อักษรจรัส รุ่น 43

คุณหญิงเยาวนาถ (บุนนาค) ไทยวัฒน์ อักษรจรัส อบ.43

นักวิเคราะห์นโยบายและแผนระดับเชี่ยวชาญ สถาบันสิริกิติ์

คุณหญิงเยาวนาถ หรือ เอื้อง ของเพื่อน ๆ เริ่มเรียนชั้นเตรียมอนุบาลที่โรงเรียนเรวดี แล้วมาเข้าเรียนชั้น อนุบาล ๑ - ประถมปีที่ ๕ ที่โรงเรียนราชินีบน ชั้นประถมปีที่ ๖ – มัธยมศึกษาปีที่ ๕ ที่โรงเรียนจิตรลดา ก่อนจะสอบเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ ในคณะอักษรศาสตร์ (รุ่น ๔๓) เอกภาษาอังกฤษ โทภาษาฝรั่งเศส และศิลปการละคร จากนั้น ไปเรียนต่อปริญญาโทที่ Eastern Michigan University สหรัฐอเมริกา สาขา English as a Second Language และ Literary Criticism สมรสกับคุณเศกศักดิ์ ไทยวัฒน์ และมีลูกสาวเพียงคนเดียว คือ น้องเอื้อน (ณพสรา ไทยวัฒน์) ซึ่งต่อมาก็เจริญรอยตามคุณแม่ เป็นอักษรศาสตร์บัณฑิต หลักสูตรนานาชาติ

 ปัจจุบันเอื้องดำรงตำแหน่ง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนระดับเชี่ยวชาญ ในสถาบันสิริกิติ์

 เอื้องเล่าว่า ที่เลือกสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ก็ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากจะเรียนที่นี่มาตลอด เพราะถือเป็นจุดหมายสูงสุดของคนที่เรียนมาทางสายศิลป์ แม้ว่าเอื้องจะเข้ามาในคณะนี้เพียงตัวคนเดียวจากโรงเรียนจิตรลดา และแม้ว่าชีวิตในมหาวิทยาลัยจะเป็นเรื่องแปลกใหม่มากสำหรับเอื้อง แต่เอื้องกลับไม่มีปัญหาในการปรับตัวเลย เพราะรู้สึกว่า คนที่เข้ามาเรียนคณะอักษรศาสตร์ส่วนใหญ่จะมีความคิดอ่านคล้ายกัน ต่อกันติดได้ไม่ยาก และเพื่อน ๆ กลุ่มนี้ แม้จะเรียนเอกและโทในวิชาต่างกัน ก็มีความสนิทสนมกันมาจนถึงปัจจุบัน

 

หลังจากที่เรียนจบจากสหรัฐอเมริกา เอื้องได้งานที่องค์การสหประชาชาติแล้ว แต่เมื่อเข้าเฝ้ากราบพระบาท สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในโอกาสสำเร็จการศึกษา ทูลกระหม่อมรับสั่งเล่าว่า กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ มีงานเพิ่มขึ้นมาก เพราะขยายงานไปถึงส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ไปประทับแรมตามจังหวัดต่าง ๆ ตลอดปี  แล้วรับสั่งว่า  อยากให้เอื้องเข้ามาทำงานถวาย วินาทีนั้น เอื้องคิดว่า ตัวเอื้องและครอบครัวได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในหลาย ๆ ประการมาโดยตลอด การเข้ามาทำงานถวาย นับเป็นโอกาสที่เอื้องจะได้สนองพระมหากรุณาธิคุณ และคงไม่มีทางอื่นใดที่จะถูกต้องเหมาะสมไปกว่านี้อีกแล้ว

 เอื้องได้เข้าทำงานที่กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๔  ต่อมาได้ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์  ในการทรงงานทั้งตามต่างจังหวัดและต่างประเทศ  ได้ซึมซับน้ำพระทัยทุกพระองค์ที่มีแต่จะทรงหาวิธีช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหา แล้วพระราชทานความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมและยั่งยืน ไม่ใช่แค่พระราชทานเงินแล้วจบเท่านั้น เอื้องเชื่อว่าถ้าใครได้มีโอกาสถวายการรับใช้ใกล้ชิด ได้รู้เห็นด้วยตัวเองแล้ว ย่อมต้องเกิดความจงรักภักดีขึ้นเองอย่างเต็มหัวใจ ไม่ใช่แค่รักและเทิดทูนเพราะถูกสอนมาอย่างนั้น

 

ในช่วงประทับที่กรุงเทพฯ เอื้องก็ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เลขาฯ ของท่านผู้หญิงมนัสนิตย์ วณิกกุล ซึ่งต่อมาดำรงตำแหน่งรองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ หลังจากนั้น ทำงานถวายที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และสังกัดเป็นข้าราชการกองศิลปาชีพตามลำดับ ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถโปรดเกล้าฯให้สถาปนางานศิลปาชีพในโรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดาขึ้นเป็น สถาบันสิริกิติ์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เอื้องเข้าเป็นข้าราชการสถาบันสิริกิติ์นับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

 เอื้องภูมิใจในงานอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมโบราณของไทยที่กำลังทำอยู่นี้มาก เพราะนอกจากจะสนองพระราชดำริ ในการสืบสานงานฝีมือที่มีค่าให้คงอยู่ต่อไปแล้ว ยังอิ่มใจที่ช่วยให้คนยากจนที่ทรงเลือกมาเป็นช่างฝีมือได้มีอาชีพเสริม เพิ่มรายได้เลี้ยงครอบครัวอีกด้วย และยิ่งได้รับผิดชอบงานทางด้านสิทธิบัตร ก็ยิ่งภูมิใจเพราะการดำเนินงานทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา จะช่วยให้มีผลคุ้มครองไม่ให้คนละเมิดสิทธิงานฝีมือของสถาบันสิริกิติ์ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ได้พระราชทานนโยบายไว้ เอื้องดีใจที่ได้เป็นส่วนเล็ก ๆ ในงานที่ยิ่งใหญ่และมีคุณค่าของพระองค์ท่าน การที่ได้ทำงานถวายรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทนี้ เอื้องถือว่าเป็นประสบการณ์ที่มีค่าสูงสุดในชีวิต

 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน

พ.ศ. ๒๕๔๔              จตุตถจุลจอมเกล้า

พ.ศ. ๒๕๔๕              ตติยจุลจอมเกล้า

พ.ศ. ๒๕๕๕              ประถมาภรณ์มงกุฎไทย

พ.ศ. ๒๕๕๘             ประถมาภรณ์ช้างเผือก      

 ถ่ายทอดโดย  ปุย (จิราพร รอยศิริกุล)

 

 

จันทนีย์ (อูนากูล) พงศ์ประยูร (น้อย)อักษรจรัส อบ.43

เจ้าของตำนานเพลง ‘สายชล’ เพลงไพเราะอมตะนิรันดร์กาล

น้อยเริ่มเรียนที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนจบ ม.ศ. ๓ ก่อนไปต่อมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ โดยเลือกปรัชญาเป็นวิชาเอก ภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์เป็นวิชาโท

หลังจากเรียนจบ น้อยเข้าทำงานที่บริษัท โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ (ประเทศไทย) ในตำแหน่งก๊อปปี้ ไรเตอร์ และไต่เต้าขึ้นมาเป็นครีเอทีฟ กรุ๊ปเฮ้ด และก๊อปปี้ สเปเชี่ยลลิสต์ ตามลำดับ ที่นี่เป็นที่ทำงานที่แรกและที่เดียวของน้อย

น้อยผูกพันกับดนตรีมาตั้งแต่เด็ก โดยเริ่มจากการร้องเพลงในโบสถ์ และเข้ารวมกลุ่มขับร้องเพลงประสานเสียงของโรงเรียนวัฒนาฯ นอกจากความสามารถในการร้องเพลงแล้ว น้อยยังชอบแต่งเพลงอีกด้วย น้อยหัดแต่งเพลงมาตั้งแต่อายุได้ ๑๐ ขวบ เอาไว้ร้องเล่นสนุก ๆ กับเพื่อน ๆ จนกระทั่งมีโอกาสได้แต่งเพลงให้กับนักร้องอาชีพ

เมื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ทพ. วิชิต ตริชอบ ชวนให้มาแต่งเพลงให้คุณเกวลิน บุญศิริธรรม และหลังจากนั้นน้อยก็ได้แต่งเพลงให้วงแกรนด์เอ็กซ์ เพลงที่น้อยแต่งคือเพลง ‘ เธอเท่านั้น’ ที่แปลจากเพลง Only You  ตอนเรียนอยู่ปี ๓ น้อยแต่งเนื้อเพลงชุดหนึ่งให้คุณไชย ณ ศีลวันต์ คุณไชยนำเพลงหนึ่งในชุดนั้นคือเพลง ‘ลองรัก’ ขึ้นถวายเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ ทรงขับร้องเพื่อบันทึกเทป โดยมี EMI เป็นผู้จัดการบันทึก ต่อมา EMI จึงนำเพลงนี้ไปให้คุณศรีไสล สุชาติวุฒิ ขับร้อง เมื่อทาง EMI ได้ฟังเพลงอื่นๆที่น้อยร้องและแต่งเองเก็บไว้ เกิดชอบใจจึงให้น้อยออกอัลบั้มเพลงของตัวเองเสียเลยในชื่อชุด‘สายชล’ อัลบั้มนี้ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานในฐานะที่ทำยอดขายสูงสุดประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๕  ปีพ.ศ.นี้จึงสมควรได้ชื่อว่าเป็นปีทองของน้อยอย่างแท้จริง เพราะในวงการโฆษณางานที่น้อยทำก็ได้รางวัล TACT AWARDS ในฐานะครีเอทีฟยอดเยี่ยมอีกด้วย แต่ยังไม่จบเพียงแค่นั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ คุณนนทิยา จิวนางป่า นำเพลง ‘สายชล’ ไปขับร้องใหม่จนได้รับรางวัลพระพิฆเนศทองคำพระราชทานถึง ๓รางวัล ได้แก่ เนื้อร้องยอดเยี่ยม ทำนองยอดเยี่ยม และนักร้องยอดเยี่ยม 

มีผู้นำเพลงต่าง ๆ ที่น้อยเคยแต่งไว้มาขับร้องใหม่กันอีกหลายเพลง เช่นเพลง ‘เธอ’  ‘ลองรัก’ แต่เพลงที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือเพลง ‘สายชล’ ที่ได้รับการบันทึกใหม่ถึง ๒๐ กว่ารูปแบบ ทั้งแบบร้องและบรรเลง ทั้งจากศิลปินไทยและต่างประเทศ

 

หลังจากมีครอบครัวแล้ว น้อยพักงานแต่งเพลงไว้ชั่วคราวเพื่อหันมาดูแลลูก ๆ อย่างเต็มที่ แม้กระนั้น เพลงที่แต่งเอาไว้ให้ศิลปินอื่นเป็นคราว ๆ ไปยังได้รับรางวัล เช่นเพลง ‘ เกิดเป็นผู้ชาย’ ที่เดิมแต่งไว้ให้วงแกรนด์เอ็กซ์ คุณอู๋ ธรรพ์ณธรนำมาขับร้องจนได้รับรางวัลพระพิฆเนศทองคำพระราชทาน ในฐานะนักร้องชายยอดเยี่ยม และน้อยยังร่วมแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์การ์ตูนของวอลท์ ดิสนีย์ เพลง ‘คงสักวัน’ จากเรื่อง คนค่อมแห่งนอเธอร์ดาม และเพลง ‘เงา’ จากเรื่องมู่หลาน

ช่วงเวลาที่เฝ้าดูลูก ๆ เติบโต น้อยยังได้ใช้ประสบการณ์ตรงนี้สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วยการนำนิทานก่อนนอนที่มักจะเล่าให้ลูก ๆ ฟัง นำมาเขียนเป็นหนังสือนิทานเด็กประกอบภาพออกมาในชุด ‘นิทานตามใจแม่’ โดยทั้งครอบครัวมีส่วนร่วมในการผลิตนิทานชุดนี้ ปรากฏว่าเป็นที่นิยมในหมู่คุณแม่และเด็ก น้อยจึงทำนิทานออกมาเรื่อย ๆ รวมทั้งหมด ๑๔ เล่ม เป็นนิทานจากวรรณคดีไทยบ้าง ชาดกบ้าง รวมทั้งนิทานจากตำนานเทพเจ้ากรีก และเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในประวัติศาสตร์ไทย และแนวความรู้รอบตัวเกี่ยวกับร่างกายของเราอีกด้วย

ความสามารถและความขยันของน้อยยังไม่หมดเพียงแค่นั้น น้อยรักและสำนึกในบุญคุณของโรงเรียนวัฒนาฯ อันเป็นที่รัก จึงได้ร่วมกับเพื่อน ๆ วัฒนาฯ รุ่นเดียวกัน แปลหนังสือที่ทรงคุณค่า อันมีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับโรงเรียนวัฒนาฯ และประวัติศาสตร์ที่สมควรได้รับการบันทึกไว้ของไทย คือเรื่อง ‘สยามคือบ้านของเรา’ และ ‘ชีวิตอุทิศเพื่อสยาม’ หนังสือทั้งสองเล่มนี้ น้อยร่วมอยู่ในคณะบรรณาธิการ เป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าน่าอ่านอย่างยิ่ง

น้อยได้กล่าวถึงการที่ได้เข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ ว่า เป็นความภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เรียนจบจากสถาบันที่ได้รับการสถาปนาขึ้นมาเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหาที่สุดมิได้ และน้อยยังรู้สำนึกในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทรเป็นล้นพ้นอีกด้วย

น้อยให้ความเห็นว่า การเรียนอักษรศาสตร์ช่วยในการพัฒนาความรู้สึกนึกคิด การใช้ภาษา และการเข้าถึงศิลปะ ทำให้เราสามารถคิดวิเคราะห์ จนเป็นเหมือนคุณสมบัติพิเศษที่ทำให้เข้าใจโลกเข้าใจมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่ได้เรียนวิชาปรัชญา น้อยได้เอามาใช้ในงานโฆษณาที่ทำอยู่

น้อยย้ำว่าการเขียนสำคัญมากเมื่อออกมาสู่โลกของการทำงานในชีวิตจริง การเขียนคือการสื่อสารความคิดทุกเรื่อง หากสื่อสารออกมาไม่ได้ก็เท่ากับไม่มีคุณค่าใดๆ  ดังนั้น การเขียนคือการสื่อสารที่จำเป็นในงานทุกประเภท และน้อยก็ได้พิสูจน์คุณค่าของความสามารถในการเขียนออกมาเป็นรูปธรรม จนเกิดเป็นผลงานที่มีคุณค่ามากมายหลายประเภท เฉกเช่นเพลงที่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นเพลงไพเราะอมตะนิรันดร์กาล

เรียบเรียงโดย  ปู (กษมา กู้ตลาด)

 

)

  

 

ชรภิญญ์ พงศ์ธรพิพัฒน์ (ชะพิน) อักษรจรัส อบ.43

ชรภิญญ์ พงศ์ธรพิพัฒน์ (ชะพิน)


ดนตรี และภาพถ่าย คือชีวิต

จากประสบการณ์ที่หลากหลายในชีวิต ชรภิญญ์ พงศ์ธรพิพัฒน์ นิสิตเก่าอักษรศาสตร์ รุ่น ๔๓ ได้ผสมผสานภูมิหลังเหล่านั้นเข้าด้วยกันในศิลปะการถ่ายภาพและดนตรีที่เต็มไปด้วยอารมณ์ จิตวิญญาณ และการเชื่อมร้อยวัฒนธรรมตะวันตกและออกเข้าด้วยกัน

 ในด้านการถ่ายภาพ แม้จะไม่ได้เป็นช่างภาพอาชีพ หรือจบด้านนี้ แต่เธอก็สามารถเริ่มต้นเรียนรู้ในวัย ๕๔ ปี และได้รับรางวัลในเวทีต่างประเทศ อาทิเช่น International Garden Photographer of the Year ซึ่งจัดโดย Royal Botanic Gardens at Kew ประเทศอังกฤษ, The Chicago Flower and Garden Show และ Brookfield Zoo, รวมทั้งได้ร่วมแสดงผลงานที่ Chicago Botanic Garden และ David Adler Music and Performance Arts Center เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแสดงผลงานเดี่ยวที่ Chicago Public Library – Bezazian Branch และ Lincoln Park Branch อีกด้วย เธอเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Chicago Photographic Arts Society (CPAS) ซึ่งมีผลงานการแสดงภาพถ่ายในชิคาโกและเมืองรอบข้างติดต่อกันมากว่าสามปี งานของเธอเน้นไปทาง Macro Nature Photography แต่ก็มีงาน Portraits สถาปัตยกรรม ทิวทัศน์ Abstract และ Impressionistic อยู่ไม่น้อย

 ทางด้านการดนตรี ชรภิญญ์ได้ศึกษาเปียโนจนได้วุฒิ Licentiate of the Trinity College of London เธอเป็นนักเปียโนและผู้เรียบเรียงเสียงประสานให้กับชมรมนักร้องประสานเสียงจุฬาฯ เป็นเวลาถึง ๔ ปี และในวาระที่คณะอักษรศาสตร์ครบรอบ ๑๐๐ ปี ในปีพ.ศ. ๒๕๖๐ เธอก็ได้ประพันธ์ทำนองเพลง “กลับบ้านสีเทา” โดยมีกษมา กู้ตลาด เพื่อนร่วมรุ่นเป็นผู้ประพันธ์คำร้อง ทั้งสองได้ร่วมใจกันมอบเพลงนี้ให้กับคณะอักษรศาสตร์ โดยมีสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์เป็นผู้สนับสนุนในการจัดเรียบเรียงและบันทึกเสียง นับเป็นผลงานที่เธอรู้สึกภาคภูมิใจอีกชิ้นหนึ่ง นอกจากนี้ ผลงานทางเปียโนอื่นๆ ก็มีอาทิเช่น รายการคอนเสิร์ตของตนเองที่ Merit School of Music เมื่อปี ๒๕๕๖ และ ๒๕๕๙ เมื่อปี ๒๕๕๗ เธอยังได้ผ่านการคัดเลือกเป็นหนึ่งในบรรดาผู้เข้าแข่ง Chicago Amateur Piano Competition ซึ่งมีผู้เข้าร่วมแข่งจากทั่วอเมริกาและต่างประเทศ

 จากบัณฑิตอักษรศาสตร์เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ผู้ได้รับการหล่อหลอมโดยภาษาและวรรณกรรมอังกฤษและฝรั่งเศสตลอดจนศิลปะการแสดงและการดนตรี ชรภิญญ์เดิมทีมีเป้าหมายที่จะไปศึกษาต่อโททางด้านเปียโน แต่ด้วยเหตุผลทางครอบครัวจึงไปเข้าทำงานที่บริษัท PRESKO Public Relations ดำเนินงานประชาสัมพันธ์ให้กับบริษัทใหญ่ ๆ ทั้งไทยและเทศอยู่ ๕ ปี จากนั้นจึงได้ไปเรียนต่อปริญญาโททางด้าน Applied Linguistics ที่ University of Michigan at Ann Arbor โดยตั้งใจจะกลับมาเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ

 แล้วชีวิตก็ผันแปรอีกครั้งเมื่อเธอแต่งงานและตัดสินใจใช้ชีวิตกับสามีที่อเมริกา เธอเข้าเรียนต่อ MBA ที่ Northern Illinois University, DeKalb และจากนั้นได้เข้าทำงานทางด้านสินเชื่อกับธนาคารไทยพาณิชย์ สาขานิวยอร์ค และสาขาชิคาโกรวม ๕ ปี จากนั้นเธอได้ตัดสินใจออกมาดูแลลูกอยู่ ๕ ปี แล้วจึงเข้าทำงานอีกครั้งที่ธนาคาร Bank One (ซึ่งต่อมาได้รวมบริษัทกับ J.P. Morgan Chase) ในแผนก Loan Syndications และ Risk Management Policy

 เมื่อ Chase ย้ายแผนกไปนิวยอร์คในปี ๒๕๔๘ เธอตัดสินใจเกษียณ เพื่อทุ่มเวลาให้แก่ลูกชายวัยเรียน และเพื่ออิสระในการเดินทางของครอบครัว ณ จุดนี้เองที่ ชรภิญญ์ ตัดสินใจกลับไปหารักแรก คือ เปียโน หลังจากที่ทิ้งไปกว่าสามสิบปี และเมื่อสามีซื้อกล้องใหญ่ให้ในปี ๒๕๕๔ เธอก็ได้ค้นพบความรักในศิลปะการถ่ายภาพ จึงสมัครเข้าเป็นสมาชิกชมรมถ่ายภาพ Fort Dearborn Chicago Photo Forum ซึ่งเพิ่งมีอายุครบ 130 ปีไปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๙ จากนั้นเธอก็ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากชมรมเรื่อยมา รวมทั้งจากชมรมแม่ที่มีสาขาทั่ว Chicagoland อีกหลายครั้งด้วย

"การเรียนอักษรศาสตร์มีส่วนช่วยอย่างลึกซึ้งในงานศิลปะที่ดิฉันทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเปียโนหรือการถ่ายรูปแบบ Fine Art อักษรศาสตร์สอนให้เรามีความละเอียดอ่อน มีความซาบซึ้งในความงามและความสลับซับซ้อนของศิลปะภาษา ซึ่งดนตรีและภาพถ่าย ก็คือ ภาษาประเภทหนึ่งนั่นเองที่ต้องการความละเอียดอ่อนจากใจของเราเอง ก่อนที่จะสื่อต่อให้ผู้อื่นได้ ส่วนวิชาศิลปะการแสดงก็ช่วยให้เราเข้าใจถึงความสำคัญของ drama อันเป็นมิติที่ล้ำลึก ดิฉันต้องการเชิญชวนผู้ที่มาฟังหรือชมผลงานของดิฉันให้ออกจากโลกประจำวันมาเยี่ยมเยือนมิตินี้ และถ้าการมาเยือนนี้ทำให้เขามีความสุขดิฉันก็พลอยเป็นสุขไปด้วย ขอบพระคุณคณาจารย์คณะอักษรศาสตร์ ที่ช่วยให้ดิฉันสามารถทำในสิ่งนี้ได้ บุญคุณนี้จะไม่มีวันลืม”

ร้อยเรียง โดย ติ๊ด (เมตตา วิวัฒนานุกูล)

 

 

 

 

 

ชุติพร (นาวารัตน์) จงมั่นคงชีพ (อ้อย) อักษรจรัส อบ.43

ผู้ช่วยเอกอัครราชทูต สถานทูตเยอรมัน ประจำประเทศไทย

อ้อยเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด  ใช้ชีวิตวัยเด็กในเยอรมันหลายปี เนื่องจากติดตามคุณพ่อซึ่งเป็นนักการทูตไปประจำการที่ประเทศนั้นในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐6-๒๕๑๔  เมื่อย้ายกลับมาเมืองไทย ได้ศึกษาต่อและจบมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา  แล้วจบอักษรศาสตร์บัณฑิต วิชาเอกภาษาเยอรมัน วิชาโทภาษาอังกฤษ และประวัติศาสตร์

หลังจากจบปริญญาตรี อ้อยเริ่มต้นทำงานที่สถานทูตเยอรมันประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒ มิ.ย. พ.ศ.๒๕๒๓  นับอายุการทำงานจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาถึง ๓๖ ปี (ปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๙) โดยเวียนปฏิบัติงานในหลาย ๆ ฝ่ายของสถานทูต  ได้แก่  วัฒนธรรม ข่าวสาร การเมือง พิธีการ และปัจจุบัน ทำหน้าที่ผู้ช่วยเอกอัครราชทูตฯ  ซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข้าใจของผู้คน ทางด้านวัฒนธรรมและความร่วมมือระหว่างสองประเทศ คือ ไทยและเยอรมัน  โดยอ้อยได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มีปฏิบัติงานด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยการอุทิศทุ่มเท ในการทำงานกับเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทยเป็นจำนวน ๑๒ ท่านมาตามลำดับ  และได้รับอนุมัติเครื่องอิสริยาภรณ์  Verdienstkreuz am Bande des Verdienstordens der Bundesrepublik Deutschland (Cross of the Order of Merit of the Federal Republic of Germany) จากประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเมื่อ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ­๒๕๕๘

การทำงานที่สถานทูตเยอรมันทำให้อ้อยได้มีโอกาสทำงานสาธารณะกุศลและอาสาสมัครอย่างสม่ำเสมอ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสภากาชาดไทย และ YWCA ซึ่งดำเนินการเป็นประจำทุกปี  โดยเงินที่ได้รับบริจาคจากองค์กรธุรกิจชาวเยอรมันในประเทศไทย จะมีส่วนในการช่วยเหลือและสนับสนุนเด็กกำพร้า เยาวชน  โรงพยาบาลและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง  ทั้งที่เป็นโครงการในประเทศและโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่ชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน ที่มุ่งพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อพยพและชนกลุ่มน้อย  รวมถึงการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือชาวเยอรมันผู้ประสบเหตุ Tsunami  ที่ภูเก็ตและเขาหลักในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ และการเป็นผู้ประสานงานระหว่างองค์กรมนุษยธรรมของเยอรมัน (German humanitarian emergency aid) กับสภากาชาดไทย เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเดือดร้อนในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔  สำหรับในกรณีหลัง ประเทศเยอรมันมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือและเงินบริจาคต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ อ้อยร่วมกับตุ๊ก (เกศนี จิรวัฒน์วงศ์ - สกุลเดิม ปัณฑวังกูร ) และเพื่อนสนิทคนอื่น ๆ ในกลุ่มจัดการทำบุญในนามของอักษรศาสตร์ รุ่น ๔๓ ติดต่อกันมาเป็นเวลายาวนานเกือบยี่สิบปีแล้ว (ปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๙ )  โดยเริ่มต้นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เพื่อนในรุ่นผู้ล่วงลับแล้ว  ต่อเนื่องเป็นการทำบุญเพื่อโรงเรียนที่ขาดแคลนในนามของอักษรศาสตร์รุ่น ๔๓  โดยแต่ละปี จะไปเยี่ยมโรงเรียน และเลี้ยงอาหารกลางวันเด็ก ๆ จนกลายเป็นประเพณีของรุ่น  ที่ต้องมีวันหนึ่งในแต่ละปี เพื่อมาพบและทำบุญร่วมกัน ทำให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์ของการให้และการรับร่วมกัน

การที่ได้เข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์  ถือว่าเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจสำหรับอ้อยและครอบครัวยิ่ง  ช่วงสี่ปีที่เรียนในคณะนี้  อ้อยได้เรียนรู้การเปิดกว้างความคิดของตน  รู้จักตั้งคำถามกับหลาย ๆ อย่างที่ไม่เคยคิด  รู้จักการวิเคราะห์  และเข้าใจมนุษย์  ผนวกกับการเสริมทักษะด้านภาษา  เข้าใจภาษาชนชาติหนึ่งอย่างดีถ่องแท้  เข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมของชนชาตินั้น  ซึ่งสิ่งเหล่านี้อ้อยได้นำมาใช้ในการทำงานในสถานทูตฯ จนประสบผลสำเร็จถึงทุกวันนี้  

และสิ่งสำคัญอีกอย่างที่อ้อยได้จากการเรียนที่คณะ คือ โชคดีที่มีโอกาสได้รู้จักกับเพื่อนแท้ ที่จะรัก  ห่วงใย แล ดูแลกันไปจนชีวิตจะหาไม่

                                               

ถ่ายทอดโดย อ้อย (ธนิยดา สัตยานุเศรษฐ์)

 

 

ซาฟีนา โกมลตะเมธี อักษรจรัส อบ.43

นายกสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์

 ประธานบริษัทเชียงใหม่นานา

ประธานบริษัทดานนาพร๊อพเพอร์ตี้

นายกสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กรรมการศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทยหลายสมัย

กรรมการสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสองสมัย

                                                      

 ซาฟีนา โกมลตะเมธี หรือเพื่อน ๆ เรียกกันว่า “ฟี้” คือบทพิสูจน์ของคำกล่าวที่ว่า “อักษรศาสตร์สอนความรู้เชิงกว้าง ให้ผู้เรียนไปต่อยอด และประยุกต์ใช้” จากรั้วเตรียมอุดมศึกษา หลังจบอักษรฯ จุฬาฯ รุ่นที่ 43  ซาพีนาได้ศึกษาต่อด้าน Radio ,Television Productions and Advertising ที่ Butler University, USA

หลังจากเรียนจบ ฟี้ทำงานในหลากหลายแขนง ทั้งที่องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว บริษัทโฆษณา เป็น Creative ที่ Dentzu Yong & Rubicam, SPA Advertising  ไปจนถึงตำแหน่ง Senior Vice President ในงาน corporate affairs ที่ Alphatec Group และ เป็นหนึ่งในคณะผู้บริหาร Standard Chartered Bank Thailand ไปจนถึงการเป็นอาจารย์พิเศษให้แก่หลายคณะของจุฬาฯ และผู้ทรงคุณวุฒิใน Forum ต่าง ๆ  แต่ไม่ว่าจะเป็นงานด้านใด บุคลิกที่โดดเด่นของฟี้ ก็คือ ความเป็นผู้นำ และมาดที่มุ่งมั่น รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการจุดประกายความคิดในสิ่งที่คนอื่นอาจมองข้ามไป  ซึ่งทำให้ผลงานต่าง ๆ มีความใหม่ น่าสนใจ และน่าติดตาม จนได้รับรางวัลต่าง ๆ ทั้งงานโฆษณา และ Corporate Social Responsibility (CSR) ในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ฟี้ไม่เพียงมุ่งผลสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่จากบทบาทหน้าที่ในองค์กร ได้มีบทบาทสนับสนุนให้เกิดความช่วยเหลือภาคส่วนต่างๆ ของสังคมมากมาย โดยเฉพาะคนพิการและผู้ด้อยโอกาสในสังคม


เมื่อครั้งที่ประเทศไทยประสบภัยครั้งใหญ่จากสึนามิ ฟี้เป็นหนึ่งในอาสาสมัครที่ลงพื้นที่ ขณะนั้นธนาคารแสตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดได้เปิดโอกาสให้สาขาในกว่า 50 ประเทศส่ง CSR proposal เข้าแข่งขัน เพื่อชิงเงินสนับสนุนหนึ่งล้านเหรียญสหรัฐ ฟี้มุ่งมั่นใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการเขียนเพื่อให้ชนะใจกรรมการ  และแล้วหนึ่งล้านเหรียญสหรัฐก็ได้มาเพื่อสร้างโรงเรียนราชประชานุเคราะห์๓๕ ที่จังหวัดพังงา แทนที่โรงเรียนที่ถูกทำลายไปจากมหันตภัยสึนามิ  รวมทั้งช่วยสนับสนุนโครงการฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็ก ๆผู้ประสบภัย

 ภายใต้โครงการ "Seeing is Believing" ให้ดวงตา ให้ชีวิต ซึ่งเป็นโครงการ CSR หลักของธนาคาร ในการระดมทุนเพื่อกำจัดปัญหาความบกพร่องและความพิการทางสายตาที่สามารถหลีกเลี่ยงได้  ฟี้มีบทบาทเป็นผู้นำโครงการนี้ในประเทศไทย  โดยได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อระดมทุนสี่ล้านบาทให้กับศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย  เพื่อใช้ในการผ่าตัดกระจกตาให้คนไข้ด้อยโอกาสได้กลับมามองเห็นอีกครั้ง  การจัดแข่งวิ่งมาราธอนโดยมีคนตาบอดร่วมลงแข่งด้วยเป็นครั้งแรกในประเทศไทย  การพาคนตาบอด 150 คน พร้อมอาสาสมัครคนตาดีอีก ๑๕๐ คน ไปชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์สยามดิสคัฟเวอรี่  และฟี้ยังได้เข้าไปเป็นกรรมการศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทยหลายสมัย

ฟี้เป็นผู้คิดริเริ่มโครงการ "Youth Career Development Programs" ให้แก่ UNICEF โดย ดร.กิติยา พรสัจจะ ร่วมกับโรงแรมแพนแปซิฟิค  เพื่อฝึกอาชีพและเสริมทักษะเพิ่มทางเลือกให้แก่เยาวชนผู้ด้อยโอกาสจากชนบท  โดยเริ่มจากเยาวชนจำนวน 10 คน มีโรงแรมเข้าร่วมหนึ่งแห่ง  จนมีโรงแรมชั้นนำเข้าร่วม ๑๘ แห่ง  และได้ฝึกเยาวชนไปแล้วกว่า ๑,๐๐๐ คน

จากบทบาทและผลงาน CSR  ที่โดดเด่น  ฟี้ได้รับเชิญไปเป็นหนึ่งในกรรมการตัดสิน  SIFE (Students in Free Enterprise) World Cup 2011  ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยองค์กร SIFE  เป็นองค์กรระดับโลกที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีมหาวิทยาลัยในเครือข่ายทั่วโลกจาก ๔๘ ประเทศ รวมกว่า ๑,๘๐๐ แห่ง และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ใช้ความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนให้ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน

เหนืออื่นใดสิ่งที่น่ายกย่องของ ซาฟีนา โกมลตะเมธี  ก็คือ ความเสียสละและอุทิศตนทั้งแรงกายและแรงใจ  รวมถึงการใช้ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ให้กับงานเพื่อสังคม และงานของคณะฯ  เหมาะสมกับการได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวาระสำคัญ ๙๙ ปี และ ๑๐๐  ปีของคณะและมหาวิทยาลัย

   

ผศ. ดร. อภิญญา เฟื่องฟูสกุล (ยาย) อักษรจรัส อบ.43

 

อักษรศาสตร์ คือ ชีวิต

ยาย เริ่มต้นเรียนชั้นประถมศึกษาจนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ยายจบอักษรฯ ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง เอกภาษาฝรั่งเศส  โดยมีวิชาโท คือ ปรัชญาและภาษาอังกฤษ  ทันทีที่เรียนจบปริญญาตรี ยายเรียนต่อปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยใช้เวลาเต็มที่คือ ๕ ปี ระหว่างเรียนปริญญาโท ยายได้ทุนนักเรียนแลกเปลี่ยนไปอยู่มหาวิทยาลัยโซกะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา ๑ ปี 

หลังจากจบปริญญาโท ยายได้รับการชักชวนให้ไปสอนที่มหาวิทยาลัยเกริก โดยยายกับเพื่อน ๆ ช่วยกันวางหลักสูตร ให้กับมหาวิทยาลัย เป็นการบุกเบิกทิศทางของมหาวิทยาลัยจากแนวพาณิชยการมาเป็นมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ยายสอนที่เกริก ๔ ปี ก่อนได้ทุน DAAD  (Deutscher Akademischer Austausch Dienst) ซึ่งเป็นทุนให้เปล่าของเยอรมนีไปเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Bielefeld ยายสอบได้ที่หนึ่งของรุ่นในโรงเรียนสอนภาษาเยอรมัน ก่อนเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย และสำเร็จปริญญาเอกด้านสังคมศาสตร์ โดยทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับมานุษยวิทยาและศาสนา 

หลังจบปริญญาเอกในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ยายได้รับการชักชวนให้มาสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะสังคมศาสตร์ ยายสอนหนังสืออยู่ที่นี่จนถึงปัจจุบัน ( พ.ศ.๒๕๕๙ ) 

นอกจากความสามารถทางการเรียน ยายยังมีความสามารถด้านดนตรีอย่างโดดเด่น ยายเป็นนักร้อง ขับร้องเพลงไทยเดิมให้วงดนตรีไทยของโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ มาตั้งแต่ชั้นประถม เมื่อเข้าเรียนที่คณะอักษรฯ ยายก็เข้าเป็นสมาชิกชมรมดนตรีไทยของมูลนิธิหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ในความดูแลของคุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ทายาทของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ โดยเรียนขิมอย่างจริงจังจากอาจารย์ชนก สาคริก  ซึ่งเป็นหลานตาของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ และเป็นหลานป้าของคุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง นอกจากจะได้ฝึกฝนความชำนาญทางการเล่นดนตรีแล้ว ที่นี่ยังได้หล่อหลอมยายให้เป็นผู้ที่เรียนรู้โลกทัศน์ของความเอื้ออาทรและจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างแท้จริง   ยายฝึกฝนการเล่นดนตรีที่บ้านหลังนี้ทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ติดต่อกันเป็นเวลาถึง ๑๐ ปี  ยายกล่าวว่า การเล่นดนตรีคือความละเมียดละไมของชีวิต การเล่นดนตรีทำให้หูละเอียด ตาละเอียด มือละเอียด จนกระทั่งใจละเอียด นอกจากเล่นขิมแล้ว ยายยังสนใจและฝึกฝนการเล่นกู่เจิง หรือโกเจ็ง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีของจีน จนสามารถเล่นได้อย่างเชี่ยวชาญ ยายนำเครื่องดนตรีชนิดนี้ไปฝึกซ้อมระหว่างเรียนต่อปริญญาเอกที่เยอรมนีด้วย ทำให้มีโอกาสร่วมแสดงดนตรีในกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นระหว่างช่วงเวลานั้น

 ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๔๑ จนถึงปัจจุบัน ยายปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังที่วัดถ้ำดอยโตน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่   และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐  ทางวัดเริ่มจัดอบรมธรรมะสำหรับชาวต่างชาติอีกด้วย โดยยายอุทิศตนเป็นธรรมบริกร ทำหน้าที่เป็นล่ามให้กับพระอาจารย์ปิยทัสสีภิกขุ เและแปลหนังสือธรรมะของพระอาจารย์เป็นภาษาอังกฤษ รวมถึงเป็นผู้ช่วยจัดอบรมวิปัสสนาให้กับคริสตศาสนิกชน ลัทธิ Jesuit ที่ต้องการมาศึกษาวิปัสสนาสมาธิ ที่วัดถ้ำดอยโตนปีละครั้ง 

จากประวัติชีวิตอันทรงคุณค่าของยาย ยายกล่าวว่า อักษรศาสตร์คือพื้นฐานของทุกสิ่ง ยายมีความเป็นอักษรศาสตร์ตั้งแต่ดั้งเดิม ชอบอ่านวรรณคดีมาตั้งแต่เด็ก คณะอักษรศาสตร์เป็นอันดับแรกและอันดับเดียวที่ยายเลือก โดยคิดว่า ถ้าไม่ติดคณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ ก็จะเอ็นทรานซ์ใหม่  อักษรศาสตร์ช่วยให้ยายมองโลกผ่านความงามและความรู้สึกจากภายใน ทำให้การรับรู้ผ่านโสตประสาททุกชนิดของยายละเอียดอ่อนและแหลมคม ช่วยให้ยายเข้าใจโจทย์ยาก ๆ ของชีวิต และช่วยให้ยายเข้าใจความเป็นมนุษย์อย่างลึกซึ้ง และความละเอียดอ่อนนี้เองที่ช่วยเป็นเข็มทิศประคองยายให้ผ่านวิกฤติต่าง ๆในชีวิตตลอดมา ถึงแม้ว่าอักษรศาสตร์จะไม่ใช่การเรียนเพื่อประกอบสาขาวิชาชีพโดยตรง แต่ยายมองว่าอักษรศาสตร์คือข้อได้เปรียบที่จะพัฒนาเราให้ทำงานทุกอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเอาความรู้ความเข้าใจเหล่านี้มาเสริมศักยภาพ ทำให้เราประสบความสำเร็จไม่ว่าเราจะประกอบสาขาอาชีพใดก็ตาม 

ถ่ายทอดโดย ปู (กษมา กู้ตลาด)

พลเรือตรีหญิง ดร.อารยา อัมระปาล (เนียมลอย) (อ้อย) อักษรจรัส อบ.43

 

นายพลหญิงของรุ่นที่แสนสุภาพ อ่อนโยน และเก่งรอบด้าน 

อ้อยจบ ม.ศ. ๓ จากโรงเรียนเซนต์โยเซฟ บางนา และมาต่อ ม.ศ. ๔-๕  ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ โดยโรงเรียนตั้งเงื่อนไขว่า ต้องเรียนสายศิลป์ ทำให้อ้อยซึ่งตอนนั้นสนใจเรียนวิทย์มากกว่า ต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางมาเรียนศิลป์ภาษา อ้อยเข้าอักษรฯ โดยมีวิชาเอกคือภาษาฝรั่งเศส วิชาโทภาษาอังกฤษและประวัติศาสตร์ ด้วยความขยันหมั่นรู้ อ้อยยังไปลงเลือกเสรี เรียนจิตวิทยาที่คณะครุศาสตร์ เพราะในใจลึก ๆ แล้ว อ้อยอยากเป็นครู 

อ้อยจบอักษรศาสตร์ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และทำตามฝันของตัวเองด้วยการเริ่มงานที่ศูนย์ภาษาทหารเรือ สอนผู้ที่ได้รับทุน หรือมีภารกิจต่างประเทศ เมื่อทำงานที่นี่ครบ ๓ ปี อ้อยได้ทุนพัฒนาองค์บุคคลของกองทัพเรือไปเรียนต่อสาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา จนจบปริญญาโทและเอกในเวลา ๕ ปี 

เส้นทางชีวิตเหมือนถูกลิขิตมา มีบางคราวรู้สึกท้อแต่ก็เหมือนมีอะไรมาดลใจให้ลุกขึ้นสู้และทำทุกอย่างจนสำเร็จ อ้อยเชื่อว่าทุกอย่างมีหลักการและเหตุผล หลังจบปริญญาเอก อ้อยกลับมาทำงานต่อที่ศูนย์ภาษา และริเริ่มพัฒนาอุปกรณ์การสอนให้ทันสมัยโดยนำระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยผลิตอุปกรณ์  ต่อมาอ้อยย้ายหน่วยงานไปทำงานที่กองการต่างประเทศ กรมข่าวทหารเรือ รับหน้าที่ร่างเอกสาร ร่างคำกล่าว และทำหนังสือภาษาอังกฤษ ทำได้ระยะหนึ่งจึงลางานติดตามสามี (พลเรือเอก ชัชวาลย์ อัมระปาล) ซึ่งไปดำรงตำแหน่งผู้ช่วยทูตทหารเรือที่อิตาลีเป็นเวลา ๓ ปี เป็นอีกประสบการณ์หนึ่ง ที่ทำให้อ้อยได้เรียนรู้งานเพิ่มขึ้นอีกหลายด้าน

 

เมื่อกลับมารับราชการต่อ อ้อยได้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ กองเลขานุการ สำนักงานเลขานุการ แปลหนังสือของกองทัพเรือ ทำงานด้านวิชาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือ จากจุดนี้เอง ทำให้อ้อยเริ่มสนใจการทำสารคดี โดยเริ่มจากการทำสารคดี เรื่อง เรือในพระราชพิธี  เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระราชอาคันตุกะที่มาเยือนในวโรกาสเถลิงถวัลย์ราชสมบัติครบ ๖๐ พรรษา และได้มีโอกาสสร้างผลงานที่ภาคภูมิใจจากการเป็นเลขานุการคณะกรรมการจัดทำสารคดีและสื่อโทรทัศน์ กองทัพเรือ ซึ่งอ้อยก็เป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้มีการจัดตั้งขึ้น โดยได้รับงบประมาณรายปีจากกองทัพเรือ และได้ทุนสนับสนุนจากค่ายนอกด้วย อ้อยเป็นผู้เขียนบท ช่วยกำกับ และแปลบทเป็นภาษาอังกฤษ สารคดีหลายเรื่องหลากชุดที่จัดทำล้วนแต่ได้รับเสียงชื่นชมเมื่อออกอากาศสู่สายตาประชาชน เช่นเรื่องล่าสุด (๒๕๕๘)  ชุด ‘ชลยุทธ บุรุษสองแผ่นดิน’ พร้อม ๆ ไปกับงานด้านสารคดี อ้อยยังเริ่มงานแปลหนังสือด้วยการเป็นนักแปลอิสระ มีบทความตีพิมพ์ตามนิตยสาร และสถาบันต่าง ๆ รวมทั้งงานแปลสำหรับนิทรรศการตามพิพิธภัณฑ์ และสถานที่อื่น ๆ อีกด้วย

 อ้อยมีความสุขที่ได้ทำสิ่งเหล่านี้ เพราะอ้อยมีใจรักทางด้านประวัติศาสตร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้วตามที่ได้เล่าเรียนมา แต่ยังมีงานอีกแขนงหนึ่งที่อ้อยรู้สึกภูมิใจเป็นพิเศษ นั่นคือ การเป็นล่ามพูดพร้อม อ้อยเริ่มงานเป็นล่ามพูดพร้อมมาตั้งแต่เริ่มทำงานในกองทัพเรือ และฝึกฝนจนสามารถทำได้ดี แต่ยังไม่มีโอกาสทำงานนี้อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งไปเป็นล่ามที่เสถียรธรรมสถาน ทำให้ได้พบผู้ชักชวนให้ต่อยอดการเป็นล่ามได้กว้างออกไป อ้อยมีโอกาสไปเป็นล่ามในงานสำคัญ ๆ เช่น World Economic Forum ที่มาจัดที่ประเทศไทย และมีโอกาสร่วมงานทั้งในระดับชาติและนานาชาติอีกหลายคราว

อ้อยชอบการเป็นล่าม อ้อยกล่าวว่า การเป็นล่ามนอกจากจะต้องอาศัยทักษะทางภาษาแล้ว ยังต้องอาศัยความสามารถในการสื่อสารเพื่อความเข้าใจทั้งสองฝ่ายอย่างตรงไปตรงมาและถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ผู้ที่ทำหน้าที่ล่ามต้องมีความสามารถในการเลือกคำและตีความซึ่งต้องอาศัยทักษะและการฝึกฝนเท่านั้น อ้อยจึงภูมิใจในหน้าที่อันมีเกียรตินี้เป็นอย่างมาก

อ้อยกล่าวถึงการเรียนอักษรศาสตร์ไว้อย่างน่าคิดว่า อักษรศาสตร์ไม่ได้สอนวิชาความรู้อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของคุณค่าต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน อักษรศาสตร์ คือพื้นฐานของการศึกษาของเราที่เราจะนำมาต่อยอดเป็นศาสตร์แขนงต่าง ๆ ให้ลึกซึ้งขึ้นไปอีกตามความต้องการ แต่เราต้องมีพื้นฐานที่แน่นหนาสมบูรณ์เพื่อรองรับศาสตร์ต่าง ๆ ที่จะตามมาต่อยอด ดังนั้น วิชาอักษรศาสตร์ที่เราได้รับ คือสิ่งที่มีคุณค่าและสำคัญต่อชีวิตของเราที่จะตามมาในอนาคต และวันนี้อักษรศาสตร์ได้เป็นพื้นฐานให้อ้อยอย่างเต็มที่ เพราะอ้อยได้ใช้ความรู้ความสามารถจากความเพียรพยายาม จนกลายเป็นพื้นอักษรศาสตร์ที่นำมาต่อยอดพีระมิดได้อย่างงดงามน่าภาคภูมิใจ

  เรียบเรียงโดย ปู (กษมา กู้ตลาด)

 

พัชนี กิจถาวร (จิ๋ม) อักษรจรัส อบ.43

เอกอัคราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต

จิ๋ม เกิดและโตที่ปัตตานี  จบชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนสตรีวิทยา และจบมหาวิทยาลัยจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกอังกฤษ โทประวัติศาสตร์    

เข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ โดยเริ่มทำงานครั้งแรกที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย  ดูแลตรวจทานร่างความตกลงและสนธิสัญญาที่หน่วยราชการไทยจะทำกับประเทศอื่น  และงานประจำสำนักเลขานุการกรม  ทำไปสี่ปี  ถึงคราวออกประจำการ กระทรวงฯ ส่งไปกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก  ได้ไปทำงานกับท่านเอกอัครราชทูต สถิตย์ เสถียรไทย  อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ และคุณชูศรี เสถียรไทย ภริยา  จิ๋มเล่าว่า  ท่านเป็นนายที่เพียบพร้อมทั้งคุณวุฒิและเมตตาธรรม  ท่านอบรมสั่งสอนให้รู้จักพิธีการทูตที่ถูกต้อง  การวางตัวในฐานะนักการทูตซึ่งเป็นตัวแทนประเทศไทยในประเทศที่เราประจำการ เมื่อครบวาระสี่ปีจึงกลับประเทศไทย  และได้ไปทำงานที่กรมสารนิเทศ  ซึ่งเป็นงานที่ถูกจริตสาวอักษรมาก  เพราะมีทั้งการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย  การส่งเสริมภาพลักษณ์ไทย  รวมทั้งงานจำทำหนังสือในวาระสำคัญ ๆ  หลังจากนั้นก็สมัครไปประจำการกรุงมอสโกว  สหภาพโซเวียต  เพราะประทับใจมหาวิหารเซนต์เบซิล  ซึ่งรวมความงามของศิลปะยุโรปและสีสันรูปทรงโดดเด่นแบบตะวันออกได้อย่างกลมกลืน  

เมื่อถึงวันเดินทาง ปรากฏว่าสหภาพโซเวียตล่มสลาย  แยกเป็นประเทศเครือรัฐเอกราช ๑๒ ประเทศ  งานที่ทำส่วนหนึ่งคือ  การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศเกิดใหม่เหล่านี้  และเป็นช่วงที่มีการสู้รบแย่งชิงอำนาจระหว่างประธานาธิบดีคนแรกของรัสเซีย (บอริส เยลต์ซิน) กับฝ่ายรัฐสภา เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ การต่อสู้รุนแรงมาก ท่านทูตกษิต ภิรมย์ สั่งให้ข้าราชการอพยพไปอยู่ที่ทำเนียบทูต  เตรียมพร้อมอพยพ  แต่เหตุการณ์ก็สงบลงได้หลังการปราบปรามฝ่ายรัฐสภาอย่างราบคาบ  หลังจากอยู่ประจำการจนครบวาระ  

คราวนี้ต้องกลับมากทำงานที่กรมยุโรป  ดูแลเรื่องความสัมพันธ์ทวิภาคีไทยกับประเทศต่าง ๆ เปลี่ยนแนวไปทำงานด้านการเมืองระหว่างประเทศ และออกไปประจำสถานทูตไทยที่กรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์  ซึ่งเป็นประเทศที่สมบูรณ์พร้อมทั้งธรรมชาติที่งดงาม และผลงานของคนสวิสที่มีคุณภาพเป็นอย่างยิ่ง  ช่วงที่ทำงานที่นั่น  มีภารกิจรับรองคณะของไทยมากมายทั้งระดับราชวงศ์  ผู้บริหารของหน่วยงานต่าง ๆ  และคณะดูงานจากไทย  ซึ่งมีความสามารถสรรหาวัตถุประสงค์การดูงานได้หลากหลายมาก  ตั้งแต่ดูงานการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์  จนถึงงานกำจัดขยะ  แต่ผลการดูงานจะเกิดประโยชน์อย่างไรบ้างก็จนปัญญาที่จะสืบค้น

จิ๋มประจำการอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์สี่ปี  มีความสุขมาก  เพราะมีเพื่อนดี ๆ  เวลาว่างก็ชักชวนกันขับรถไปเที่ยวประเทศต่าง ๆ เมื่อ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เกิดภัยสึนามิในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทย  ตอนนั้นจิ๋มขับรถเที่ยวกับเพื่อนอยู่ตอนเหนือของประเทศอิตาลี ท่านทูตประดาป พิบูลย์สงคราม  โทรไปถามว่าอยู่ที่ไหน ให้กลับมาได้ไหม  เพราะเกิดสึนามิ จึงรีบกลับมาเตรียมประชุมกับหน่วยงานความช่วยเหลือของสวิตเซอร์แลนด์ที่เชี่ยวชาญการรับมือภัยพิบัติ  จิ๋มนั่งอยู่คนเดียวในสถานทูต มีคนมาเคาะประตู  เปิดไปก็เจอหนุ่มหล่อยื่นช่อดอกไม้ให้  บอกว่ามาขอบคุณคนไทยที่ช่วยเหลือคนต่างชาติที่ประสบภัยสึนามิในไทย

กลับจากกรุงเบิร์นราวปี พ.ศ. ๒๕๔๘  ก็ได้รับมอบหมายไปเป็นผู้อำนวยการกองลาตินอเมริกา ช่วงนั้นได้ทำโครงการแนะนำประเทศลาติอเมริกาให้คนไทยรู้จักมากขึ้น  ประเทศหนึ่งที่เลือกมาเข้าโครงการคือ  ประเทศคิวบา เพราะเป็นประเทศที่ต่อต้านสหรัฐอเมริกาจนถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมาหลายสิบปี  แต่ก็ยังยืนหยัดอยู่ได้  เมื่อไปที่นั่นก็ประทับใจความเป็นมิตรของผู้คน ธรรมชาติ และประวัติศาสตร์  ตอนนั้นก็เชื่อเลยว่า  อีกไม่นาน อเมริกาจะต้องยอมรับคิวบาอย่างที่เขาเป็น  ซึ่งประธานาธิบดีโอบามาก็เพิ่งไปรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับคิวบาเมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

ออกประจำการคราวต่อไปเลยได้ไปประเทศบราซิล  ตอนแรกก็ปรับตัวยากแบบที่เขาเรียกว่า culture shock  เพราะเคยทำงานแต่ในยุโรป  แต่คนบราซิลมีวิธีคิด วิธีใช้ชีวิตคนละขั้วกับคนยุโรป  ที่นี่ ทุกคนมีชีวิตอยู่เพื่อความสุขในวันนี้ พรุ่งนี้ยังมาไม่ถึง อยู่ ๆ ไปก็สนุกสนานกับการใช้เวลานอกบ้าน กิน ดื่ม คุย นัดกินข้าวเย็นก็เลิกกันตีสอง  อะไรทำนองนั้น  และคนบราซิลเป็นมิตรง่ายมาก  แถมเป็นโอกาสได้ไปเที่ยวประเทศต่าง ๆ ในอเมริกาใต้อย่างทั่วถึง  ตอนย้ายกลับจึงอาลัยอาวรณ์พอสมควร

หลังจากนั้นก็ย้ายกลับมาเป็นรอบอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้  และต่อมาก็เป็นรองอธิบดีกรมยุโรป  เป็นช่วงที่ต้องทำงานหนัก ใช้เวลาอยู่ที่ทำงานยาวนาน  และต้องเดินทางไปราชการบ่อย ๆ  แถมด้วยการเป็นผู้แทนกระทรวงในการชี้แจงตอบข้อซักถามของฝ่ายการเมืองในรัฐสภาและฝ่ายบริหารทางทำเนียบรัฐบาลในกระทรวงฯ   จิ๋มพูดเล่น ๆ ว่า การทำงานในกระทรวง  คือการทำงานที่ยากลำบากที่สุด  ป่วยไม่ได้แต่ตายได้  คือ งานไม่มีวันหยุด วันพัก

โชคดีที่ปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง  ซึ่งเป็นเมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง  สาธารณรัฐประชาชนจีน  ซึ่งเป็นมณฑลที่รัฐบาลจีนกำหนดให้เป็นประตูสู่อาเซียน  มีธรรมชาติที่งดงาม มีเมืองที่มีชื่อเสียงคือ กุ้ยหลิน ที่นี่คนส่วนใหญ่เชื้อสายจ้วง  ซึ่งว่ากันว่ามีวัฒนธรรมและชาติพันธุ์เดียวกับคนไทย  อาหารไทย  ละครไทย  ดนตรีไทย ทุกอย่างที่เป็นไทย ได้รับความนิยมอย่างมาก  กงสุลใหญ่ไทยจะได้รับเชิญไปร่วมงานสารพัด  ก็พยายามจะเข้าร่วมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  เพราะถือว่าเขาเชิญเราในฐานะผู้แทนประเทศไทย

จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙  ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงดิลี ติมอร์-เลสเต และเดินทางไปรับหน้าที่ตั้งแต่วันที่ ๑๒ มีนาคม  ติมอร์เป็นประเทศเกิดใหม่  ประกาศเอกราชจากอินโดนีเซียเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗  สถานทูตประเทศต่าง ๆ ในติมอร์จะให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาสาขาต่าง ๆ  ทหารไทยและตำรวจไทยได้เข้าไปช่วยเหลือติมอร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ที่สำคัญ คือ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  ซึ่งได้เสด็จฯ เยือนติมอร์เมื่อเดือนมกราคม  พ.ศ. ๒๕๕๗ รัฐบาลไทย โดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ  กระทรวงการต่างประเทศ  ก็ได้จัดทำแผนงานการให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

จิ๋มทิ้งท้ายไว้ว่า  ชีวิตคนกระทรวงการต่างประเทศเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  เพราะการมีโอาสไปเดินทางไปตามสถานที่ต่าง ๆ เกือบทั่วโลก ได้พบ ได้รู้จักคนต่างเชื้อชาติต่างวัฒนธรรม การเรียนอักษรศาสตร์ได้ช่วยให้การทำงานในฐานะนักการทูตง่ายขึ้น เพราะการเรียนอักษรฯ มาทำให้เรารู้จักจับประเด็นของเรื่อง  เขียนหนังสือรายงานได้ไว ชัดเจน กระชับ ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของผู้อื่น  พร้อมที่จะยอมรับ  ปรับตัวได้ง่าย  และสามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ดี

 เล่าโดย จิ๋ม

น้อย (อารยา ชวนะพานิช) ประสานงาน

 

ภาณุ สังขะวร รองเลขาธิการ สำนักงาน ก.พ. อักษรจรัส อบ.43

คุณภาณุ สังขะวร หรืออ๊อดของเพื่อนๆ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.)  สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาโทที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิชาภาษาไทย (ทฤษฎีทางภาษา) นอกจากนี้ อ๊อดยังมีปริญญาโทใบที่สองด้านรัฐประศาสนศาสตร์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Diploma สาขา Personnel Management & Industrial Relations  จาก มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ โดยได้รับทุนจาก British Council  อีกด้วย

ในส่วนของการทำงาน  ขณะเรียนปริญญาโทที่คณะอักษรฯ อ๊อดเข้าทำงานที่ ก.พ. โดยในช่วงแรก อ๊อดเป็นหนึ่งในทีมสร้างข้อสอบภาษาไทยของ ก.พ.  ได้นำความรู้ด้านทฤษฎีทางภาษามาใช้โดยตรง ในเชิงนำมาประยุกต์ว่า หากจะต้องออกข้อสอบหลายๆข้อ ให้มีค่าความยากง่ายใกล้เคียงกันนั้น จะต้องทำอย่างไร

ต่อมามีการหมุนเวียนงานที่รับผิดชอบ ช่วงหนึ่งอ๊อดทำงานด้านบริหารงานบุคคล หลังจากนั้นไปประจำสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในต่างประเทศ ณ กรุง Canberra ประเทศ Australia ซึ่งมีเขตอาณา ครอบคลุมไปถึงประเทศ New Zealand ด้วย อ๊อดได้ประจำอยู่ที่ Canberra เป็นเวลา ๓ ปี นอกเหนือจากดูแลและเยียมเยียนนักเรียนทุนรัฐบาลไทยซึ่งกระจายเรียนอยู่ในทุกรัฐที่ออสเตรเลียและหลาย ๆ เมืองในนิวซีแลนด์แล้ว  ยังต้องประสานงานกับหน่วยงานราชการของไทยที่มาศึกษาดูงานกับสถานศึกษา ทำให้ต้องตระเวนนัดประชุมพบปะกับนักเรียน ตลอดจนบุคลากรของสถานศึกษา ซึ่งมีนโยบายต้องการได้นักเรียนทุนรัฐบาลไทยไปเรียน เพราะจะได้รับรายได้ที่แน่นอน และนักเรียนทุนรัฐบาลไทยเป็นนักเรียนที่มีคุณภาพ สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย จึงเป็นเหตุให้ต้องเดินทางมาก

ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างทำงานที่ Canberra ได้เพียง ๒ เดือนเศษ ไม่ใช่ความประทับใจ แต่เป็นกรณีที่ทดสอบความสามารถ คือ นักเรียนที่อยู่ในความดูแลเสียชีวิตกะทันหัน เนื่องจากเส้นโลหิตในสมองแตกฉับพลัน และผ่าตัดที่โรงพยาบาล เพียงคืนเดียวก็เสียชีวิต อ๊อดในฐานะผู้ดูแลนักเรียน จึงต้องเป็นผู้ประสานงานทุกอย่าง ทั้งกับโรงพยาบาล กับญาติผู้ตาย การนำศพกลับมาบำเพ็ญกุศลที่ประเทศไทย  ตลอดจนดำเนินการปิดบัญชีธนาคาร และส่งเงินคืนให้กับญาติ
ถือเป็นประสบการณ์ในการทำงานที่สำคัญยิ่ง เพราะสอนให้เรียนรู้และสามารถรับมือกับวิกฤติได้ งานหรืออุปสรรคใดๆที่ตามมาก็ไม่ใช่เรื่องยาก

สำหรับความประทับใจต่อการได้เข้าศึกษาในคณะอักษรศาสตร์นั้น อ๊อดได้ถ่ายทอดความคิดเห็นและความรู้สึกไว้ ดังนี้

“ผมรู้สึกว่าการสอบเข้ามาเรียนคณะอักษรศาสตร์ในสมัยนั้น เป็นการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงมาก เพราะฉะนั้นคนที่สอบเข้าได้ก็ล้วนเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ มีสติปัญญา ข้อดีข้อแรกก็คือ เราได้ไปเรียนกับคนที่มีความรู้ มีสติปัญญา ตรงนี้ชัดเจนที่สุด ไม่ต้องอธิบายอะไรอีก เพราะการที่จะหาสิ่งแวดล้อมแบบนี้ ไม่ใช่ว่าจะหาที่ไหนก็ได้ คณะอักษรศาสตร์เป็นอีกที่หนึ่ง หลังจากที่ผมเคยได้อยู่ในบริบทนี้ คือการได้เข้าไปอยู่ในแวดวงคนเก่ง นอกเหนือจากความรู้ที่ได้ทางวิชาการแล้ว การที่เราได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากเพื่อนก็ถือว่าเป็นกำไรชีวิตแล้ว

 

ประเด็นที่ ๒ สิ่งที่เพื่อนๆ นิสิตคิด ไม่ใช่แค่ความรู้ทางด้านวิชาการ แต่เป็นวิธีคิด วิธีแก้ปัญหาชีวิต ที่นอกเหนือจากเรื่องวิชาการ เราก็ได้มุมมองความคิดจากเพื่อน เช่น เพื่อนๆ ส่วนใหญ่มองโลกในแง่ดี หากเจอสถานการณ์อย่างเดียวกัน วิธีคิด มุมมองที่มีต่อสถานการณ์นั้นอาจต่างกัน และหากเรามองตามมุมมองของเขา ก็จะได้แง่คิดในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ดีกว่า โดยเราจะมีมุมมองที่กว้างขึ้น

ในแง่วิชาการ ผมคิดว่าผมมีทักษะทางวิทย์มากกว่าทางศิลป์  เพราะมีเหตุผลที่จะอธิบาย แม้ว่าบางทีผู้คนจะบอกว่าภาษาไม่มีคำอธิบาย เช่น GO อ่านว่า โก แต่ทำไม TO ออกเสียง ทู  แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มากก็น้อย ภาษาก็มีเหตุผลในตัวมันเอง มิฉะนั้นก็จะไม่มีทางสื่อสารให้เข้าใจกันได้เลย ผมว่าเนื้อหาวิชาภาษาไทยที่เรียน ได้นำมาใช้ในการทำงานอย่างเต็มที่ในตอนที่ออกข้อสอบภาษาไทย อีกส่วนหนึ่งคือ วิธีเรียนภาษาไทยด้วยทฤษฎีทางภาษาศาสตร์ทำให้เรามีมุมมอง และคิดอย่างเป็นระบบ

เหตุผลที่เลือกเรียนภาษาสเปน ก็สอดคล้องกับเหตุผลที่เลือกเรียนวิชาภาษาไทย เพราะตัวอักษรของภาษาสเปน ไม่ต้องเรียนรู้เพิ่ม ในขณะที่ภาษาญี่ปุ่น ต้องเรียนทั้งตัวเขียนและไวยากรณ์ นอกจากนั้นผมยังไม่มีพื้นฐานภาษาฝรั่งเศสหรือเยอรมันจากระดับมัธยมเลย ภาษาสเปนจึงเป็นตัวเลือก

วิชาจากคณะอักษรศาตร์ทำให้เราเป็นนายของภาษา เราอยากจะใช้เพื่อต้องการผลอะไรจากสิ่งที่เราพูดก็ดี หรือสิ่งที่เราเขียนก็ดี เรากำหนดได้ เราเลือกได้ เรามีวิธีที่จะเลือกพูด เลือกเขียน เลือกนำมาใช้ในวัตถุประสงค์ต่างๆ กัน มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ดีมากระหว่างที่เรียนปริญญาโท ทำให้ได้เรียนรู้ทักษะการใช้ภาษา ชื่อ Speech Act เช่น บางครั้งเราต้องการอะไร ไม่จำเป็นต้องพูดตรงๆ ตามนั้น มีวิธีพูดเลี่ยง แต่ได้ผลลัพธ์อย่างที่เราต้องการ การที่เราพูดอย่างนี้ เพราะเราหวังผลอย่างนั้น เขาจับไม่ได้ เพราะเราเป็นนายของภาษา และถ้าจะถามว่าเป็นประโยชน์ต่อ ก.พ. อย่างไร ก็คือ ทักษะเรื่อง  Selection Interview ทักษะในการสัมภาษณ์เพื่อการเลือกคนเข้ามาทำงาน เราจะรู้ว่าควรจะตั้งคำถามอย่างไร เพื่อให้ได้คำตอบในสิ่งที่จะสะท้อนว่า สิ่งที่เขาตอบนั้นเป็นเป้าหมายที่เราต้องการหรือไม่ ว่าคนๆนี้ใช่หรือเปล่า มีความรู้ในงานนี้หรือไม่ เรื่องทักษะในการสัมภาษณ์นี้ ยังใช้มาจนทุกวันนี้ ในการเลือกคนเข้าทำงาน คัดเลือกคนเข้ารับทุนรัฐบาล แม้กระทั่งการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงของกระทรวงต่างๆ ซึ่งผมเป็นผู้แทนอยู่ในหลายๆกระทรวง เพราะฉะนั้นทักษะนี้จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เราสามารถประเมินคนได้ว่าเขาเหมาะสมหรือไม่ เหมาะกับงานนี้อย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้จากคณะอักษรศาสตร์โดยตรง

ในแง่ของการดำรงชีวิตส่วนตัว ความรู้อีกวิชาหนึ่งที่ได้จากคณะอักษรศาสตร์ คือ วิชาศิลปะการละคร ในส่วนที่ผมสนใจก็คือ เทคนิคของการใช้แสง การใช้สี มีวิชาหนึ่งพูดถึงการเคลื่อนไหวของตัวละคร ทุกอย่างมีความหมายทั้งสิ้น เวลาชมภาพยนตร์ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของมุมกล้องหรือแสง ตรงตามทฤษฎีที่เราเรียนมาหรือไม่ ทำให้ดูภาพยนตร์สนุกขึ้น

ความรู้ที่ได้จากคณะอักษรศาสตร์เป็นสื่อ เป็นแนวทาง เป็นสิ่งที่ต้องนำมาต่อยอด ช่วงแรกๆที่เข้ามาทำงานที่ ก.พ. เคยสัมภาษณ์คนที่เข้ารับราชการ หลายคนจบคณะอักษรศาสตร์ บางท่านก้าวไม่ข้ามสื่อ เช่น เรียนอะไรมา ก็รู้แต่สิ่งที่เรียนรู้นั้น แต่สิ่งที่เรียนนั้น สามารถเอาไปปรับใช้ทำอะไรได้มากกว่านั้น คนที่จบคณะอักษรศาสตร์สามารถทำงานได้มากมายหลายสาขา ไม่มีข้อจำกัด ช่วงหนึ่งได้มีโอกาสเป็นผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของสำนักงาน ก.พ. ซึ่งผมสามารถบริหารจัดการด้าน IT ให้สำนักงาน ก.พ. ได้ระดับหนึ่ง เป็นระบบสนับสนุนการทำงานภายใน เพราะต้องเอาเนื้อหาของสิ่งที่เรียนรู้มาประยุกต์ใช้ให้ตรงกับงาน ทุกวันนี้ รู้สึกพอใจในสิ่งที่เรียนมาและสำหรับคนต่างจังหวัดอย่างผม ชีวิตหน้าที่การงานในปัจจุบัน มาได้ไกลเกินกว่าที่คาดไว้ และเรื่องสำคัญที่สุดอีกเรื่องหนึ่งของการเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ ช่วงเวลาที่เรียนเป็นช่วงเดียวกันกับที่สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ยังทรงศึกษาอยู่ ณ คณะอักษรศาสตร์ และผมได้เคยเล่นจะเข้อยู่ในวงดนตรีไทย  เช่น ช่วงงานรับน้อง งานคณะ ฯลฯ  ได้มีโอกาสเห็นพระอิริยาบถ พระจริยาวัตรอันงดงามอย่างใกล้ชิด จำได้จนทุกวันนี้ว่า มีอยู่งานหนึ่ง เวทีที่ขึ้นไปเล่นดนตรีในวันนั้น มีบันไดอยู่ประมาณ ๓ ขั้น เป็นบันไดไม้เล็กๆ เมื่อทรงดนตรีเสร็จแล้ว ท่านจะกลับลงมาที่พื้น ท่านไม่ได้ลงบันได แต่ทรงกระโดดตุ้บลงมาจากเวที  ถือเป็นประสบการณ์และความทรงจำที่พิเศษสุด

บางครั้งสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราเห็น ไม่เหมาะกับยุคนี้สมัยนี้  มันเป็นสื่อ เราต้องเข้าใจและใช้ประโยชน์ทั้งในชีวิตการทำงาน และการดำรงชีวิตให้ได้มากที่สุด ควรต้องมองให้ลึกและกว้าง อย่าคิดแค่เพียงตามตำรา เพราะจะทำให้เราได้น้อยกว่าที่เราควรจะได้”

ขอจบเรื่องราวของอ๊อดลงด้วยคำพูดของผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้ร่วมงานของอ๊อด “ท่านเป็นผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็น Role Model ที่ดียิ่งของสำนักงาน ก.พ. และ เป็นนายที่ทุกคนเคารพและศรัทธาอย่างสนิทใจ” 

 เรียบเรียงโดย ดานี้ (ธนิดา ฤทธาคนี )\

       

     

รองศาสตราจารย์ ดร. สรณัฐ ไตลังคะ (อิราวดี หรืออาม) อักษรจรัส อบ.43

นักวิชาการ สาขาวรรณคดี และวรรณคดีเปรียบเทียบ

อามเป็นศิษย์เก่าชั้นมัธยมต้นจากโรงเรียนราชินี มัธยมปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เข้าศึกษาต่อคณะอักษรศาสตร์ โดยเอกวิชาภาษาไทย โท วิชาภาษาอังกฤษ และ ประวัติศาสตร์   จบปริญญาตรี จากนั้นก็เรียนต่อในระดับปริญญาโทในภาควิชาเดียวกัน

เมื่อจบแล้วได้บรรจุเป็นอาจารย์ทางด้านภาษาและวรรณคดีไทยที่คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ (ต่อมา คือคณะมนุษยศาสตร์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน หลังจากทำงานได้ประมาณ ๓ ปีก็ไปเรียนต่อปริญญาโทอีกทางด้าน Comparative Literature ที่ University of Washington ประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะต้องการขยายขอบเขตทางวิชาการ และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ ก็ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอกที่คณะอักษรศาสตร์ในสาขาวรรณคดีและวรรณคดี  เปรียบเทียบ เรียกได้ว่า จบอักษรศาสตร์ทั้งตรี โท เอก เลยทีเดียว เป็นเพราะรักคณะอักษรศาสตร์มาก และเชื่อมั่นในความเป็นเลิศทางวิชาการของคณะ

ในด้านการงาน มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องเพราะได้ใช้ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา มีตำแหน่งวิชาการเป็น รองศาสตราจารย์ ทางด้านงานบริหาร เคยดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชาวรรณคดี,  เป็นรองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ ฝ่ายวิชาการ   

 นอกจากงานสอนและวิจัยซึ่งเป็นหน้าที่ของอาจารย์แล้ว อามยังเป็นนักวิจารณ์อีกด้วย โดย มีผลงานวิจารณ์วรรณกรรม ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์อย่างต่อเนื่องอยู่หลายปี จนกระทั่งได้รับเลือกให้เป็นกรรมการคัดเลือกและกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์หลายครั้ง  ผลงานทางด้านวิชาการทำให้ได้รับการยอมรับและได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๕๓ – ๒๕๕๔  นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการตัดสินรางวัลอื่นๆ เช่น Young Artists Awards, Young Writers Awards, คณะกรรมการตัดสินรางวัล ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ, คณะกรรมการตัดสินรางวัล ม.ร.ว. อายุมงคล โสณกุล รวมทั้งได้รับเชิญจากกระทรวงวัฒนธรรมให้เป็นกรรมการคัดเลือกหนังสือ และเป็นบรรณาธิการหนังสือหลายเล่มของกระทรวง

อามมีผลงาน ที่ได้รับรางวัลมากมาย อาทิ

พ.ศ. ๒๕๕๗ ได้รับรางวัลวัฒนคุณาธร ผู้ทำคุณประโยชน์ด้านศิลปะ ประเภทบุคคล ของกระทรวงวัฒนธรรม และ พ.ศ. ๒๕๕๘ได้รับรางวัลบุคลากรสายวิชาการดีเด่น กลุ่มอายุตั้งแต่ ๔๐ ปีขึ้นไป ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อามมีความภูมิใจในหน้าที่การงานคือการได้ใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาจากคณะอักษรศาสตร์ในการเป็นผู้ให้ความรู้แก่นิสิตนักศึกษาและบุคคลทั่วไป เพราะความรู้เป็นประทีปที่ขับไล่อวิชชา ทำให้เกิดปัญญา สร้างประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง นอกจากนี้ยังภูมิใจในตำแหน่งนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพราะเป็นตำแหน่งที่ทรงเกียรติ ทำให้ได้ใช้ความรู้สร้างประโยชน์ในด้านวรรณกรรมทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

 

ความคิดเห็นของอามที่มีต่ออักษรศาสตร์กับบทบาททางสังคม

อามให้ความเห็นว่า  แม้ว่าอักษรศาสตร์ไม่ใช่วิชาชีพ แต่เป็นศาสตร์ที่สังคมขาดไม่ได้ เพราะนอกจากจะให้ความรู้ด้านภาษาซึ่งไม่มีข้อจำกัดของวิชาชีพแล้ว ยังให้ความรู้ที่สำคัญ คือ การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ถึงพร้อมทั้งศาสตร์และศิลป์แห่งการดำรงตนเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ ศิษย์ที่ครูภูมิใจ และพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ

 และในความเห็นส่วนตัว อามคิดว่ากว่าจะสอบผ่านแต่ละวิชาที่เป็นวิชาเอกและโทได้นั้น ต้องอ่านหนังสือหลากหลายและอ่านเป็นจำนวนมาก ทำให้เข้าใจภูมิหลังเพื่อนมนุษย์และตนเองในแง่มุมต่างๆมากขึ้นผ่านทางภาษา ศิลปะ วรรณกรรม และวัฒนธรรม

สมัยที่เรียนอยู่คณะอักษรศาสตร์ด้วยกัน สมุดเลคเชอร์ของอามจะโดนเพื่อนอย่างฉันจับจองผูกขาดแทบจะทุกวิชาที่ลงเรียนด้วยกัน เพราะอามจะจดได้ละเอียดด้วยลายมือที่สละสลวย เพื่อนแสนสุขใจที่ลอกได้อย่างง่ายดาย 

อามและเพื่อน ๆ ในกลุ่มยังเป็นนักกิจกรรมตัวยงของคณะและมหาวิทยาลัย ตอนเรียนปี ๔  อามยังได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้านิสิตของชั้นปีอีกด้วย

และยังจำได้เสมอว่าจากอานิสงส์ที่อามได้มีส่วนช่วยคุณพ่อซึ่งเป็นนักแปลบทภาพยนตร์ กลุ่มเพื่อนจะได้รับความอนุเคราะห์บัตรชมภาพยนตร์ฟรีหลายต่อหลายเรื่อง ช่วยทำให้ช่วงเวลาที่เรียนด้วยกันมีความสนุกสนานและมีความทรงจำที่ดีๆร่วมกัน

 ถ่ายทอดโดย ก๊อง (ปณิธาน อัคคีเดช)

 

วริยา ว่องปรีชา (ตุ๊ก) อักษรจรัส อบ.43

นักบริหารการเงิน แห่งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

 

ตั้งแต่เด็กครั้งยังอยู่ร.ร.มาแตร์เดอีวิทยาลัย วริยาเป็นคนตั้งใจเรียน เก่ง เรียบร้อย ขยัน เอาการเอางาน เป็นที่รักของคุณครูและเป็นที่พึ่งทางวิชาการของเพื่อนๆ เสมอ ในช่วงมัธยมปลาย วริยาก็ยังเป็นนักเรียนห้องศิลป์ที่เก่งภาษาฝรั่งเศสที่สุดอีกต่างหาก  วริยาจบม.ศ. ๕ ด้วยคะแนนติดบอร์ด ๑ ใน ๕๐ คนแรกของประเทศ และสอบเข้าเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นอันดับที่ ๑๔ ของปีพ.ศ. ๒๕๑๘  วริยาเลือกเรียนเอกภาษาอังกฤษ  และจบมาด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับสอง

หลังจากจบปริญญาตรีแล้ว วริยายังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะทำการงานอาชีพใด  เนื่องจากครอบครัวอยู่ในแวดวงธุรกิจ วริยาจึงเบนเข็มไปเรียนต่อทางด้านธุรกิจ เอกการเงิน ที่มหาวิทยาลัยอินเดียนา บลูมิงตัน สหรัฐอเมริกา จนจบปริญญาโท และกลับมาทำงานที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจอยู่นับสิบปี จนเติบโตในสายงาน  เป็นถึงผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อ และผู้อำนวยการฝ่ายวานิชธนกิจ ก่อนจะลาออกและมาอยู่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการจนปัจจุบัน  แรกทีเดียว วริยาแทบไม่รู้จักว่า กบข. คืออะไร เนื่องจากเป็นช่วงแรกเริ่มจัดตั้งเมื่อ ๑๙ ปีที่แล้ว แต่การที่เป็นคนเรียนรู้เร็ว จึงสนุกกับงานใหม่ และทุ่มเททำงานจนได้รับความไว้วางใจ และได้มีโอกาสเพิ่มพูนประสบการณ์สลับตำแหน่งงาน (Rotation) รับผิดชอบงานในสายงานต่าง ๆ ที่สำคัญของกองทุน ทั้งงานด้านลงทุน งานกำกับการลงทุน งานด้านนโยบายการลงทุน งานบริหารความเสี่ยง และงานด้านปฏิบัติการ รวมทั้งได้เข้ารับการอบรมในหลักสูตรนักบริหารระดับสูงต่าง ๆ   ปัจจุบัน เธอ คือ รองเลขาธิการกลุ่มงานปฏิบัติการ ของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการก่อนจะเกษียณอายุในเดือนกันยายน ๒๕๕๙ นี้

วริยาเป็นหนึ่งในชาวอักษรศาสตร์จำนวนไม่มากนักที่หาญกล้าเปลี่ยนแนวอาชีพไปสู่ด้านการเงินและตัวเลข ซึ่งเธอก็ทำได้ดีมากเสียด้วย หรือจะพูดไปแล้วเธอก็ทำได้ดีทุกด้านนั่นแหละ  

วริยากล่าวว่าเธอเลือกเรียนอักษรศาสตร์  เพราะชอบภาษา มักประทับใจทุกครั้งที่พบผู้ที่พูดภาษาต่างประเทศได้คล่องแคล่ว สำเนียงไพเราะ จึงมุ่งมั่นจะเป็นเช่นนั้นให้ได้ แต่เมื่อจบปริญญาตรีแล้ว กลับเลือกเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจ สาขาการเงิน ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของผู้จบอักษรศาสตร์  อย่างไรก็ตาม วริยาก็แสดงให้เห็นว่า หากมีความตั้งใจมุ่งมั่น และความมานะพยายามแล้ว ผู้จบอักษรศาสตร์ย่อมทำได้ทั้งสิ้น  เพราะความรู้ทางอักษรศาสตร์นั้นเป็นพื้นฐานอันมีประโยชน์ยิ่งทั้งในการศึกษาต่อต่างประเทศและการทำงาน  ภาษาทำให้ติดต่อสื่อสารกับผู้คนต่างชาติได้สะดวกและเข้าใจลึกซึ้งขึ้น  เป็นสื่อกลางที่ใช้เพื่อการศึกษาทำความเข้าใจวิชาการต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิผล  ทำให้สามารถประยุกต์เทคโนโลยีใหม่ ๆ จากต่างประเทศในทุกแขนง  เพื่อนำมาพัฒนาประเทศของเราให้ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง  วิชาประวัติศาสตร์และอารยธรรมทำให้เข้าใจความเป็นมารวมถึงขนบธรรมเนียมและกรอบความคิดของชนชาติต่าง ๆ อันจะนำไปสู่สัมพันธภาพอันดี  และความสำเร็จในการเจรจาธุรกิจกับชนชาตินั้น ๆ  ความรู้ทางวิชาการและทักษะในการอ่าน เขียน พูดของศิษย์เก่าอักษรศาสตร์มักเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ว่าอยู่ในขั้นดี  วริยาจึงได้รับมอบหมายหน้าที่ให้นำเสนองาน เขียนและกลั่นกรองรายงานต่าง ๆ  รวมทั้งพูดในที่ชุมชนเสมอ  เพื่อให้ผลงานถูกต้องสมบูรณ์  และช่วยให้บรรลุผลตามเจตนารมณ์   วริยาให้ความเห็นว่า  ทักษะสำคัญที่ได้จากการเรียนอักษรศาสตร์คือ  การอ่านแบบตีความ (read between the lines)  อันมีประโยชน์อย่างยิ่ง  ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขวาง  ไม่พิจารณาหรือตัดสินสิ่งใดเพียงผิวเผิน  ทักษะนี้ได้มาจากการอ่านวรรณคดี  วรรณกรรมทั้งหลายในระหว่างเรียนอยู่ในคณะอักษรศาสตร์  ซึ่งต้องอ่านอย่างลึกซึ้ง วิเคราะห์ ตีความถึงสาร ะและนัยที่ซ่อนอยู่

ต่อคำถามที่ว่า หากย้อนเวลากลับไปได้ วริยายังอยากเรียนอักษรศาสตร์อยู่หรือไม่ หรือจะเปลี่ยนไปเรียนบริหารธุรกิจเสียทีเดียว วริยายืนยันว่า เธอยังคงเลือกเรียนอักษรศาสตร์ เธอรักที่จะเรียนวิชาอันเปิดมุมมองให้เห็นความสละสลวยของภาษาและจินตนาการ  ความเปลี่ยนแปลงของมนุษย์และโลก  ความลึกซึ้งของปรัชญาและแนวคิดต่าง ๆ เป็นพื้นฐานที่หนาแน่นมั่นคง ที่จะช่วยต่อยอดสู่การเรียนรู้อื่น ๆ ทุกด้าน

วริยามองว่า  วิชาด้านอักษรศาสตร์นั้น เป็นเสมือนอาหารทางใจ  กล่อมเกลาจิตใจให้สงบและละเอียดประณีต  ในขณะที่วิชาด้านบริหารธุรกิจ เป็นเสมือนอาหารทางกาย  ตื่นเต้นท้าทาย และนำไปใช้ได้ในสัมมาอาชีพ  ความสามารถในการพัฒนาตนเองและต่อยอดการเรียนรู้ด้านแปลกใหม่  รวมทั้งความตั้งใจทุ่มเทกับการงานจนก้าวขึ้นสู้นักบริหารระดับแนวหน้าเช่นนี้  ทำให้วริยา ว่องปรีชาคืออักษรฯ จรัส โดยแท้

ถ่ายทอดโดย เจี๊ยบ (เอื้อนทิพย์ พีระเสถียร) 

วัชรินทร์ ละอองกานต์ (วัชร) อักษรจรัส อบ.43

นักการธนาคารผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยเริ่มต้นจากการเป็นอักษรศาสตรบัณฑิต 

วัชรเป็นโปลิโอที่ขาข้างซ้ายตั้งแต่อายุ ๔ ขวบ ทำให้ขาลีบเล็ก และทำให้วัชรต้องเดินด้วยท่าที่ผิดปรกติมาตั้งแต่นั้น แต่ความบกพร่องทางร่างกายไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับวัชรในการใช้ชีวิตเพื่อการเรียนหรือการทำงานแม้แต่น้อย รวมทั้งการเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลกตามที่ใจฝัน วัชรใช้ความสามารถและความมุ่งมั่นของตนเองนำพาชีวิตก้าวข้ามความบกพร่อง ที่วัชรบอกว่าวัชรไม่เคยรู้สึกเดือดร้อน หรือเห็นว่ามันเป็นปมด้อยแต่อย่างใด ตรงกันข้าม วัชรกลับรู้สึกว่าตนเองได้รับรางวัลจากชีวิตมากมาย แม้อาจจะมีสิ่งที่เสียไป แต่คุณค่าของสิ่งที่ได้มานั้น วัชรคิดว่ามันคือสิ่งมีค่าที่แท้จริงสำหรับชีวิต นั่นคือการเคารพตนเองและเพิ่มคุณค่าให้ตนเองด้วยผลงานที่มาจากมันสมองและสองมือของตน

วัชรเริ่มต้นการศึกษาตั้งแต่อนุบาลจนถึงมศ.๓ ที่โรงเรียนดรุโณทยาน และต่อมามศ.๔-๕ ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อยู่ห้องคิงมาตลอด วัชรจบอักษรฯ โดยเอกวิชาภาษาอังกฤษ โทภาษาฝรั่งเศสและประวัติศาสตร์ ระหว่างที่เรียนปีสี่ เพื่อนชวนให้ไปสมัครงานที่ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ (HSBC) เจ้านายฝรั่งชอบที่วัชรใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ทันทีที่เรียนจบ วัชรจึงได้ทำงานที่ธนาคารแห่งนี้โดยเริ่มจากแผนกต่างประเทศที่ต้องติดต่อกับลูกค้าต่างชาติ ระหว่างเริ่มต้นทำงาน วัชรถูกส่งไปอบรมตามต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ ทำให้วัชรมีโอกาสเรียนรู้งานและเริ่มต้นชีวิตการเดินทางตั้งแต่บัดนั้น แม้ว่าวัชรจะมีความบกพร่องทางด้านการเดินอยู่บ้าง แต่เจ้านายฝรั่งก็สนับสนุนวัชรเป็นอย่างดี เพราะชื่นชมความสามารถของวัชร

การที่วัชรเริ่มต้นทำงานที่ธนาคารแห่งนี้ในช่วงเวลาที่ธนาคารกำลังมีนโยบายส่งเสริมบุคคลากรใหม่ ๆ ทำให้วัชรมีโอกาสเรียนรู้งานหลายด้านจากแผนกต่างประเทศ วัชรย้ายมาทำที่แผนก Treasury ทำงานเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนซื้อขายเงินตรา ต่อมาได้รับความไว้วางใจให้มาดูแลบัญชีและงบประมาณของธนาคาร (Financial Controller) ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งงานที่สำคัญสำหรับธนาคารเป็นอย่างมาก วัชรใช้ความสามารถทางด้านภาษา ควบคู่ไปกับความสามารถทางบัญชีได้อย่างน่าทึ่ง วัชรบอกว่าการที่วัชรมีพื้นฐานที่แน่นดีทางภาษาช่วยวัชรเรื่องการติดต่องาน และเข้าใจตำราทางการเงินที่เป็นภาษาอังกฤษซึ่งจำเป็นต้องเรียนรู้อย่างรวดเร็ว

การทำงานตำแหน่ง CFO หรือ Financial controller นี้ เป็นงานหนัก ต้องมีความรับผิดชอบสูง และเสียสละเวลาส่วนตัวอย่างมาก โดยเฉพาะตอนสิ้นปีที่จะปิดงบบัญชี วัชรต้องทำงานอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ในขณะที่ผู้คนอื่นกำลังฉลองวันขึ้นปีใหม่

เมื่ออิ่มตัวแล้ว วัชรจึงขอย้ายมาทำหน้าที่ควบคุมดูแลบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์  จนได้ดำรงตำแหน่งเป็น
รองกรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ จำกัด ดูแลทุกอย่างเอง รวมทั้งดูแลแผนกบริหารงานบุคคลอีกด้วย ทำให้มีลูกน้องอยู่ภายใต้การดูแลของวัชรอีกเป็นร้อยคน วัชรต้องใช้หลักจิตวิทยาในการดูแลแก้ปัญหาทุกข์สุขของลูกน้อง โดยใช้พื้นฐานจากการเรียนอักษรศาสตร์ ช่วยให้วัชรแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

วัชรใช้ชีวิตทำงานที่ธนาคารฮ่องกงและไฮ้แห่งนี้เป็นเวลา ๑๗ ปี ก่อนจะตามเจ้านายเก่าออกมาทำงานธนาคารที่ตั้งขึ้นใหม่ แต่พอดีเจอกับวิกฤติทางเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ วัชรจึงมาเริ่มต้นชีวิตการทำงานใหม่ที่ธนาคารซิตี้แบงค์ โดยเปลี่ยนลักษณะของงาน จากการทำงานแบบปฏิบัติการมาเป็นการควบคุมนโยบายของการปฎิบัติการอีกชั้นหนึ่ง และทำงานลักษณะนี้เรื่อยมา ตอนแรกวัชรดูแลแต่เพียงลูกค้าที่เป็นบริษัท ต่อมาจึงได้ดูแลลูกค้าที่เป็นสายบุคคลอีกด้วย

การทำงานของวัชรสำคัญมากเพราะต้องกำกับดูแลทั้งกฎระเบียบ และควบคุมจริยธรรมขององค์กร ซึ่งโดยตำแหน่งที่วัชรดำรงอยู่ จำเป็นต้องได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหารสูงสุดของธนาคาร ปัจจุบันวัชรดำรงตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายกำกับการฏิบัติการของธนาคารซิตี้แบงค์ (Citi Country Compliance Officer) และจากตำแหน่งที่มีความสำคัญด้านจริยธรรมเป็นอย่างมากนี้เอง วัชรจึงได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่ง Chairman ของสมาคมธนาคารนานาชาติ มีหน้าที่ติดตามระเบียบและกฎหมายใหม่ ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับธนาคาร

ทุกวันนี้วัชรมีความสุขกับชีวิต และใช้เวลาทั้งที่มีโอกาสจากการปฎิบัติงานและเวลาว่างส่วนตัว ท่องเที่ยวไปในโลกกว้าง วัชรเดินทางมาแล้วทั่วโลก เคยไปประเทศต่าง ๆ มาแล้วไม่ต่ำกว่า ๔๐ ประเทศ วัชรกระตือรือร้นที่จะพบเจอสถานที่ใหม่ ๆ สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ความบกพร่องทางร่างกายไม่ใช่อุปสรรคที่จะตรึงวัชรอยู่กับที่ 

กับความเป็นอักษรศาสตร์วัชรกล่าวไว้ว่า ในโลกปัจจุบัน ภาษาเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในโลกของสังคมธุรกิจ คนที่ใช้ภาษาได้ดีจะสื่อสารได้ดี จะกล้าแสดงความคิดและแสดงตัวตนได้ชัดเจน ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญมาก การกล้าพูดกล้าแสดงออกเพราะมีพื้นฐานทางภาษาที่ดี คือข้อได้เปรียบจากการจบคณะอักษรศาสตร์

ทุกวันนี้วัชรยังรู้สึกขอบคุณอาจารย์และคณะอยู่เสมอสำหรับความรู้ที่ช่วยให้วัชรเดินมาถึงวันที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ในหน้าที่การงานเช่นทุกวันนี้  วัชรกล่าวว่า เป็นเพราะวัชรมีการศึกษาที่ดี มีเพื่อนดี ๆ ที่คอยช่วยเหลือวัชรอยู่เสมออย่างเต็มใจ ทั้งเพื่อนสมัยเรียน และเพื่อนร่วมงานทั้งในอดีตและปัจจุบัน วัชรจึงมีชีวิตที่กล่าวได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะวัชรคือหนึ่งในผู้บริหารสูงสุดของธนาคารชั้นนำของโลกที่มาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย

ร้อยเรียงโดย ปู (กษมา กู้ตลาด)

 

วิภาดา จตุยศพร (เปรมจิตต์ ศาลยาชีวิน - เปียก ) อักษรจรัส อบ.43

ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่  บมจ.อสมท.

นักพากย์เสียงเสน่ห์

การศึกษา: จบมัธยมต้นที่โรงเรียนเซนต์ปอลคอนแวนต์ อ.ศรีราชาจ.ชลบุรี

              : จบมัธยมปลายที่โรงเรียนสตรีวิทยา กรุงเทพฯ

              : จบปริญญาตรีที่คณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาศิลปะการละคร  จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

 เปียกได้เล่าชีวิตการทำงานของตนเองไว้ว่า

“ เริ่มงานครั้งแรกที่บ.แปซิฟิกคอร์ปอเรชั่นประมาณ1ปีโดย ทำหน้าที่ดีเจจัดรายการวิทยุและเขียนคอลัมน์วิจารณ์ภาพยนตร์ในหนังสือสตาร์ ออฟ แปซิฟิก  หลังออกจาก บริษัทแปซิฟิกฯ ได้เข้าทำงานที่ช่อง 9 องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ในฐานะเจ้าหน้าที่ส่งเสริมรายการ โดยทำหน้าที่ผลิตสปอตโปรโมทรายการและสารคดีสั้นประจำวันหยุดนักขัตฤกษ์  ต่อมาได้รับการโปรโมทเป็นหัวหน้าแผนกจัดหาและส่งเสริมรายการ จึงทำหน้าที่เช่าลิขสิทธ์ภาพยนตร์และรายการต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากงานเดิม  ต่อมามีการปรับโครงสร้างงานใน อสมท. โดยทำหน้าที่หัวหน้าส่วนวางแผนและจัดหารายการ  จนได้รับการโปรโมทอีกครั้งเป็น ผู้อำนวยการฝ่ายรายการ สังกัดสำนักโทรทัศน์ (โมเดิร์นไนน์ทีวี)  ส่วนตำแหน่งสุดท้าย คือ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท. ทำหน้าที่กำกับดูแลสำนักโทรทัศน์ ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงวงการโทรทัศน์จากยุคทีวีอนาลอกสู่ยุคทีวีดิจิตอล จึงกำกับดูแลช่อง MCOT  HD และช่อง MCOT FAMILY

 ผลงาน:

๑)  ผลิตรายการภาษาไทยในจอซึ่งได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ เป็นรายการที่คนอักษร ๓ รุ่น ร่วมมือกันโดยทำหน้าที่ดูแลการผลิตรายการและให้เสียงเจ้าจุก   ส่วนนาเดีย ซึ่งขณะนั้นยังเป็นนิสิตอยู่ทำหน้าที่พิธีกร   และมี ครูเฟี๊ยต ซึ่งเป็นครูภาควิชาศิลปการละคร ทำหน้าที่เขียนสคริปต์รายการ

 ๒)  ให้เสียงพากย์ภาพยนตร์และการ์ตูนของช่อง ๙  ซึ่งงานพากย์ครั้งแรกคือเรื่อง พั๊งกี้  บรูสเตอร์ ต้องพากย์ร่วมกับนักพากย์รุ่นใหญ่อย่าง สมจินต์ ธรรมทัต   กำธร  สุวรรณปิยะศิริ  ดาเรศน์ ศาตะจันทร์  เป็นทั้งความกดดันและความท้าทาย  จึงตั้งใจทำงานนี้โดยไม่ให้เป็นตัวถ่วงของทีม จนได้รับรางวัลในการผลิตผลงานสื่อมวลชนดีเด่นเพื่อเยาวชน ประเภทนักพากย์ภาพยนตร์ จากคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ในปี ๒๕๒๙

 

๓)  ผลิตละครเวทีต่อต้านยาเสพติด ชุดมหัศจรรย์วันการ์ตูนบุกโลก  ซึ่งจัดแสดงทุกวันเด็ก ของทุกปี  เป็นงานที่นอกเหนือจากงานและตำแหน่งในหน้าที่  แต่เป็นงานที่เหน็ดเหนื่อยที่สุดในทุก ๆ ปีช่วงวันเด็ก แต่ก็ทำด้วยความรู้สึกว่า 'ถ้าจะมีเด็กสักคนที่อยากลองยาเสพติด  แต่เมื่อได้ดูละครนี้แล้วเปลี่ยนใจ แค่นี้ก็คุ้มเหนื่อยแล้ว'

 ช่วงเวลาที่ดีที่สุด:

๔ ปี ในคณะอักษร  ได้วิชาความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนๆ จากหลากหลายที่ หลากหลายจังหวัด  ได้ทำกิจกรรมของชมรมศิลปการละคร  สมจ. ทำให้มีเพื่อนต่างคณะมากมาย  สิ่งเหล่านี้ คือพื้นฐานที่ทำให้ก้าวเดินจากรั้วจามจุรี สู่โลกภายนอกอย่างมั่นใจ และไม่หวั่นเกรงงานใดๆ ที่ได้รับมอบหมาย  ถึงแม้เป็นงานที่ไม่เคยทำมาก่อน

 คติในการทำงาน:   ซื่อสัตย์  ขยัน อดทน ไม่เกี่ยงงาน

 

ตอนทำภาษาไทยในจอ ได้ทำงานร่วมกับรุ่นน้องทั้งสองคน สนุกมาก  ตอนนั้นคิดถูกจริงๆ ที่เลือกนาเดีย มาเป็นพิธีกร เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่พูดภาษาไทยชัดเจน  มีน้ำเสียงไพเราะ  มีคาแรคเคอร์ของพี่สาวใจดี  ส่วนเจ้าจุก วางคาแรคเตอร์ไว้ว่า เป็นเด็กกระตือรือร้น ช่างซักช่างถาม  ตอนพากย์เสียงเจ้าจุก ได้ลองพากย์เสียงไว้หลายแบบ ในที่สุดก็เลือกน้ำเสียงเด็กผู้ชายอายุราว ๗ ขวบ พูดชัดถ้อยชัดคำ

 และที่ต้องกล่าวถึงอีกคน คือ ครูเฟี๊ยต ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของรายการ  บทที่ครูเฟี๊ยตเขียนทั้งให้ความรู้เรื่องภาษาไทย ทั้งสอดแทรกอารมณ์ขันมากมาย  ทำให้รายการนี้เป็นที่นิยมอย่างยิ่ง

 ตอนเรียนอยู่อักษร  จำได้ว่า คุณครูนพมาศ แววหงส์ บอกว่าเธอเป็นคนเสียงเพราะ  น่าจะทำงานที่เกี่ยวกับการใช้เสียง  พอจบอักษร ก็ได้เป็นดีเจจัดรายการวิทยุ  แต่จัดรายการอยู่ไม่นานก็ได้ย้ายมาทำช่อง ๙  และได้มีโอกาสอ่านสปอตโปรโมท สปอตโฆษณา ได้อ่านข่าวบริการธุรกิจ  แม้กระทั่งข่าวภาคค่ำก็เคยอ่าน  แต่เลิกอ่านไปเพราะมีนโยบายให้เฉพาะคนที่เป็นนักข่าวมาอ่านข่าว อย่างไรก็ดี  คิดว่าตนเองไม่เหมาะกับการอ่านข่าว  เพื่อนๆ บอกว่า  เวลาที่เธออ่านข่าวสลดหดหู่ หน้าเธอเศร้ามาก  สื่อมวลชนที่ดีควรมีความเป็นกลาง  ส่วนการพากย์หนัง  เป็นงานที่รักมาก และได้มีโอกาสใช้วิชาความรู้ที่เรียนมา  โดยเฉพาะวิชาศิลปการแสดง ต้องขอบคุณ ครูสดใส  ครูนพมาศ  ครูอรชุมา  ครูพี่แตน  ครูแว่น และคุณครูท่านอื่นอีกหลายท่าน   

 การพากย์หนังเปรียบเสมือนการแสดงโดยใช้เสียงสื่ออารมณ์ของตัวแสดง  สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ การใช้เสียงให้เหมาะสมกับตัวคาแรคเตอร์  ไม่ว่าจะเป็นหนังคนแสดงหรือการ์ตูน  เพราะฉะนั้นนักพากย์  จึงพากย์ได้หลายเสียง  ทั้งเสียงนางเอก  นางร้าย เด็กหญิง เด็กชาย คนแก่ เสียงเจ้าหญิง  เสียงขี้ข้า  และแต่ละเสียงก็มีหลายบุคลิก เช่น  นางเอกสุขุม  นางเอกแก่นแก้ว  นางเอกเรียบร้อย  ส่วนนางร้ายก็มีระดับความโหดแตกต่างกันไป  แล้วแต่ว่าผู้กำกับการพากย์ต้องการแบบไหน  ส่วนตัวแล้ว คิดว่าการพากย์ที่ต้องพูดไปร้องไห้ไป  ยากที่สุด  เพราะเวลาร้องไห้ คำพูดบางคำอาจฟังไม่ชัด  แต่การพากย์นี่ไม่ได้เลย  ทุกคำพูดต้องฟังชัดเจน  ไม่งั้นสื่อกับคนดูไม่ได้  สิ่งเหล่านี้อาศัยประสบการณ์ทั้งนั้น   ถึงแม้ตนเองจะผ่านงานพากย์มาเป็นพันๆ ตอน  แต่ทุกวันนี้  ก่อนพากย์ ก็ยังอ่านบทก่อนเพื่อให้เข้าใจตัวคาแรคเตอร์และอารมณ์ของตัวแสดง  ถือคติว่า  จะไม่พากย์จนกว่าจะเข้าใจในสิ่งที่ตัวแสดงพูด  เป็นหน้าที่ผู้กำกับการพากย์ที่ต้องอธิบายจนกว่าเราเข้าใจ 

 คิดว่าที่ตนเองมาถึงจุดนี้ของการพากย์หนัง  มีแฟนคลับที่คอยติดตามผลงานได้นั้น  เรารู้สึกขอขอบคุณคณะอักษรศาสตร์  ขอบคุณบรรดาคุณครูทั้งหลายที่ประสิทธ์ประสาทวิชาให้จริงๆ ”

 เปียก เล่าเอง

น้อย  (อารยา ชวนะพานิช)  ประสานงาน

\

 

ศาสนาจารย์ ดร. ธนาภรณ์ ธนโรจนประดิษฐ์ (ปิ๊ก) อักษรจรัส อบ.43

มนุษย์เราเกิดมาเพื่อเป็น”พร”ให้กับผู้อื่น

นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จัดเป็นนิสิตหัวกะทิสายศิลป์ที่มีศักยภาพหลากหลายสูงสุดคณะหนึ่งที่มีพรสวรรค์พิเศษสามารถผันตัวเองเป็นบุคคลากรทรงคุณภาพหลากหลายอาชีพที่สุด (ไม่รวมวิชาชีพเฉพาะ) ไม่ว่า นักการฑูต โฮสเตส มัคคุเทศก์ ครูอาจารย์ นักวิชาการ เลขานุการ นักประพันธ์ นักบริหารธุรกิจ นักการเงินการตลาด นักลงทุน นักข่าว นักการเมือง นักผลิตโฆษณาสารคดี ผู้กำกับ โฆษกพิธีกร ดารานักแสดง นักร้อง นักสังคมสงเคราะห์ นักบุญ หรือแม้กระทั่ง ศาสนาจารย์ …

ศาสนาจารย์ ดร. ธนาภรณ์ ธนโรจนประดิษฐ์ (ปิ๊ก) สำเร็จการศึกษาคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เอกสาขาประวัติศาสตร์  โทภาษาอังกฤษและบรรณรักษ์ศาสตร์ ความรู้และประสบการณ์ในชีวิตช่วงนี้ เป็นพื้นฐานทำให้เธอได้ก้าวสู่วงการที่ชื่นชอบและใฝ่ฝันในเวลาต่อมา นั่นคือ วงการศาสนจักรแห่งคริสเตียนอย่างเต็มภาคภูมิ ทั้งโบสถ์และคริสตจักรในประทศไทยและในสหรัฐอเมริกา

หลังจากที่ปิ๊กสำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ เธอได้ไปศึกษาต่อปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ ที่สหรัฐตามความประสงค์ของคุณพ่อ แต่เมื่อศึกษาจบ มันกลับไม่ใช่ชีวิตที่ปิ๊กต้องการ ...

ปิ๊กเริ่มค้นหาความต้องการที่แท้จริงของตนเอง และพบว่าการเข้าร่วมคลุกคลีกับกิจกรรมของโบสถ์ไทยในแคลิฟอร์เนีย เช่นที่เธอได้ทำมาในอดีตก่อนไปสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่เธอใฝ่ฝันและเป็นสุขที่สุดจากการได้ดำเนินตามรอยพระโอวาทของพระเยซูเจ้า ผู้ทรงสร้างมนุษย์และทรงสละชีพของพระองค์เพื่อไถ่บาปให้มวลมนุษยชาติ...

ปิ๊กเชื่อว่า มนุษย์เราเกิดมาไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อตัวเองเท่านั้น แต่เราจะเกิดมาเพื่อเป็น”พร”ให้กับผู้อื่น ให้กับเพื่อนมนุษย์ เช่นเดียวกับพระองค์ อันเป็นจุดมุ่งหมายที่สูงและไกลกว่าชีวิตของเราทั้งชีวิต สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน 

ผลงานทางสังคมที่เธอได้สรรค์สร้างสนับสนุนในขณะนั้นมีมากมาย อาทิเช่น งานแปลตำราทางศาสนามากมายกว่า ๓๐ เล่ม  งานจัดรายการวิทยุ “ขยายทัศนะ” เพื่อให้คำปรึกษาคนไทยที่มีปัญหาครอบครัวในคาลิฟอร์เนีย  งานร่วมก่อตั้งโบสถ์ไทยในแคลิฟอร์เนีย

วันหนึ่ง ศิษยาภิบาล (Pastor) หรือบาทหลวงโบสถ์ไทยในสหรัฐฯ เห็นความจริงจังและมุมานะอย่างแท้จริงของปิ๊ก ที่ช่วยกิจกรรมต่าง ๆ ของโบสถ์อย่างไม่เห็นแก่รายได้ จึงสนับสนุนให้เธอเรียนต่อปริญญาโททางศาสนาอีก ๒ ปริญญา (Master of Christian Education และ Master of Divinity) และปริญญาเอกทางศาสนาอีก ๑ ปริญญา  (Doctor of Ministry) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางศาสนาไปสู่ขีดสูงสุด จนเมื่อจบแล้ว ปิ๊กจึงได้กลายเป็นนักเทศน์และศาสนาจารย์ผู้เผยแพร่คริสตศาสนาที่สมบูรณ์แบบแห่งวงการ

ผลงานที่ภาคภูมิใจ ได้แก่ การร่วมจัดตั้งกลุ่มให้คำปรึกษา “Hope Alive”เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีบาดแผลลึกทางอารมณ์จากวัยเด็ก

ปัจจุบันปิ๊กคิดว่า การเข้าใจถึงแก่นของปัญหาในแต่ละครอบครัวเพื่อช่วยตอบโจทย์ปัญหาชีวิตของผู้ทุกข์ยาก ต้องมีพื้นฐานจากประสบการณ์ทำงานจริงในภาคธุรกิจ จึงได้หักมุมชีวิตกลับไปจับสายงานธุรกิจที่บริษัทเบอร์แทรมเคมิคอลจำกัด ควบคู่กับกิจกรรมทางศาสนสังคมชองคริสตจักร

ผลงานทางสังคมได้แก่ กิจกรรมเด็กและสตรี ได้แก่ การจัดทำโครงการร่วมกับมูลนิธิดอยตุง ชื่อ ”สอนร้องเพลงไทย”ให้เด็กนักเรียนชาวเขาที่พูดไทยไม่ชัดให้ร้องเพลงไทยได้ชัดเท่าคนไทย จนขึ้นจัดคอนเสิร์ตในงานเลี้ยงของมูลนิธิได้อย่างน่าภาคภูมิใจ โครงการดูแลช่วยเหลือผู้หญิงที่ต้องขังและต้องแยกกับลูกที่คลอดในคุกเมื่อลูกอายุครบ ๑ ปี  บริษัทจะช่วยสนับสนุนทุนการศึกษาเด็กเหล่านี้ร่วมกับคริสตจักรหรือร่วมกับองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร 

แฟ้มอักษรจรัสขอแสดงความชื่นชมในผลงานชองศาสนาจารย์แห่งวงการพระคริสตธรรมดวงนี้ เพื่อเป็นกำลังใจให้ปฏิบัติและสืบสานศาสนกิจให้ก้าวไกลต่อไปเพื่อสังคมที่มี ”พร” แก่ผู้อื่นเและอนุชนรุ่นใหม่ในสังคมตลอดไป

ร้อยเรียงโดย  เอม (พรพิศ โอภาสวงการ)

 --     

สมัย เมฆวิไลพันธ์ อักษรจรัส อบ.43

ความทรงจำที่ไม่เคยลืมเลือน

อักษรรุ่น ๔๓ คิดว่าไม่มีใครที่ไม่รู้จักสมัย เมฆวิไลพันธุ์ สมัยเป็นคนเก่งมากกกก  จบจากเตรียมอุดมศึกษาฯ  จำได้ว่าเขาเอกอังกฤษ ที่มารู้จักกันเพราะฉันเผลอไปเล่นกีฬา สมัยนั้น ผู้หญิงอักษรฯ เล่นกีฬาน้อย ครั้งนึงเริ่มเล่นอย่างหนึ่งก็มีอันต้องไปเล่นทุกอย่าง เพราะไม่มีใครอื่นยอมเล่น  ทั้งปิงปอง แชร์บอล วอลเลย์ ฟุตบอล

ผู้ชายอักษรก็เช่นกัน เพราะมีจำนวนน้อย  จะโดนเล่นทุกอย่าง  สมัยก็ไม่มีข้อยกเว้น  เลยต้องมาเจอกันบ่อย ๆ หน้าตึก ๔ ซึ่งเป็นห้องกีฬา และสนามกีฬา เมื่อรู้จักกันแล้ว จึงรู้ว่าสมัยเก่งภาษาอังกฤษมาก ความจำเป็นเลิศ  เป็นเด็กเรียนเก่งมาจากอ่างทอง

แต่สิ่งที่จำได้เด่นชัดเรื่องสมัย คือเรื่องที่อยากเล่าให้ฟัง

ช่วงนั้นต้องเข้าเรียนกับสมัยวิชาภาษาอังกฤษ  จำไม่ได้แล้วว่ากับอาจารย์ท่านไหน เข้าเรียนด้วยกันครั้งแรก เป็นอันว่า แกรมม่า โวแคป สมัยเก่งสุด ๆ ถามไร ตอบได้หมดเพราะพี่เธอเล่นอ่านดิค ยามว่าง!!

ขณะที่สอบแกรมม่าเกือบเต็ม แต่สมัยมีจุดด้อยอยู่อย่างหนึ่ง คือ “การพูด”

ใหม่ ๆ ในห้องเรียนเมื่ออาจารย์ถามคำถาม สำเนียงสมัยทำให้อาจารย์ต้อง pardon, excuse me สองสามทีกว่าจะเข้าใจ  เมื่อเข้าเรียนครั้งต่อไป สมัยไม่มา  พอครั้งต่อไปสมัยไม่มาเรียนอีก ด้วยความสงสัย  พบสมัยนอกห้องเรียนอีกที ก็เลยถามสมัยไปว่า ไปไหนมา ทำไมไม่เข้าเรียน มีปัญหาอะไรหรือเปล่า  สมัยตอบหน้าตาเฉยว่า ไปเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มมา

ตอนนั้น ฉันก็งง ถามว่าไปเรียนที่ไหน  สมัยนั้น มันไม่มีสยามสแควร์ติวเตอร์อะไรอย่างปัจจุบัน  และมันก็คงต้องใช้เงินเยอะ  ขนาดฉันยังไม่มีตังค์ไปเรียนพิเศษเลย

สมัยบอก  เราไปซื้อหนังสือมา

เอาละ  เดาซิว่า สมัยไปซื้อหนังสืออะไรมา  เดาทั้งปีก็ไม่มีวันถูก สมัยเปิดเป้แล้วยกให้ดู สมัยไปซื้อหนังสือ..Guide to Wat Po มา !!!!   นี่ละหรือหนังสือสอนภาษาอังกฤษ  สมัยหัวเราะสีหน้า งงสุด ๆ ของฉัน  คำตอบของเขา ทำให้ฉันอึ้ง และทึ่ง

ก้อ.. เราก็ท่องหนังสือเล่มนี้ให้ขึ้นใจ วันไหนเราว่างเราจะแต่งนิสิตไปยืนหน้าวัดโพธิ์  แล้วมองหาฝรั่งกลุ่มเล็ก ๆ นะเพราะกลุ่มใหญ่เราไม่ไหว  กลุ่มเล็ก ๆ   ที่เป็นฝรั่ง อเมริกันหรืออังกฤษ ชาติอื่นไม่เอาเพราะสำเนียงไม่ดี  แล้วเราก็บอกเขาว่า เราเป็นนิสิตจุฬา เราจะเป็น free guide วัดโพธิ์ ให้ แต่ขอให้เขาแก้ไขการออกเสียงของเราให้ถูกต้อง.. เราทำอย่างนี้มาเกือบอาทิตย์แล้ว

นี่ครับทุกท่าน คือการคิดนอกกรอบ คือการคิดที่ล้ำสมัย  คือเรียนได้ตลอดเวลาแม้ไม่มีทุนรอน

 

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหลังจากนั้น การออกเสียงของสมัยเวลาพูดดีขึ้นเด่นชัด จนครูฝรั่งยกนิ้วให้

 

นอกจากนั้นแล้ว ฉันยังรู้มาอีกว่า  ตอนอยู่ปีหนึ่งในยามว่างสมัยนิยมอ่าน Reader Digest, นิยายเรื่องสั้น  มาปีสองฉันเห็นเขาอยู่ในห้องสมุดอ่านหนังสือนวนิยายเล่มโต  ขึ้นปีสามเขาอ่านแมกาซีน บทความมากมายในห้องสมุด  จนปีสี่ วันหนึ่งฉันเห็นเขาอ่านหนังสือเล่มหนาในห้องสมุด เลยไปกระเซ้าว่า อ่านอะไรอีกล่ะ คำตอบของเขาทำฉันอึ้ง… ทึ่งอีกตามเคย

อ่านบันทึกการประชุมของสหประชาชาติ  สำนวนเขาดีมาก เขียนกระชับได้ใจความสุด ๆ ภาษาก็ดี๊ดี ว่าง ๆ เธอควรจะอ่านบ้าง” แล้วก็ก้มหน้าอ่านต่อไป พร้อมกับจดสำนวนที่ชื่นชอบไปด้วย  ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเขาเป็นอาจารย์สามเสนวิทยาลัย ที่ลูกศิษย์เคารพรักตราบถึงวันที่เขาลาจากโลกไปก่อนวัยอันควร

จนบัดนี้ที่ฉันสอนหนังสือมา ๒๐ ปี ฉันยังยกตัวอย่าง “สมัย” ให้ลูกศิษย์ฟังอยู่เนือง ๆ อยู่ว่าเป็นตัวอย่างของความเพียรอันบริสุทธิ์ มีความความคิดสร้างสรรค์ “นอกกรอบ” ตั้งแต่คำคำนี้ยังไม่มีการบัญญัติ ความตั้งใจที่ถูกที่ควรไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ รู้ใดรู้จริงและมุ่งมั่นเพื่อทำงานที่เธอรัก  ไม่เคยดูถูกตัวเองว่า “ทำไม่ได้”

 นี่ละ คือ สมัย เมฆวิไลพันธุ์ 

 ร้อยเรียงความรำลึกถึง โดย อ้อย (อารยา อัมระปาล)

 

อังสนา อาสนจินดา (แอน) อักษรจรัส อบ.43

นายสถานีหญิงคนเก่งของการบินไทย

อังสนา  อาสนจินดา  หรือแอน เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของพวกเราชาวอักษรจุฬา  เธอเข้าเป็นนิสิตของคณะอักษรศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘  เลขประจำตัว ๑๘๑๒๑๘๙ และสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตร์บัณฑิต  สาขาวิชาเอก ภาษาสเปน วิชาโท ภาษาฝรั่งเศส และภาษาไทย เธอเล่าให้ฟังว่า ชีวิตของเธอเป็นชีวิตที่ต้องเดินทางตั้งแต่เด็ก ๆ เธอเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนอนุบาลปฐมวัย ๒ ปี หลังจากนั้นก็มาเรียนที่โรงเรียนมาแตร์เดอีจนถึงชั้นประถมปีที่ ๓   แล้วก็ต้องย้ายตามคุณพ่อ พอ.พิเศษพูนพล อาสนจินดา ซึ่งย้ายไปรับราชการที่จังหวัดเชียงใหม่ เธอจึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย ตั้งแต่ประถมปีที่ ๓ จนกระทั่งจบชั้น ม.ศ. ๕ จึงสอบเข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ และได้กลับมาอยู่กรุงเทพ ฯ อีกครั้ง

เมื่อจบการศึกษา ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เธอเล่าต่อว่าก็ต้องเดินทางกลับไปที่จังหวัดเชียงใหม่อีก เพราะงานแรกที่ทำก็คือเป็นพนักงานของโรงแรมรินคำ จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากทำงานกับโรงแรมรินคำอยู่ประมาณ ๑ ปี  เธอก็สอบบรรจุเข้าเป็นพนักงานของบริษัทการบินไทยจำกัด ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ ๑๕ สิงหาคม  ๒๕๒๒ ในตำแหน่งพนักงานต้อนรับภาคพื้นดิน เธอบอกว่าต้องทำงานทั้งที่สนามบินและสำนักงานในเมือง จึงทำให้มีประสบการณ์ทั้งงานบริการภาคพื้นดิน งานสำรองที่นั่ง และงานออกบัตรโดยสาร (Passenger Reservation and Ticketing)

๘ ปีต่อมา วันที่ ๑๕  สิงหาคม ๒๕๓๐  ทางบริษัทการบินไทยก็มีคำสั่งให้เธอไปดำรงตำแหน่งพนักงานอาวุโสที่สถานีหาดใหญ่ เธอก็ต้องเดินทางจากภาคเหนือลงไปอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย และทำงานอยู่ที่สถานีหาดใหญ่ถึง ๓ ปีครึ่ง  เธอมุ่งมั่นในการทำงานอย่างเอาจริงเอาจัง แม้จะต้องมีอุปสรรคมากมาย แต่ผลงานของเธอก็เป็นที่พอใจของผู้บริหาร  ในที่สุดปี พ.ศ. ๒๕๓๔  เธอก็ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งพนักงานอาวุโสประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส  นับเป็นพนักงานคนแรกจากส่วนภูมิภาคที่ได้ออกไปประจำการที่ต่างประเทศ

ชีวิตคือการเดินทาง  ปี พ.ศ. ๒๕๓๖  คุณอังสนาก็ย้ายกลับมาปฏิบัติหน้าที่ เป็น  Duty Manager ที่กรุงเทพฯ  จนกระทั่งปี ๒๕๓๙  เธอก็ได้รับคำสั่งให้ไปดำรงตำแหน่งนายสถานี  ที่เมืองโอ๊คแลนด์  และต้องอยู่ที่นั่นเป็นเวลาถึง ๕ ปี  จากการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข็มแข็ง มุ่งมั่น และความสามารถในหลายด้าน บวกกับอุปนิสัยที่สุภาพอ่อนโยน ทำให้เธอได้รับการคัดเลือกเป็นนายสถานีดีเด่น ประจำท่าอากาศยานโอ๊คแลนด์ จากการลงคะแนนเลือกของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง  ศุลกากร และนายสถานีของสายการบินต่าง ๆ  ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสนามบินแห่งนั้น

เธอยังเล่าให้ฟังอีกว่า ช่วงปี ๑๙๙๙ ต่อเนื่องปี ๒๐๐๐  ที่เรียกกันว่า Y2แวดวงการบินโลกกำลังตื่นตระหนกและหวั่นเกรงกับความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะส่งผลต่อการปฏิบัติการบิน  สถานีโอ๊คแลนด์ เป็นสถานีแรกของการบินไทย ที่จะต้องพบกับเหตุการณ์ดังกล่าว ด้วยการเตรียมงานอย่างดี จึงทำให้ผ่านพ้นเหตุการณ์ครั้งนั้นไปด้วยความเรียบร้อย

หลังจากนั้น เธอได้กลับมาทำงานที่สถานีกรุงเทพฯ ในตำแหน่ง  Duty Manager อีกครั้ง และถูกขอตัวให้ไปช่วยงานที่แผนกสัญญาการบิน  เพราะชีวิตคือการเดินทาง ปี ๒๕๔๓ เธอก็ต้องเดินทางไปต่างประเทศอีกครั้ง ไปทำหน้าที่นายสถานีเมลเบอร์น ประเทศออสเตรียเลีย  เป็นเวลาถึง ๕ ปีครึ่ง แล้วจึงกลับมารับตำแหน่ง หัวหน้ากองสัญญาซื้อบริการ ตำแหน่งสุดท้ายก่อนจะเกษียณอายุก่อนกำหนดของเธอ (Early retirement) กับบริษัทการบินไทยก็คือ หัวหน้ากองการตลาด ในปี ๒๕๕๖ เพื่อมาดูแลคุณแม่ที่อยู่ในวัยชรา

เธอกล่าวกับเราว่า ๔ ปีเต็มในการศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนให้เธอเป็นผู้ศึกษาเรียนรู้ ค้นคว้าอย่างจริงจัง เพื่อประโยชน์ในการทำงานและการใช้ชีวิต ตอนที่ไปอยู่ที่เมืองโอ๊คแลนด์ เธอศึกษาวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คนที่นั่น ศึกษาประวัติศาสตร์ของพวกเขา เพื่อที่จะปรับใช้ในการทำงานและสังคมกับผู้คน

นอกจากความรู้ทางภาษาต่างประเทศ สาวอักษรฯ อย่างเธอยังได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้คน อักษรฯ จุฬา สอนให้เธอมีมุมมองที่กว้างและล้ำลึก สอนให้เธอมีความสุขุม ไม่บุ่มบ่ามในการตัดสินใจ สอนให้เธอรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา  คนเรามีต้นทุนที่ไม่เท่ากัน  คนเราถูกอบรมสั่งสอนมาไม่เหมือนกัน  วัฒนธรรมของแต่ละชาติย่อมมีความแตกต่าง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้นี่เอง ที่เธอนำมาใช้ในการครองตน ครองคน และครองงาน จนประสบผลสำเร็จในชีวิต

ถ่ายทอดโดย อิ๊บ (สามารถ มีสมรรถ)

 

 

 

เกศนี จิรวัฒน์วงศ์ (ปัณฑวังกูร)(ตุ๊ก)

ชีวิตคือการให้ 

 

ตุ๊กเป็นคนอุบลราชธานีโดยกำเนิด เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนนารีนุกูล และมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จบอักษรศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับสอง วิชาเอกคือ ภาษาฝรั่งเศส  วิชาโทคือ อังกฤษและภาษาศาสตร์ 

ตุ๊กเป็นคนเรียนหนังสือเก่ง ทำงานเก่ง ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจผลิตเสื้อผ้าส่งออกที่มีเครือข่ายกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ตุ๊กเป็นคนจิตใจดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีใจกุศลทำประโยชน์ให้ผู้อื่น โดยจะเห็นได้จากการที่ตุ๊กกับเพื่อนสนิทในกลุ่มได้รวมตัวกันจัดทำบุญในนามของอักษรศาสตร์ รุ่น 43 ติดต่อกันมาเป็นเวลายาวนานเกือบ ๒๐ ปีแล้ว (ปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๙) โดยเริ่มจากการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เพื่อนในรุ่นที่ล่วงลับ จากนั้นกลุ่มของตุ๊กก็เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา โดยเห็นว่ายังมีโรงเรียนอีกมากมายที่ขาดแคลนปัจจัยและอุปกรณ์การเรียนการสอน จึงดำริให้มีการทำบุญเพื่อโรงเรียนที่ขาดแคลนในนามของคณะอักษรศาสตร์ รุ่น ๔๓  แต่ละปี ตุ๊กและคณะจะออกไปสำรวจโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นโรงเรียนตามต่างจังหวัด  เพื่อพบปะพูดคุยกับผู้อำนวยการ และครู  ได้เห็นภาพที่แท้จริงของความขาดแคลนที่กลุ่มสามารถเสริมให้ได้ แทนที่จะต้องรองบประมาณจากส่วนกลางซึ่งไม่เพียงพอ แต่ละปี ตุ๊กและคณะช่วยเหลือโรงเรียนปีละมากกว่าหนึ่งแห่ง โดยเป็นการช่วยเหลืออย่างมีระบบ กล่าวคือ สำรวจและติดตามผลจนสำเร็จ เช่น การก่อสร้างห้องน้ำ การซ่อมแซมอาคารเรียน สนามเด็กเล่น การจัดหาคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่จำเป็น ตุ๊กและคณะจะตั้งกองทุนทำบุญขึ้นมา ทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างชัดเจนเพื่อให้เพื่อนในรุ่นร่วมกันบริจาคสมทบตามแต่ศรัทธา เมื่อถึงวันที่กำหนดจะไปเยี่ยมโรงเรียนที่พวกเรา (นี่คือสิ่งที่เราสามารถจะพูดได้อย่างภูมิใจว่า ‘พวกเรา’) ได้ร่วมกันช่วยเหลือ จะมีการเลี้ยงอาหารกลางวัน และคุณครู นักเรียน รวมถึงผู้ปกครองที่เป็นคนในท้องถิ่น ถือเป็นโอกาสที่จะได้พบกันระหว่างผู้ให้และผู้รับ โดยจะมีการกล่าวขอบคุณซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความประทับใจและความซาบซึ้งใจอันเกิดจากการให้และการรับอย่างที่ยากจะบรรยายได้

 โดยส่วนตัวของตุ๊กเอง  ได้ช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการก่อสร้างอนุสรณ์สถานหลวงปู่มั่น ภูริทัติโต ที่วัดเลียบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี การสร้างพระใหญ่ สถานปฏิบัติธรรมสำหรับสตรี และอื่น ๆ อีกมากมาย จนได้รับประทานรางวัล ‘เสาอโศกผู้นำศีลธรรม’ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ในฐานะบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา 

การได้เรียนในคณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ นี้  ตุ๊กถือว่าคือความฝันที่เป็นจริง ทั้งนี้ ตัวตุ๊กเองก็ถนัดด้านนี้อยู่แล้วเป็นทุนเดิม หากแต่การได้มาเรียนในคณะอักษรศาสตร์ได้สอนให้เป็นคนเต็มคน สอนให้มองชีวิตอย่างมีหลายมิติ มองได้รอบด้าน ทำให้เข้าใจสิ่งที่ตัวเองกระทำอยู่ และนำมาแก้ไขปัญหาในการดำเนินชีวิตและการงานได้อย่างถูกต้อง การเรียนเชิงวิชาการของคณะอักษรศาสตร์ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียนเชิงวิเคราะห์ที่ช่วยสร้างเราให้คิดเป็น

ตุ๊กเปรียบตัวเองเป็นเหมือนก้อนดินที่กำลังจะถูกนำมาปั้น เมื่อผ่านวันเวลาในการเรียนอักษรศาสตร์ ช่วงเวลาที่มีค่านี้เอง คือการช่วยนวดก้อนดินก้อนนั้น ให้เป็นดินเนื้อดีที่พร้อมรับการหล่อหลอมตามประสบการณ์ของการทำงานที่เราได้เลือก ให้ออกมาเป็นรูปร่างของภาชนะที่ดีงามอย่างที่ตั้งใจจะให้เป็น และใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ นั่นเป็นเพราะอักษรศาสตร์ทำให้เราได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวและเติมเต็มความเป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพให้เรา

สำหรับตุ๊ก ชีวิตคือการให้  ตุ๊กบอกว่าตนเองโชคดีที่เกิดมาในครอบครัวที่มีสัมมาทิฐิ ตุ๊กเชื่อว่า เราเกิดมาเพื่อสร้างประโยชน์ตน คือต้องทำความดี กตัญญูรู้คุณบิดามารดาครูบาอาจารย์ และเราต้องยินดีที่จะสร้างประโยชน์ท่าน คือการให้ผู้อื่น กาช่วยเหลือ และการเสียสละ ตุ๊กเชื่อว่าในการทำสิ่งใด ทำคนเดียวอาจไม่สำเร็จลุล่วง ต้องร่วมมือร่วมใจกับผู้อื่น เป็นแบบอย่างที่ดีให้สังคม ดังเช่นสิ่งที่ตุ๊กและคณะได้ร่วมกันทำความดีในนามของอักษรศาสตร์ รุ่น ๔๓ มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนกลายเป็นประเพณีของรุ่นเราที่ต้องมีวันหนึ่งในหนึ่งปีที่จะมาพบกัน และมีโอกาสทำบุญร่วมกัน

 ให้ข้อมูลโดย อ้อย (ชุติพร  จงมั่นคงชีพ)   

เรียบเรียงโดย  ปู (กษมา กู้ตลาด) 

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University