อักษรจรัส รุ่น 27

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิศศรี กมลเวชช์

จากนักเรียนเตรียมอักษรรุ่น 500 (ก็เพราะเข้าโรงเรียนปี 2500) นางสาวพิศศรี  กมลเวชช์  ก็เตรียมตัวเข้าจุฬาฯ โดยเธอไม่ได้คิดจะเรียนอักษรเลย เธอเลือกอักษรอันดับ 1 ก็จริง และเลือกบัญชีเป็นอันดับ 2  เธอกะว่าฝีมืออย่างเธอไม่ติดอันดับ 1 แน่  คงจะได้เรียนบัญชีสมใจ  เพราะชอบคณิตฯ  แต่เกิดติดอันดับ 1 ด้วยเก่งคณิตฯ (เธอโม้นิดหน่อย) เวลาทำได้จะได้คะแนนจริงจัง  โอกาส ทำคะแนนเต็มมีมากกว่าวิชาอื่น  เธอเลยต้องเป็นเด็กอักษร

มาตอนนี้เธอบอกว่า  นอกจากไม่เสียดายที่ไม่ได้เรียนบัญชีแล้ว  ยังดีใจสุดๆ ที่ได้เรียนอักษร  คณะและวิชาความรู้ที่ทำให้เธอได้เป็นและได้ทำสารพัด  ซ้ำยังเป็นและทำได้อย่างดีด้วย

ถ้าไม่ได้เป็นลูกสีเทา  เธอเชื่อว่าจะเป็นและทำอะไรๆ อย่างที่เป็นและทำอยู่ตอนนี้ไม่ได้แน่ๆ  ไม่ว่าจะเป็นงานใด

 

   

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เสาวรัตน์ ดาราวงษ์

เสาวรัตน์  เพื่อน อ.บ. 27 จบการศึกษามัธยม 6 จากโรงเรียนขัตติยานียดุง  จากนั้นไปเรียนต่อและสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยม 8 จากโรงเรียนสายปัญญา ได้รับทุนเรียนดีทั้ง 2 ปี  เมื่อได้เข้าเรียนต่อคณะอักษรศาสตร์  มีเป้าหมายจะเป็นครู  เมื่อเรียนจบได้รับราชการที่วิทยาลัยครูสวนดุสิต  ที่เป็นสถาบันผลิตครู  ทำงานที่นี่แห่งเดียวไม่ย้ายไปไหน นานถึง 39 ปี จนเกษียณราชการ

เสาวรัตน์ เล่าว่า เคยได้เข้าเฝ้างานสโมสรสันนิบาต  สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ มีพระราชดำรัสด้วย  และก่อนเสด็จจากไปมีรับสั่งว่า “ขอให้ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด” เธอจึงมีอุดมการณ์จะเป็น “ครูของครู” จึงได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มวุฒิ เพิ่มศักยภาพ  และอบรมสัมมนาตลอดเวลา  จึงมีวุฒิหลังจบปริญญาตรีอักษรศาสตร์ ไม่น้อย  ได้แก่ ปริญญาตรี ค.บ.(จุฬา) สายมัธยมศึกษา  สาขาการสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษ  ปริญญาโท อ.ม. สาขาภาษาไทยจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ประกาศนียบัตร Dip in Applied Linguistics ด้วยทุน SEAMEO ที่ศูนย์ AELC ประเทศสิงคโปร์  (เป็นครูภาษาไทยคนแรกที่ได้รับทุนฝึกอบรมนี้) ประกาศนียบัตรประชาสัมพันธ์ฝ่ายอำนวยการรุ่นที่ 30 ของสถาบันการประชาสัมพันธ์  กรมประชาสัมพันธ์  และปริญญาตรีนิเทศศาสตร์  จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

               หลังเกษียณตั้งแต่ปี  2545  ถึงปัจจุบันเป็นเวลา  15 ปี  ได้ใช้เวลาทำงานอาสาสมัคร  ได้แก่

  • เป็นกรรมการบริหารสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์  สมเด็จพระนางเจ้า

พระบรมราชินีนาถ  ตำแหน่งประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์  และเหรัญญิก  และประธานฝ่ายการเงินและทรัพย์สินเพื่อช่วยเพื่ออักษรศาสตร์  27 ที่เป็นนายกสมาคม 2 คน  คือ  ผศ.ทิพย์วัลย์ สมุทรักษ์  และ รศ.ดร.วดี  เขียวอุไร  รวมเป็นเวลา 10 ปี

  • เป็นกรรมการสมาคมนิสิตเก่าคณะอักษรศาสตร์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี
  • เป็นผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดนนทบุรี  นับแต่ พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน เป็นงานแปลกใหม่

ท้าทายความสามารถเพื่อคืนคนดีสู่สังคม  เป็นหน้าที่ที่ปฏิบัติ  เป็นองค์คณะพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวร่วมกับผู้พิพากษาอาชีพ  ช่วยบำบัด ฟื้นฟูเยียวยาเยาวชนที่ทำผิดในคดีแพ่งและอาญา  โดยทำแผนแนะแนวเยาวชน  และผู้ปกครองให้เปลี่ยนแนวคิดและปรับพฤติกรรม  จัดกิจกรรมให้เยาวชนได้รับความรู้และฝึกอาชีพ  และพาไปบำบัดรักษากรณีติดยาเสพติด  รวมถึงการไกล่เกลี่ยคดีครอบครัวและเยาวชน  เพื่อความมั่นคงของสถาบันครอบครัว  ซึ่งถ้าอยู่ด้วยกันไปได้ก็เข้าใจกัน  ช่วยกันดูแลบุตรหลาน ให้เป็นเยาวชนที่ดีของสังคมและประเทศชาติ   เสาวรัตน์  กล่าวว่า เป็นหน้าที่รับฟังความทุกข์ เดือดร้อน โดยระวังไม่ให้ตนเองต้องเจ็บป่วย  หาทางชีแนะแนวทางให้เขาคลี่ครายปลดเปลื้องความทุกข์เดือดร้อน เป็นงานที่มีทั้งง่ายและยาก  ทำได้สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง  งานที่ทำได้สำเร็จจะมีความสุขและภาคภูมิใจมากที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์  แบ่งเบาความทุกข์

ผลงาน

  • เป็นที่ปรึกษาอธิการบดีสถาบันราชภัฏสวนดุสิต และกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (พ.ศ.2538-2548)
  • เป็นผู้ทรงคุณวุฒิสาขาภาษาไทยของกระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ.2535-ปัจจุบัน)
  • เป็นที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล และได้ไปดูงานแกลลอปโพลที่อเมริกา
  • เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบริการการศึกษาที่สนับสนุนการวิจัยของคณาจารย์ และสร้างชื่อเสียงด้านการให้บริการการศึกษา
  • ใช้ความรู้ด้านอักษรศาสตร์ในงานราชการที่ปฏิบัติและงานอาสาสมัคร โดยรับผิดชอบร่างคำกราบบังคมทูล  และพระราโชวาทในงานพระราชทานปริญญาบัตร  เขียนบทร้อยกรองในโอกาสต่างๆ  อาทิ อาศิรวาท  บทเพลงเพื่อรำถวายพระพร  คำกล่าวในพิธีเปิด-ปิดงาน  คำนำ  คำไว้อาลัยของผู้บริหารสถาบัน ฯลฯ
  • วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่  โดยกรมการฝึกหัดครู  คือ  คำผสานและที่มาของฝ่ายผสานในภาษาไทย
  • เป็นผู้มีเมตตาจิตสงเคราะห์ญาติ มิตรและศิษย์  ตามกำลังความสามารถตลอดมา  และได้บริจาคทรัพย์เพื่อเป็นทุนการศึกษา  เพื่อส่งเสริมพุทธศาสนา  และโรงพยาบาลตามโอกาสสมควรเป็นประจำทุกปี

 

 

พิสมัย จันทวิมล

หลังจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์   พิสมัย จันทวิมล  สมัครเข้ารับราชการที่กระทรวงสาธารณสุข เริ่มที่กรมอนามัยในปี 2507 ในช่วงที่กระทรวงฯมีโครงการพัฒนาอนามัยชนบทและวางแผนครอบครัว ด้วยความร่วมมือจากองค์การอนามัยโลกและ USAID ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการพัฒนาชนบทแบบผสมผสาน จนได้รับทุนไปศึกษาต่อหลักสูตร Diploma in Social Policy and Administration และปริญญาโทสาขาสื่อสารมวลชน จากประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในปี 2512 และ 2516   ได้รับการเลื่อนตำแหน่งที่กองแผนงานสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และทำหน้าที่ผู้อำนวยการกองการสาธารณสุขต่างประเทศในระหว่างปี 2530-2535 ระหว่างการรับราชการที่สำนักงานปลัดกระทรวงฯ ได้มีโอกาสเข้าไปเป็นทีมงานวิชาการของฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการหลายวาระ และที่ภาคภูมิใจเป็นพิเศษคือความสำเร็จในการประสานสัมพันธภาพกับราชอาณาจักรภูฏาน ซึ่งสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

หลังลาออกจากราชการเพื่อดูแลมารดา  ได้เข้าไปเป็นข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สมัย ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน  ช่วยงานการต่างประเทศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข น.พ.ไพโรจน์ นิงสานนท์ ต่อด้วย     ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ และทำหน้าที่เป็นนักวิชาการในกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร 2 วาระ ในช่วงที่เป็นข้าราชการการเมือง ปี 2536 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์มงกุฏไทย

 โดยส่วนตัวมีใจรักการเป็นนักเขียน นักแปล และนักกลอนสมัครเล่น ผู้มีโอกาส “ลับฝีมือ”อยู่ตลอดเวลา  ตัวอย่างผลงาน  เช่น หนังสือคำประพันธ์ “วิถีไทย” ที่ได้รับรางวัลชมเชยจากสมาคมภาษาและหนังสือ   หนังสือ เรื่อง “ภูฏาน มหัศจรรย์ในอ้อมกอดหิมาลัย” ได้รับรางวัลสารคดียอดเยี่ยม นายอินทร์อะวอร์ด  งานที่ภาคภูมิใจเป็นพิเศษ คือการประพันธ์เนื้อร้องเพลง  Precious Prince of Heart ที่วิทยาลัยดนตรีของมหาวิทยาลัยรังสิตบรรเลงในวโรกาสที่ His Majesty King Jigme Khesar Namgyel Wangchuck แห่งราชอาณาจักรภูฏาน เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นองค์รัชทายาท    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเสด็จพระราชดำเนินทรงเยือนมหาวิทยาลัยรังสิต  ในวันทูลเกล้าฯถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาปรัชญาการเมือง และเศรษฐศาสตร์

Graduated from the Faculty of Arts of Chulalongkorn University, Pisamai had her post-graduate studies at the United Kingdom and United States. She is currently an advisor of Dr.Arthit Ourairat, the President of Rangsit University. Since very young age, Pisamai has had keen interest in poetry and music and was known by teachers and family members as talented in composing poems and essays and had successfully integrated her creative writings in school performances. To date, apart from office work, Pisamai remains a freelance writer, translator and lyric composer. Her book of verses entitled, “Thai Ways” received an award of appreciation  from The Thai Association on Language and Writing. Her pocket book entitled, “Bhutan: a Wonder in the Embrace of the Himalayan Range” received the prestigious Nai Indra Award of outstanding documentary. Pisamai takes pride most in composing the lyric of the song, “Precious Prince of Heart,” so beautifully presented by the Rangsit University Conservatory of Music’s orchestra on the auspicious day of visit of HRH the then Crown Prince Jigme Khesar Namgyel Wangchuck of the Kingdom of Bhutan to receive the Degree Honorary Doctor of Philosophy in Philosophy, Politics and Economics.

     

       

    


 

 

 

วรรณงาม ภู่ระหงษ์

เพื่อนๆ พูดแทนวรรณงาม  หัวหน้ารุ่น อักษร 27 ได้เลยว่า

 “ภูมิใจสุดๆ ที่ได้เป็นนิสิตอักษร  และด้วยความเป็นนักกีฬาโรงเรียนมาก่อน  จึงไม่ลังเลที่จะขอเป็นนักกีฬาคณะ  ปีสุดท้ายของการแข่งขันระหว่างคณะ  ก็ได้ครองถ้วยชนะเลิศ  จากการชนะคณะวิทยาศาสตร์”

เมื่อจบอักษรทำงาน  ก็ภูมิใจได้เต็มที่อีกที่หัวหน้ารุ่นเราได้ทำงานกับหน่วยงานในองค์การสหประชาชาติมาโดยตลอดจนเกษียณอายุงาน  ท้ายสุดที่ถือว่าเป็นงานสำคัญ  คือ  งานแผนกจัดหาประจำห้องสมุด  องค์การสหประชาชาติ  เป็นผู้ต้องรับผิดชอบเลือกหนังสือเข้าห้องสมุดให้ครอบคลุมโครงการและงานวิจัยต่างๆ ขององค์การ  และจัดซื้อผ่านตัวแทนทั้งในอังกฤษและอเมริกา  ซึ่งเป็นนักกีฬาชั้นยอดแล้ว  วรรณงามยังเป็นหัวหน้าชั้นด้วย  และก็ติดเลยมาเป็นหัวหน้าชั้น (หัวหน้ารุ่นหรือประธานรุ่น) ตลอดกาล  ทำหน้าที่ดูแลจัดการให้เพื่อนๆ ได้พบกันทุกปี ในกรุงบ้างนอกกรุงบ้าง  บางครั้งเลยไปถึงนอกประเทศ

ตั้งแต่เรียนจบจนบัดนี้  ไม่ว่าจะสุขจะทุกข์  จะแข็งแรงดีหรือแข็งแรงไม่ดี  วรรณงามก็ยังคงต้องรับผิดชอบดูแลรุ่นตลอดมาและตลอดไปตามที่เพื่อนๆ…. (ขอ  ขอร้อง  อ้อนวอน  สั่ง  บังคับ ฯลฯ)

วิภามาส การสุทธิ์

จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาบรรณารักษ์ศาสตร์ และเข้าทำงานที่ห้องสมุดของ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ประเทศไทย ต่อจากนั้นลาออกจากราชการเพื่อติดตามสามีที่ไปปฏิบัติหน้าที่ผู้พิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ในปี พ.ศ. 2525 ที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย จนจบการทำงานในปี 2543

  • ได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

ในฐานะบรรณารักษ์ดีเด่นห้องสมุดเฉพาะครั้งแรกในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2518

  • ปี พ.ศ. 2525 – 2543 กรรมการ ของ UN Women ‘ s Guild จัดหาทุนเพื่อเด็กยากไร้ทั่วโลก
  • ปี พ.ศ. 2536 – 2543 สอนภาษาไทย หลักสูตร International Baccalaure (IB) สำหรับนักเรียนไทยในเวียนนา เพื่อศึกษาต่อในสหราชอาณาจักร
  • ต้นทุนสูงสุดที่รับจากการเป็นอักษรศาสตร์ คือ ความกระจ่างในศาสนาพุทธ จากท่านอาจารย์ มหาเกษม บุญศรี ที่กล่าวถึงพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ คือ ด้านประวัติศาสตร์ ด้านธรรมะ ด้านปาฏิหาริย์

หลักการที่ได้นำไปบรรยายและอธิบายเพื่อเปรียบเทียบศาสนาพุทธกับศาสนาอื่นๆ ในเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี ทำให้แยกแยะความเข้าใจของผู้คนได้ด้วย “ธรรมะ” 

  

  

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วัลลภา เทพหัสดิน ณ อยุธยา สกุลเดิม ศุนาลัย

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วัลลภา เทพหัสดิน ณ อยุธยา สกุลเดิม ศุนาลัย

อี๊ด เพื่อนอักษรศาสตร์ปี 2502 รุ่น 27 หรือปัจจุบัน คือศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วัลลภา เทพหัสดิน ณ อยุธยา สกุลเดิม  ศุนาลัย มีเพื่อนหลากหลายกลุ่มเพราะร่วมกิจกรรมคณะหลายประเภท ด้านกีฬา เป็นนักกีฬาบาสเก็ตบอล และนักกรีฑาของคณะตั้งแต่ปีที่ 1 ถึงปี 4  ปี 2503 เป็นประธานชมรมบาสเก็ตบอลของคณะ   ด้านพุทธศาสตร์ เป็นเลขานุการชมพุทธานุเคราะห์ จัดกิจกรรมร่วมกับชมรมพุทธศาสตร์จุฬาฯ เช่นธรรมสัญจรพาสมาชิกและผู้สนใจธรรมะเยี่ยมชมวัดต่างๆ ในกรุงเทพและต่างจังหวัด  ด้านนาฏศิลป์เนื่องจากสนิทกับหญิงอรฉัตรจึงถูกเกณฑ์ไปแสดงในงานของคณะอักษรศาสตร์ และมหาวิทยาลัย  เช่น รำเทพบันเทิง  ระบำม้า เป็นต้น  นอกจากนั้นเคยชนะการแข่งขันประชันกลอนสดที่ไทยทีวีสีช่อง 4 บางขุนพรหม ส่งกลอนลงชมรมวรรณศิลป์จุฬาฯ

หลังสำเร็จการศึกษา ได้ศึกษาต่อคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์สอนภาษาไทยที่คณะครุศาสตร์ 5 ปี ก่อนได้รับทุนมูลนิธิฟูลไบรท์ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา ในสาขาวิชาการศึกษาผู้ใหญ่ และปริญญาเอกสาขาการบริหารอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน  เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกกลับมาสอนภาษาไทยและเป็นประธานการก่อตั้งภาควิชาอุดมศึกษาคณะครุศาสตร์  งานที่ทำเป็นประจำต่อเนื่องตั้งแต่สำเร็จการศึกษาที่ได้ใช้ความรู้จากคณะอักษรศาสตร์ คือการสอนและการอบรมให้ความรู้ภาษาไทย แก่องค์กรต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน ที่เป็นงานพิเศษยิ่งคือได้รับเกียรติให้ประพันธ์ อาเศียรวาทในวโรกาสสำคัญต่างๆ ให้แก่ คณะครุศาสตร์  มหาวิทยาลัยต่างๆ  วิทยุรัฐสภา สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ และสมาคมอื่นๆ

เมธี เศวตะทัต

นายเมธี  เศวตะทัต  เกิดวันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2483  เป็นชาวกรุงเทพโดยกำเนิด  เข้าเรียนระดับปริญญาตรีที่คณะอักษร เมื่อปีการศึกษา 2502   มีเพื่อน 2 รุ่น  คือ  รุ่น 27 และ 28  เมธี  เป็นคนขยัน ชอบทำงาน   จึงได้รับความไว้วางใจจากเพื่อน ๆ เสมอมา   เคยได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการห้อง 60  (กรรมการนักเรียน) และหัวหน้าห้อง 223  ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา  เมื่อเข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์ก็ได้รับตำแหน่งโดยการเลือกตั้งอีกตามเคย คือ  ปี 1 เป็นหัวหน้าชั้น   ปี 2  เป็นสาราณียกร    ปี 3  เป็นหัวหน้าชั้น  ปี 4  ได้รับเกียรติสูงสุดได้เป็นผู้แทนนิสิต(หัวหน้าคณะ)

สมัยเรียนอยู่ ต.อ. ปี 2 (14 ม.ค.02)  ได้เข้าแข่งขันเขียนภาษาไทยตามคำบอก ออกอากาศทางโทรทัศน์ช่อง 4  บางขุนพรหม ชนะเลิศเขียนไม่ผิดเลย  รางวัลที่ได้รับคือหนังสือ นิรุกติศาสตร์ เล่ม 1 และ 2  ของพระยาอนุมานราชธน   เมธีบอกว่าหนังสือนี้มีคุณูปการเหลือหลาย  เพราะได้อาศัยต่อยอดความรู้ด้านภาษาเป็นอย่างมาก  หลังแข่งขันนิตยสาร “ดรุณสาร”  ขอสัมภาษณ์ นำรูป และประวัติไปพิมพ์

สมัยเป็นนิสิตเคยแข่งขันแต่งสักวากลอนสด(ชุมนุมกลอนชาวบ้าน)ของโทรทัศน์ช่อง 4 เช่นกัน  ได้เป็นยอดนักกลอนของเดือนมิถุนายน 2504

แม้เมธีจะมีประวัติเป็นนักกิจกรรม  มีความคิดริเริ่ม  สู้งาน  แต่จริง ๆ แล้ว  เมธี เป็นคนเงียบ  เจ้าตัวยอมรับว่าเป็นคนไม่ดิ้นรน ไม่ขวนขวาย ไม่ใช่นักสู้  สิ่งใดดี  มีคนต้องการมาก  ต้องออกแรงแย่งชิง  เมธีจะถอย และหรืออะไรที่ยุ่งยากเกินไป ถึงไม่มีคนแย่ง เมธีก็ถอยเหมือนกัน เมธีปล่อยโอกาสงาม ๆ  พลิกผันไปอย่างง่าย ๆ  หลายครั้ง  เมื่อไม่ได้ก็ไม่เดือดร้อนและไม่รู้สึกว่าตนเองมีปมด้อยแต่อย่างใด

เมธี  เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งมูลนิธิวิเชียร  กัณหะยูวะ  (ชื่อผู้บังคับบัญชา)   เพื่อทำประโยชน์ตอบแทนโรงเรียนมัธยมวัดหนองแขมซึ่งเป็นสถานที่ทำงาน  และเป็นประธานมูลนิธินั้น  ตั้งแต่เริ่มตั้ง( 20 กรกฎาคม 2533)  จนปัจจุบัน

เมธี  เป็นคนที่สนใจภาษาไทย  ภาษาบาลี  พระพุทธศาสนา  และเรื่องเจ้าเรื่องพระ  ได้เขียนเรื่องเหล่านี้ส่ง “ต่วย ‘ ตูน”  พอกเก็ต แมกาซีน  เป็นครั้งคราว  มีผลงานที่ลงพิมพ์เผยแพร่ไปแล้ว ประมาณ 50 เรื่อง

เมธี  เป็นหนึ่งในแกนนำที่รื้อฟื้นประเพณีการพบปะสังสรรค์กันระหว่างอักษรศาสตร์ชาย (Men Meeting)  เริ่มสำเร็จเป็นรูปร่าง ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2554 ติดต่อกันมาได้ 6 ปีแล้ว

เพื่อน อ.บ.27 ผู้เสนอชื่อให้เหตุผลว่า “เพื่อน ๆ ภูมิใจในตัวเมธีในฐานะผู้รู้ภาษาไทยดีเยี่ยมแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เก่ง  และเป็นตัวอย่างที่ดีในความเป็นสุภาพบุรุษ ใช้ชีวิตแบบพอเพียง เรียบง่ายเป็นที่รักของเพื่อน ๆ
เป็นที่นับถือของผู้ที่รู้จักพบเห็น สมควรที่น้อง  ๆ ชาวอักษรรุ่นหลังจะได้นำไปเป็นตัวอย่างประพฤติปฏิบัติ เพื่อชีวิตที่ดีงาม และเพื่อประโยชน์ต่อสังคมต่อไป”

เพื่อนอีกคนหนึ่ง คือ สุรีย์  พันเจริญ อ.บ. 28 ก็เคยเขียนกลอนบรรยายภาพเมธีไว้อย่างดีด้วยเช่นกันว่า

ขอแนะนี่กวีเอกตึกอักษร      อันกาพย์กลอนโคลงฉันท์นั้นมือขวา

ทั้งยังเป็นผู้แทนแสนปรีชา   อย่าสงกาบุรุษนี้ “เมธี” เอย   

 

เรืออากาศตรี (หญิง) จันทนา (สงวนโภคัย) โพธิแพทย์ (จันทน์)

จันทนา จบการศึกษามัธยม 6 จากโรงเรียนเยนเฮส์ เม็มโมเรียล (เครือ รร.วัฒนาวิทยาลัย)  ระดับเตรียมอุดมจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่น 20  จบเตรียมฯ ติดบอร์ด 1 ใน 50 ของประเทศ และเข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ โดยเลือกวิชาภาษาฝรั่งเศส เป็นวิชาเอก  ภาษาอังกฤษเป็นวิชาโท  หลังจากเรียนจบ รับราชการเป็นทหารอากาศ 2 ปี แล้วไปสอนที่โรงเรียนสตรีวัฒโนทัย พายัพ เชียงใหม่ ได้รับทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศส ไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส 2 ปี (2511-2513) กลับมาย้ายเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (2514)  และโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์)  (2517)   ได้เป็นหัวหน้าหมวดวิชาภาษาฝรั่งเศส คนแรก  ต่อมาขยายเป็นหมวดภาษาต่างประเทศที่ 2 (ฝรั่งเศส  เยอรมัน  ญี่ปุ่น  จีน)  ได้เดินทางไปดูงานภาคฤดูร้อนที่ประเทศฝรั่งเศส อีก 2 ครั้ง จนเกษียณอายุในปี 2543 

เกียรติประวัติการทำงาน

  1. ได้เป็นครูแม่แบบวิชาภาษาต่างประเทศ จากคณะกรรมการคุรุสภา กรุงเทพมหานคร ในกรมสามัญศึกษาประจำปี 2537
  2. ข้าราชการตัวอย่าง กระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี 2537 ที่กรุงมนิลา
  3. เข้าร่วมสัมมนากับสภาครูอาเซียน ประเทศสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 22 – 25 พฤศจิกายน 2535

งานด้านสังคม

  1. เป็นรองประธานสภาวัฒนธรรม เขตวังทองหลาง (2538-2540)
  2. เดินทางไปต่างประเทศ กับคณะนักกีฬาคนพิการและคณะนักกีฬาปัญจักสีลัต ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางภาษา หลายประเทศ
  3. สมาชิกและอดีตรองประธาน ชมรมครูเก่า โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์)
  4. ปัจจุบันเป็นกรรมการชมรมไลน์ด๊านซ์ (Line Dance) บางเขน สมก.

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University