เรื่องเล่าของนิสิตเก่า รุ่น 21

ชีวิตใน “เทวาลัย” ที่ให้ความสุข คุณหญิงสุภา กิจจาทร

ชีวิตใน “เทวาลัย" ที่ให้ความสุข

เล่าโดย  คุณหญิงสุภา   กิจจาทร

ความทรงจำของพวกเราในรั้วจามจุรีนั้น  เป็นความทรงจำที่ผูกพันต่อสิ่งต่างๆ มากมายหลายอย่าง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผูกพัน  และความภาคภูมิใจที่ได้เรียนในตึก “เทวาลัย”  ที่สวยสง่างามเป็นสัญลักษณ์ของชาวจุฬาฯ  ความผูกพันและความอบอุ่นที่ได้จากท่านอาจารย์ที่พร่ำสอนพวกเราเหมือนลูก  เหมือนน้อง ณ ตึกแห่งนี้  ตลอดจนบรรยากาศที่ใกล้ชิดสนิทสนมในหมู่เพื่อนฝูง  ทำให้มีความสุขเสมอมา  ด้วยเหตุนี้ทำให้เราจึงต้องจับปากกาเขียนระลึกถึงชีวิตใน “เทวาลัย”  ที่ให้ความสุข เพื่อเพื่อนๆ จะได้นึกถึงภาพสมัยพวกเราเป็นนิสิตเมื่อ 60 ปีก่อน

  1. “เทวาลัย” ตึกอักษรศาสตร์ที่ภาคภูมิใจ

วันที่ 3 มกราคม  พ.ศ. 2458 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงวางศิลาฤกษ์ตึกเทวาลัย  ตึกนี้เดิมใช้เป็นตึกบัญชาการของมหาวิทยาลัย ต่อมา พ.ศ. 2472 คณะอักษรศาสตร์จึงใช้เป็นตึกเรียน  วันที่ 25  ตุลาคม พ.ศ. 2473  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรกที่ตึกนี้  นับว่าเป็นการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของประเทศไทย  นอกจากความสำคัญดังกล่าวแล้วในด้านของสถาปัตยกรรม  คุณค่าของความงามของตึกอักษรศาสตร์นี้ก็หาที่เปรียบได้ยาก  มองดูประณีตงดงามไปทุกแง่ทุกมุม  เป็นการก่อสร้างที่ใช้ศิลปไทยปนเขมร  ศิลปะเขมรที่เห็นได้ชัดเจนคือ  บันไดรูปพญานาค 7 เศียร   แผ่พังพาน  มีรัศมีโดยรอบ  (คล้ายบันไดหน้าปราสาทเขาพนมรุ้ง)  ตรงนี้แหละที่นิสิตมายืนถ่ายรูปกับเพื่อน ๆ กับครอบครัว  กับอาจารย์ กับแฟน ฯลฯ  ถ้าใครเรียนที่ตึกนี้จนออกไปไม่มีรูปถ่ายกับบันไดพญานาค  ก็ดูจะเชยเต็มที่

ภายในตัวตึกดูทึบทึม  เพราะเสาแต่ละต้นใหญ่มาก   แต่เมื่อนั่งอยู่ในห้องโถงกลางหรือยืนอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่งภายในตึก  กลับรู้สึกเย็นสบาย  มีสายลมพัดผ่านตลอด  เวลา   ห้องเรียนทุกห้องมีประตูสูงใหญ่  เหนือช่องประตูมีช่องลมประดับด้วยลูกแก้วเกลียวทำด้วยหินอ่อน  เพดานตึกนั้นตกแต่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสบ้าง  สี่เหลี่ยมผืนผ้าบ้าง  ข้างในมีปูนปั้นเป็นรูปดอกไม้  ฉะนั้นเวลาพวกเรานั่งเรียนหนังสือเพลินๆ ก็อดที่จะเงยหน้าชมความงามของเพดานไม่ได้   บันไดหินอ่อนห้องโถงกลางเมื่อเดินขึ้นมาแล้วจะแยกเป็น 2 ทางแบบยุโรป  เหนือบันไดมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ประดิษฐานไว้  ให้พวกเรากราบไหว้ทุกวันทุกเวลาที่เดินผ่าน   เหนือพระบรมรูปมีซุ้มหน้าบันแถลงที่มีปูนปั้นเป็นลวดลายวิจิตรประดับไว้อย่างสมพระเกียรติ

เมื่อออกมาชมความงดงามหน้าตัวตึก   เงยหน้าขึ้นดูหน้าบันกลางซึ่งตกแต่งด้วยรูปปั้นเช่นกันแต่เป็นรูปพระนารายณ์ล้อมด้วยใบพฤกษา  มีช่อฟ้า  ใบระกา แบบไทยที่อ่อนช้อย  ส่วนหางหงส์ทำเป็นนาคสามเศียรแบบขอมรับกับลำตัวนาคสะดุ้งที่มองดูเป็นธรรมชาติจริงๆ  ส่วนหน้าบันนเล็กตรงกลางนั้นทำเป็นตราพระราชวงศ์จักรี   มีคันทวยที่งดงามรองรับหลังคาตึกไว้กับเสาทิ้งระยะได้เหมาะสมจนมองดูประหนึ่งเครื่องประดับตึกให้งดงามได้สัดส่วนยิ่งนัก

ต่อมาจุฬาฯ  ได้สร้างตึกอักษรศาสตร์  2  ซึ่งใช้สถาปัตยกรรมเช่นเดียวกับตึกเทวาลัย  โดยเว้นช่วงระยะห่างออกจากตึก 1  แต่มีระเบียงเชื่อมพร้อมทั้งหลังคาทรงไทย  ทำให้ดูกลมกลืนกับตึกอักษรศาสตร์   ถ้ามองจากภายนอกทางถนนอังรีดูนังต์   จะมองเห็นว่าตึกที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง ตึกอักษร 1 และ 2  คือหอประชุมจุฬาฯ  ซึ่งสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบไทยคล้ายคลึงกับตึกอักษรฯแต่ดูแข็ง   ไม่อ่อนช้อยเท่ากับตึกเทวาลัยของเรา

ยิ่งเขียนก็ยิ่งมีความสุขที่ได้นึกถึงภาพความงดงามของตึกเทวาลัย   ที่เคยให้ความสุขแก่พวกเรา   บัดนี้ตึกนี้กำลังอยู่ระหว่างการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิม  เนื่องจากทรุดโทรมมาก  คณะฯได้จัดตั้งกองทุน  ซึ่งจะใช้เงินส่วนหนึ่งในการซ่อมแซมตึก   และอีกส่วนหนึ่งเพื่อพัฒนาวิชาการเงิน   กองทุนนี้สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงพระกรุณารับเป็นองค์ประธานกองทุน   ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อว่า  “กองทุนบรมราชกุมารี”  พวกเราใช้เงินรุ่นบริจาคสมทบกองทุนไป  “20,000  บาท”   (สองหมื่นบาทถ้วน)  และยังมีเพื่อนรุ่นเราได้ร่วมบริจาคส่วนตัวสมทบกองทุนนี้อีกหลายคน

  1. ชีวิตเริ่มแรกในคณะอักษร

พวกเราหลายคนคงไม่รู้ว่าได้เข้าเรียนอักษรศาสตร์รุ่นที่เท่าไร    รุ่นปัจจุบันเป็นรุ่นอะไร  ถ้าไม่รู้ก็จะขอบอกว่า  พวกเราคืออักษรศาสตร์รุ่นที่  21  พ.ศ. 2499 (ปีจบ)  เวลาเร็วเหมือนติดปีกบิน  นี่พูดแบบฝรั่ง  (Time Flies)  นะเนี่ย  เมื่อพวกเราเข้าเรียนชั้นปีที่  1  พ.ศ. 2496  นั้น  พี่ปีที่  4 ที่เป็นผู้แทนคณะคือ  พี่บำรุงสุข  สีหอำไพ  และพี่เฉลา  ชลศึกษ์  ส่วนประธานเชียร์คือ พี่บุญเลิศ  ศรีหงส์  พี่ทั้ง 3  นี้มีกิจกรรมร่วมกับน้องใหม่ตลอดปี  โดยเฉพาะประธานเชียร์  เป็นผู้ที่เคี่ยวเข็ญพวกเราให้ซ้อมเพลงเชียร์จนคอแห้ง  แถมคิดเครื่องแบบให้แต่งในวันเชียร์  แต่ละชุดออกแบบได้ล้ำลึกมาก   มีอยู่ชุดหนึ่งที่ยังจำได้ดีสำหรับนิสิตหญิง  คือให้นุ่งประโปรงย้วยยาวสีเทา  ใส่เสื้อนิสิตขาวมีผ้าสีชมพูเข้มตัดเป็นรูปใบบัวคลุมไหล่   มีเชือกที่ปลายใบบัวสำหรับผูกกันหลุด   สวมหมวกขาว   สวยอย่าบอกใครเชียว!  ประธานเชียร์ท่านก็ร้องเพลงไปด้วยเป็นคอนดักเตอร์ไปด้วย  เพลงหนึ่งที่ยังพอจะจำเนื้อได้มีดังนี้

 “ เทา เทา เทา  พวกเราอักษรศาสตร์ปรีดา   

    รีบเร่งเข้ามาช่วยกันเชียร์เป็นกำลังแรง           

    หวังเพื่อนำชัย  พร้อมใจมาชม                     

   เพื่อเกียรติพวกเราสู้  สีเทาไม่หวั่น                    

   ชั้นเชิงเล่าใครจะเทียมหรือ 

   เขาลือว่าแรงไม่เคยอ่อน                                                                                                                                                                       

   เพื่อเกียรติกำจร  ให้แก่สี เทา  เทา  เทา  เทา                 

   สีเทาเกียรติกำจายในจุฬาลงกรณ์

   สีเทาไม่หย่อนไม่เคยยอมใคร                                                                                                                                                                                 ฝ่าฟันเอาชัยให้นามระบือ                

   ฝ่าฟันเอาชัยให้นามระบือ      

   ว่าเลือดเราหรือ  คือ เทา เทา เทา”

 เพลงก็จะจบลงด้วยสปิริตของชาวอักษรศาสตร์ที่เข้มข้นคือ    AAA  RRR  TTT  ARTS  ARTS  ARTS  RAA!                                                                                                                                                                           

 2.ในด้านการเรียน

เมื่อเข้าห้องเรียนแล้วประมาณ  30  นาที  คุณเพ็ญจิตต์ หรือคุณประดิษฐ์  จะถือสมุดพร้อมทั้งปากกา  มายืนจดๆ จ้องๆ  หลังห้องบ้าง ข้างห้องบ้าง   เพื่อทำการเช็คชื่อว่ามีใครขาดเรียนบ้าง  เมื่อเสร็จแล้วก็กลับไป   ทีนี้ละ อาการขยับเขยื้อนก็จะปรากฎ  บางคนก็เกิดอาการปวดท้องกะทันหัน   ต้องออกไปห้องน้ำ  แล้วก็หาห้องกลับเข้าเรียนไม่ถูก  บางคนก็เกิดอาการกระดูกอ่อน  คืบคลานออกหลังห้องบ้าง  ข้างห้องบ้าง  (เนื่องจากห้องเรียนมีประตูอยู่โดยรอบ)  เวลาที่ท่านอาจารย์หันไปเขียนกระดาน  มันเป็นความสุขอย่างบอกไม่ถูกที่ได้หนีเรียน แต่จะมีบางเวลา  เช่น  ใกล้สอบ  ท่านอาจารย์มักจะมีอะไรเป็น  “ซิกแนล”  พอ ที่จะทำให้พวกเรารู้ว่า  อีตรงนี้แหละที่สำคัญ  ดังนั้นพวกเรามักจะอยู่เรียนกันครบครัน  เหมือน “นกรู้”  แต่มีอยู่วิชาหนึ่งที่นิสิตไม่กล้าหนี  คือวิชาภาษาไทย ของอาจารย์ฉลวย  พวกเราส่วนใหญ่จะนั่งเรียนตัวตรงตามองที่โต๊ะเรียน  ไม่กล้าสบตาท่านอาจารย์  ดังนั้นเวลาท่านพูดเสียงดัง หรือทุบโต๊ะ  ทีหนึ่ง  พวกเราก็สะดุ้งซี่โครงบาน  ทั้งนี้เนื่องจากเวลาท่านให้งานหรือเวลาสอบ  ท่านให้คะแนนค่อนข้างประหยัดมาก  เช่น  คะแนนเต็ม 100  พวกเราบางคนได้ 5 คะแนน  ฉะนั้นผู้ที่ได้คะแนนระดับนี้จะต้องใช้กำลัง  “บู๊ลิ้ม”  ทำคะแนนวิชาอื่นๆ ในหมวดวิชาภาษาไทยให้ดีที่สุด  มิฉะนั้น  จะทำคะแนนรวมปลายปีในหมวดวิชานี้ไม่ถึง  60%  ซึ่งหมายถึงจะต้องพบคำว่า  “RE-EXAM”   ถ้าโชคร้ายหนักเกิดได้คะแนนในหมวดวิชาอื่นต่ำกว่า  60%   อีก  รวมเป็น  2  หมวดวิชาผู้นั้นจะต้องพบกับคำว่า  “REPEAT”  ซึ่งหมายถึงว่าจะต้องเรียนซ้ำชั้นมากกว่าเพื่อนๆ อีก 1  ปี  เป็นที่รู้กันว่าพวกเราที่ต้องอยู่เรียนซ้ำชั้นนั้น   ส่วนใหญ่จะไม่ผ่านหมวดวิชาภาษาไทย

เหตุการณ์ของเพื่อนกลุ่มพวกคนสวยที่เรียน + รัก  ที่ทำให้เกิดใจหายใจคว่ำคือ  แฟนหนุ่มจากคณะวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง  (เจ้าของเรื่องคงจำได้ดี)  คงจะมาคอยเพื่อนสาวของเรานานเกินไปก็เลยเข้ามานั่งเรียนในชั้นด้วย  เพราะคิดว่านิสิตในชั้นมีมากมาย   ท่านอาจารย์คงจะจำไม่ได้แน่   แต่ที่ไหนได้   ขณะที่กำลังสอนอยู่ท่านหยุดทันทีเมื่อสายตาพานพบชายหนุ่มรูปหล่อต่างคณะผู้นั้น   ทั้งนี้เพราะรุ่นเรามีนิสิต  100  กว่า  ก็จริง    แต่มีนิสิตชายไม่เกิน  20  คน  จึงทำให้ท่านอาจารย์จำนิสิตชายได้หมด  ท่านทักทายหนุ่มรูปหล่อและไต่ถามทันที  เป็นอันว่า   ท่านรู้ว่ามีนิสิตต่างคณะสนใจเรียนวิชาของท่านเป็น  “พิเศษ”

เมื่อนึกถึงคุณไพจิตต์และ   คุณประดิษฐ์ที่  ทำหน้าที่เช็คชื่อ   ผู้ที่เราต้องเอาใจเป็นพิเศษแล้วก็ทำให้ต้องพูดถึงอีกคนหนึ่งคือ  “ป้าชุป”  ภารโรงหญิงซึ่งทำหน้าที่เคาะระฆังบอกเวลาเรียนและดูแลความสะอาดในตึก “เทวาลัย”  โดยเฉพาะป้าชุปกับผู้เขียน   มีเรื่องเกี่ยวข้องกันพิเศษเนื่องจากวันหนึ่งเข้าห้องน้ำ  ไม่รู้ผู้เขียนทำอีท่าใด  ทำนาฬิกาตกลงไปในโถส้วม  ด้วยความเสียดายนาฬิกาคู่ใจ  ก็รีบไปตามป้าชุปมา   ป้าชุปแสนดีสามารถเกี่ยวสายนาฬิกาเอกขึ้นมาได้โดยไม่บุบสลาย       ได้ใส่มาจนเรียนจบ   จำได้ว่าให้รางวัลป้าชุปอย่างงาม   ตั้งแต่นั้นมาสัมพันธภาพระหว่างผู้เขียนกับป้าชุปก็มีกันพิเศษ  ชีวิตป้าชุปน่าสงสารมากหลังจากแต่งงานแล้ว   บางวันจะเห็นป้าชุปขอบตาเขียวคล้ำเป็นวงกลมเหมือนถูกน็อกยก  5  ปรากฎว่าเกิด “บู๊”  กับแฟนเลยโดนลูกหลงเข้าที่หน้า  เนื่องจากแฟนป้าชุปไปหลงสาว  เราก็ได้แต่ปลอบโยนให้กำลังใจเท่านั้น  คิดว่าถ้าขณะนี้ป้าชุปยังมีชีวิตอยู่ก็คงจะมีความสุขแล้ว   คงจะไม่มีกำลังที่จะสู้กันอีกเพราะแก่ตัวลงต่างคนก็คงจะหันเข้าหาธรรมะทำให้จิตใจสงบได้

เมื่อพูดถึงการเรียนแล้วก็ขอพูดถึงการกีฬาบ้าง   ในสมัยที่พวกเราเรียนกันนั้น  กีฬาชายมีโปโลน้ำ  ฟุตบอล  บาสเกตบอล  แบดมินตัน  ปิงปอง  เป็นต้น  สำหรับโปโลน้ำนั้น  เราต้องสูญเสียเพื่อนชายไป 1  คน  คือ ชัยยันต์  โพธิสุข  เป็นเพื่อนคนแรกของรุ่นที่จากไปตั้งแต่ชั้นปีที่  1  คงจะเป็นตะคริวในน้ำ  กว่าเพื่อนจะช่วยขึ้นมาได้ก็สายเสียแล้ว

กีฬาชายของเราไม่ค่อยมีชื่อเสียง   เพราะประชากรชายในคณะมีน้อยมากเมื่อเทียบกับคณะอื่น  บางคนก็เรียบร้อยจนเกือบจะเป็นนางสาว  ที่รูปหล่อก็ริมีแฟนกันหมด  ไม่ค่อยมีเวลาฝึกซ้อมกีฬา   ฉะนั้นกีฬาของนิสิตชายคณะอักษรจึงไม่โด่งดัง   เหมือนกีฬาของนิสิตหญิง  ซึ่งมีกีฬาประเภทเนตบอล  บาสเกตบอล แบดมินตัน ปิงปอง เป็นต้น  นักกีฬาหญิงได้นำถ้วยจากการแข่งขันมาให้คณะเสมอ  “ปิงปอง”  เป็นกีฬาที่มีผู้สมัครเล่นกันประจำมากที่สุด   ทั้งนี้เพราะมีโต๊ะปิงปองตั้งไว้ที่ระเบียงตึก  “เทวาลัย”  ฉะนั้นจึงมีคิวเล่นยาวผู้เล่นก็มีทั้งมาเล่นในยามว่าง  และหนีเรียนมาเล่นก็มาก

4. เหตุการณ์ประทับใจในวัยเรียน

4.1  เหตุการณ์ที่พวกเราตื่นเต้นมากที่สุดเมื่อเข้ามาเป็นนิสิตชั้นปีที่  1  คือ  “การโยนบก”   มีนิสิตรุ่นพี่แต่มาเรียนพร้อมกับพวกเรา  ถูกนิสิตคณะวิศวะกรรมศาสตร์  จับโยนบกในประชุม  ในข้อหาทำหนังสือวัน  23  ตุลาคม  ที่ส่อไปทางเป็นคอมมิวนิสต์ (การ”โยนบก”  ในที่นี้หมายถึงการจับตัวโยนลงมาจากเวทีในหอประชุมใหญ่)  ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าคอมมิวนิสต์จริงๆ  นั้นคืออะไรกันแน่  รู้แต่ว่าเป็นลัทธิที่มีอุดมการณ์ที่รัฐบาลต่อต้านเป็นอย่างยิ่ง   แต่ที่แน่ๆ  เหตุการณ์ ในวันนั้นพวกเราสงสาร  “พี่ที่ถูกโยนบก”  กันจับใจ  เลยพาลโกรธนิสิตวิศวะฯ  ทั้งคณะเลย  ตามปกตินิสิตคณะวิศวะจะชอบมายืนดูสาวอักษรฯ  ที่สามแยกหน้าตึกอักษรฯ  เล่นเอาสาวอักษรขาพันกันจนแทบจะหกล้ม  จริงๆ แล้วพวกเราควรจะมีแฟนเป็น “วิศวกร”  มากที่สุด  แต่อาจเป็นเพราะเหตุการณ์ในวันนั้น  เลยทำให้นิสิตอักษรรุ่น 21  ไม่ค่อยจะมีแฟนเป็น “วิศวกร”  ส่วนใหญ่เมื่อจบการศึกษาแล้วจะไปแต่งงานกันนิสิตคณะอื่น   หรือคณะเดียวกัน  หรือไปแต่งงานกับเพื่อนต่างสถาบันไปเลย   แต่ที่เห็นใจกันจริงๆ ก็มีเช่น  มาลี (เงาะ)  กับพี่ทองคำ  เป็นต้น

4.2  เกิดสุริยุปราคา  เต็มดวง ในช่วงเวลาที่กำลังเรียนกันจนอาจารย์ต้องพักการเรียน  ยังจำได้ว่านิสิตคณะสถาปัตย์  เดินกันเป็นหมู่ตีกลองมาตามถนนในจุฬาฯ  เดินตีกันจนกระทั่งแสงสว่างขึ้นจึงหยุด   พวกเราก็สนุกสนานกันไปด้วย

4.3  สมเด็จพระเจ้านโรดมสีหนุฯ  กษัตริย์เขมรเสด็จมาเยี่ยมจุฬาฯ   พวกเราคอยเฝ้าบนตึกอักษรซึ่งท่านเสด็จพระราชขดำเนินผ่าน  ทำให้ปลาบปลื้มกันมากที่ได้มีโอกาสเห็นกษัตริย์เขมรเสด็จมาที่ตึกอักษรทำให้พวกเราได้เข้าเฝ้าใกล้ชิด

4.4  การลดธงครึ่งเสาในจุฬาฯ  ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม  มีการโกงการเลือกตั้ง  ทำให้นิสิตไม่พอใจ  แอบมาลดธงหน้าหอประชุมลงครึ่งเสา  ร้อนถึงจอมพล  สฤษดิ์  ธนะรัชต์  นำขบวนรถทหารเข้ามาเจรจาขอให้ซักธงขึ้นสู่ยอดเสา   และขอให้นิสิตไปร้องเรียน  ที่ทำเนียบรัฐบาล  นิสิตจุฬาฯ  จึงรวมตัวกันเดินขบวนไปยังทำเนียบมีพวกเราหลายคนร่วมเดินขบวนด้วย  นับว่าเป็นการเดินขบวนของนิสิตนักศึกษารุ่นแรกที่เดินเพื่อประท้วงในเรื่องทางการเมือง

4.5  ชาวฮังกาเรียนในประเทศไทย  เดินทางมายังหอประชุมจุฬาฯ  เรียกร้องให้พวกนิสิตขอความเป็นธรรมต่อชาวโลก   เนื่องจากรัสเซียปกครองประเทศฮังการี   มีชาวฮังการเรียนออกมาต่อต้านเพื่ออิสรภาพไปขออยู่ภายใต้ปกครองรัสเซีย   โดยนอนขวางถนนปิดการจราจร  แต่ทหารรัสเซียก็ปราบพวกที่ต่อต้านได้อย่างทารุณ   โดยการใช้รถถังแล่นบดไปยังผู้ประท้วง  ฉะนั้นคนฮังกาเรียนในประเทศไทย  จึงรวมตัวกันที่หอประชุมจุฬาฯ   เพื่อขอความเป็นธรรม

4.6  วันที่นิสิตส่วนใหญ่รอคอย  คือวันที่  23  ตุลาคม  “วันจุฬาลงกรณ์”  นิสิตใหม่ทุกคนจะต้องช่วยกันออกไปเดินขายธงเล็กๆ  สีชมพู  มีรูปพระบรมรูปทรงม้าสีน้ำเงินบนธงด้วย  เพื่อนำเงินมาบำรุงการศึกษาของนิสิตจุฬาฯ  การออกขายธงนี้เป็นเรื่องสนุก   เพราะนิสิตภูมิใจ  ที่แต่งเครื่องแบบเดินขายของ  และยังทำประโยชน์ให้จุฬาฯ ด้วย  หลายคนก็ได้พบคนถูกใจ  มีแฟนกันในวันนี้ เพราะจากการขายธงก็เลยทำให้รู้จักกันในเวลาต่อมา

4.7  วันที่พวกเรารอคอยอีกวันหนึ่ง  คือวัน “ฟุตบอลประเพณี” ระหว่าง “จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์”   ซึ่งจะมีการแข่งขันประมาณเดือนธันวาคมของทุกปี  พวกเราสนุกกันมากในวันนี้  เนื่องจากเมื่อจบการแข่งขันฟุตบอลแล้ว   นิสิตทั้งสองมหาวิทยาลัยจะมาร่วมสนุก  เดินไปฉลองกันที่ท่าพระจันทร์ (ธรรมศาสตร์)  บ้าง ที่สามย่าน (จุฬาฯ) บ้าง สลับกันทุกปี  ขณะเดินก็ร้องเพลงเชียร์   มือถือคบเพลิง  แอบกระเซ้าเย้าแหย่กันตลอดทาง  แล้วไปร่วมรับประทานอาหารกันที่สนามของมหาวิทยาลัย   มีเพื่อนของเราคนหนึ่งได้พบกับแฟน  ก็เพราะงานฟุตบอลประเพณีนี้แหละในที่สุดแต่งงานกันอย่างมีความสุข  ถ้าไม่รู้ว่าใครให้ถาม “หมู”  สุพิน ดู

4.8  ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรีให้  “นิสิตจุฬาฯ”  เป็นครั้งแรกที่สวนอัมพร  หลังจากนั้นท่านก็เสด็จฯมาทรงดนตรีให้นิสิต  นักศึกษา  ทั้ง “จุฬาฯ”  และ “ธรรมศาสตร์”  ฟังติตต่อกันมาหลายปี  นึกถึงวงดนตรี อ.ส.  เพื่อนของเราคือ “น้อย” “คุณกัญดา  ธรรมมงคล”  ก็เป็นนักร้องประจำวงดนตรี อ.ส. ตั้งแต่เป็นนิสิตปีที่ 1  แม้ว่าต่อมาอายุจะเกิน  60  น้อยก็ยังร่วมวงดนตรี อ.ส. อยู่

4.9 เหตุการณ์ที่พวกเราทุกคนในรุ่น 21  ลืมไม่ได้ในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  คือ เมื่อวันที่  4  กรกกฎาคม  พ.ศ. 2500  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาฯ  วันนั้นพวกเราทุกคนสวมครุยเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรด้วยความสุขที่สำเร็จการศึกษา  แต่ยิ่งตื่นเต้นและปลาบปลื้มมาก  เมื่อในหลวงรับสั่งหลังจากที่พระราชพิธีสิ้นสุดแล้วว่า  “วันนี้ไม่อยู่ร่วมงานน้ำชา  เพราะพระราชินีจะคลอดลูก”   พวกเราซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ  ที่เสด็จมาประกอบภารกิจในวันนี้   ทั้งๆ ที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถกำลังจะมีพระประสูติกาล   “เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์”   พวกเราช่างโชคดีอะไรอย่างนี้   “ขอให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาย”  แต่อย่างไรก็ตาม   นิสิตที่จบการศึกษาเข้ารับพระราชทานปริญญาในวันนั้น  ได้มีโอกาสสนองเบื้องพระยุคลบาท  เป็นพระอาจารย์สอนหนังสือพระราชโอรสและ  พระราชธิดาโรงเรียนจิตรลดาจนได้เป็นอาจารย์ใหญ่แม้เกษียณอายุราชการแล้ว   ก็ยังทรงพระกรุณาให้รับราชการเป็นอาจารย์ใหญ่จนถึงปัจจุบัน  “ท่านผู้หญิงอังกาบ  บุณยัษฐิติ”   ขวัญใจพี่โกวิท  บุณยัษฐิติ  รุ่นที่อักษรฯ  ของเรานั่นเอง

4.10   “วันงานฉลองปริญญา”  เป็นอีกวันหนึ่งที่พวกเรารอคอย   ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว  น่าเสียดายจริงๆ  งานนี้สโมสรนิสิต  (ส.จ.ม.)  เป็นผู้จัดให้แก่บัณฑิตใหม่ทุกคณะ  บัณฑิตหญิงทุกคนต้องแต่งสีขาว   ส่วนใหญ่ใส่ชุดยาวกรอมเท้า   เพื่อร่วมในงานเลี้ยงและงานบอลซึ่งเป็นงานที่หรูมากขณะนั้น   วงดนตรีสุนทราภรณ์ บรรเลงตลอดงาน     งานจัดที่เวทีลีลาศสวนลุมพินี  ก่อนวันงานพวกเราต้องหาที่ซ้อมเต้นรำจังหวะบอลรูม  หัดตั้งแต่เหยียบเท้าคู่เต้นบวมไปหลายคน   จนกระทั่งเกือบจะเป็นดาราเท้าไฟ   พอวันฉลองปริญญาจริงๆ   บางคนเต้นไม่ได้   เพราะเวลาฝึกต้องออกจากมุมห้อง  แต่เวทีลีลาศจริงๆ  ไม่มีมุม  ต้องลากถูลู่ถูกังกว่าจะตั้งตัวได้  บางทีเต้นไปกลางฟลอว์ได้ยินเสียงนับ  1,2,3,4  เอ้า 1,2,3,4  สนุกจริงถ้าเป็นสมัยนี้ไม่ต้องไปหัดให้เสียเวลา  ออกไปเขย่าตัวไปมา  พยักหน้าให้เข้ากับจังหวะก็ถือว่าเก่งแล้ว

  1. ท่านอาจารย์ที่เคารพ

อาจารย์ทุกท่านได้ประสิทธิประสาทวิชาความรู้ให้แก่พวกเรา  รุ่น 21  อย่างที่พวกเราไม่มีวันลืมได้   ท่านสอนพวกเราเหมือนลูก  เหมือนน้อง   ให้ทั้งความรู้ทางวิชาการ  ตลอดจนการพัฒนาบุคลิกภาพ   เช่น ศาตราจารย์จิตรเกษม  สีบุญเรือง   ที่คอยเตือนให้พวกเราตรวจรองเท้าว่าอยู่ในสภาพดีไหม  ส้นรองเท้าเอียงหรือเปล่า  รองเท้าต้องขัดเป็นมัน ท่านอาจารย์ให้ถือกระเป๋า  ในกระเป๋าต้องมีลิปสติก แป้ง  หวี บรรจุไว้เสมอ  เพราะพวกเราใกล้จะจบการศึกษาควรแต่งหน้าเล็กน้อย  เวลาพูดต้องไม่พูดดังจนเกินไป  เวลาหัวเราะไมให้อ้าปากกว้าง  ฮ่าๆ  !  ให้เพียงเห็นไรฟัน  (เดี๋ยวนี้ก็ยังทำอย่างที่อาจารย์สอนไม่ค่อยได้)   ส่วนศาสตราจารย์จินตนา ยศสุนทร  สอนให้รู้จักการใช้ห้องน้ำรวมไปถึงการใช้ส้วม  ทุกอย่างที่ท่านอาจารย์สอนล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น  เมื่อนึกถึงภาพท่านอาจารย์ทุกท่านเมื่อใด  ก็เห็นแต่ภาพของความปราณี  แม้บางครั้งท่านจะดุเอาบ้างแต่ก็ดุอย่างเมตตา  พวกเราที่อยู่ได้ดีกันจนถึงทุกวันนี้ก็ด้วยได้รับความรู้  การอบรมสั่งสอนจากอาจารย์ทุกท่าน  ณ ตึกเทวาลัยแห่งนี้

รายชื่ออาจารย์ที่จำได้และอยากจะบันทึกไว้

ภาษาไทย

เจ้าคุณอนุมานราชธน    ศาสตราจารย์คุณพระวรเวทย์พิสิฐ    ศาสตราจารย์หม่อมหลวงจิรายุ  นพวงศ์    อาจารย์มหาเกษม  บุญศรี    อาจารย์ฉ่ำ   ทองคำวรรณ   ศาสตราจารย์ฉลวย   วุธาทิตย์     ศาสตราจารย์เบ็ญจวรรณ   สุนทรางกูร      ดร.คมคาย  นิลประภัสสร

ภาษาอังกฤษ

ศาสตราจารย์พระเจ้าวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร    ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงนพคุณ  ทองใหญ่  ณ อยุธยา     ศาสตราจารย์ ม.ร.ว. แสงโสม  เกษมศรี     ศาสตราจารย์คุณพระเรี่ยมวิรัชภาคย์     ศาสตราจารย์ดร.กมล  เภาพิจิตร     Mr. John  Blowfeld      Mr. Hilton     Mr.Braine  Hartnel  l  Mr. Mc  Gaham     Mr. Mc  Ginis     Mr. Peter Bee    Mr. Shehan   Ms. Harris

ภาษาฝรั่งเศส

ศาสตราจารย์คุณหญิงจินตนา  ยศสุนทร     ศาสตราจารย์ดร. จิตรเกษม  สีบุญเรือง     หม่อมเจ้าขจรจบ   กิตติยากร      อาจารย์เดช   ตาละภัฎ     อาจารย์วรวาร   วารศิริ   รองศาสตราจารย์กรรดิกา ณ สงขลา      ศาสตราจารย์คุณหญิงเกื้อกูล  เสถียรไทย      M. Gregoire      M. Jacques  Bousquet  Mme  de Beauvais     Pere  Bonain

ภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์

ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ   ดิศกุล     ศาสตราจารย์รอง  ศยามานนท์     ศาสตราจารย์ ม.ร.ว.แสงโสม   เกษมศรี     ศาสตราจารย์ ม.ร.ว. สุมนชาติ  สวัสดิกุล      คุณหลวงปราโมทย์   จรรยาวิภาช      ศาสตราจารย์ พ.อ. พูนพล  อาสนจินดา   อาจารย์สวาท  เสนาณรงค์     อาจารย์ดร.โอวาส  สุทธิวาทนฤพุฒิ     อาจารย์ พล.ต.อ. วิศิษฐ์     เดชกุญชร,  อาจารย์วิมล  พงศ์พิพัฒน์      ศาสตราจารย์รัชนีกร  บุญ-หลง

                                                                                                             

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University