การประสานงานกับนักลงทุนต่างชาติ จนกระทั่งในปี 2543 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอัครราชทูตที่ปรึกษา (ด้านการลงทุน) ประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทำให้เธอได้มีโอกาสได้ใช้ความรู้ภาษาฝรั่งเศสที่ได้ร่ำเรียนมาจากคณะอักษรศาสตร์อย่างเต็มที่ เมื่อครบวาระ ก็ได้เดินทางกลับประเทศไทยในปี 2548 และได้รับตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในปี 2553

เส้นทางอาชีพของดวงใจชี้ให้เห็นว่าชาวอักษรศาสตร์มีศักยภาพที่จะทำงานได้หลากหลายและสามารถมีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพได้แม้จะเปลี่ยนสาขา และเพราะเธอประสบความสำเร็จในอาชีพการงานอย่างน่าภาคภูมิใจ กับทั้งด้วยความมีน้ำใจมิตรไมตรีกับเพื่อนๆ อย่างสม่ำเสมอไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อนๆ จึงยินดีให้ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เป็นหนึ่งใน "อักษรจรัส" ของรุ่น 48 และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เสนอชื่อ ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เข้ารับการพิจารณาเป็น “อักษรศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2560”

เกียรติประวัติ

- เครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาวชิรมงกุฏ

- เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประถมาภรณ์ช้างเผือก

- L’Ordre National Du Merite (Grand Officier) ประเทศฝรั่งเศส

ทศสิริ พูลนวล

     ทศสิริ พูลนวล (หงษ์) เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ที่โดดเด่นในแวดวงหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือเด็กและการทำงานเพื่อเด็กและเยาวชน รวมทั้งยังเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตครอบครัว มีครอบครัวที่อบอุ่นและลูกๆ ที่น่ารัก

      ทศสิริ จบการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนวัดปทุมคงคา ถนนทรงวาด และระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก่อนจะเข้าสู่รั้วจามจุรีที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาประวัติศาสตร์ ทศสิริเริ่มชีวิตการทำงานครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๒๗  ที่บริษัทสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด ซึ่งเป็นสถานที่จุดแรงบันดาลใจให้สนใจการทำหนังสือเด็ก  หลังจากที่ได้เป็นนักเขียนหนังสือเด็กอิสระอยู่ช่วงหนึ่ง ก็ได้เข้าร่วมงานกับสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก ด้วยใจรักหนังสือและความสามารถในการทำงาน ทำให้ทศสิริก้าวหน้าในหน้าที่เรื่อยมาจนดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร และปัจจุบันเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ มูลนิธิเด็ก

 

เกียรติประวัติที่น่าภูมิใจของทศสิริ ได้แก่  

 

  • ประธานคณะกรรมการจัดงานเทศกาลหนังสือเด็ก ประจำปี ๒๕๕๐ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
  • อดีตเลขานุการเครือข่ายหนังสือทางเลือกระหว่างปี 2546-2547
  • อดีตเลขาธิการ สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย วาระปี 2547-2549
  • อดีตกรรมการบริหาร สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย 2 วาระ (ปี 2548 – 2551)
  • กรรมการตัดสินการประกวดผลงานเขียนของเด็กของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
  • วิทยากรรับเชิญบรรยายเรื่องการผลิตหนังสือเด็กในสถาบันระดับอุดมศึกษาหลายแห่ง
  • ที่ปรึกษางานนิพนธ์และวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาตรีและโท
  • ผู้ทรงคุณวุฒิบรรยายเรื่องการออกแบบการสอนวิชาศิลปะตามแนวคิด BBL ของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.)
  • เป็นผู้ทรงคุณวุฒิร่วมในการฝึกอบรมครูสำหรับสื่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษา Can Do

 

ผลงานดีๆ ที่ทศสิริได้สร้างสรรค์ให้แก่สังคม ได้แก่

 

  • เป็นผู้ก่อตั้งการประกวด “นิทานมูลนิธิเด็ก” ตั้งแต่ปี ๒๕๓๕
  • เป็นผู้ก่อตั้งโครงการ “รถเข็นนิทาน” ของมูลนิธิเด็ก เพื่อรณรงค์จัดหาหนังสือเพื่อผู้ป่วยเด็กในโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ
  • เป็นผู้ประพันธ์หนังสือเรื่อง “เที่ยวงานวัด” และได้รับรางวัลจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2529

 

      นอกจากผลงานที่สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้แก่เด็กๆ และวงการหนังสือของบ้านเราแล้ว ทศสิริยังเป็นนักต่อสู้เพื่อความยุติธรรมที่ยืนหยัดไม่ใช่เพียงเพื่อตนเอง แต่เพื่อสังคมด้วย ในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 บ้านของทศสิริที่อำเภอบางบัวทองได้รับผลกระทบโดยตรงจากการถูกน้ำท่วมจนต้องย้ายขึ้นไปอาศัยอยู่บนชั้นสองของบ้านเป็นเวลานาน ในครั้งนั้น ทศสิริได้เป็นแกนนำในการเรียกร้องให้จังหวัดนนทบุรี เร่งจัดการแก้ไขปัญหาให้แก่ชาวบ้านในละแวกบ้าน รวมทั้งในอำเภอบางบัวทอง จนในที่สุดทำให้ชุมชนได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากทางราชการ

      ปัจจุบัน ทศสิริได้เปิดบ้านเป็นโรงเรียนสอนศิลปะวันหยุด ให้แก่เด็กๆ ในละแวกบ้าน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

      ทศสิริ ถือเป็นผู้ที่ทำงานและอุทิศตนเพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน และสังคม สมควรที่จะได้รับการยกย่องเป็น อักษรจรัสอย่างแท้จริง

ผอูน จันทรศิริ

      “ผอูน จันทรศิริ” (ปุ๊ย) เป็นอักษรศาสตร์ที่เลือกเรียนสาขาศิลปะการละครเป็นวิชาโท แต่เมื่อเรียนจบ กลับได้ทำงานอยู่ในแวดวงศิลปะการแสดงตลอดมา และทำงานได้ประณีตเป็นที่ยอมรับของผู้ชม ความมีชื่อเสียงของผอูนอาจวัดจากการที่เวลาเพื่อนรุ่นเดียวกันแนะนำตัวเองกับผู้อื่นมักจะต้องพูดว่า “อยู่อักษรฯ รุ่นเดียวกับผอูน” เสมอ

      ผอูนทำงานในวงการแสดงหลายบทบาท ทั้งนักแสดงละครเวที ละครโทรทัศน์ คนเขียนบท และผู้กำกับการแสดง ตั้งแต่เข้าวงการจนปัจจุบัน แสดงละครเวที ละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ 33 เรื่อง และกำกับการภาพยนตร์ ละครเวที ละครโทรทัศน์รวม 22 เรื่อง ผลงานที่สร้างชื่อเสียงและตราตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้ชมไม่เสื่อมคลายคือการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก ”เดอะเล็ตเตอร์ จดหมายรัก” รวมถึงละครโทรทัศน์อีกหลายเรื่อง อาทิเช่น มารยาริษยา มาลัยสามชาย ดงดอกเหมย ลอดลายมังกร ฯลฯ

       เพื่อนฝูงที่ใกล้ชิดจะรู้ว่าผอูนเป็นนักแสวงหาความรู้อยู่เสมอ และเป็นนักอ่านตัวยง สองสิ่งนี้เป็นบุคลิกภาพร่วมของชาวอักษรศาสตร์ หากจะบอกว่าเป็นคุณสมบัติที่คณะหล่อหลอมพวกเรามาก็คงไม่ใช่เป็นการพูดเกินเลยไปนัก เท่านั้นยังไม่พอ ผอูนยังมีภาวะผู้นำและมีวิจารณญาณสูง ทั้งหมดนี้เป็นคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้งานทุกบทบาทในวงการนี้ของผอูนประสบความสำเร็จด้วยดี เพราะการจะเป็นนักแสดงที่ดีได้ต้องอาศัยการอ่านบทให้แตก การจะเป็นคนเขียนบทที่ดีก็ต้องอ่านเรื่องให้แตกและเข้าใจสถานการณ์ และสุดท้ายการจะเป็นผู้กำกับที่ดีได้ก็ต้องอ่านทั้งเรื่องทั้งคนและโลกให้แตก

      ผอูนยังเป็นคนในวงการบันเทิงที่มีวุฒิภาวะสูงพอๆ กับศักยภาพที่กล่าวมา ดังที่เธอเคยให้สัมภาษณ์สื่อฉบับหนึ่ง เธอพูดถึงตัวเองว่า

      “เป็นคนดี (หัวเราะ) จริงๆนะ อาจจะไม่ใช่เป็นคนดีร้อยเปอร์เซ็นต์ มีความเลว มีกิเลสเหมือนมนุษย์ทั่วไป แต่ถ้าถามถึงความภูมิใจของตัวเองก็คือ ทุกวันนี้พยายามประคับประคองตัวเอง เช่น ในเวลาที่ทำงาน งานของเราไม่ได้ออกมาเลวทรามต่ำช้า ไม่เคยมีงานชิ้นไหนที่อายจังไม่กล้าบอกใคร แล้วก็สามารถใช้ชีวิตอย่างสง่าผ่าเผยเสียภาษีเต็มกำลัง ไม่เคยหลบเลี่ยง...”

       ผอูนอยู่ในวงการแสดงมาร่วม 30 ปี เป็นที่ยอมรับนับถือในเรื่องของความรับผิดชอบที่มีต่องาน และในฐานะนักสร้างสรรค์ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง นักแสดงรุ่นน้องๆ ให้ความเคารพนับถืออย่างกว้างขวาง ผอูนจึงเป็นอักษรจรัสแสงที่เด่นพราวอยู่กลางฟากฟ้าที่เพื่อนๆ เฝ้ามองด้วยความชื่นชมมาเนิ่นนานและตลอดไป

 บางส่วนของรางวัลความสำเร็จ

    - นักแสดงสมทบหญิง รางวัลหน้ากากทองคำ พ.ศ. 2531

    - บทโทรทัศน์ยอดเยี่ยม รางวัลโทรทัศน์ทองคำ พ.ศ. 2540 จากเรื่อง แอบเก็บใจไว้ใกล้เธอจากเรื่อง และ พ.ศ. 2542 จากเรื่อง มารยาริษยา

    - ผู้กำกับยอดเยี่ยม คมชัดลึกอวอดส์ พ.ศ. 2547 จากเรื่อง ดงดอกเหมย

    - ผู้กำกับยอดเยี่ยม สมาคมนักข่าวบันเทิง พ.ศ. 2547 จากเรื่อง ดงดอกเหมย

   - ผู้กำกับยอดเยี่ยม รางวัลท็อปอวอร์ด พ.ศ. 2554 จากเรื่อง มาลัยสามชาย

   - ผู้กำกับยอดเยี่ยม รางวัลนาฏราช พ.ศ. 2554 จากเรื่อง มาลัยสามชาย

   - ผู้กำกับยอดเยี่ยม รางวัลโทรทัศน์ทองคำ พ.ศ. 2554 จากเรื่อง มาลัยสามชาย       

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ เวศร์ภาดา

     นิสิตเก่าอักษรศาสตร์ รุ่น 48 เสนอให้  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ เวศร์ภาดา เป็นหนึ่งในอักษรจรัสของรุ่นอักษร 48 เนื่องจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ เวศร์ภาดา  หรือ “กบ” ที่เพื่อนๆ รู้จัก   เป็นศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ ที่สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับ 2) ปริญญาโท และปริญญาเอกจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ที่ได้นำความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาประกอบอาชีพในด้านการศึกษาและด้านภาษาไทย เป็นผู้สร้างชื่อเสียงให้แก่คณะอักษรศาสตร์จนเป็นที่ยอมรับในแวดวงภาษาไทยและวงการการศึกษาในปัจจุบัน

       ในด้านการทำงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ เวศร์ภาดา  ได้ทำงานเป็นอาจารย์ประจำในสาขาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  ปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งจากสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ตั้งแต่ พ.ศ. 2551-ปัจจุบัน  เป็นคณบดีที่ทุ่มเททำงานให้แก่คณะอย่างเต็มความสามารถ  ทำให้คณะมนุษยศาสตร์และประยุกต์ศิลป์เติบโตมีหลักสูตรเพิ่มขึ้นหลายหลักสูตร เช่น หลักสูตรการท่องเที่ยว หลักสูตรศิลปะการแสดง หลักสูตรภาษาเกาหลี  หลักสูตรการจัดการธุรกิจสายการบิน หลักสูตรการจัดการประชุมนิทรรศการและกิจกรรมพิเศษ  และเปิดหลักสูตรปริญญาใบที่ 2 หลักสูตรภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น  ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารธุรกิจ  และภาษาเกาหลี

       นอกจากการทำงานประจำแล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ เวศร์ภาดา  ยังเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในสถาบันอุดมศึกษาหลายสถาบัน เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  เป็นกรรมการคัดเลือกรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (รางวัลซีไรต์) ประจำประเทศไทย (พ.ศ. 2534-39, 2541, 2544 และ 2546)   เป็นกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (รางวัลซีไรต์) ประจำประเทศไทย (พ.ศ.2547-2549,  2551-2552, 2554, 2556 และ 2559)   เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษและวิทยากรอบรมด้านภาษา วรรณคดีและวรรณกรรมไทย การวิจารณ์วรรณกรรม  เป็นประธานและกรรมการคัดสรรบทกวีและเรื่องสั้นยกย่อง ของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย   เป็นกรรมการตัดสินรางวัลบทความวิจารณ์วรรณกรรมกองทุน ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ   เป็นกรรมการคัดเลือกวรรณคดีมรดกและวรรณกรรมแห่งชาติ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ (2544)   เป็นกรรมการจัดทำหนังสือแนวการอ่านวรรณคดีและวรรณกรรมตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ (2546-2547)  และเป็นกรรมการตัดสินรางวัล Young Thai Artist Award 2004 สาขาวรรณกรรม ของมูลนิธิซิเมนต์ไทย   และที่น่าภาคภูมิใจที่ได้รับการเลือกให้เป็นนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี พ.ศ. 2551-2552

       นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ เวศร์ภาดา  ยังได้รับรางวัลดังต่อไปนี้

  1. รางวัลบทความวิจารณ์วรรณกรรมดีเด่น  กองทุน ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี พ.ศ. 2535
  2. รางวัลบทความดีเด่น กองทุน ม.ร.ว. อายุมงคล โสณกุล ปี พ.ศ. 2536
  3. รางวัลครูภาษาไทยดีเด่น ระดับอุดมศึกษา กรุงเทพมหามคร ครุสภา กระทรวงศึกษาธิการ ปี 2546
  4. รางวัลบุคลากรดีเด่น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปี 2550
  5. รางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น กระทรวงวัฒนธรรม ปี 2555

      จากประวัติการศึกษา  การทำงาน  ผลงานทางวิชาการ  และรางวัลที่ได้รับดังกล่าวทั้งหมด จึงทำให้มั่นใจว่าผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ เวศร์ภาดา  เป็นบุคคลที่เหมาะสมได้รับเลือกให้เป็น หนึ่งในอักษรจรัสของรุ่น อักษร 48 อย่างแท้จริง และน่าภาคภูมิใจ 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงกมล ชาติประเสริฐ

     “ดร.ดวงกมล” เป็นบัณฑิตอักษรศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษที่มีเกียรติประวัติด้านการเรียนโดดเด่น เธอจบจากคณะด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับ ๑ จากนั้นสามารถชิงทุนข้ามสายไปเรียนต่อด้านนิเทศศาสตร์ทั้งระดับปริญญาโทและเอกมาได้อย่างน่าทึ่ง  ในส่วนของหน้าที่การงานเธอก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยปัจจุบันนี้ดำรงตำแหน่งคณบดี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ้าจะบอกว่าเธอคือตัวอย่างของการเป็น “นักเรียนรู้” ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นข้อหนึ่งของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ก็ไม่เป็นการกล่าวเกินเลยไปนัก

      เมื่อจบจากคณะ ดร.ดวงกมลสามารถสอบชิงทุนของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปเรียนต่อทั้งระดับปริญญาโทและเอก สาขา Agricultural Journalism ที่ University of Wisconsin-Madison สหรัฐอเมริกา จากนั้น เข้าทำงานเป็นอาจารย์ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทันทีที่จบปริญญาเอกเมื่อปี ๒๕๓๔  มีผลงานด้านบริหารที่สำคัญๆ ดังนี้

  • หัวหน้าภาควิชาการหนังสือพิมพ์ คณะนิเทศศาสตร์
  • เลขาธิการสภาคณาจารย์         
  • รองผู้อำนวยการโครงการการศึกษาทั่วไป
  • รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคณะนิเทศศาสตร์
  • รักษาการรองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์
  • รองคณบดีฝ่ายวางแผนพัฒนาและวิจัย คณะนิเทศศาสตร์
  • ประธานหลักสูตรการจัดการทางวัฒนธรรม บัณฑิตวิทยาลัย

 

            นอกเหนือจากงานด้านบริหารแล้ว ดวงกมลยังมีผลงานทางวิชาการอีกมากมาย งานวิจัยหลายชิ้นเป็นงานที่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภคและสังคม อาทิเช่น

  • รัชนา ศานติยานนท์, พรรณี บุญประกอบ, ดวงกมล ชาติประเสริฐ และ วันเพ็ญ  วอกลาง. รูปแบบใหม่ของการบริหารจัดการที่ดีในมหาวิทยาลัยไทย.
  • จุมพล รอดคำดี, กรรณิการ์ อัศวดรเดชา, ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ, รุ่งนภา พิตรปรีชา และ ดวงกมล ชาติประเสริฐ. การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการประชาสัมพันธ์เพื่อสนับสนุนนโยบายแห่งชาติ. กรมประชาสัมพันธ์, 2545.
  • ดวงกมล ชาติประเสริฐ. สถานภาพงานวิจัยด้านนิเทศศาสตร์ที่เกี่ยวกับจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2547.
  • ดวงกมล ชาติประเสริฐ. ความสัมพันธ์ระหว่างทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์ในสถานศึกษาและการรับรู้ความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ของตนเองและการรับรู้ตนเอง. ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2548. .
  • กรรณิการ์ อัศวดรเดชา และ ดวงกมล ชาติประเสริฐ. งานวิจัยประเมินผลทัศนคติของกลุ่มเป้าหมายเกี่ยวกับโครงการเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กรอ.) ภายใต้ โครงการสร้างความเข้าใจในการปฏิรูประบบการเงินเพื่อการอุดมศึกษา, สำนักงานปฏิรูประบบการเงินเพื่อการอุดมศึกษา, 2549.
  • ดวงกมล ชาติประเสริฐ, และศศิธร ยุวโกศล. การรู้เท่าทันสื่อใหม่เว็บไซต์เครือข่ายทางสังคม: การใช้ประโยชน์และประเด็นทางสังคม. ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, 2554.

 

งานนำเสนอในที่ประชุมวิชาการ

  • Duang-Kamol Chartprasert and Sasithon Yuwakosol. (2013). Shaping or are shaped: Relationship between Facebook and Thai users. Paper presented in Asian Media Information and Communication Centre 22nd International Conference on “ Transformational communication and the ‘New Asia’ ”, 4-7 July 2013 at the Melia Purosani Hotel,Yogyakarta, Indonesia.
  • Sasithon Yuwakosol, and Duang-Kamol Chartprasert. The Thai Cyber Community: A New Cyber Culture or a Traditional Culture Online? Paper presented in International Conference on “Language, Communication, and  Culture : Dialogues and Contexts in Focus”,  19-20 October 2005 at National Institute of Development  Administration, Bangkok, Thailand.

      ดร.ดวงกมลยังเป็นคณะทำงานและผู้ทรงคุณวุฒิในงานด้านพัฒนาสังคมอีกหลายตำแหน่ง เช่น

  • ที่ปรึกษาชมรม “เยาวชนจิตอาสา” (2555-ปัจจุบัน)
  • คณะกรรมการ “โทรทัศน์ทองคำ ” ประเภทรายการเด็กและสตรี (2540-ปัจจุบัน)
  • วิทยากรโครงการ “การสร้างองค์ความรู้ด้านการประชาสัมพันธ์สภาวัฒนธรรม” ของกระทรวงวัฒนธรรม (2553)
  • อนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์และการรับสมัครโครงการกิจกรรมเสริมหลักสูตร (การศึกษาทั่วไป) “บ้านนี้มีสุข” (2552)
  • คณะทำงานเพื่อพัฒนาระบบการประชาสัมพันธ์เพื่อสนับสนุนนโยบายแห่งชาติของกรมประชาสัมพันธ์ (2545)
  • หัวหน้าโครงการ “Media Literacy Training for Secondary School Teachers” โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก  UNESCO (2545)
  • คณะทำงานพิจารณาหนังสือพิมพ์ดีเด่นเพื่อเยาวชน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (สยช.) (2545)

       ดร.ดวงกมล ดำรงตำแหน่งทางบริหารสูงสุดของคณะคือ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (วาระ ๒๕๕๕ – ๒๕๕๙)   

        การที่ ดร.ดวงกมลเป็นผู้มีความสามารถสูงในการเรียน และไม่หยุดการเรียนรู้ เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา จนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างสูง จึงสมควรแล้วที่เธอจะเป็น “อักษรจรัส” อีกดวงที่เปล่งแสงสุกใสบนฟากฟ้าอักษรศาสตร์ของเรา

ยิ่งยศ ปัญญา

       ยิ่งยศ หรือยุ่น เป็นนิสิตเอกศิลปะการละคร ที่จบออกไปทำงานในแวดวงการแสดงมายาวนาน ทำงานหลายบทบาท แต่ได้รับการยอมรับนับถือมากที่สุดในฐานะ “นักเขียนบท” และไม่ใช่นักเขียนบทธรรมดา แต่เป็นนักเขียนบทมือดีอันดับต้นๆ ของประเทศ

       ยิ่งยศจัดเป็นนิสิตอักษรศาสตร์ที่มาเรียนอย่างมีเป้าหมายชัดเจน เขาเห็นแรงขับภายในของตัวเองว่ามีศักยภาพที่รอการแสดงออก อาศัยคำชวนของ “ครูใหญ่ – สดใส พันธุมโกมล” อีกนิดหน่อยว่าเรียนการละครเถอะ คนเรียนน้อยและมีงานให้ทำเยอะ...แค่นั้นก็ทำให้เขาตัดสินใจเลือกเอกศิลปะการละครทันที และดื่มด่ำกับการเรียนอย่างกระหาย จนกระทั่งขึ้นปี ๓ ครูบาอาจารย์ในภาคอย่างครูแอ๋ว (อรชุมา ยุทธวงศ์) และครูช่าง (ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง) ก็ชวนไปช่วยงานครูนอกคณะด้วย ได้ทำงานหลากหลายทั้งเล่นตลกคาเฟ่ จัดไฟ เป็นนักแสดงประกอบ เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ทำให้ได้เห็นและเข้าใจระบบการทำละครจริงตั้งแต่นั้น

       ส่วนงานเขียนบทนั้น เริ่มต้นจากการไปช่วยพี่ตุ๊ก ญาณี (ญาณี จงวิสุทธิ์) รุ่นพี่คณะ  เขียนบทละครเรื่อง พลับพลึงสีชมพู จากนั้นก็มีงานเขียนบทเข้ามาตลอด บทละครของที่ยิ่งยศเขียนเกือบทั้งหมดกลายเป็นละครเรตติ้งสูง อาทิเช่น หนุ่มทิพย์ รอยไหม ตามหัวใจไปสุดหล้า เมื่อดอกรักบาน แต่ปางก่อน บ้านทรายทอง เสน่ห์นางงิ้ว เยี่ยมวิมาน คลื่นชีวิต  สองนรี รักเดียวของเจนจิรา ดงดอกเหมย ผู้ใหญ่ลีกับนางมา น้ำผึ้งขม ทัดดาวบุษยา ดงผู้ดี ใจร้าว สุดดวงใจ วนาลี มนต์รักลูกทุ่ง ฯลฯ

       ยิ่งยศเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า การที่เขาประสบความสำเร็จในอาชีพนักเขียนบทได้เพราะเขาได้เรียนศิลปะการละครอย่างถูกต้องเป็นระบบจากคณะ ทำให้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าละคร สามารถวิเคราะห์เรื่องได้อย่างลึกซึ้ง เข้าใจองค์ประกอบของละคร สุดท้ายจึงแก้โจทย์ได้ตรงจุด แต่นอกเหนือจากการรู้ศาสตร์แห่งละครแล้ว เราคิดว่าอีกสิ่งที่ทำให้ยิ่งยศประสบความสำเร็จคือ การยึดมั่นในอุดมการณ์แห่งละครอักษรฯ ดังที่เขาตอบคำถามสื่อมวลชนเรื่องละครกับสังคมว่า

      “...นักเขียนบทละครควรจะมี ‘แรงขับ’ ที่อยากจะบอกเล่าอะไรกับสังคม ข้อใหญ่ใจความสำคัญคือการสร้างแรงจูงใจต่อมนุษย์ให้เข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วย กัน เข้าใจความเป็นจริงของมนุษย์ เข้าใจสัจธรรมของชีวิต และนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น นอกจากสนุก มีสาระแล้ว ต้อง...ทำให้มนุษย์ยกระดับจิตใจ และ...เปลี่ยนแปลงโลกในทางที่ดีขึ้น เช่น เราจะตะเกียกตะกายหาเงินไปถึงไหน สุดท้ายก็ต้องตายอยู่ดี ชีวิตเราก็เท่านั้น ตายแล้วก็เอาอะไรไปไม่ได้สักอย่าง” 
   

          เพราะถ้อยคำของเขาคือเสียงสะท้อนถ้อยคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ในภาควิชา ที่พวกเราไม่ว่าจะเรียนเอกหรือไม่ก็ตามต่างก็ได้ซึมซับรับรู้ตอนอยู่ปีหนึ่ง และแทรกอยู่ในจิตสำนึกลึกๆ อย่างไม่เลือนหายไปไหนเฉกเช่นกัน ต่างกันแต่ว่ายิ่งยศได้นำอุดมการณ์นี้มารับใช้สังคมอย่างมีจุดยืนมั่นคงและได้รับการยอมรับจากสังคมอย่างดียิ่ง

           ยิ่งยศจึงสมควรเป็นอักษรจรัสอีกดวงที่โชติช่วงในตัวเอง และเป็นความภูมิใจของรุ่นอย่างจริงแท้

 

รางวัลความสำเร็จ:

  • รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 3 บทละครโทรทัศน์ยอดเยี่ยม จากเรื่อง ทองเนื้อเก้า
  • รางวัล STAR ENTERTAINMENT AWARDS  ครั้งที่ 2 บทละครโทรทัศน์ยอดเยี่ยม จากเรื่อง ดงดอกเหมย
  • รางวัลคมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 5 บทละครโทรทัศน์ยอดเยี่ยม จากเรื่อง เมื่อดอกรักบาน
  • รางวัลคมชัดลึกอวอร์ด ครั้งที่ 7 บทละครโทรทัศน์ยอดเยี่ยม จากเรื่อง ผู้ใหญ่ลีกับนางมา
  • รางวัลนาฏราช ครั้งที่ 1 บทละครโทรทัศน์ยอดเยี่ยม จากเรื่อง ผู้ใหญ่ลีกับนางมา
  • รางวัลคมชัดลึกอวอร์ด ครั้งที่ 11  บทละครโทรทัศน์ยอดเยี่ยม จากเรื่อง ทองเนื้อเก้า (เวที / เวที)
  • รางวัลนาฏราช ครั้งที่ 5 บทละครโทรทัศน์ยอดเยี่ยม จากเรื่อง ทองเนื้อเก้า

รวิวรรณ โฮริโนอุชิ

รวิวรรณ  เป็นอักษรศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จทั้งในหน้าที่การงานและชีวิตครอบครัว โดยปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทดอคคิวเมนท์ พาร์เซล เอ็กเพรส จำกัด แต่ที่น่าชื่นชมยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การอุทิศตนทำคุณประโยชน์แก่ผู้คนรอบตัวและสังคมอย่างจริงจังจริงใจเสมอมาคู่ขนานไปกับการทำธุรกิจ จนน่าจะเรียกได้ว่า ธุรกิจของอักษรศาสตร์บัณฑิตท่านนี้เป็นธุรกิจเพื่อสังคมอันดับต้นๆ ของประเทศไทย

       รวิวรรณริเริ่มทำธุรกิจด้านโลจิสติกร่วมกับครอบครัวในปี 2531 หลังจบจากคณะ 4 ปี ธุรกิจของเธอเติบโตช้าๆ แต่มั่นคง ในระหว่างที่ดูแลธุรกิจตนเอง เธอก็ให้ความสำคัญกับพนักงาน ลูกค้า และสังคมอย่างน่าทึ่ง ปรัชญาในการทำธุรกิจของเธอก็คือ เธออยากให้บริษัทของเธอถูกพูดถึงว่ามีความ “ซื่อสัตย์” ทุกขั้นตอน ดังนั้นเธอจึงบริหารใจพนักงานด้วยธรรมะมาไม่ต่ำกว่าสิบปี อีกทั้งยังชักชวนเปิดทางให้พนักงานเป็นจิตอาสาออกไปช่วยเหลือสังคม งานไม่เสีย และฝึกจิตใจให้งดงาม       รวิวรรณตั้งใจดูแลพนักงานให้มีความสุข ดำเนินชีวิตด้วยสติปัญญา รู้จักแบ่งปันให้สังคม ในบริษัทฯ นอกจากสวัสดิการพื้นฐานแล้ว ยังมีสวัสดิการพิเศษๆ ตามสถานการณ์ เช่น การแบ่งเบาภาระค่าน้ำมันในช่วงน้ำมันแพง หรือการจัดทำโครงการบัญชีชีวิต เพื่อช่วยพนักงานปลดหนี้สินและสามารถมีเงินออมเพื่ออนาคต

      ในด้านสิ่งแวดล้อม บริษัทฯ ของรวิวรรณริเริ่มนำถุงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ขนส่ง ถุงนี้ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ย่อยสลายได้ภายในสองปี ปัจจุบัน ถุงแบบนี้ได้รับการยอมรับจากเครือข่ายต่างประเทศนำไปใช้อย่างแพร่หลายแล้ว

     รวิวรรณเคยให้สัมภาษณ์ว่า ในบทบาทนักธุรกิจ เธอไม่ได้คาดหวังยอดขาย ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อธรรมะคือธรรมชาติ เธอเชื่อว่าสิ่งนั้นย่อมมีสมดุลเอง ธรรมะนี้เองได้จัดสรรให้บริษัทของเธอได้รับรางวัล SVN Award ประจำปี 2552 จากเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อเชิดชู “คุณงามความดี” ของอักษรศาสตร์บัณฑิตคนนี้ ที่ได้ตอบแทนแก่สังคมไทยอย่างน่ายกย่องดังได้กล่าวมา พวกเรา อบ. 48 จึงขอยกให้รวิวรรณ เป็นหนึ่งใน \"อักษรจรัส\" ของรุ่นด้วยความเต็มใจและภูมิใจยิ่ง 

ศาสตราจารย์ ดร. สถาพร ทิพยศักดิ์

     อักษรจรัส หนุ่มอีกหนึ่งคนของรุ่น 48 พวกเรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะยกตำแหน่งอันน่าภาคภูมิใจนี้ให้แก่ ศ. ดร. สถาพร ทิพยศักดิ์ หรือ \"หมอ\" ของเพื่อนๆ

      หมอเป็นเพื่อนที่น่ารัก มีนิสัย เรียบๆ ง่ายๆ ขยันเรียนจนเป็นที่เชิดหน้าชูตาของรุ่นมาตั้งแต่สมัยเรียน และที่สำคัญที่สุด หมอเป็นความภาคภูมิใจของรุ่น เมื่อได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง \"ศาสตราจารย์\" สาขาวิชาภาษาสเปน เป็นคนแรกและคนเดียวของสาขาวิชาภาษาสเปนในประเทศไทย

      ศ.ดร.สถาพร ทิยพศักดิ์ จบมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เข้าสู่รั้วอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในปี 2523 วิชาเอกภาษาสเปน หลังจากจบปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ ได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ด้านภาษาศาสตร์สเปน ณ มหาวิทยาลัยกอมปลู-เตนเซ กรุงมาดริด ประเทศสเปน

      สำหรับประวัติการทำงานและผลงานของ ศ. ดร. สถาพร ทิพยศักดิ์ ปรากฏในวารสาร \"จดหมายข่าวเทวาลัย\" ปีที่ 8 ฉบับที่ 14 วันที่ 9 กรกฎาคม 2559 ดังข้างล่างนี้

     \"ศาสตราจารย์ ดร. สถาพร ทิพยศักดิ์ เริ่มรับราชการตำแหน่งอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาสเปน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 ตลอดระยะเวลาการทำงาน อาจารย์ได้อุทิศตนเพื่อผลิตผลงานวิขาการอันเป็นคุณูปการต่อการเรียนการสอนภาษาสเปนในประเทศไทย อาทิ คู่มือการกระจายคำกริยาภาษาสเปน สัทศาสตร์ภาษาสเปน พจนานุกรมศัพท์ท่องเที่ยวไทย (ไทย-สเปน) รวมทั้งตำราและพจนานุกรมหลายเล่มร่วมกับอาจารย์ในอื่นในสาขาวิชาฯ อาทิ ไวยากรณ์สเปน พจานานุกรมไทย-สเปน สำนวน สุภาษิต คำพังเพยสเปน เป็นต้น

     นอกจากผลงานวิชาการแล้ว อาจารย์ยังมีผลงานแปลวรรณกรรมภาษาสเปนอย่างต่อเนื่อง อาทิ ฉันกับฬา ปลาเตโร่ ของฆวน รามอน ฆิเมเนซ นักเขียนรางวัลโนเบลชาวสเปน ชุดงานแปลนวนิยายของนักเขียนชาวชิลี หลุยส์ เซปุลเบดา อาทิ นางนวลกับมวลแวมผู้สอนให้นกบิน  ชายชราผู้อ่านนิยายรัก เป็นต้น ในระยะหลัง อาจารย์มุ่งศึกษาเอกสารต่างๆ ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับราชอาณาจักรสเปน ทั้งเอกสารว่าด้วยการพระราชทานพระไตรยปิฏกฉบับบาฬีอักษรสยามแก่ราชอาณาจักรสเปน เอกสารว่าด้วยการเสร็จประพาสราชอาณาจักรสเปน ข่าวการเสด็จประพาสราชอาณาจักรสเปน โดยได้ค้นคว้า รวบรวม และแปลอกสารทั้งหมดเป็นภาษาไทย ถือเป็นหลักฐานเชิงประวัติศาสตร์อันสำคัญยิ่ง\"

      จากประวัติ และผลงานข้างต้น คือเครื่องยืนยันว่า หมอ หรือ ศ. ดร. สถาพร ทิพยศักดิ์ คือความภูมิใจของเพื่อนๆ ในรุ่น และพวกเราทุกคนยินดีอย่างยิ่งที่จะยกตำแหน่งให้หมอ ได้เป็นหนึ่งใน อักษรจรัส ของ อบ. 48 อย่างไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ           

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University