ข่าวและกิจกรรม

จุฬาฯ 100 ปี แห่งความภูมิใจ

"พระราชดำรัส" สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

งาน "จุฬาฯ ๑๐๐ ปี ศตวรรษแห่งความภูมิใจ"
เนื่องในโอกาส ๑๐๐ ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย @ อาทิตย์ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๙.๐๐ น. ณ สนามหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล จุฬาฯ

"การที่เราจัดงานกันในวันนี้ ก็เป็นการจัดงานอำลาศตวรรษที่แล้วของจุฬาฯ และต้อนรับศตวรรษใหม่ของจุฬาฯ และเราก็ได้เห็น ได้ทราบ ได้ศึกษามาว่า ในศตวรรษแรกของจุฬาฯ นั้น เราได้ทำอะไร มีอะไรกันบ้างที่ชวนให้ชื่นชมและมีกำลังใจที่จะเดินก้าวต่อไปในศตวรรษต่อมา ทั้งๆ ที่ก็รู้สึกว่า น่าเสียใจที่คงจะไม่ได้เห็นศตวรรษที่ สองจนจบ...แต่ว่าเท่าที่ได้เห็นมาตั้งแต่ร่วมงานตอนเช้า ก็มีงานโดยทั่วๆ ไป อย่างที่เคยจัดมา และก็จะได้เห็นว่ามีมหาวิทยาลัยในต่างประเทศเกือบ ๔๐ มหาวิทยาลัยได้มาร่วมงานของเรา และได้ยินจากท่านอธิการบดีว่า...ได้มีการปรึกษาหารือว่า ในศตวรรษที่ ๒ ของจุฬาฯ นั้น มหาวิทยาลัยเครือข่ายนี้จะพยายามทำงานอะไรร่วมกัน เพื่อประโยชน์ นอกจากประโยชน์ของชาวไทยแล้วยังเป็นประโยชน์ที่ทำร่วมกัน...ทั้งโลก คือนานาชาติ...พอรับประทานอาหารกลางวันเสร็จแล้ว ก็ได้กลับไป...กลับไป ก็ได้อ่านหนังสือ ที่เขาพูดถึงว่า ในยุคต่อไปนี้ ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ทั่วโลกนั้น มหาวิทยาลัยหรือการจัดการอุดมศึกษา หรือการศึกษาระดับสูงนั้น จะเป็นเปรียบเสมือนทูตที่เชื่อมบุคคลเข้าด้วยกัน โดยที่จะเป็นผู้นำ และก็จะต้องทำงานเป็นเครือข่าย เพื่อที่จะปรึกษาหารือกันว่าจะทำอะไรให้กันและกัน มีจิตมิตรภาพ มีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น..."

"ก่อนจะรับประทานอาหารกลางวันนั้น ก็ได้เห็นอุทยาน ๑๐๐ ปี ซึ่งน่าจะ...คือมีต้นไม้ปลูกในอุทยานและจะเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนจุฬาฯ และบุคคลอื่น ในต่อไป ก็อาจจะน่าเสียดายอีกเหมือนกันว่า เราจะไม่ได้เห็นต้นไม้ที่โตเต็มที่ เหมือนอย่างกับในภาพที่เขียนไว้ในสูจิบัตร แต่ก็หวังว่าคงจะได้เห็นที่โตที่สุดเท่าที่จะเห็นได้"

"พอตอนค่ำนี้ ก็ได้เห็นในสื่อผสมว่า วิสัยทัศน์ของท่านอธิการบดีที่จะมองไปในอนาคต ในศตวรรษที่สองนั้น จะเป็นอย่างไร...คือเป็นการที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็จะได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศและก็ในโลก สอดคล้องกับที่กล่าวมาเมื่อข้างต้น..."

"มาถึงที่นี่...อีกอย่างที่ได้เห็นคือ นิสิตเก่าก็ได้จัดกิจกรรม เพื่อที่จะหาทุนทรัพย์มาบำรุงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อที่จะได้เลี้ยงดูนิสิตรุ่นปัจจุบันและในอนาคตให้สามารถที่จะผลิดอกออกผลได้อย่างงดงาม และก็รู้สึกมีงานทั้ง...คือเรี่ยรายกันดื้อๆ และก็มีแบบมีสิ่งของที่ระลึก เพื่อรำลึกถึงงานนี้เอาไว้ตราบชั่วชีวิต"

"และเมื่อก่อนที่จะมีงานนี้ ก็เผอิญได้ไปเดินงาน "จุฬาฯ เอกซ์โป" ซึ่งในงานนั้น เราก็ปรารภกันว่า เรามีนวัตกรรมต่างๆ อย่างมากมาย และก็เหมือนอย่างในวิสัยทัศน์ ที่ว่...ถ้าไม่สามารถที่จะนำนวัตกรรมเหล่านั้นมาแปรให้เป็นสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อบุคคลต่อไป ก็ยังถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ...พอกลับมาจากงานนั้น ก็ได้ชักชวนเพื่อนๆ ทั้งที่จุฬาฯ และไม่จุฬาฯ ที่เขามีหน่วยงาน มีบริษัท ก็ให้มาติดต่อทางจุฬาฯ เพื่อที่จะพูดคุยดูสิว่า สิ่งใดที่เรามี ทำไว้ในมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยอาจจะยังไม่สามารถที่จะตั้งบริษัทที่จะแปรสิ่งเหล่านั้นเป็นโปรดักส์ หรือเป็นสิ่งที่จะอำนวยประโยชน์ต่างๆ ได้ครบถ้วน ก็จะไปอยู่ที่พวกเรานี้ ที่เป็นศิษย์เก่า ที่อาจจะมารวมกัน ชักชวนกันที่จะทำประโยชน์ในส่วนนี้...ตั้งแต่วันนั้น ก็ได้ชวนมาหลายรายแล้ว ก็รู้สึกว่ามีผู้สนใจกันแยะ ที่ว่าจะมาดูสิว่า อะไรที่จะเอามาทำประโยชน์ หรือว่าจะมีอะไรที่เขาต้องการ ก็นำมาให้มหาวิทยาลัยขบคิดหรือมาช่วยกันคิด และจะได้ทำสิ่งนั้นให้เป็นประโยชน์ โดยมหาวิทยาลัยต้องเป็นแกน เพราะว่าเป็นศูนย์รวมของผู้มีความรู้ และมีความสามารถในการที่จะคิดออกมาอยู่มาก มีอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะสามารถทำงานทั้งหลายให้บรรลุจุดประสงค์ได้ ก็คิดว่า อันนี้ก็เป็นภารกิจของเราในช่วงต่อไป หรือใครคนไหนที่ใจถึง ก็อาจจะมาเรียนใหม่ ก็คงไม่มีใครว่า หรือจะเรียนวิชาต่างๆ เนื่องจากในปัจจุบันนี้ วิชาการต่างๆ เมื่อได้กลับมาดู รู้สึกว่าก็มีอะไรที่ก้าวหน้าไปกว่าสมัยเราอีกหลายอย่าง ถ้าบางคนคิดว่าจะมาเรียนอีก ก็...มหาวิทยาลัยก็คงไม่ว่าอะไร...ก็ยังมีอะไรที่ทำให้สามารถทำให้มหาวิทยาลัยอีกตั้งเยอะ ก็ได้ทราบว่าในวันนี้มีหลายท่านที่มากันเป็นพิเศษในงาน มากกว่าที่ผู้จัดงานได้คาดการณ์ไว้ ก็เห็นว่าเช่น เข็มจุฬาฯ ก็จะต้องติดไว้ก่อน เพราะมีมาไม่ครบ ให้บริการได้ไม่ครบ ก็คิดว่า จริงๆ ไม่ใช่เรื่องไม่ดี คิดว่าเป็นเรื่องดี ที่มีทุกคนมาร่วมกัน ต่อไปก็มีวิธีอีกหลายอย่างที่จะช่วยกันคิดช่วยกันทำ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อไป...การที่ว่าเราอยากรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ หรือสนองพระคุณนั่น ก็ทำได้ด้วยเรื่องเหล่านี้แหละ ที่เราจะทำให้สิ่งที่ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น"

"ก็หวังว่าชาวจุฬาฯ ทุกคน จะมีกำลังกายกำลังใจที่เข้มแข็ง ที่จะอยู่ได้ดี มีความสุขความเจริญต่อไป ให้เห็นจุฬาฯ ก้าวหน้าได้นานที่สุดที่ชีวิตคนจะอยู่ได้

......

พระสัมโมทนียกถา
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ประทานในพิธีบำเพ็ญกุศลวาระ ๑๐๐ ปี
แห่งการประดิษฐานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณ ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันเสาร์ ที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๐

ขออำนวยพร
คุณหญิงนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
ท่านอธิการบดี, คณะผู้บริหาร,
คณาจารย์, บุคลากร,
นิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน ทุกท่าน.

อาตมภาพรู้สึกชื่นชมยินดี ที่ได้มาอยู่ท่ามกลางสาธุชนชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกท่าน ในวาระที่มหาวิทยาลัยจะเจริญอายุครบ ๑๐๐ ปี การที่ท่านพร้อมเพรียงกันมาบำเพ็ญกุศลฉลองมหาวิทยาลัย และตั้งจิตอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สองพระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐของประชาชาติไทย และโดยเฉพาะของชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันนี้ นับได้ว่าเป็นประเดิมแห่งการสมโภชมหาวิทยาลัยอันจะมีต่อไปในวันพรุ่งนี้ กล่าวได้ว่าทุกท่านเป็นคนดี เพราะธรรมพื้นฐานอันเป็นภูมิของสัตบุรุษคนดี คือความกตัญญูกตเวที

ท่านทั้งหลายทราบดีแก่ใจแล้วว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นด้วยพระราชประสงค์ใด อาตมภาพขอย้ำเตือนในมงคลวาระนี้อีกครั้งหนึ่งว่า เพราะทรงพระราชปรารถนาความเจริญวัฒนาแก่ประเทศชาติ ด้วยหลังจากทรงปฏิรูประบบราชการในแผ่นดินสยาม จนอาจเรียกได้ว่าพลิกแผ่นดินให้สยามเป็น “อารยประเทศ” แล้ว ก็ต้องทรงสร้าง “อารยชน” ให้บังเกิดขึ้นเป็นกลจักรสำคัญแห่งระบบราชการของพระองค์ โรงเรียนมหาดเล็กที่ทรงสถาปนาขึ้นนั้น คือสถานบ่มเพาะข้าราชการรุ่นแรกๆ ของสยามตามพระบรมราโชบาย ความเป็นอารยะนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากบุคคลปราศจาก “ปัญญา” โรงเรียนชั้นสูงแห่งนั้นได้สรรค์สร้างปัญญาชน เป็นกำลังแห่งบ้านเมืองมาได้พอสมควรแก่กาลสมัย

วันเวลาล่วงไปไม่นาน สมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จสวรรคตล่วงลับไป แต่ก็ยังนับเป็นมหาโชคของชาวไทย ที่ได้มีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นอัจฉริยบุรุษ เป็นปราชญ์ของโลก เสด็จผ่านพิภพสืบราชสันตติวงศ์ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเร่งขยายกิจการโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษาของชนชาวสยาม ในนามว่า “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ท่านทั้งหลายสังเกตถ้อยคำบ้างหรือไม่ ว่านามของสถาบันนั้นไม่ได้ทรงใช้เป็นพระปรมาภิไธยส่วนพระองค์ หากแต่ทรงตั้งพระราชหฤทัยถวายไว้เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ แม้การสถาปนาโรงเรียนชั้นอุดมศึกษาเช่นนี้จะเป็นเกียรติยศพิเศษแห่งแผ่นดินใหม่ เป็นปฐมราชกรณียกิจยิ่งใหญ่ที่บังเกิดขึ้น ในระยะเวลาที่เสวยราชย์ได้เพียง ๒ เดือนเท่านั้น แต่ด้วยพระราชหฤทัยกตัญญูกตเวที กลับมิได้ทรงพระราชปรารถนากิตติศัพท์ส่วนพระองค์ หากทรงยกถวายไว้ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระปิยมหาราช ทั้งยังพระราชทานพระราชทรัพย์ เป็นทุนประเดิมมหาศาลที่เหลือจากการสร้างพระบรมรูปทรงม้า พระราชทานที่ดินอันกว้างใหญ่ไพศาลนับพันไร่ พระราชทานพระบรมราโชบายและบุคลากรเพื่อการบริหารจัดการ พระราชทานสรรพสิ่งซึ่งจะลงหลักปักฐาน เป็นมหาวิทยาลัยต่อไปในอนาคตกาล

ตราบกระทั่งวันที่ ๒๖ มีนาคม เมื่อ ๑ ศตวรรษก่อน มหาวิทยาลัยแห่งแรกของกรุงสยามจึงได้รับพระราชทานพระมหากรุณาให้เริ่มต้นหยัดยืน ทรงใช้คำในพระบรมราชโองการประกาศว่า ทรง “ประดิษฐานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” คำว่าประดิษฐานนั้นแปลว่าตั้งให้ยืนหยัดขึ้นพร้อมที่จะออกเดินหน้าต่อไป ขอให้พึงสังเกตอีกครั้งว่าแม้วาระที่จะออกพระปรมาภิไธยในรัชกาลที่ ๖ เพื่อเป็นพระเกียรติยศจำเพาะพระองค์ได้ชั่วกัลปาวสานก็กลับไม่ทรงกระทำ ยังคงทรงออกพระปรมาภิไธยสมเด็จพระบรมชนกนาถอีกตามเคย ผู้คนทั้งหลายทุกวันนี้ เมื่อเอ่ยถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็คงระลึกถึงสมเด็จพระปิยมหาราชเป็นต้น เฉพาะผู้ทราบประวัติถ่องแท้จริงๆ จึงจะระลึกถึงสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าเป็นลำดับต่อมา

หลายท่านคงเริ่มสงสัยว่า อาตมภาพย้ำเตือนเช่นนี้ซ้ำๆ ต่อท่านทั้งหลายด้วยเหตุใด ขอเฉลยว่า เพราะมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานแห่ง “ความกตัญญูกตเวที” คำว่ากตัญญูคือรู้คุณท่าน คำว่ากตเวทีคือสนองคุณท่าน สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าทรงสนองพระราชดำริของสมเด็จพระบรมราชบุพการีที่ทรงพระราชปรารภจะให้มีมหาวิทยาลัย แม้การไม่ทันสมพระราชประสงค์ก็สิ้นรัชกาลที่ ๕ เสียก่อน แต่สมเด็จพระบรมราชโอรสก็ไม่ทรงละเลยที่จะสืบสานพระบรมราชปณิธานเพื่อประชาชนชาวสยาม จึงทรงเจริญรอยตามพระยุคลบาท ทรงพากเพียรฟันฝ่าปัญหาและอุปสรรคนัปการ อันกีดขวางการมีมหาวิทยาลัยให้พ้นผ่านไปได้ จนก่อร่างสร้างเป็นสถาบันอันมีเกียรติยศใหญ่เช่นนี้ในบัดนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่ทรงพระราชประสงค์ให้ใครมายกย่องสรรเสริญพระองค์ แต่ทรงพร้อมจะประกาศให้เป็นปิยมหาราชานุสรณ์สืบไป นาม “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” จึงมีความหมายลึกซึ้งและสูงส่งยิ่งนัก ทั้งในด้านที่มาและด้านอุดมการณ์

หากว่าท่านทั้งหลาย ปรารถนาจะได้รับมงคลพรให้บังเกิดแก่ตนและบังเกิดแก่มหาวิทยาลัยของท่าน ขอท่านจงพินิจพระราชจริยาสัมมาปฏิบัติของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ผู้ทรงประดิษฐานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไว้ดีแล้วเมื่อร้อยปีก่อน พระองค์ทรงพระกตัญญูกตเวทีต่อสมเด็จพระบรมชนกนาถอย่างไร ขอท่านทั้งหลาย จงมีความกตัญญูกตเวทีต่อสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าอย่างนั้น พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ไว้ด้วยลักษณะปิดทองหลังพระ ไม่มีพระราชประสงค์เพื่อออกพระนามของพระองค์เอง แต่กลับมีพระราชประสงค์เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติไทย เพื่อกุลบุตรกุลธิดาถึงพร้อมด้วยปัญญา เพื่อเชิดชูพระปรมาภิไธยของสมเด็จพระปิยมหาราชอย่างไร ขอท่านทั้งหลายจงมีอุดมการณ์เต็มเปี่ยมในการประกอบกิจการงานและการศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยนี้ อย่างนั้นเถิด

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานพระพุทธานุศาสนีสั่งสอนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ผู้ปรารถนาจะทราบว่ามงคลที่แท้เกิดขึ้นได้อย่างไรไว้ถึง ๓๘ ประการ แต่ในโอกาสนี้ มี ๒ ประการ ที่อาตมภาพขอเชิญมากล่าวต่อทุกท่าน ไว้ให้ปรากฏแจ้งชัดแก่ใจ กล่าวคือ การบูชาบุคคลที่ควรบูชา เป็นมงคลอันอุดม สถาน ๑ และความกตัญญู เป็นมงคลอันอุดม อีกสถาน ๑

ขอท่านทั้งหลายจงบูชาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยความสมัครสมานสามัคคี และด้วยความขยันหมั่นเพียรต่อการงานและการศึกษาเล่าเรียน ขอท่านทั้งหลายจงกตัญญูรู้คุณของทั้งสองพระองค์ ตลอดจนบุพการีและบูรพาจารย์ ผู้มีพระคุณต่อมหาวิทยาลัย ด้วยการสืบสานพระบรมราชปณิธานและปณิธานทั้งนั้น เพื่อสร้างปัญญาชน และสร้างแผ่นดินไทย ให้เป็นแผ่นดินแห่งความรู้คู่คุณธรรม เพื่อบ้านเมืองของเราจะได้ดำเนินรุดหน้าไปบนหนทางของความดีงาม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างสิ่งวิเศษที่คนทั้งหลายไม่เคยคิดว่าจะเกิดมีขึ้นบนแผ่นดินไทยได้ ให้บังเกิดขึ้นแล้วบนแผ่นดินนี้ นั่นคือมหาวิทยาลัย ฉะนั้น ความผาสุกยั่งยืนของโลกนี้ก็อาจเริ่มต้นขึ้นได้จากคนไทย และจากแผ่นดินไทยได้ดุจกัน ขออย่านึกปรามาสตนเองว่าไม่อาจทำสิ่งอันยิ่งใหญ่เช่นนั้นได้ เพราะเท่ากับว่าท่านทั้งหลายกำลังหยุดก้าวเดินจากจุดเริ่มต้นที่ทรงประดิษฐานไว้อย่างดีแล้วเมื่อร้อยปีที่ล่วงมา

ขอจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจงวัฒนาสถาพร เป็นบ่อเกิดแห่งความงอกงามไพบูลย์ ตลอดจำเนียรกาลประวัติ สมดั่งมนัสจำนงหมายของชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มุ่งมั่นเจริญรอยพระยุคลบาทสมเด็จพระปิยมหาราช และสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า สืบไปตราบนิรันดร เทอญ.

ขออำนวยพร

........

ใครที่ไปร่วมงาน จุฬา ๑๐๐ ปี ศตวรรษแห่งความภูมิใจ คงประจักษ์ถึงปาฏิหาริย์ที่เกิดต่อตาตัวเอง
เมื่อถึงเพลง "ในหลวงของแผ่นดิน" ละอองฝนก็หยาดลงมากระทบใบหน้า เงยหน้าขึ้นมองฟ้า ก็พบว่าไม่มีวี่แววพายุ ไม่มีเมฆฝนทะมึน ไม่มีแม้แต่ลมกรรโชกแรงให้รู้ว่าฝนจะเทลงมา
เพื่อนหลายคนที่นั่งอยู่ด้วยกันยังเข้าใจว่าเป็นเอฟเฟ็คส์ของการจัดงาน เพราะได้จังหวะพอดีกับเพลงอย่างสวยงามเหลือเกิน ในแสงสปอตไลต์ที่สาดส่องเป็นลำ เห็นฝอยฝนเป็นแววระยิบ เหมือนน้ำมนต์โปรยปรายจากสวรรค์

ฝนเริ่มพรำเม็ดมากขึ้น จนพวกเราหยิบร่มกันขึ้นมากาง ตอนนั้นรู้กันแล้วว่าเป็นน้ำฟ้า ไม่ใช่จากมือมนุษย์ ต่างคนต่างมองหน้ากัน ขนลุก น้ำตาไหลพร้อมๆกัน หันหน้าไปทางพระบรมราชานุสาวรีย์ เปล่งเสียงร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงมหาจุฬาลงกรณ์กันเต็มเสียงด้วยหัวใจเต็มตื้นเกินบรรยาย
พอจบเพลง กันกลับมาทางเวที ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯประทับอยู่ ฝนจางหาย เหลือแววๆอยู่นิดหน่อย แล้วก็หายสนิทเมื่อมีพระราชดำรัส
เหตุอัศจรรย์ ปาฎิหาริย์ หรืออะไรก็ตาม เป็นเรื่องที่ทำให้หัวใจเต็มตื้น อยากจะบันทึกไว้ให้ทุกคนได้อ่าน ให้ลูกให้หลานอ่าน เพราะบัดนี้ให้ประจักษ์แล้วว่า ทรง "พระเอื้ออาทร หลังพรคุ้มครอง" ชาวจุฬาจริงๆ

เช้าตื่นขึ้นมา ได้แรงบันดาลใจเขียนกลอนบทนี้รวดเดียวจบอย่างไม่เคยทำมาได้ อนุญาตให้เผยแพร่ได้ไม่จำกัดค่ะ

ครบร้อยปีจามจุรีศรีสง่า
แผ่สาขาไปทุกยุค ทุกแห่งหน
ครบศตวรรษที่พระภูวดล
วงศ์จักรีเจ้าสกลสถาปนา

มาพร้อมใจชุมนุมกันในวันนี้
เพื่อถวายความภักดีกันถ้วนหน้า
โอ้ในหลวงของแผ่นดินปิ่นพารา
เสด็จสู่ชั้นฟ้าเหลืออาลัย

พลันหยาดแก้วแววระยิบดังทิพย์ส่อง
โปรยละอองลงมาจากฟ้าใส
ดังน้ำมนต์พรมพร่างลงกลางใจ
ปิติจนชลนัยน์ไหลทั่วกัน

โอ้ว่าพระทูลกระหม่อมแก้ว
ทรงรับรู้ด้วยแล้วหรือไรนั่น
ชาวจุฬาภักดีองค์พระทรงธรรม์
ขอเทิดทูนสถาบันเท่าดวงใจ

จะเชิดชูพระเกียรติยศปรากฏยิ่ง
ทำทุกสิ่งให้จุฬาค่ายิ่งใหญ่
ตราบใดมีธรณินแผ่นดินไทย
นามจุฬาจะคู่ไปให้นิรันดร์

ว.วินิจฉัยกุล
ศิลปินแห่งชาติ ปี 2547

...  ... 

มหัศจรรย์แห่งพระบารมี
งาน100ปีจุฬาสง่าล้ำ
ต้องเอ่ยคำชื่นชมภิรมย์หมาย
เฉลิมพระเกียรติสามกษัตริย์ผู้ก่อกาย
พระฤาสายทรงพระคุณอุ่นหทัย
ศตวรรษแห่งความภูมิใจที่ใหญ่ยิ่ง
ล้วนเป็นสิ่งจุฬานึกระลึกได้
จะตั้งมั่นสืบสานให้นานไป
เป็นเสาหลักเป็นธงชัยให้แผ่นดิน
เมื่อเพลงร้องก้องดังฟังกันชัด
ในหลวงของแผ่นดินประชารัฐแสนถวิล
มหัศจรรย์พระบารมีก็หลั่งริน
เป็นหยาดฝนคุ้มชีวินชาวจุฬา
สิ้นเสียงเพลงสิ้นฝนน้ำมนต์หลั่ง
ดุจน้ำสั่งจากสรวงให้ห่วงหา
พระบารมีแผ่ปกพสกจุฬา
ในหลวงของปวงข้าตลอดกาล

 

สุนันท์ โชคดารา อบ.32
27 มี.ค.2560

 

 

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University