เรื่องเล่าของนิสิตเก่า รุ่น 34

เทวาลัยในความทรงจำ นิรมล กิตติวิบูลย์ อบ.34

 

เรื่องเล่าชาวเทวาลัย จาก “เทวาลัยในความทรงจำ”

โดย   นิรมล  กิตติวิบูลย์

ในวาระพิเศษครบรอบ 50 ปี อักษรศาสตร์รุ่น 34 ได้จัดทำหนังสือ “เทวาลัยในความทรงจำ” เพื่อระลึกถึงพระคุณของคณาจารย์และสถาบันอันทรงคุณค่า โดยเรียงร้อยเรื่องราว ประมวลภาพแห่งความทรงจำ  ทั้งด้านการเรียนการสอนและการร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะ รวมทั้งประสบการณ์ในเรื่องต่าง ๆ  หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมพลคนรักการเขียนของรุ่น ทั้งยอดนักเขียน นักเขียน ครูบาอาจารย์ ผู้ที่อยู่ในวงวิชาการและวงการอื่น ๆ ที่มีประสบการณ์ด้านการเขียน ตลอดจนผู้ที่มีความสามารถและชื่นชอบในการเขียน รวมทั้งผู้ที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี ซึ่งได้มาช่วยกันสร้างสีสันให้หนังสือเล่มนี้  มีทั้งสาระและความเพลิดเพลิน มีเรื่องราวที่น่าสนใจและภาพประกอบอย่างสวยงาม 

คณะผู้จัดทำประกอบด้วย ที่ปรึกษา “ รศ.ดร.คุณหญิงวินิตา  ดิถียนต์  รศ.อรอุมา  ยุทธวงศ์ 

ประธานคณะผู้จัดทำ : ผศ.ดร.พรทิพย์  พุกผาสุข  สาราณียกร : นิรมล กิตติวิบูลย์  คณะสาราณียกร :

รศ.ดร.อรวรรณ  ปิลันธน์โอวาท   รศ.ดร.จรรยา  เศรษฐบุตร   เพ็ญแข  คุณาเจริญ   อัมพร  ห้อคนดี 

นันทนา  สัตยวณิช   และพรทิพย์  วัฒนศิริสุข 

หนังสือแบ่งออกเป็นตอน ๆ เริ่มด้วยท่องแดนเทวาลัย  เทวาลัยในความทรงจำ  จากเทวาลัยสู่โลกกว้าง  ชาวเทวาลัยรำลึก ฯลฯ ซึ่งขอหยิบยกมาเป็นบางเรื่อง บางตอน เริ่มจาก “ท่องแดนเทวาลัย” พบกับบทกลอนและบทความ “ชงโคบานลานอักษร”  ของคุณหญิงวินิตา (วินิจฉัยกุล) ดิถียนต์ ได้กล่าวถึงเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับตึกเทวาลัยตอนหนึ่งว่า  “คณะอักษรศาสตร์ในตอนนั้นมีอยู่ตึกเดียว  โดดเด่นเป็นสง่ามองเห็นได้จากนอกรั้วมหาวิทยาลัย  ทั้งทางถนนอังรีดูนังต์ และถนนพญาไท มีเรื่องโจ๊กเล่ากันให้ครื้นเครงว่า  คุณลุงเชยจากบ้านนอกที่เข้ากรุงเทพๆ เป็นครั้งแรก ผ่านจุฬาฯ เห็นตึกอักษรฯ เข้าเลยยกมือไหว้ นึกว่าวัด เรื่องจริงหรือเล่าขานกันเพื่อความขลังของตึกก็ตาม พวกน้องใหม่ที่เดินเรียงแถวกันเข้ามาในวันเปิดภาคเรียน ต่างก็ปลาบปลื้มกันทั่วหน้ากับชื่อ เทวาลัย ที่รุ่นพี่บอกว่าหมายถึงตึกของคณะอักษรศาสตร์ เพราะอยากเป็นเทพบุตรนางฟ้าอาศัยอยู่ในที่อยู่เทวดาด้วยกันทุกคน...

ในตอนหนึ่งได้เล่าถึงการแต่งกายของนิสิตน้องใหม่หญิงในยุคนั้นว่า  “.....อย่างไรก็ตาม พวกนางฟ้าที่เทวาลัยนั้นไม่สู้จะแต่งเนื้อแต่งตัวโลดโผน คงเป็นเพราะเทพบิดรในสมัยนั้น คือศาสตราจารย์รอง  ศยามานนท์ ท่านเป็นห่วงบรรดาลูกสาวมากเรื่องการแต่งกายในวันที่ให้โอวาทเป็นครั้งแรกแก่นิสิตใหม่ หลังจากให้โอวาทเรื่องเรียนและอะไรต่อมิอะไรที่ฟังดูเป็นทางการเสร็จแล้ว ท่านก็เปลี่ยนเสียงเป็นเสียงพูดอย่างที่บิดาพึงพูดกับบุตรสาวว่า… พวกเราจำต้องเดินผ่านระเบียงยาวที่เชื่อมระหว่างตึกอักษรศาสตร์กับห้องสมุด ไปกินอาหารในโรงอาหารเล็ก ๆ เก่า ๆ อีกฝั่งหนึ่งของถนนหลังหอสมุด ริมลูกกรงระเบียงทั้งสองฟากเป็นที่สิงสถิตของนิสิตชายคณะวิศวกรรมศาสตร์  พอถึงเวลาหยุดพักกินข้าวเที่ยง เป็นต้องมายืนเรียงแถวกันเหมือนนัด (ก็คงนัดกันมาจริงๆ) จ้องมองสาว ๆ ผู้จำต้องเดินขาสั่นผ่านไปตามเส้นทางนี้อย่างไม่มีทางเลี่ยง ระเบียงนั้นลมโกรกแรงมาก ราวกับอยู่กลางแจ้ง เพราะฉะนั้นอย่าสวมกระโปรงพลีต (ซึ่งสมัยนั้นเป็นแพรอัดจีบเนื้อเบา) เจอลมพัดแรงเข้า กระโปรงพลีตจะปลิวขึ้นครอบหัวเลย นับเป็นคำเตือนที่มีเหตุผลแจ่มแจ้งชัดเจนมาก และต้องขอใช้ภาษาอังกฤษว่า practical ที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยได้ยินมา และได้ผลที่สุดด้วย คือไม่เคยซื้อกระโปรงพลีตมานุ่งเลย ตลอดสี่ปีที่ต้องเดินผ่านระเบียงนั้นไปมา.....

ในอีกตอนหนึ่งได้เล่าถึงความขลังของบันไดห้องโถงกลาง “.....ทุกเช้าพวกเราจะเดินขึ้นบันไดระเบียงด้านใดด้านหนึ่งของตึก  ถ้าพ้นปีหนึ่งขึ้นปีสองได้ก็จะได้ขึ้นบันไดในห้องโถงไปสู่ชั้นบน หยุดถวายบังคมพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนจะแยกขึ้นบันไดซ้ายขวากันไป ตามแต่ว่าใครจะเรียนห้องไหน        ที่เอ่ยถึงบันไดหลายครั้งหลายคราหน่อยในตอนนี้ ก็เพราะมีตำนานที่พรรคพวกเอามาหลอกกันโดยอ้างว่าฟังมาจากพวกพี่ ๆ ว่า ใครก็ตามที่เดินพลาดตกบันไดคณะอักษรศาสตร์ จะได้เนื้อคู่ในคณะอักษรศาสตร์ด้วยกัน และบางตำนานก็เปลี่ยนเป็นว่า ถ้าตกบันไดก็ต้องสอบตก แต่จะเป็นตำนานไหน พวกเราก็ไม่อยากจะให้เป็นจริงทั้งนั้น.....

สำหรับ “เทวาลัยในความทรงจำ” เป็นข้อเขียนของคณะผู้จัดทำหลายคน เรื่อง “การเรียนการสอน  และคณาจารย์” ได้เล่าถึง “ห้องสิบ” ที่ชาวเทวาลัยไม่เคยลืมเลือน  “…..เปิดเรียนวันแรก (วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน 2509) เข้าห้องเรียนรวมเรียกกันว่า ห้องสิบ อยู่ชั้นล่างของตึกหนึ่ง ที่มีหัวบันไดตึกเป็นพญานาคซึ่งเป็นฉากหลังภาพถ่ายวันรับปริญญาของทุกคณะ (เพราะอยู่ใกล้หอประชุมจุฬาด้วย) ห้องสิบเป็นห้องโถงกว้าง เก้าอี้นั่งเรียนเป็นเก้าอี้ “เล็กเช่อร์”  ไม่มีโต๊ะใส่หนังสือ นิสิตต้องวางสมุดและหนังสือเรียนไว้ใต้เก้าอี้ที่นั่ง ระยะแรกรู้สึกตะขิดตะขวงใจ เพราะถูกสั่งสอนมาไม่ให้นั่งทับหนังสือถือเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นตัวหนังสือ ทำอย่างไรได้ยุคนั้นกระเป๋าสำหรับใส่หนังสือเรียนแบบโก้เก๋ก็ไม่มี ไปไหนใช้วิธีโอบแนบไว้กับตัวเวลาอยู่บนรถเมล์ เท่ไม่หยอกเพราะได้โชว์ตราพระเกี้ยวไปด้วย  ในห้องสิบนิสิตไม่สามารถเลือกที่นั่งได้ตามชอบใจ เพราะมีกฎระเบียบว่าต้องนั่งตามตัวอักษร เทอมแรกเรียงตาม ก-อ (ไม่มีใครชื่อ “ฮ”) พอเทอมหลังสลับเป็น อ-ก ตอนแรกไม่เข้าใจว่าทำไมต้องบังคับกัน (ฉันอยากนั่งกับเพื่อนเก่าจากโรงเรียนเดิม) มาเข้าใจชัดเมื่อบุรุษร่างสูง ชื่อคุณประดิษฐ์ มาพร้อมกับแผนผังรายชื่อนิสิตและทำหน้าที่ตรวจเช็ครายชื่อทุกคาบที่เรียน สถิติการเข้าเรียนและขาดเรียนจึงเที่ยงตรงที่สุด เพราะไม่มีใครเสียสละไปนั่งเก้าอี้เพื่อน เพื่อตัวเองกลายเป็นผู้ขาดเรียน..... เวลาเรียนคาบแรกเริ่ม 8 โมงเช้า ส่วนใหญ่มาเรียนทัน (เพราะไม่มีข้ออ้างเรื่องรถติด) เมื่อนั่งประจำที่แล้ว อาจารย์ผู้สอนเข้ามานั่งที่โต๊ะหน้าห้องเรียน แน่นอนยุคนั้นไม่มีการปิ้งแผ่นใส หรือฉายภาพเลื่อน แต่เป็นการพูด (บรรยาย) ประกอบการเขียนกระดานด้วยชอล์ค สไตล์การสอนของแต่ละอาจารย์ก็แตกต่างกันไป.....ระหว่างการเรียนที่คณะอักษรฯ ไม่เคยตั้งคำถามเลยว่า อาจารย์ท่านไหนเก่ง ท่านไหนไม่เก่ง เพราะเชื่อหมดใจตั้งแต่ก่อนเข้าแล้วว่า อาจารย์จุฬาฯต้องเก่ง เราให้ความเคารพอย่างสนิทใจ เมื่อเห็นอาจารย์เดินมาจะหยุดยืนตรงและยกมือไหว้แสดงความเคารพทุกครั้ง.....ในการสอบแต่ละครั้ง อาการเครียดมาเยือนทุกครั้ง ข้อสอบส่วนใหญ่เป็นข้อสอบอัตนัย นั่นคือเป็นการเขียนบรรยายล้วนๆ (ไม่มีทางลอกข้อสอบกันเหมือนการวัดตึกหนึ่งหรอก) พอเข้าห้องสอบ อาจารย์ที่คุมสอบจะแจกสมุดคำตอบเป็นสมุดตีเส้นขนาดเล็กกว่ากระดาษ A4 มี 12 หน้า ให้คนละเล่มก่อน แต่บางคนทำให้เพื่อนใจฝ่อ เพราะเล่นยกมือขอสมุดคำตอบเพิ่มอีก สถิติสูงสุดถึง 3 เล่ม (จะเขียนอะไรกันหนักหนา) ถ้าเป็นวิชาภาษาอังกฤษ ค่อยยังชั่วหน่อย กระดาษคำตอบเว้นช่องว่างไว้ให้เขียนตอบ.....

เรื่อง “รับน้องใหม่” ได้เล่าถึงพิธีการรับน้องใหม่ในส่วนของทุกคณะตอนหนึ่งว่า “ในช่วงบ่าย น้องใหม่ทุกคนเข้าไปรวมตัวกันในหอประชุมจุฬาฯ เพื่อนที่จำภาพนี้ได้ดีเล่าว่า น้องใหม่นั่งที่ชั้นล่าง รุ่นพี่อยู่ที่เฉลียงชั้นบน เมื่อถึงเวลาที่ตระเตรียมไว้ รุ่นพี่ก็โปรยดอกไม้และใบจามจุรีลงมา เสียงเพลง “มหาจุฬาลงกรณ์” เพลงพระราชทานดังกระหึ่ม ความขลังของหอประชุม ท่วงทำนองเพลงที่แสนไพเราะ บทเพลงที่มีความหมายลึกซึ้ง ใบจามจุรีที่โปรยปรายดังสายฝน การต้อนรับที่อบอวลด้วยความอบอุ่น สร้างความซาบซึ้งใจยิ่งนัก จนน้องใหม่อักษรฯ หลายคนร้องไห้ด้วยความตื้นตันใจ….ในช่วงเย็น เป็นการรับน้องใหม่ของแต่ละคณะ เพื่อนที่จำภาพนี้ได้ดีเล่าว่า ที่คณะอักษรฯ รุ่นพี่เตรียมข้าวปลาอาหารไว้ให้ มีการเลี้ยงโต๊ะจีนที่ห้องโถงใหญ่และระเบียงคณะ (มีเพื่อนบอกว่าปีก่อน ๆ เลี้ยงที่สนามหญ้า ปีนี้ฝนตกเลยต้องมาเลี้ยงบนคณะ) อาจารย์ รุ่นพี่ และรุ่นพี่ที่เป็นกรรมการคณะฯ ทุกคนมาร่วมรับประทานอาหารกับน้องใหม่ เพื่อนเล่าว่า มีดนตรีบรรเลงเพลง “พี่ประเสริฐ” ออกมาร้องเพลง “ศรอนงค์” พอเพลงจบ ศ.คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร ก็ลุกขึ้นส่งเสียงเชียร์ “encore encore” ทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยความครึกครื้น สนุกสนาน….. ชีวิตการเป็นน้องใหม่ และการรับน้องใหม่ในครั้งนั้น เป็นพิธีที่งดงาม อบอุ่น ซาบซึ้ง ทำให้ได้เรียนรู้ระบบ “SOTUS” ที่ดีงาม มีคุณค่า มีความหมาย เป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่คิดถึงคราใดก็สุขใจยิ่งนัก

เรื่อง “วันทรงดนตรี” ได้เล่าถึงความประทับใจในวันทรงดนตรี ปี 2509 ที่อักษร 34 เป็นน้องใหม่ตอนหนึ่งว่า “ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์พร้อมด้วยพระราชโอรสและพระราชธิดาเสด็จมาถึงหอประชุมในตอนบ่าย นิสิตทั้งหมดร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีถวายแล้วต่อด้วยเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ จบท้ายด้วยการบูมจุฬาถวายอย่างเซ็งแซ่หอประชุม…..รายการเริ่มด้วย อธิการบดีกราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเบิกตัวโฆษกผู้ดำเนินรายการในยุคนั้นได้แก่ ศาสตราจารย์คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร รองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล และดร.อาจอง ชุมสาย ส่วนนักร้องประจำวง อ.ส.ส่วนใหญ่เป็นนิสิตเก่าจุฬาได้แก่ หม่อมเจ้าวุฒิเฉลิม วุฒิชัย ศาสตราจารย์ดร. คุณกัญดา ธรรมมงคล คุณหญิงจามรี สนิทวงศ์ฯ คุณหญิงทองทิพย์ รัตนรัต ฯลฯ ซึ่งจะขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์หรือเพลงตามคำขอ วงดนตรี อ.ส.นี้อนุญาตให้ผู้ฟังขอเพลงได้ด้วย สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงขอเพลงต่างๆ บรรดานิสิตก็ขอเพลงได้ด้วย วิธีการคือเขียนใส่กระดาษแล้วส่งต่อๆไปถึงหน้าเวที มีโฆษกอ่านถวายให้องค์หัวหน้าวงทรงทราบ มีการบรรเลงพระราชทานผู้ฟัง เป็นที่ปลื้มปิติแก่เหล่าบรรดาผู้ขอเพลงยิ่งนัก บางเพลงไม่ทรงรู้จักก็เล่นพระราชทานไม่ได้ องค์หัวหน้าวงก็จะเสด็จมาอธิบายด้วยพระองค์เองเรียกเสียงหัวเราะก้องห้องประชุม เพลงที่ทรงเล่นก็มีอาทิ When the Saint Go Marching In ,Fleur, Oh My Papa, When, Song of India โดยเฉพาะเพลง Song of India มีการแปลเนื้อเป็นไทยชื่อว่าเพลง “แขกเพลีย” ร้องวนไปวนมาไม่รู้จบ “โอ Song of India ฉันเพลีย ฉันเพลียเต็มทีเลิกกันเสียที เลิกกันหรือยัง ยัง ยัง..... ในการทรงดนตรีนั้น ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทรงร่วมแสดงด้วย โดยบางครั้ง เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ทรงแซกโซโฟน เจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตน์และเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรทรงร้องเพลง และทูลกระหม่อมจุฬาภรณ์ทรงเปียโนประทานอย่างไพเราะเพราะพริ้ง...”

เรื่อง “ฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์” ได้เล่าถึงบรรยากาศวันฟุตบอลประเพณีในยุคนั้นตอนหนึ่งว่า “เช้าตรู่วันเสาร์ที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๐๙ ลานเทวาลัยใต้ร่มชงโคที่เรียงรายอยู่รอบๆ คลาคล่ำไปด้วยน้องใหม่ ๐๙ ในชุดเสื้อเชียร์สีชมพูอ่อน มีตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยกลางอก กางเกงสีเข้ม เสื้อยืดแขนยาวเพราะในช่วงปลายธันวาคม อากาศค่อนข้างหนาว เป็นฤดูที่(เคย)มี อากาศเย็นสบาย ทุกคนหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสอย่างมีความสุข และตื่นเต้นที่จะมีโอกาสทำกิจกรรมที่เคยได้ยินได้ฟังมาว่า เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการเป็นน้องใหม่ รองลงมาจากการรับน้องใหม่ทีเดียว..... วันแข่งขันฟุตบอลประเพณี น้องใหม่คณะอักษรฯ ได้เช่ารถวิ่งไปตามท้องถนน  บรรยากาศในวันนั้นเต็มไปด้วยความคึกคัก สนุกสนาน บางคนยิ้ม บางคนโบกมือให้  หลังจากการตระเวนนั่งรถร้องเพลงเชียร์ เป็นการประชาสัมพันธ์งานแล้ว พวกเราต้องรีบกลับมาคณะ เพื่อเปลี่ยนชุดสำหรับเดินขบวนพาเหรดเข้าสนามศุภชลาศัยในตอนบ่าย  ขบวนทั้งหมดจะตั้งแถวหน้าคณะสถาปัตย์ฯ  ออกจากจุฬาฯ  ข้ามถนนเลี้ยวขวาไปตามถนนพญาไท  เลี้ยวซ้ายเข้าสู่สนาม   ศุภชลาศัย สองข้างทางมีคนมาชมขบวนมากมาย ขบวนพาเหรดแต่ละปีที่ผ่านมา จะมีขบวนดรัมเมเยอร์ ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ขบวนน้องใหม่ และปิดท้ายด้วยขบวนล้อการเมือง แต่ปีนี้มีเพิ่มขึ้นมาอีก ๑ ขบวน คือ ขบวนนางนพมาศ ซึ่งเป็นปีแรกและปีเดียวที่เอาขบวนนางนพมาศมาแห่บนถนน และในสนามกีฬา จนมีคนถามว่า เป็นขบวนแก้บนหรือขบวนบวงสรวงของจุฬาฯ.....”

เรื่อง “วันลอยกระทง” ได้เล่าถึงประเพณีอันงดงามที่ยังคงอยู่ในความทรงจำตอนหนึ่งว่า  “ในปีนั้น “เล็ก”พรทิพย์ ได้รับเลือกเป็นนางนพมาศของอักษรฯ รุ่นพี่ที่จัดริ้วขบวนมีความตั้งใจมาก ได้นำเสลี่ยงที่เป็นตั่งไม้สักของคณะมาใช้ เพื่อนที่หามเสลี่ยงบอกว่าหนักมาก นางนพมาศของเราในตอนนั้นก็ค่อนข้างอวบอิ่ม สงสารคนหามเสลี่ยง “วิรัช” ซึ่งตอนนั้นผอมมาก ดีว่ามี “สมศักดิ์” น้องใหม่ร่างใหญ่กำยำ “อนันต์” “สำเริง” “นิรันดร์” “ธนะศักดิ์” ช่วยกันหาม จากผลการประกวด คณะวิทยาศาสตร์ ได้เป็นนางนพมาศจุฬาฯ  ส่วนคณะอักษรฯ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศการประกวดกระทง (ควันหลงจากงานลอยกระทงปรากฏว่า วันรุ่งขึ้นน้องใหม่ชายทั้งหมดของคณะที่ช่วยกันหามเสลี่ยง ไม่มีใครได้มาเรียนเลยเพราะไหล่บวม)….. ภายในรั้วจามจุรีในค่ำคืนนั้น สว่างไสวด้วยแสงไฟ แสงเทียน พระจันทร์วันเพ็ญลอยเด่นเหนือสระน้ำจุฬาฯ ริ้วขบวนน้องใหม่ชายหญิงแต่งกายด้วยชุดไทยหลากสีหลายสมัย กระทงประกวดที่สร้างสรรค์ได้อย่างสวยงามประณีตบรรจง กระทงน้อยใหญ่ที่ล่องลอยไปตามสายน้ำ ช่างเป็นภาพที่มีชีวิตชีวาตระการตายิ่งนัก การจัดงานลอยกระทง จึงเป็นอีกประเพณีหนึ่งอันงดงามของชาวจุฬาฯ ที่สืบสานต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน

เรื่อง  “ทัศนศึกษา” ได้เล่าถึงกิจกรรมต่างๆ ในยุคนั้นว่า  “มีตติ้งรุ่น ปีแรกเรียกกันว่า มีตติ้งน้องใหม่ หรือ เฟรชชี่มีตติ้ง เราไปวังตะไคร้กัน เช้าไปเย็นกลับ บนรถ ทั้งขาไปและขากลับ พวกเราร้องเพลงกันอย่างสนุกสนาน ทั้งเพลงเชียร์คณะ เพลงจุฬาต่าง ๆ และเพลงทั่วไป มีการเล่นเพลงอย่างหนึ่งซึ่งอยากบันทึกไว้ในที่นี้ เพราะคิดว่าเด็กรุ่นหลัง ๆ คงไม่เล่นกันแล้ว คือการเล่นร้องเพลง ลามะลิลา ที่มีสร้อยเพลงว่า

ลามะลิลา    ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน    พอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา  ขึ้นต้นอะไรก็ได้  แต่ต้องลงท้ายด้วยสระอา

แล้วก็มีคนหัวไวด้นกลอนสัมผัสแบบนี้ และลงท้ายด้วยพยางค์ สระอา ส่วนทุกคนก็จะร้องสร้อยเพลงรับ สลับกันไป (ได้อ่านสกุลไทย คอลัมน์ของ ญาดา อรุณเวศ อารัมภี บอกว่ากลอนที่ลงท้ายทุกบาทเป็นสระเดียวกันแบบนี้ เรียกว่า กลอนหัวเดียว).....  สำหรับเพื่อนที่ชอบเดินทาง ยังมีทริปนอกคณะให้ไปร่วมอีกหลายรายการ ที่พวกเราชักชวนกันไปอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง คือ โบราณคดีสัญจร ซึ่งจัดโดยกลุ่มพุทธ (ชื่อเต็มคือ กลุ่มศึกษาพุทธศาสตร์และประเพณี)  เปิดรับนิสิตทุกคณะ โบราณคดีสัญจรเป็นทริปที่น่าสนใจเพราะมักจัดไปชมโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดต่างๆ ซึ่งในสมัยนั้นไม่ได้ไปถึงได้ง่ายดายอย่างทุกวันนี้ นอกจากเส้นทางที่ยังไม่ได้”พัฒนา”ให้สะดวกแล้ว บริษัททัวร์ก็ยังไม่มี มีแต่ทัวร์กฐิน ผ้าป่า หรือทัวร์”ฉิ่งฉับ” ที่ไม่ได้พาไปชมอะไรมากนัก เราจึงรู้สึกเหมือนเป็นอภิสิทธิ์ของนิสิตจุฬาฯที่ได้ไปเยี่ยมเยือน เส้นทางที่จัดจะต่างกันไปในแต่ละปี ปีหนึ่งไปใต้ ไปถึงหาดใหญ่ ได้ไปสวนโมกขพลาราม อำเภอชัยยา จังหวัดสุราษฏร์ธานีด้วย ตอนนั้นยังอยู่ลึกเข้าไปจากถนนใหญ่ และสภาพยังเป็นป่าอยู่มาก เรามีโอกาสได้นมัสการและฟังปาฐกถาธรรมจากท่านพุทธทาส ท่านให้ความสำคัญกับนิสิตจุฬาฯมาก เพราะเห็นว่าเป็นคนหนุ่มสาวที่มีความรู้ หากเข้าใจธรรมะก็จะนำไปใช้ประโยชน์ทั้งแก่ตัวและและสังคมได้มาก อีกปีหนึ่งไปทางเหนือ แวะเที่ยวไปตั้งแต่ พิษณุโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย เชียงใหม่ เชียงราย เชียงแสน ซึ่งนับว่าไกลเหนือสุดของประเทศ  อีกปีหนึ่งไปใต้อีก แต่ไปตามเส้นทางฝั่งตะวันตก เลาะทะเลอันดามัน ซึ่งสมัยนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก

.....อีกกิจกรรมหนึ่งที่เป็นการเดินทางไปต่างจังหวัดหลายๆวัน แต่ไม่ใช่การท่องเที่ยว คือการไปค่ายอาสาพัฒนา ในสมัยที่เราเป็นนิสิต กิจกรรมนี้เป็นที่ขึ้นหน้าขึ้นตามาก มีจัดกันทุกมหาวิทยาลัย บางมหาวิทยาลัยมีมากกว่าหนึ่งค่าย จัดโดยหลายกลุ่ม หลายชมรม และยังมีค่ายที่รับนิสิตนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยด้วย ปัจจุบัน กิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาของนิสิตนักศึกษาก็ยังมีอยู่ แต่ไม่รู้ว่ารูปแบบเปลี่ยนแปลงจนแตกต่างจากสมัยเรามากไหม..... ในยุคของพวกเรา ค่ายอาสาฯ ที่ถือเป็นค่ายหลักของจุฬาฯ คือค่ายของชมรมค่ายอาสาพัฒนา สโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เรียกกันทั่วไปว่า ค่าย ส.จ.ม. จัดปีละครั้งช่วงปิดภาคปลายปี ระยะเวลาที่ออกค่ายประมาณ ๑๕ – ๒๐ วัน โครงการที่ไปทำอาจจะเป็น การทำถนน (ดินหรือลูกรัง) การสร้างอาคารเรียน ขุดบ่อน้ำ โดยร่วมมือกับชาวบ้านช่วยกันทำ  เปิดรับนิสิตจากทุกคณะ มีคนไปสมัครกันมากจนต้องคัดเลือก (มักจะด้วยวิธีสัมภาษณ์โดยชาวค่ายเก่า) ทั้งนี้เพราะแต่ละค่ายรับนิสิตเพียง ๕๐ – ๖๐ คน และในจำนวนนี้ก็เป็นชาวค่ายเก่า ที่มักจะไปแล้วก็ไปซ้ำอีก เลยเหลือที่สำหรับคนใหม่ไม่มาก จนมีคนพูดกันว่า สอบคัดเลือกไปค่าย ยากกว่าสอบเอ็นฯ เข้าจุฬาฯ เสียอีก  แต่ถึงอย่างนั้น สาวอักษรรุ่นเราก็ได้ไปเป็นชาวค่ายหลายคน...

เรื่อง “วันรับพระราชทานปริญญา” ได้เล่าถึงการแสดงความยินดีในวันแห่งความปลื้มปีติของชาวจุฬาฯ ในยุคนั้น “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เริ่มพระราชทานปริญญาบัตรแก่สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ของรัฐตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา หนังสือพิมพ์เคยคำนวณว่า หากเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตร 490 ครั้ง ประทับนั่งครั้งละประมาณ 3 ชั่วโมง เท่ากับทรงยื่นพระหัตถ์พระราชทานใบปริญญาบัตร  470,000  ครั้ง จึงมีผู้กราบบังคมทูลขอให้ทรงลดการพระราชทานลง โดยเสนอ ให้พระราชทานปริญญาบัตรเฉพาะระดับมหาบัณฑิตขึ้นไปเท่านั้น แต่มีพระกระแสตอบว่า ทรง “เสียเวลายื่นปริญญาบัตรให้บัณฑิตคนละ 6-7 วินาทีนั้น แต่ผู้ได้รับนั้นมีความสุขเป็นปีๆ เปรียบกันไม่ได้เลย” นอกจากนี้ ทรงเห็นว่า การพระราชทานปริญญาบัตรสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิตมีความสำคัญ เนื่องจากบางคนอาจไม่มีโอกาสศึกษาต่อในระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต ดังนั้นจึงมีรับสั่งว่า “จะพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตปริญญาตรีไปจนกว่าจะไม่มีแรง

....ก่อนที่บรรดานิสิตอักษรศาสตร์จะทยอยเข้าหอประชุมในตอนบ่าย ช่วงเช้าเป็นการถ่ายรูปของนิสิตร่วมกับครอบครัว คณาจารย์และเพื่อนๆ ในระยะนั้นเมื่อ 40-50 ปีก่อน การมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดียังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าใดนัก นิสิตสาวไม่มีการสวมมงกุฎดอกไม้รอบศีรษะเหมือนในยุคต่อๆมา (ซึ่งภายหลังก็มีการห้ามไม่ให้นิสิตสวมมงกุฎดอกไม้เข้าไปในหอประชุม) บันไดพญานาคของคณะอักษรศาสตร์เป็นสถานที่ “ขายดีที่สุด” ในการเป็นแบ็คกราวน์ให้แก่รูปนิสิตในชุดครุยปริญญาแทบจะทุกคณะ และบริเวณบันไดพญานาคด้านหน้าตึกอักษรศาสตร์ฝั่งถนนอังรีดูนังต์คือที่ตั้งอัฒจันทร์รูปโค้งเพื่อถ่ายรูปหมู่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาของแต่ละคณะ...

สำหรับ “จากเทวาลัยสู่โลกกว้าง” และ “ชาวเทวาลัยรำลึก” เป็นข้อเขียนของอักษรศาสตร์รุ่นที่ 34 ที่อยู่ในต่างประเทศและในประเทศ มีเรื่องราวและประสบการณ์น่าสนใจมากมาย  ติดตามได้จากหนังสือ “เทวาลัยในความทรงจำ

 

กลับขึ้นด้านบน

เทวาลัยกับมิติของเวลา ถนอมนวล โอเจริญ อบ. 34

เทวาลัยกับมิติของเวลา

โดย ถนอมนวล โอเจริญ

เมื่อห้าสิบปีก่อนพวกเราเป็นนิสิตใหม่ของคณะอักษรศาสตร์ซึ่งอยู่ที่ตึกเทวาลัยอันสวยงามอลังการสองตึกเคียงคู่กัน  ใบหน้าของทุกคนตอนนั้นเปี่ยมด้วยรอยยิ้มและความสุข เพราะที่นี่คือเป้าหมายของการเล่าเรียนอย่างมุมานะในชั้นมัธยมศึกษา พวกเราตื่นเต้นกับชุดเครื่องแบบนิสิต  การรับน้องใหม่ของพี่ๆ จำได้ว่าผู้เขียนต้องเดินไปหลายซุ้มที่ต้อนรับน้อง พอกลับมาที่คณะฯหน้าตานั้นมอมแมมมากเพราะถูกพี่ๆใช้สีทาหน้า อีกทั้งผมก็ถูกมัดเป็นจุกจนทั่วศรีษะ แต่ผู้เขียนรู้สึกอบอุ่น เพราะนี่คือมิตรภาพที่รุ่นพี่มอบให้  ในตอนแรกพวกเรานึกว่าเราจะมีอิสระไม่ต้องเข้าห้องเรียนตามตารางเวลาเหมือนในชั้นมัธยม แต่ปรากฏว่าในชั้นเรียนรวมตอนปีหนึ่งและปีสองซึ่งมีนิสิตจำนวนเป็นร้อย เราต้องนั่งตามเก้าอี้ที่มีชื่อของเรากำกับไว้ พอถึงเวลาจะมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งมาคอยเช็คชื่อโดยดูว่าเก้าอี้ตัวไหนว่าง  ผู้เขียนนึกเองตามประสาตอนวัยเยาว์ว่า ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยคงเรียนสบายๆไม่ต้องอ่านหนังสือและทำการบ้านมากเหมือนสมัยมัธยม เพราะเราสามารถเลือกเรียนวิชาเอกโทตามที่เราสนใจได้ แต่แล้วสิ่งที่เจอก็คือ เราต้องอ่านหนังสือที่อาจารย์แต่ละวิชามอบหมายให้อ่านเพื่อสอบมากมายทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน และอื่นๆอีก การเรียนรวมกันในห้องใหญ่สองปีทำให้พวกเราไม่ว่าจะเลือกเรียนวิชาเอกอะไรก็ตามจะรู้สึกสนิทสนมกัน สิ่งที่ยังคงตราตรึง หวาดหวั่นปนระทึกใจทุกครั้งคือตอนประกาศผลสอบปลายปีที่มีอาจารย์รัชนีกรมายืนประกาศผลที่บันไดห้องโถงตึกอักษรศาสตร์๑ วินาทีนั้นเหมือนหัวใจจะหยุดเต้นเสียให้ได้ เพราะหากใครสอบไม่ผ่านสองหมวดวิชา ต้องเรียนซ้ำชั้น หรือที่เราเรียกกันว่า พีท หากสอบไม่ผ่านทั้งสี่หมวดต้องถูกไทร์ นั่นคือถูกไล่ออก เมื่อขึ้นชั้นปีที่สามทุกคนต่างแยกย้ายไปเรียนตามวิชาเอกที่เลือก ผู้เขียนเลือกภาษาเยอรมันเป็นวิชาเอก และเนื่องจากว่าพวกเราส่วนใหญ่เคยเรียนชั้นเดียวกันในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามาก่อน  เราจึงเป็นกลุ่มที่ไปไหนมาไหนมักส่งเสียงดัง สนุกสนานเฮฮาอยู่เสมอ ระหว่างเวลาพักเรียน เรามักนั่งสังสรรค์อยู่ที่ม้านั่งใต้ต้นชงโคริมสนามหญ้าข้างห้องสมุดตึกอักษรศาสตร์ ๒เป็นประจำ พอถึงเวลาเรียน เราก็ยังนั่งอืดอาดกันอยู่ จนอาจารย์ชาวเยอรมันต้องเดินมาตามพวกเราไปเรียนเสมอ อาจารย์ผู้นี้แหละอดทนกับสาวซนอย่างพวกเรามาก แต่แกก็คงอาจแอบแก้แค้นนิดหน่อยโดยออกข้อสอบอัตนัยวิชาเยอรมันศึกษาจำนวน ๑๐๐ ข้อให้พวกเราตอบภายในเวลา ๓ ชั่วโมง สมุดคำตอบเล่มเดียวไม่พอตอบ  ซึ่งพวกเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าพวกเรารอดมาได้อย่างไร  หลังจากเรียนเสร็จในแต่ละวัน เราก็ไปทำกิจกรรมของชมรมต่างๆเช่น ชมรมฟันดาบ ชมรมดนตรีไทย ชมรมกลุ่มพุทธ ฯลฯ และเข้าประชุมเชียร์กับรุ่นพี่ กิจกรรมดังกล่าวทำให้พวกเราสนิทสนมกันมากยิ่งขึ้น เมื่อจบการศึกษาแล้วเรายังจำกันได้ไม่ว่ารุ่นพี่หรือรุ่นน้อง  มนุษยสัมพันธ์เช่นนี้สำคัญไม่น้อยในชีวิตการทำงานของพวกเรา

ช่วงชีวิตสี่ปีในเทวาลัยได้บ่มเพาะให้ผู้เขียนโตขึ้นทั้งความคิดและวิธีการดำเนินชีวิตระหว่างที่มีความรักในวัยเรียน  ผู้เขียนได้พบรักกับนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเขาคือคู่ชีวิตในปัจจุบัน จากเด็กที่ขยันเรียนและทำกิจกรรม จึงต้องแบ่งเวลาระหว่างสามสิ่งนี้ให้สมดุลย์กัน ไม่ใช่ผู้เขียนเท่านั้นแต่เพื่อนร่วมรุ่นหลายคนก็มปัญหาดังกล่าว  สิ่งที่ตื่นเต้นและประทับใจไม่รู้ลืมคือวันรับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหอประชุมและวันฉลองปริญญาที่ศาลาพระเกี้ยวที่บัณฑิตจบใหม่สวมชุดราตรีสีขาวไปเต้นรำฉลองกันจนดึกดื่น

จากวันนั้นถึงวันนี้เวลาได้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ทุกอย่างเปลี่ยนแปลง แต่ตึกเทวาลัยยังคงตั้งตระหง่านอยู่ที่เดิม ทว่าเทวาลัยทั้งสองตึกนี้ไม่ใช่สถานที่เรียนและที่สอนของคณะอักษรศาสตร์อีกต่อไป เนื่องจากจำนวนนิสิตและอาจารย์เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับอาคารเทวาลัยอยู่ในสภาพทรุดโทรมตามกาลเวลา จึงต้องบูรณะซ่อมแซมและปรับปรุงให้งดงามและมีประโยชน์ใช้สอยแก่ทุกคนในวงกว้าง การบริหารจัดการตึกใหญ่ทั้งสองตึกซึ่งใช้งบประมาณจำนวนมากจึงอยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัย  ตึกอักษรศาสตร์ ๑ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่จัดประชุมสัมนา และจัดพิธีการต่างๆของมหาวิทยาลัยหรือบุคคลทั่วไป ส่วนตึกอักษรศาสตร์๒ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอาคารมหาวชิราวุธ ที่ซึ่งบริเวณชั้นล่างเป็นสำนักคณบดีและส่วนงานบริหารของคณะอักษรศาสตร์ ส่วนชั้นบนเป็นศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์  สำหรับห้องเรียนและห้องพักอาจารย์ได้ย้ายไปที่อาคารบรมราชกุมารี(ตึกอักษรศาสตร์ ๓ เดิม)และอาคารมหาจักรีสิรินธร(ตึกอักษรศาสตร์ ๔เดิม) ปัจจุบันการเรียนการสอนของคณะฯพัฒนาก้าวไปไกล มีหลักสูตรทั้งระดับตรี โท เอกเพิ่มมากขึ้น ภาษาต่างประเทศที่สอนก็มีมากขึ้นทั้งภาษาตะวันตกและภาษาของประเทศเพื่อนบ้านทุกภาษารวมทั้งภาษาอาหรับ อีกทั้งยังเปิดสอนหลักสูตรที่เน้นวิชาชีพด้านการแปลและการล่าม หลักสูตรใหม่ล่าสุดได้แก่ หลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรม(หลักสูตรนานาชาติ) ด้วยเหตุนี้ภาพของคณะฯที่แต่เดิมดูเหมือนสาวผู้เคร่งขรึม เก่งเรียน เก่งกิจกรรม ได้กลายมาเป็นสาวทันสมัย คล่องแคล่ว เก่งวิชาการ และมีความเป็นสากลซึ่งพร้อมจะออกไปสู่โลกกว้างได้อย่างมั่นใจ  สื่อการสอนในปัจจุบันก็ทันสมัยและโสตทัศนูปกรณ์รวมทั้งห้องปฏิบัติการทางภาษาได้เข้ามาแทนที่กระดานดำกับชอล์ก การจดเลคเชอร์  การคัดลอกสมุดจด     โน๊ทจากเพื่อนและยาลบหมึก คอมพิวเตอร์และโน๊ทบุครวมทั้งโทรศัพท์มือถือคือสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันของนิสิตอักษรฯในปัจจุบันซึ่งต่างพวกเราในอดีตที่หอบหนังสือเล่มโตและสมุดจดโน๊ทมาเรียน การประเมินผลและการวัดผลการเรียนเป็นไปอย่างโปร่งใส มีการตรวจสอบ อาจารย์ประเมินตนเองและประเมินผลการเรียนของนิสิต ส่วนนิสิตก็ประเมินตนเองและประเมินการสอนของอาจารย์ได้ นี่คือภาพของการเรียนการสอนยุคใหม่ของคณะอักษรศาสตร์ หากถามนิสิตอักษรฯในเวลานี้ว่าชอบเรียนวิชาวรรณคดีมากน้อยเพียงไร ส่วนใหญ่ให้คำตอบว่า วิชาที่เน้นทักษะทางภาษา หรือวิชาที่เอื้อไปสู่การทำงานในโลกธุรกิจนั้นสำคัญมากกว่า ผู้เขียนซึ่งสอนวิชาวรรณคดีเยอรมันจึงรู้สึกอกหักและเสียดายอยู่ไม่น้อย

ตึกเทวาลัยสองตึกยังคงตั้งตระหง่านอยู่ที่เดิม แต่กาลเวลาได้ทำให้สิ่งที่เราคุ้นเคยเปลี่ยนแปลงไป แต่สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนกาลเวลาเปลี่ยนแปลงได้น้อย นั่นคือภาพในความทรงจำของพวกเราที่มีต่อเทวาลัยในอดีตและการบันทึกความทรงจำบางอย่างนี้ไว้จะช่วยชะลอไม่ให้กาลเวลาพรากสิ่งนี้ไปจากพวกเราชาวอักษรศาสตร์รุ่น๓๔ไปจนหมดสิ้น                                                             

                                                     

 

                                                                     

กลับขึ้นด้านบน

ฝันร้าย วิรัช เชียงสงค์ อบ.34

ฝันร้าย

โดย วิรัช  เชียงสงค์ อบ.34

มันเป็นคืนที่โหดร้าย ผมฝันว่าผมเรียนหนังสือไม่จบ ทั้งๆที่เหตุการณ์มันล่วงเลยมาเกือบห้าสิบปีแล้ว ผมฝันร้ายซ้ำอีก

เมื่อคืน คราวนี้ผมต้องเข้าห้องสอบรีเอ็กแซมครั้งสุดท้ายให้ได้เพื่อปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิต ตามมาตรฐานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตกใจตื่นบอกกับตัวเองว่า “นี่กูเรียนไม่จบจริงๆหรือ?”

ผมเป็นยอดนักสู้เรื่องการสอบ ผมเรียนหนังสือเกือบตกชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ไม่มีสิทธิได้เรียนต่อ ผมต้องหาที่เรียนใหม่ สอบคัดเลือกเข้าเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ ผลไม่ผ่านข้อเขียน แต่ด้วยกะล่อนส่วนตัวบวกกับความกล้าหน้าด้าน บากบั่นด้วยตัวเองขอพบอาจารย์ใหญ่ กราบเรียนท่านว่า “ผมคิดว่าผมทำข้อสอบคัดเลือกได้ ไม่ทราบว่าทางโรงเรียนพิมพ์หมายเลขผลผู้เข้าสอบผิดหรือไม่ ผมขอความเมตตาเข้าเรียนที่อำนวยศิลป์ด้วยครับ” ท่านอาจารย์มองหน้าผมด้วยงุนงงเล็กๆ กล่าวกับผมว่า “เอาอย่างนี้ วันเสาร์หน้า ให้เธอมาสอบสัมภาษณ์ได้” ผมกราบลาอาจารย์ เดินตัวปลิวออกจากห้องด้วยความดีใจ ผมสนองพระคุณท่านด้วยการตั้งใจเรียน ถึงแม้จะมีเหตุการณ์ตีรันฟันแทงกับช่างกลปทุมวันในบางโอกาส ผมก็สามารถสอบผ่านข้อสอบกระทรวงศึกษาฯ และสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ฯได้อย่างไม่คาดคิดมาก่อน

วันแรกที่เป็นนิสิตน้องใหม่ของคณะฯ ผมเดินจากท้ายซอยนานาเหนือไปรอขึ้นรถเมล์ที่ปากซอย ผมเห็นนิสิตหญิงใส่ถุงเท้าขาว เธอสวมแว่นตาเหมือนตัวการ์ตูนชิสุกะ รอขึ้นรถเมล์ด้วย ปรากฏว่าเธอเป็นเพื่อนร่วมห้องเรียนภาษาเยอรมันกับผมเอง นับเป็นเพื่อร่วมเดินทางและเพื่อนคนแรกครับ เธอชื่อ “ปุ๊ พรศิริ เลาหเรณู” รู้จักไหมครับเพื่อนอักษรรุ่น34

ผมกับเพื่อนห้องเรียนเยอรมันทำฤทธิ์ประท้วงไม่ยอมสอบเทสต์ เหตุเพราะไม่อัพเดทอ่านประกาศล่วงหน้า ผลก็ต้องสอบซ่อมตามประกาศิตอาจารย์หอย (ดร.จอร์จ ฮอยเซอร์) ทั้งห้อง เหี่ยวกันหมดซิครับ

กว่าจะเรียนจบหลักสูตรปริญญาตรีอักษรศาสตร์บัณฑิต ผมผู้มากด้วยประสบการณ์นอกห้องเรียน ต้องเข้าสอบรีเอ็กแซมทั้งหมดถึงสี่ครั้ง แล้วอย่างนี้จะไม่ยกก้นตัวเองว่าเป็นยอดนักสู้เรื่องสอบได้อย่างไร เพื่อนมันแซวผมว่า “ไอ้นี่มันเรียนไม่เก่ง แต่มันสอบเก่งว่ะ คือมันสอบมากกว่าชาวบ้านเขา”

กลับขึ้นด้านบน

อักษรฯ - - - - -ชิงชัย เชาวลี จงประเสริฐ อบ.34

อักษรฯ - - - - -ชิงชัย

โดย   เชาวลี จงประเสริฐ  อบ.34

ฉันเข้าเป็นน้องใหม่คณะอักษรศาสตร์ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2509 เป็นน้องใหม่ที่ตัวใหญ่มากและชอบเล่นกีฬา โดยเฉพาะ บาสเก็ตบอล พี่ๆคงเห็นหน่วยก้านว่าเป็นรถถัง น่าจะเอาไปชนกับทีมอื่นได้ ฉันเลยกลายเป็นน้องใหม่ที่ได้ไปเล่นบาสเก็ตบอลของคณะ ขณะที่เพื่อนๆหลายคนไปเล่นเน็ตบอล มีพี่ๆหลายคนทุกชั้นปีที่ร่วมทีมบาสเก็ตบอล เช่นพี่จ้อย พี่แอ๋วพี่จี๊ด นับว่าพี่ๅมองออกในการเลือกฉัน เพราะนอกจากเป็นกำแพงป้องกันไม่ให้ทีมจากคณะต่างๆเข้ามายิงประตูอย่างง่ายดายแล้ว ฉันยังสามารถยิงลูกเกือบกลางสนามเข้าประตูด้วยพลังมหาศาลและแรงฟลุค ทำให้ทีมเชียร์ดีใจกันใหญ่  นับเป็นสิ่งไม่ปรกติสำหรับสาวอักษร เนื่องจากปรกติแล้วสาวอักษรเอวบางร่างน้อย มักถูกนักกีฬาของคณะอื่นกระแทกเอามากกว่ากระแทกเขา ต่อมาทีมบาสเก็ตบอล สจม. เลือกฉันเข้าทีมบาสหญิง สจม. ได้ไปแข่งกับทีมมหาวิทยาลัยอื่นๆ และยังเดินทางไปแข่งที่ต่างจังหวัดด้วย

ในการแข่งขันกีฬาระหว่างคณะของจุฬา ฉันคว้าเหรียญทองกรีฑาทุ่มน้ำหนักมาให้คณะอีกเหรียญ  อะไรจะปานนั้น ที่น่าแปลกใจสำหรับฉันและคณะอักษร คือยังได้เหรียญทองกรีฑาทุ่มน้ำหนัก  ในการแข่งขันกีฬาห้ามหาวิทยาลัย ซึ่งในขณะนั้นมีเพียง5 มหาวิทยาลัยที่เป็นของรัฐ คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปกร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เพื่อนๆร่วมรุ่นก็ไปทำชื่อเสียงทางด้านกีฬาให้กับคณะหลายประเภท แต่น่าเสียดายที่ฉันจำไม่ได้ว่ามีอะไรบ้าง. ส่วนฉันเป็นคนเดีนวในรุ่นอักษร 34 ที่ได้เข้าร่วมทีมบาสเก็ตบอล สจม. และได้เหรียญทองกีฬาห้ามหาวิทยาลัย

นับว่าชีวิตน้องใหม่ของฉันจะสนุกกับการเล่นกีฬามากกว่าการเรียน จึงทำให้ ท่านคณบดี คือ ท่านอาจารย์รอง ศยามานนท์ถึงกับเรียกฉันเข้าไปตักเตือนเป็นการส่วนตัว ว่าขาดเรียนมากแล้วนะ ฉันยังจำน้ำเสียงที่ปราณีของท่านได้ จึงรีบกลับเนื้อกลับตัวตอนปลายเทอม ผ่านมาได้อย่างฉิวเฉียด

ปี่ที่สองฉันดูแลทีมบาสเก็ตบอลของคณะ ส่วนในปีที่สาม ฉันได้รับเลือกเป็นประธานกีฬาของคณะอักษร ทำหน้าที่เลือกน้องใหม่มาเล่นกีฬา เหมือนกับที่ฉันได้รับการเลือกจากพี่ๆ เป็นการส่งถ่ายหน้าที่กัน

ชีวิตของฉันในคณะอักษรเป็นช่วงเวลาที่สนุกมากที่สุด

 

กลับขึ้นด้านบน

ท่องอ่าวไทยไปกับเรือภาณุรังษี ประดิษฐา ศิริพันธ์ อบ.34

ท่องอ่าวไทยไปกับเรือภาณุรังษี

 โดย     ประดิษฐา ศิริพันธ์

รุ่นเล่าเรื่องให้เพื่อนๆฟังในเฟสบุ๊คและไลน์ข้ามโลก 29 มีนาคม 2559 เวลา 9:29 น.-22.29น. ย้อนอดีตแสนสุขสนุกสนานของเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่รักกัน กินเที่ยว ด้วยกันแบบไม่ธรรมดา    ความผูกพันนี้สนิทเป็นครอบครัวเดียวกัน และได้ประสบการณ์รอนแรมในทะเล โลดโผนผจญภัย ประทับใจไม่มีวันลืม

ยุพิน จันทร์เจริญสิน ผ่องใส ป้อมจักรศิลป์ ช่วยกันเล่าเรื่องนี้โดยศรีวลี ชัชวาลา และชุติมา เฮนี แชร์จากอเมริกา เพื่อนที่ไปยังมีวนิดา วงศาโรจน์ และพรพรรณ จงวัฒนา ส่วนที่ไปด้วยแต่เสียชีวิตแล้วคือ กนกรัตน์ วุฒิชาญ และวรปัญจา วงศ์ปุกหุต ทั้งหมดร่วมเดินทางไปเกาะสมุยด้วยกันในเรือภาณุรังษี ซึ่งเป็นเรือเดินสมุทรโบราณที่คุณพ่อยุพิน จันทร์เจริญสิน เป็นกัปตันเรือ ท่านอนุญาตให้ไปเที่ยวเกาะสมุยช่วงจุฬาปิดเทอม ให้นอนในเคบิน อาหารอย่างดี ห้องกินน้ำชาสวยตรงไม้เก่าขึ้นมัน เที่ยวเดียวกันนี้มีฝรั่งนักเขียนมาคนเดียว ฉลาดมาก แทนที่จะนอนโรงแรม เขานอนเรือมีอาหารสามมื้อและเงียบสงบ เย็นวันหนึ่งทะเลมีคลื่นคุณพ่อกลัวเมาเรือ ให้กุ๊กทำมะปลิงจิ้มกะปิหวานมาให้กินกัน ในเรือมีเกม shuffle board เกมคนแก่ พวกเราเล่นกันแป๊บเดียวก็เบื่อ จำไม่ได้ว่าทำอะไรกันบ้าง อาจจะเป็นเกมโยนห่วง shuffle board เรือภาณุรังษี ต่อมากลายเป็นภัตตาคาร แต่ละห้องมีภาพประวัติศาสตร์ มีภาพสมเด็จพระศรีสวรินทรา ฯ สมเด็จย่าของพระเจ้าอยู่หัว ในห้องที่ท่านเคยประทับ ซึ่งเดิมอยู่ตรงกลางเรือ บริเวณนี้แต่งสวยและเป็นที่เสิร์ฟของว่างยามบ่าย

  

เรือภาณุรังษี มีบทบาทสำคัญรับใช้พระราชวงศ์และประเทศไทยมายาวนาน ได้เป็นพระราชพาหนะในการอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กลับประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ก่อนอัญเชิญเสด็จลงเรือรบหลวง "แม่กลอง" แห่งราชนาวีไทยสู่กรุงเทพมหานคร

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เคยเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีรวมทั้งเจ้านายฝ่ายใน เสด็จโดยเรือภาณุรังษีไปประทับ ณ ตำหนักเขาน้อยจังหวัดสงขลา

หม่อมเจ้านักขัตมงคล กิติยากร พระบิดาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงอพยพพร้อมครอบครัวรวมทั้งหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เดินทางโดยเรือภาณุรังษี รอนแรมกลางทะเลไปยังจังหวัดสงขลา เมื่อคราวไปรับราชการในยุโรป

 

อ้างอิง

  1. wikipedia เรื่อง งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
  2. บทความ เมื่อทรงพระเยาว์ http://www.bejaratana-suvadhana.org/menu_bejahtml

 

กลับขึ้นด้านบน

ไหนจะสู้ชงโคบานลานอักษร รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิง วินิตา ดีถียนต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ๒๕๔๗

ไหนจะสู้ชงโคบานลานอักษร

รองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิง วินิตา ดีถียนต์
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ๒๕๔๗ 

๒๕ ปีหลังจากออกไปพร้อมกับความเป็นอักษรศาสตรบัณฑิต ไปอยู่ที่อื่นตามหน้าที่การงาน ยังไม่เคยลืมภาพดอกชงโคสีม่วงชมพู สวยสะพรั่งเหมือนดอกกล้วยไม้ บานใกล้บันไดตึกอักษรศาสตร์ในวันแรกที่เดินเข้ามาในฐานะน้องใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ จนทุกวันนี้

คณะอักษรศาสตร์ในตอนนั้นมีอยู่ตึกเดียวโดดเด่นเป็นสง่ามองเห็นได้จากนอกรั้วมหาวิทยาลัยทั้งทางถนนอังรี ดูนังต์ และถนนพญาไท มีเรื่องโจ๊กเล่ากันให้ครื้นเครงว่า…คุณลุงเชยจากบ้านนอกที่เข้ากรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก ผ่านจุฬาฯ เห็นตึกอักษรฯเข้าเลยยกมือไหว้ นึกว่าวัด เรื่องจริงหรือเล่าขานกันเพื่อความขลังของตึกก็ตาม พวกน้องใหม่ที่เดินเรียงแถวกันเข้ามาในวันเปิดภาคเรียน ต่างก็ปลาบปลื้มกันทั่วหน้ากับชื่อ เทวาลัย ที่รุ่นพี่บอกว่าหมายถึงตึกของคณะอักษรศาสตร์ เพราะอยากเป็นเทพบุตรนางฟ้าอาศัยอยู่ในที่อยู่เทวดาด้วยกันทุกคน

จริงๆแล้ว มาได้ยินหลังจากเรียนจบไปแล้วว่า เทวาลัย คือส่วนที่อยู่ตรงทางเข้าห้องโถงของตึกอักษรศาสตร์ ส่วนที่มีระเบียงเชื่อมกับหอสมุดนั่นเอง

ถึงไม่ได้เป็นชาวสวรรค์ แค่เป็นผู้ประกอบพิธีบวงสรวงในเทวาลัย ก็ยินดีที่สุดแล้ว หากเป็นอินเดียก็เท่ากับอยู่ในวรรณะพราหมณ์ ได้เล่าเรียนสรรพวิชาการชั้นสูง โก้น้อยไปเสียเมื่อไหร่

การเรียนของพวกเราทั้งสี่ปีเวียนว่ายกันอยู่ในห้วงมหรรณพใหญ่ของเทวาลัย จะมีการไปเรียนที่หอสมุดบ้างก็ตอนแบ่งกลุ่มหรือแบ่งวิชาเรียนในปีที่สาม ห้องเรียนหลักของเราล้วนเป็นห้องใหญ่โปร่ง มีประตูหลายบานเปิดไปสู่ระเบียงรอบ ลมพัดผ่านได้ไม่อบอ้าว กว่าจะถึงภาคเรียนสุดท้ายของปีสี่ บรรยากาศอันขรึมขลังและเก่าแก่ของตึกแห่งนี้ก็จับเข้าไปในเลือดเนื้อจนถึงกระดูก เป็นการผสมผสานกันอย่างลึกซึ้งของวัตถุ และจิตใจ ยากที่จะอธิบายออกมาได้

จำได้แต่ว่าเมื่อนั่งเรียนวิชาวรรณคดีไทยอยู่ในห้องใหญ่ มองออกไปเห็นพญานาคที่ปั้นเป็นคันทวยค้ำยันชายคาตึก แลเรื่อเหลืองอยู่ในเงาแดดยามบ่าย ใต้ฟ้าโปร่งที่ไม่มีอาคารอื่นใดแถวนั้นมาบดบัง พญานาคนั้นก็ดูเหมือนจะหยัดกายขึ้นมาได้ด้วยชีวิต เคลื่อนออกมาจากกาพย์เห่เรื่องกากีของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร

กางกรอุ้มโอบแก้ว กากี
ปีกกระพือพาศรี สู่งิ้ว
ฉวยฉาบคาบนาคี เป็นเหยื่อ
หางกระหวัดรัดหิ้ว สู่ไม้รังเรียง

ความรู้สึกเช่นนี้อาจจะไม่มี ถ้าหากว่าเรียนอยู่ในห้องทันสมัยติดเครื่องปรับอากาศเย็นสบาย มีคอมพิวเตอร์อยู่ใกล้ๆ ให้ใช้งานได้สะดวก จะกดปุ่มเรียกอะไรออกมาดู ก็ได้ทันใจเหมือนเนรมิต…เว้นแต่แรงบันดาลใจเช่นนี้เท่านั้นเองที่คอมพิวเตอร์จนปัญญา
สี่ปีที่เรียนอยู่ในคณะอักษรศาสตร์ ตรงกับยุคปลายของทศวรรษ ๑๙๖๐ ของฝรั่ง เป็นยุคของกระโปรงเริ่มหดสั้นขึ้นมาเหนือเข่า ทรงผมเกลี่ยภายนอกให้เรียบพอง หุ้มรังนก อันเกิดจากผมยีฟูอยู่ข้างในอีกทีหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม พวกนางฟ้าที่เทวาลัยนั้นไม่สู้จะแต่งเนื้อแต่งตัวโลดโผน คงเป็นเพราะเทพบิดรในสมัยนั้น คือศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ท่านเป็นห่วงบรรดาลูกสาวมากเรื่องการแต่งกาย ในวันที่ให้โอวาทเป็นครั้งแรกแก่นิสิตใหม่ หลังจากให้โอวาทเรื่องเรียนและอะไรต่อมิอะไรที่ฟังดูเป็นทางการเสร็จแล้ว ท่านก็เปลี่ยนเสียงเป็นพูดอย่างที่บิดาพึงพูดกับบุตรสาวว่า … พวกเราจำต้องเดินผ่านระเบียงยาวที่เชื่อมระหว่างตึกอักษรศาสตร์กับห้องสมุด ไปกินอาหารในโรงอาหารเล็กๆ เก่าๆ อีกฝั่งหนึ่งของถนนหลังหอสมุด ริมลูกกรงระเบียงทั้งสองฟากเป็นที่สิงสถิตของนิสิตชายคณะวิศวกรรมศาสตร์พอถึงเวลาหยุดพักกินข้าวเที่ยง เป็นต้องมายืนเรียงแถวกันเหมือนนัด (ก็คงนัดกันมาจริงๆ) จ้องมองสาวๆ ผู้จำต้องเดินขาสั่นผ่านไปตามเส้นทางนี้อย่างไม่มีทางเลี่ยง ระเบียงนั้นลมโกรกแรงมาก ราวกับอยู่กลางแจ้ง เพราะฉะนั้นอย่าสวมกระโปรงพลีต (ซึ่งสมัยนั้นเป็นแพรอัดจีบเนื้อเบา) เจอลมพัดแรงเข้า กระโปรงพลีตจะปลิวขึ้นครอบหัวเลย นับเป็นคำเตือนที่มีเหตุผลแจ่มแจ้งชัดเจนมาก และต้องขอใช้ภาษาอังกฤษว่า practical ที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยได้ยินมา และได้ผลที่สุดเลย คือไม่เคยซื้อกระโปรงพลีตมานุ่งเลย ตลอดสี่ปีที่ต้องเดินผ่านระเบียงนั้นไปมา

เมื่อเอ่ยถึง เทพบิดร แล้วก็ไม่อาจเว้นการเอ่ยถึงบรรดาเทวัญอีกสิบหกชั้นฟ้าในที่นี้ได้ แต่ไหนแต่ไรมา คณะอักษรศาสตร์เป็นที่ชุมนุมของนักวิชาการระดับยอดของประเทศ เทียบได้กับมณีนพรัตน์บนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ใน พ.ศ. ๒๕๐๙ อาจารย์เจ้าคุณอนุมานราชธน นักปราชญ์ใหญ่ระดับโลกยังมาสอนอยู่ทุกอาทิตย์ เหมือนอย่างที่ท่านเคยสอนแม่ของผู้เขียนบทความนี้มาตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๗๕ ท่านแต่งสูทสีเข้มเรียบร้อยเดินเข้าห้องโถงมาสอนอยู่ในห้องชั้นล่างทางด้านหลัง พูดจาสุภาพ เนิบๆ เรียกตัวเองว่า ข้าพเจ้า ผิดกับอาจารย์มหาเกษมบุญศรี ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาบาลี ท่านนี้กระฉับกระเฉงคุยเก่ง วันไหนรถประจำทางมาถึงช้า พวกเราที่อยู่ชั้นบนของตึกจะเห็นท่านเดินแกมวิ่งกระหืดกระหอบเข้าประตูทางถนนอังรี ดูนังต์มา ไม่ยอมให้สาย แล้วถ้าพวกเราที่อยู่ปีสามเกิดเบื่อ ไม่อยากเรียนภาษาบาลี ไม่ใครก็ใครสักคนเป็นต้องหาเรื่องชวนคุยเรื่องการเมือง เพราะปีนั้นอาจารย์มหาเกษมสมัคร ส.ส. ท่านก็จะเพลิดเพลินตอบปัญหาการเมืองไปพักหนึ่ง ก่อนจะวกกลับเข้าเรื่องการเติมวิภัตติ์ปัจจัยตามเดิม

อาจารย์ที่เป็นคุณหญิงมีถึงสองท่านเป็นดุษฎีบัณฑิตอีกนับไม่ถ้วนว่ากี่ท่าน ที่เรียนเก่งจบจากมหาวิทยาลัยเมืองนอก ในแขนงวิชาที่ฟังแล้ว สยองว่า ยากสุดสุด ก็มีอีกหลายท่าน อาจารย์ที่แหวกแนวออกไปกว่าคนอื่น ที่จำได้แม่นยำจนบัดนี้คือ อาจารย์สดใส (วาณิชวัฒนา) พันธุมโกมลเพราะจำได้ว่าอาจารย์เคยเป็นดาราฮอลลีวู้ด เคยเล่นเป็นสาวฮาไวเอี้ยน ในหนังโทรทัศน์เรื่อง Adventures in Paradise ที่ฉายทางโทรทัศน์ช่อง ๔ เคยไปประกวดนางงามจักรวาล จนได้ตำแหน่งนางงามมิตรภาพ เคยออกแผ่นเสียงเพลง "เจ้าทุยอยู่ไหน" เป็นภาษาอังกฤษ ประวัติทั้งหมดนี้ทำให้นึกอยากเรียนหนังสือกับอาจารย์เป็นพิเศษ จึงเลือกเรียนวิชาศิลปการละคร ตั้งแต่ปีที่ ๑ จำได้ว่า เกิดมายังไม่เคยเห็นใครที่มีชื่อเสียงเรียงนามสมตัวเท่าอาจารย์เลยจริงๆ เคยสาวและสดใสอยู่อย่างไรใน พ.ศ. ๒๕๐๙ ก็ยังสดใสและสาวอยู่อย่างนั้น จนวันที่ท่านเกษียณอายุ และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การสอนบทละครเรื่อง Macbeth ในเชิงวรรณคดี เป็นการสอนที่น่าประทับใจมากที่สุด ทำให้รู้ว่าการอ่านชนิด between the lines นั้นเป็นอย่างไร และทำให้ชอบวรรณคดีอังกฤษมาจนทุกวันนี้

อาจารย์ที่ย่างเท้าเข้ามาในห้องเรียนนั้น ท่านตั้งใจมอบสรรพวิทยาการที่มากมายเกินกว่ามนุษย์ธรรมดาอย่างพวกเราจะอ้าแขนรับไหว (แต่ก็ต้องรับให้ไหว) จำได้แม่นยำว่าปีแรกพวกเราเรียน ๓๓ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รอดขึ้นปีสองได้แสดงว่าอยู่ยงคงกะพันพอสมควร จึงได้เรียนอีกเต็มเหยียดวันละ ๗ ชั่วโมง เป็น ๓๕ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ไม่มีชั่วโมงว่างเลย พอถึงปีที่สามมีโอกาสเลือกเรียนสมัยนั้นแบ่งเป็นสายวิชา ๑ และ ๒ เช่น ภาษาไทย ๑ หนักไปทางภาษา ภาษาไทย ๒ หนักไปทางวรรณคดี (อังกฤษ ๑ และ ๒ หรือฝรั่งเศส ๑ และ ๒ ก็เหมือนกัน) ก็เรียนน้อยลงหน่อย แค่ ๒๒-๒๘ ชั่วโมง และพอปีที่สี่ก็น้อยลงอีก เหลือราวๆ ๑๘ ชั่วโมง

ทุกเช้าพวกเราจะเดินขึ้นบันไดระเบียงด้านใดด้านหนึ่งของตึกขึ้นมา แล้วถ้าพ้นปีหนึ่งขึ้นปีสองได้ก็จะได้ขึ้นบันไดในห้องโถงไปสู่ชั้นบน หยุดถวายบังคมพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนจะแยกขึ้นบันไดซ้ายขวากันไป ตามแต่ว่าใครจะเรียนห้องไหน

สี่ปีในคณะอักษรศาสตร์ผ่านไปเร็ว จนกระทั่งเมื่อย้อนกลับมามองดูแล้ว นึกใจหายอยู่หน่อยๆว่า ศิลปวิทยาการที่อาจารย์ตั้งใจมอบให้นั้น เอาเข้าจริงแล้วก็เหมือนสายน้ำตกไหลลงบนกระดาษซับ แต่ก็ภูมิใจอยู่อย่างหนึ่งว่า อย่างน้อย ร่องรอยของน้ำเหล่านั้นก็ไม่เคยเหือดแห้งไปจากกระดาษซับสามารถจะเอาไปใช้ทางไหนต่อก็ได้ทั้งนั้น เพราะเป็นฐานอันมั่นคงอยู่แล้ว ทั้งในด้านวิชาชีพและหลักการดำรงชีวิต

เมื่อลูกสาวถามว่า เรียนอักษรศาสตร์แล้วจะต้องไปเป็นครูอย่างแม่หรือเปล่า แม่อักษรศาสตร์หลายคนตอบได้เต็มปากว่า …ไม่จำเป็นเลย เรียนอักษรศาสตร์แล้วจะไปต่อทางสาขาอื่นๆ ได้หลายหลากไม่น้อยหน้าใคร สมัยที่แม่เรียน รุ่นพี่ รุ่นเดียวกัน และรุ่นน้อง ต่างแยกย้ายกันไปสร้างชื่อเสียงไว้ในวงธุรกิจ วงการทูต วงวิชาการ วงราชการทุกกระทรวง แม้แต่งานเอกชนอย่างงานประชาสัมพันธ์ งานวิทยุโทรทัศน์ และวงการบันเทิง ก็ฝากฝีมือไว้ไม่น้อยหน้าใคร ถ้าหากว่าจาระไนชื่อออกมาให้ครบก็คงจะต้องแยกเป็นบทความอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก

สิ่งสำคัญยิ่งยวดอีกอย่างหนึ่งที่เชื่อว่าได้มาจากคณะอักษรศาสตร์ นอกเหนือจากการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ คือ การปลูกฝังทางด้านจิตใจของตนเอง นิสิตอักษรศาสตร์จะได้รับการปลูกฝังมาให้รักหนังสือ อ่านหนังสือที่ดีมีคุณค่า มีการใช้สมองใคร่ครวญทบทวนเหตุผล และใช้จินตนาการอันละเอียดอ่อนต่อความงามที่เรียกว่า วรรณศิลป์ เพราะเหตุนี้ หนักๆ เข้าก็ซึมซับ มองเห็นคุณค่าของจิตใจมากกว่าวัตถุ

นึกถึงรุ่นพี่และเพื่อนฝูงตลอดจนรุ่นน้องชาวอักษรศาสตร์ทั้งหลายที่รู้จัก ก็ไม่ปรากฏภาพว่าเป็นคนกร่าง เป็นคนซ่าส์ คุยโวโอ้อวดทำตัวให้เป็นข่าวใหญ่รายวัน ไม่ประชาสัมพันธ์ตัวเอง แต่มักจะชอบทำงานอย่างจริงจังและลึกซึ้ง เพื่อความสุขในการทำงาน มากกว่าหวังเอาหน้าเอาชื่อ มักเป็นคนง่าย ไม่ติดกับความหรูหราฟุ้งเฟ้อ ถ้ารวยก็รวยอย่างไม่ซู่ซ่า สมกับที่ถูกอบรมกล่อมเกลามาในสำนักที่ไม่เน้นวัตถุเป็นใหญ่

เรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่เห็นนักอักษรศาสตร์ไปตื่นเต้นงมงายกับเรื่องอะไรง่ายๆ โดยไม่มีเหตุผล ข้อนี้คงเป็นเพราะเคยชินกับการเรียนให้รู้สึกลงไปถึงแก่น ดังนั้น ใครมาบอกเล่าอะไรตื้นๆ ประเภทหลอกหรือเกลี้ยกล่อมล้างสมองให้เชื่อเอาไว้ก่อน จึงไม่ค่อยสำเร็จ เพราะเรียนอักษรศาสตร์แล้วจะถูกอบรมมาให้ รู้สึก และ รู้จริง จนไม่กลัวความเหนื่อยยากในการที่จะเสียเวลาค้นคว้าศึกษา จนกระทั่งกระจ่างในคำตอบนั้นๆ

คุณสมบัติเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมากในสังคมไทยที่กำลังบ้าคลั่งกับลัทธิวัตถุนิยม จนกลายเป็นสังคมบริโภคนิยม เสพย์สุขทางรูปธรรมกันจนไม่มีขอบเขต และละเลยนามธรรม ลืมไปว่ามนุษย์นั้นดำรงอยู่ได้ด้วยสองส่วน คือ ร่างกาย และจิตใจ จะขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่งหาได้ไม่ นักอัษรศาสตร์เป็นคนที่รู้ว่าจะรักษาระดับของทั้งสองอย่างนี้ให้สมดุลได้อย่างไร

เดินออกจากคณะอักษรศาสตร์มา ๒๕ ปีพอดี ชงโคยังคงบานอยู่บนลานอักษร เหมือนอย่างที่เคยบานมาแล้ว และจะบานต่อไปตลอดกาล ในหัวใจของของนักอักษรศาสตร์ทุกคน

 

จาก หนังสือ ๖๐รุ่น อักษรศาสตรบัณฑิต ,๒๕๓๙

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University